เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ชี้แจงว่า ตามที่ได้เกิดข่าวลือว่า จะมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนลำตะคอง จนทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ท้ายเขื่อน นั้น กรมชลประทาน ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้เขื่อนลำตะคอง ปัจจุบัน (24 ต.ค. 56) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ จำนวน 299 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 95 ของความจุอ่างฯ ซึ่งภายหลังจากเกิดพายุ “นารี” พาดผ่านบริเวณจ.นครราชสีมา ในช่วงวันที่ 16-18 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ท้ายเขื่อนและมีแนวโน้มว่าจะเกิดน้ำท่วม กรมชลประทาน จึงได้ชะลอน้ำจากด้านเหนือไว้ในเขื่อนลำตะคอง โดยปิดการระบายตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.56 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการระบายน้ำแต่อย่างใด
ทั้งนี้เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในบริเวณเมืองนครราชสีมา เป็นผลมาจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่ลำตะคอง ในช่วงวันที่ 16 -18 ต.ค. 56 วัดปริมาณฝนสะสมได้มากกว่า 100 มิลลิเมตร ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าจำนวนมาก ไหลลงสู่ลำตะคอง ก่อนไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างในเขตเมืองนครราชสีมา ซึ่งกรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำในลำตะคอง โดยใช้ประตูระบายน้ำมะเกลือใหม่ และประตูระบายน้ำกุดหิน ควบคุมและชะลอน้ำให้ไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างให้น้อยที่สุด จากนั้นเมื่อน้ำไหลมาถึงอาคารแบ่งน้ำละลมหม้อ ที่กรมชลประทานก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2554 จะแบ่งน้ำส่วนหนึ่งเข้าสู่ลำบริบูรณ์ในเกณฑ์ประมาณ 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมกับควบคุมน้ำส่วนหนึ่งให้ไหลลงลำตะคองตอนล่าง ผ่านลงสู่ตัวเมืองโคราช รวมกับปริมาณน้ำท่า ในพื้นที่ด้านท้ายอาคารแบ่งน้ำละลมหม้อ ในเกณฑ์ประมาณ 40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามศักยภาพที่รับน้ำได้ของลำตะคอง ที่ไหลผ่านเขตเทศบาลนครนคราชสีมา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา อาทิ ถนนมิตรภาพซอย 4 หมู่บ้าน VIP เป็นต้น โดยไม่กระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจหลัก
สำหรับปริมาณน้ำที่รับเข้าไปสู่ลำบริบูรณ์ ในเกณฑ์ประมาณ 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเกินความจุของคลองที่จะรับได้ (รับได้สูงสุดประมาณ 40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) กรมชลประทาน ได้ใช้คลองผันน้ำ ที่ก่อสร้างเมื่อปี 2554 ผันน้ำในเกณฑ์ประมาณ 28 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ให้ไหลไปลงแก้มลิงบึงพุดชา ก่อนไหลลงสู่ลำเชียงไกร และแม่น้ำมูล ที่อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เป็นลำดับ
สำหรับปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของแม่น้ำมูล จากลำตะคอง ลำพระเพลิง ลำมูลบน และลำแชะ จะไหลลงสู่แม่น้ำมูล และเคลื่อนต่อไปที่อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันมีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งต่ำประมาณ 30 เซนติเมตร โดยคาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำมูล จะเพิ่มสูงสุดอีกประมาณ 30 เซนติเมตร จากระดับปัจจุบัน ในช่วงวันที่ 28 - 30 ต.ค.นี้
ในส่วนของการป้องกันน้ำไหลเข้าท่วมบริเวณโบราณสถานปราสาทหินพิมาย ที่แต่เดิมได้มีการวางกระสอบป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่งสูงประมาณ 70 เซนติเมตร ไว้แล้วนั้น กรมชลประทาน พร้อมด้วยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา หน่วยทหารในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เสริมกระสอบทรายให้สูงขึ้นมาอีก 30 เซนติเมตร เพื่อป้องกันน้ำที่จะสูงเพิ่มขึ้น ไม่ให้ไหลเข้าท่วมโบราณสถานแห่งนี้ต่อไปแล้ว
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ