เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม เวลา 20.28 น. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 9 เรื่องพระอาการประชวรของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ความว่า
วันนี้คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้วเมื่อเวลา 19.30 น. วันนี้ (24 ต.ค.) สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2532 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระนามเดิม “เจริญ คชวัตร” ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2456 เป็นบุตรคนโตของนายน้อย คชวัตร และนางกิมน้อย คชวัตร ชาวกาญจนบุรี ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ปีพ.ศ.2469 ขณะมีพระชันษาได้ 14 ปี ที่วัดเทวสังฆาราม มีพระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิวิฐสมาจาร (เหรียญ สุวณฺณโชติ) เจ้าอาวาสสวัดศรีอุปลาราม เป็นพระอาจารย์ให้สรณะและศีล
ภายหลังบรรพชาแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเทวสังฆาราม 1 พรรษา ก่อนจะมาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดเสน่หา จ.นครปฐม หลังจากนั้น พระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) พระอุปัชฌาย์ นำขึ้นเฝ้าถวายตัวต่อสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (ต่อมา คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์) เพื่ออยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับประทานนามฉายาจากสมเด็จพระสังฆราชว่า “สุวฑฺฒโน” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เจริญดี”
กระทั่งพระชันษาครบอุปสมบท จึงทรงเดินทางกลับไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆารามเมื่อ พ.ศ.2476 ภายหลังจึงได้เดินทางมาจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อทรงศึกษาพระธรรมวินัย และเข้าพิธีอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุติกนิกาย โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์
พระองค์ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี เมื่อ พ.ศ.2472 และทรงสอบได้นักธรรมชั้นโทและเปรียญธรรม 3ประโยค ในปี พ.ศ.2473 ต่อมาพ.ศ.2475 สอบได้ทั้งนักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 4 ประโยค หลังจากนั้น กลับไปสอนพระปริยัติธรรมที่โรงเรียนเทวานุกูล วัดเทวสังฆาราม เพื่อสนองพระคุณพระเทพมงคลรังษีเป็นเวลา 1 พรรษา แล้วจึงทรงกลับมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อทรงศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป โดยทรงสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และทรงศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ในปี พ.ศ.2484
เมื่อมีพระชันษาได้ 34 ปี พระองค์ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ พระโศภนคณาภรณ์ โดยพระองค์ได้รับเลือกจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ให้เป็นพระอภิบาลของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในระหว่างที่ผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ.2499 ต่อมา ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์ โดยราชทินนามทั้ง 2 ข้างต้นนั้นเป็นราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่ สำหรับพระราชทานแก่พระองค์เป็นรูปแรก
พ.ศ.2504 พระองค์ได้รับตำแหน่งเป็นผู้รักษาการเจ้าคณะธรรมยุตภาคทุกภาค และเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ในปีเดียวกัน ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นหิรัญบัฎ ที่ พระสาสนโสภณ เข้ารับตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 และยังคงดำรงตำแหน่งมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น ยังได้ทรงนิพนธ์ผลงานทางวิชาการ เอกสาร และตำราด้านพุทธศาสนามากมาย
พ.ศ.2515 ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งเป็นราชทินนามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้ตั้งขึ้นใหม่ สำหรับพระราชทานสถาปนาสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนา เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2359 ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะ ที่สมเด็จพระญาณสังวร จึงเป็นตำแหน่งพิเศษที่โปรดพระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระเท่านั้น
เมื่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2531 ทำให้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิม คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สำหรับพิธีพระศพ จะเคลื่อนพระศพจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร เวลา 12.00 น. พร้อมทั้งให้ข้าราชการแต่งกายไว้ทุกข์เป็นเวลา 15 วัน หน่วยงานราชการลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 3 วัน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ