'เอดีบี'ฟังปัญหาพลังงานของไทย ชี้กำหนดแผน-ชุมชนไม่มีส่วนร่วม แฉกฟผ.ปักเสาไฟ-รอนสิทธิจนมั่ว

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 25 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3187 ครั้ง

 

ธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบี (Asian Development Bank: ADB) เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญ ในการสนับสนุนเงินกู้ให้แก่โครงการพลังงาน ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง แต่ผลพวงจากโครงการพลังงานขนาดใหญ่ต่างๆ ให้บทเรียนที่ค่อนข้างเจ็บปวดแก่ประชาชนในหลายพื้นที่ เขื่อนของจีนบนแม่น้ำโขงซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งสายน้ำ และผู้ที่ต้องแบบรับผลกระทบก็คือประชาชนที่พึ่งพิงสายน้ำโขงเป็นตัวอย่างที่เห็นชัด

 

Peter-John Meynell หัวหน้าทีมวิจัยการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์หรือเอสอีเอ (StrategicEnvironmental Assessment: SEA) ของเอดีบี จึงเดินทางไปประเทศ-ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม เพื่อรับฟังข้อมูลจากประชาชนในแต่ละประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายพลังงาน เพื่อนำไปประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ชุดโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นภาพกว้างมากกว่าการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ อีเอชไอเอ (Environmental and Health Impact Assessment: EHIA) ทั่วไป

 

สำหรับการรับฟังความคิดเห็นและข้อมูลในประเทศไทย มีนักวิชาการและชาวบ้านจากหลายพื้นที่ได้สะท้อนปัญหาจากนโยบายพลังงานของไทยให้แก่ทีมของ Peter-John Meynell ฟัง

 

 

 

 

ประชาชนไม่มีส่วนร่วมแผนพีดีพี ก่อความขัดแย้งหลายพื้นที่

 

 

หากมองในเชิงนโยบายพลังงาน ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี (Power Development Plan: PDP) ซึ่งเป็นแผนการลงทุนระยะยาว 20 ปี สำหรับการปรับหรือเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าและระบบสายส่งไฟฟ้า เพื่อรองรับกับความต้องการไฟฟ้าในอนาคต ทั้งที่เป็นนโยบายระดับชาติและส่งผลกระทบสูง แต่กลับเกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่มากนัก ซึ่งไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 57 ที่ระบุให้ต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้เกิดการไม่ยอมรับจากภาคประชาชน และสร้างความขัดแย้งในพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าหลายแห่ง ขณะที่การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าของภาครัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องก็มักพยากรณ์เกินกว่าความเป็นจริง และไม่ได้นำศักยภาพของแต่ละทางเลือกมาใช้อย่างเต็มที่

 

ดร.เดชรัตน์เสนอว่า หากภาครัฐต้องการลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายพลังงาน จำเป็นต้องมองปัญหาให้รอบด้าน มีเป้าหมายการพัฒนาในหลายแง่มุม ตรวจสอบสมมติฐานที่ใช้ในการวางแผน และนำทางเลือกของพลังงานยั่งยืนมาใช้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งยังต้องสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายและไม่ละเลยการประเมินผลกระทบของทางเลือกต่าง ๆ อย่างรอบด้าน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ตลาดไฟฟ้าแม่น้ำโขง บริษัทที่ปรึกษาต่างชาติคิด ประชาชนไม่เคยรับรู้

 

 

เมื่อขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ปัญหาจึงตามมา Oliver Wastie จากเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง ให้ข้อมูลว่า แผนติดตั้งสายส่งในลุ่มแม่น้ำโขง เป็นแผนที่เอดีบีเริ่มผลักดันมาตั้งแต่ 20 ปีก่อน ตามโปรแกรมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงของเอดีบี เพื่อต้องการสร้างและเปิดตลาดพลังงานในอนุภูมิภาคนี้

 

ประเด็นอยู่ที่ว่า แหล่งพลังงานส่วนใหญ่เกิดจากเขื่อน นำมาซึ่งปัญหาต่อระบบนิเวศและสังคมต่อประชาชนในอนุภูมิภาค ทำให้เกิดการถกเถียงกันว่า สุดท้ายแล้ว การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตพลังงานเกิดประโยชน์จริงหรือไม่ อีกทั้งที่ผ่านมา แนวคิดนี้ก็ถูกผลักดันจากคณะกรรมการประสานการซื้อ-ขายไฟฟ้าของอนุภูมิภาค (Regional Power Trade Coordination Committee: RPTCC) ซึ่งวางอยู่บนแนวคิดของบริษัทที่ปรึกษาต่างชาติเป็นหลัก โดยที่ประชาชนของแต่ละประเทศไม่มีส่วนรู้เห็น และในแต่ละประเทศก็ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะวิเคราะห์ถึงผลกระทบในภาพรวมต่ออนุภูมิภาค

 

เมื่อภาพรวมไม่ชัดเจน แต่ละประเทศจึงดำเนินการไปตามแรงผลักดันของตน ในประเทศไทย ปัญหาหนึ่งจากการขาดการมีส่วนร่วมที่ถูกสะท้อนออกมา คือประเด็นการติดตั้งสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ไปกระทบสิทธิของชาวบ้านในจ.อุดรธานี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กฟผ.ใช้กฎหมายโบราณแสดงอำนาจเหนือที่ดินชาวบ้าน

 

 

 

โครงการขยายระบบส่งไฟฟ้า ระยะที่ 11(พ.ศ2550-2554) น้ำพอง 2- อุดรธานี 3 ได้รับการอนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 มีระยะทางความยาวประมาณ 87 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโยงระบบจากการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำงึม 2 ประเทศลาว โดยแนวสายส่งพาดผ่านพื้นที่ 8 อำเภอ 15 ตำบล ใน 2 จังหวัดคือขอนแก่น และอุดรธานี

 

การเข้ามาติดตั้งสายส่งของ กฟผ. มาพร้อมกับข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เป็นการรอนสิทธิบนที่ดินทำกินของชาวบ้าน ได้แก่ การห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันอาจเป็นอันตรายแก่ระบบไฟฟ้า เช่น การใช้เครื่องจักรกล การเผาไร่อ้อยหรือนาข้าว ในเขตสายไฟฟ้าแรงสูงน้อยกว่า 4 เมตร, ห้ามปลูกสร้างอาคาร บ้านเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างในเขตเดินสายไฟฟ้า, ห้ามปลูกต้นไม้หรือพืชผลในเขตเดินสายไฟฟ้า, การกระทำใดๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นดินบริเวณเขตเดินสายไฟฟ้า ต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก กฟผ.

 

 

              “ชาวบ้านไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีโครงการ แล้วจู่ ๆ ก็มีการเข้ามาสำรวจพื้นที่เพื่อทำแนวสายส่ง บางบ้านก็มีเจ้าหน้าตำรวจและผู้นำชุมชนเข้ามาสำรวจด้วย บางที่ก็มีการบุกรุกเข้าไปสำรวจตัดต้นไม้ พ่นสีเหลืองเพื่อทำแนวเส้นทาง ต่อมาผู้ใหญ่บ้านก็เรียกเก็บสำเนาบัตรประชาชน  ทะเบียนบ้านและโฉนดที่ดินเพื่อส่งกับ กฟผ. ชาวบ้านที่มีปัญหาจึงเริ่มรวมตัวกันและทำหนังสือคัดค้านแนวสายส่งยื่นต่อผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง แต่ก็ไม่เกิดผล” น.ส.ไพเราะ สุจินพรัหม จากศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน กล่าว

 

น.ส.ไพเราะกล่าวว่า ข้อกำหนดของ กฟผ. ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถปลูกพืชหรือทำกิจการใด ๆ บนที่ดินของตนเองได้ตามที่ควรจะเป็น ขณะที่ค่าชดเชยที่ได้รับ ชาวบ้านก็รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ทั้งยังทำให้ที่ดินมีตำหนิ ไม่สามารถจำนองได้หรือไม่ก็ทำให้มูลค่าที่ดินลดลงไปมาก จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนต้องร่วมตัวกันคัดค้านไม่ให้ กฟผ. เข้าไปดำเนินการในที่ดินของตน แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าจับกุม เนื่องจาก กฟผ. มี พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 ที่ให้อำนาจไว้ ซึ่งไพเราะมองว่าเป็นกฎหมายเก่าที่ควรได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

 

 

 

 

เอดีบีต้องหนุนไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิ

 

 

ด้านนายมนตรี จันทวงศ์ จากโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งของโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อยู่ที่การติดตั้งสายส่งไม่ได้ถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ แต่ถูกแยกออกมาเป็นอีกส่วน เมื่อกฟผ.เซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าไปแล้ว จึงค่อยมาติดตั้งสายส่งภายหลัง ซึ่งเขาเสนอว่าทางออกประการหนึ่งคือต้องรวมการติดตั้งสายส่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญารับซื้อไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม

 

ด้านน.ส.ไพเราะ มีข้อเสนอต่อเอดีบีว่า จากบทเรียนที่เกิดขึ้น หากเอดีบีจะทำการสนับสนุนโครงการพลังงานในภูมิภาค จำเป็นต้องทำการศึกษารายละเอียดในพื้นที่ให้รอบด้านมากยิ่งขึ้นว่าจะมีปัญหาผลกระทบอย่างไรต่อชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งต้องมีการศึกษาในกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และเอดีบีจะต้องมีมาตรการหนุนช่วยไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ เช่น การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เป็นธรรม การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ของหน่วยงานให้มีความชัดเจนในการจ่ายค่าชดเชยและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ เป็นต้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: