แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการเดินหน้าโครงการแจกแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาของรัฐบาลอย่างกว้างขวาง ตลอดตั้งแต่ริเริ่มนโยบายนี้ แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อโครงการนี้แต่อย่างใด ล่าสุดรัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ โดยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ ได้ประกาศจะแจกแท็บเล็ตชุด 2 ต่ออีก 1.8 ล้านเครื่อง ในปีการศึกษา 2556 ให้นักเรียนกับนักเรียนชั้น ป.1 และยังเพิ่มชั้น ม.1 และครู ม.1 ได้ใช้ในการเรียนการสอนด้วยเพิ่มเติมอีก แม้ว่าผลการวิจัยติดตามผลการเรียนการสอนจากเครื่องแท็บเล็ตล๊อตแรก ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการขั้นพื้นฐานได้จัดให้มีการจัดทำรายงานยังจะไม่มีผลชี้อย่างเด่นชัดว่า การแจกแท็บเล็ตในล๊อตแรกมีผลดีผลเสียอย่างไรก็ตาม
เดินหน้าประมูลแท็บเล็ตล๊อตใหม่ 1.8 ล้านเครื่อง
สำหรับการจัดซื้อแท็บเล็ตล๊อตใหม่นี้ รัฐบาลเลือกการจัดซื้อด้วยการจัดประมูลระบบอีออคชั่น กับบริษัทผู้ผลิตทั้งในและนอกประเทศ โดยแบ่งการประมูลเป็น 4 สัญญา ซึ่ง 2 สัญญาแรกเป็นของนักเรียนชั้นป.1 และอีก 2 สัญญา เป็นของนักเรียนชั้นม.1 ขณะที่จำนวนเครื่องแบ่งต่อสัญญาประมาณ 4 แสนกว่าเครื่อง ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองราคาให้ถูกที่สุด
สำหรับจำนวนแท็บเล็ตปีการศึกษา2556มียอดรวม1,803,337เครื่อง ครอบคลุมนักเรียน ป.1, ม.1และครูม.1ใช้งบประมาณ5,092,179,000บาท แยกตามสังกัดคือ สถาบันการพลศึกษา776เครื่อง ได้รับจัดสรรงบประมาณ 2,266,000 บาท กรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น120,026เครื่อง งบประมาณ339,778,100บาท กรุงเทพมหานคร55,959เครื่อง งบประมาณ154,933,700บาท เมืองพัทยา2,961เครื่อง งบประมาณ 8,353,400บาท สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์1,811เครื่อง งบประมาณ5,288,200บาท
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ313,028เครื่อง งบประมาณ876,273,800บาท สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน1,279,134เครื่อง งบประมาณ 3,620,107,300 บาท สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา9,815เครื่อง งบประมาณ27,904,200บาท สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ16,570เครื่อง งบประมาณ48,384,400บาท และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ3,257เครื่อง งบประมาณ8,889,900บาท
แท็บเล็ตชุดใหม่กับวิธีจัดซื้อรูปแบบใหม่
อย่างไรก็ตามวิธีการจัดซื้อแท็บเล็ตชุดใหม่นี้ ยังมีข้อกังวลกับในหมู่นักการเมืองและข้าราชการที่รับผิดชอบอยู่ เพราะไม่เคยมีหน่วยงานราชการใดเคยจัดซื้อวิธีการนี้มาก่อน คือ หน่วยงานราชการที่เหลือต้องมอบอำนาจให้ สพฐ.กระทำการจัดอีออคชั่นแทน เมื่ออีออคชั่นจนได้บริษัทที่ชนะการประมูลทั้ง 4 สัญญาแล้ว ซึ่งก็ไม่แน่ว่าบริษัทใหญ่หนึ่งเดียวอาจจะกินรวบใน 4 สัญญา หรือจะกินรวบได้กี่สัญญา เพราะไม่มีระเบียบกำหนด สุดท้ายก็ให้บริษัทที่ชนะการประมูลนั้น ไปเซ็นสัญญากับหน่วยงานราชการต้นสังกัด หรือจัดประมูลตรงกลาง และแยกให้ไปเซ็นสัญญา ไม่เหมือนการประมูลทั่วไปที่หน่วยงานราชการจัดประมูลเอง เซ็นสัญญาเอง
ซึ่งด้วยข้อกังวลว่าวิธีการจัดซื้อนี้ ภายหลังจากเปลี่ยนรัฐบาลอาจถูกตีความว่าผิด จนผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะข้าราชการอาจถูกลงโทษได้ การจัดซื้อครั้งนี้จึงถูกกำหนดให้ก้าวเดินอย่างระมัดระวัง แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะตามแผนคณะกรรมการบริหารแท็บเล็ต เตรียมใช้วิธีเชื่อมโยงทุกขั้นตอนการจัดซื้อ กับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ตีความการจัดซื้อครั้งนี้ว่าถูกต้องหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่ออนุมัติวิธีการและรูปแบบการจัดซื้อ ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตีความสัญญาจัดซื้อของแต่ละหน่วยงาน ให้คณะกรรมการจัดหาคอมพิวเตอร์ของรัฐ ตีความการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของรัฐวงเงินเกิน 100 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นความรัดกุมที่หวังเชื่อมโยงหลายอำนาจให้รับผิดชอบ
หลากปัญหาแท็บเล็ต ป.1 ของเก่ายังไม่ได้แก้
อย่างไรก็ตาม หลังจากการที่แท็บเล็ตล็อตแรกถูกส่งให้กับนักเรียนชั้น ป.1 มีข้อมูลจากหลากหลายพื้นที่ว่า ปัญหาจากการใช้แท็บเล็ตได้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระยะแรกที่ถูกส่งถึงมือเด็กนักเรียน โดยนายณัฐวุฒิ พิริยะจีระอนันต์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยร่วมค้า เดอะซิสเต็ม จำกัด ผู้บริหารเครือข่ายร้านค้า ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัญญาการจัดทำศูนย์ซ่อมแท็บเล็ต เปิดข้อมูลการรับซ่อมแท็บเล็ตป.1ว่า ในระยะแรกมีแท็บเล็ตส่งมาซ่อมอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มีปัญหาเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ ไม่ทำงาน เช่น บทเรียนบางบทไม่สามารถเข้าดูได้ เสียงจากเนื้อหาไม่ดัง โปรแกรมบางโปรแกรมใช้งานไม่ได้
ส่วนปัญหาด้านฮาร์ดแวร์พบว่า ส่วนใหญ่ที่เสียบหูฟังมีปัญหา ส่วนต่อมินิเอสดีการ์ดเสียหาย เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบปัญหาหน้าจอแตก ซึ่งเกิดจากการทำตกพื้น 2 เครื่อง และเกิดจากการขนส่งกระแทกหรือทับกัน ทำให้จอเสียหายอีกไม่ถึง 5 เครื่อง นับว่ายังมีปริมาณความเสียหายน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนแท็บเล็ตที่แจกในล็อตแรก 400,000 เครื่อง
ปัญหาเรื่องการพบเครื่องชำรุด เครื่องเสียหายในระยะแรก สร้างแรงกระเพื่อมต่อโครงการฯ ระดับหนึ่ง แต่โชคดีที่สัญญาเอ็มโอยูกำหนดให้ต้องมีเครื่องสำรอง 1 เปอร์เซนต์ จากจำนวนสั่งซื้อ 860,000 เครื่อง ทำให้สามารถนำแท็บเล็ตสำรองไปใช้แทนเครื่องที่เสียหายได้ ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ดูเบาบางไป นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่สะท้อนจากมุมมองครู และนักวิชาการเช่นกัน ทั้งกรณีแท็บเล็ตจะให้นำกลับบ้านหรือไม่ ให้ไปแล้วต้องมีเงื่อนไขอย่างไร โรงเรียนบางแห่งที่ไม่มีไฟฟ้าใช้จะทำอย่างไร และใครต้องรับผิดชอบหาแท็บเล็ตเสียหาย สูญหายจากการโจรกรรม กระทั่งได้ข้อสรุปเป็นภาพรวมว่า แท็บเล็ตจะให้นักเรียนนำกลับบ้านได้หรือไม่ อยู่ที่โรงเรียนและผู้ปกครองจะตกลงกันเอง ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่ที่เกรงว่าจะมีปัญหา จึงเห็นเป็นทางเดียวกันว่า ไม่ให้นำแท็บเล็ตกลับบ้าน ส่วนบางโรงเรียนที่ตกลงกับผู้ปกครองว่า ให้นำแท็บเล็ตกลับบ้านได้ แต่ต้องมีการทำสัญญาความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งหากแท็บเล็ตมีปัญหากรณีใด ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับซอฟแวร์ และฮาร์ดแวร์ที่อยู่ในประกัน ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบ
สพฐ.จัดฉากพาสื่อลงพื้นที่ แจกแท็บเล็ต
นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ จ.เชียงราย และกาญจนบุรี เพื่อตรวจสอบดูงานการใช้งานแท็บเล็ตเพื่อการศึกษา ซึ่งได้แจกจ่ายให้กับนักเรียนชั้น ป.1 ใช้ในการเรียนการสอน ว่าได้ผลดีมากน้อยแค่ไหน และพบปัญหาใดบ้างจากโครงการนี้ โดยเริ่มต้นที่ จ.เชียงราย จำนวน 2 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านสันกอง ในตัวเมืองเชียงราย และ โรงเรียนบ้านจะที่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งจากการตรวจสอบของสื่อในภาพรวมพบว่า เรื่องการใช้งานมีปัจจัยไม่ต่างกัน เพราะนักเรียนสามารถเข้าสื่อการเรียนการสอนที่ สพฐ.จัดให้เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด โดยจะไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เนต ทำให้นักเรียนไม่สามารถใช้เครื่องแท็บเล็ตแบบออนไลน์ได้ เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร แต่จากการตั้งข้อสังเกตกลับพบว่า ในวันที่สื่อมวลชนลงพื้นที่ นักเรียนกลับสามารถใช้อินเตอร์เนตกับเครื่องแท็บเล็ตได้ แต่หากพิจารณาจากสภาพแวดล้อมแล้ว จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่าหลังจากสื่อเดินทางกลับแล้ว เครื่องแท็บเล็ตของเด็กนักเรียนจะสามารถต่ออินเตอร์เน็ตใช้ได้อีกหรือไม่
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากภาพรวมนักเรียนโรงเรียน จ.เชียงรายในครั้งนี้ ข้อดีที่เกิดขึ้นจากโครงการแท็บเล็ตนักเรียน ป.1 น่าจะอยู่ที่การเข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ จากเดิมโรงเรียนมีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะไม่กี่เครื่อง ทำให้นักเรียนทุกคนยากที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีและได้ใช้งาน แต่เมื่อได้แจกแท็บเล็ต เด็กสามารถใช้เทคโนโลยีได้ทั่วกัน จากที่ไม่เคยได้สัมผัสกับเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็สามารถทดลองใช้เครื่องนี้ได้ไม่ยากนัก ถือเป็นการสร้างโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ดีระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นผลดีต่อโรงเรียนที่ขาดแคลนคอมพิวเตอร์ แต่เป็นเรื่องธรรมดากับโรงเรียนที่มีความพร้อมอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน ในการลงพื้นที่ จ.กาญจนบุรี สพฐ.จัดโรงเรียนบ้านวังใหญ่ ซึ่งมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ของนักเรียน พบว่าครูประจำชั้น ป.1 สามารถอธิบายข้อดีของการใช้แท็บเล็ตได้อย่างคล่องแคล่ว ราวกับท่องจำ โดยเน้นเรื่องความสะดวกสบาย และการใช้เครื่องแท็บเล็ต ทำให้การเรียนการสอนมีความสุข แต่เมื่อถูกถามว่าสอน ป.1 มาแล้วกี่ปี กลับได้รับคำตอบว่า เพิ่งเริ่มสอนได้เพียงภาคการศึกษาแรกเท่านั้น ขณะที่เมื่อสื่อได้ลองสอบถามเด็กนักเรียน ก็ได้รับคำตอบไปในทำนองเดียวกันว่า ชอบแท็บเล็ต เพราะแท็บเล็ตจะทำให้เรียนเก่งขึ้น ผลสอบดีขึ้น แม้จะยังไม่รู้ว่าแท็บเล็ตจะเป็นตัวช่วยในการเรียนได้อย่างไรบ้าง
นักการเมืองปิดปากคนเปิดปัญหาแท็บเล็ต
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาแท็บเล็ตสำหรับชั้น ป.1 ถูกจัดการด้วยระบบราชการและการใช้อำนาจ ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ถูกซุกไว้ใต้พรม จนไม่มีใครกล้าออกมาเปิดเผยข้อมูล อย่างกรณี นายณรงค์ จุนเจริญวงศา ศึกษานิเทศก์ สพป.ฉะเชิงเทรา เขต 1 ที่ออกมาให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนถึงปัญหาการใช้งานแท็บเล็ตที่ประสบเอง ทั้งกรณีแท็บเล็ตบางเครื่องชาร์ตไฟไม่เคยเต็ม หรือรีชาร์ต จนอาจทำให้เครื่องร้อนและก่อความเสียหายได้ ขณะเดียวกันยังออกมาเตือนผู้ปกครองและครูให้ดูแลความปลอดภัย ห้ามปล่อยให้เด็กชาร์ตแบตเตอรี่โดยไม่สวมใส่รองเท้าเป็นอันขาด เพราะตัวเครื่องเป็นอะลูมิเนียมซึ่งเป็นตัวนำไฟฟ้า อาจทำให้เกิดไฟช็อตได้
ต่อมาเมื่อความหวังดีของศึกษานิเทศก์ผู้นี้ได้ลงตีพิมพ์ ปัญหาแท็บเล็ตแทนที่จะถูกสยบด้วยการแก้ไข แต่กลับมีนักการเมืองคนหนึ่งที่ดูแลโครงการแท็บเล็ต เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก ถึงขั้นสั่งเรียกตัวนายณรงค์เข้าไปถามว่า ทำไมจึงให้ข่าวเช่นนี้ ทั้งยังสั่งห้ามให้ข่าวใด ๆ หรือวิพากษ์วิจารณ์อีก ทำให้นายณรงค์ถึงกับต้องร่ำไห้กลางศูนย์ราชการ และอาจจบอนาคตข้าราชการไป ทั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จของการเชือดไก่ให้ลิงดู ที่รู้กันทั่วในหมู่ครูและบุคลากรการศึกษาทั่วไปว่า ทุกวันนี้มีใครกล้าออกมาแสดงความเห็น หรือให้ข่าวในเชิงลบกับโครงการแท็บเล็ตนี้อีก แม้ว่าปัญหาจะยังเกิดขึ้นมากมายก็ตาม
นักวิชาการและแพทย์เด็กติง แต่ไม่เป็นผล
นอกจากนี้ตลอดเส้นทางการดำเนินโครงการแท็บเล็ต มีเสียงสะท้อนของผู้ที่ห่วงใยมากมาย เพราะเกรงว่าภาษีที่เสียไปอาจถูกนำไปใช้ไม่คุ้มค่า ทั้งนักวิชาการ หมอเด็ก และเอ็นจีโอด้านการศึกษา ตั้งแต่ รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้น ป.1 ไม่สอดคล้องกับพัฒนาการเด็ก เพราะเด็กยังอ่านไม่ออก สุดท้ายจะไปใช้แค่เล่นเกมส์ จึงต้องคำนึงถึงผลเสียให้รอบคอบ ขณะเดียวกันแท็บเล็ตควรใช้เป็นเพียงส่วนเสริมการเรียนการสอนเท่านั้น เพราะหากใช้เป็นหลักแทนครูจะเป็นอันตราย เพราะครูจะทิ้งห้องเรียนไปมุ่งทำวิทยฐานะ เพื่อความก้าวหน้าอาชีพอย่างเดียว ส่วนนักเรียนอาจใช้งานแท็บเล็ตอย่างไม่ถูกไม่ควร เพราะไม่มีครูดูแล ขณะที่มาตรการควบคุมการเข้าถึงเนื้อหาออนไลน์ของแท็บเล็ตป.1 ยังไม่ชัดเจน
ขณะที่ พ.ญ.นิตยา คชภักดี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ไม่สนับสนุนให้รัฐบาลแจกแท็บเล็ตให้นักเรียน ป.1 หรือทั้งช่วงชั้นที่ 1 (ชั้น ป.1-ป.3) เพราะพัฒนาการของเด็กยังไม่ถึง ทั้งทักษะการใช้ภาษาที่ยังไม่คล่อง และการพัฒนาของสมองที่ยังไม่เต็มที่ ซึ่งอาจทำให้เด็กไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ทั้งนี้ เพราะเด็กในช่วงชั้นดังกล่าวต้องเรียนรู้จากการได้ปฏิบัติเป็นหลัก อาทิ การออกกำลังกาย การได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คิดว่าพัฒนาการของเด็กชั้น ป.4 น่าจะเป็นวัยที่เหมาะที่สุดในการได้รับแท็บเล็ต เพราะเป็นวัยที่กำลังเริ่มเรียนรู้ทักษะพื้นฐานได้บ้างแล้ว อย่างอ่านเขียนคล่องแล้ว ซึ่งเด็กก็จะสนุกกับการเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนอีกด้วย
นอกจากนี้ในมุมมองของ นายอำนวย สุนทรโชติ ประธานชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ หรือเอ็นจีโอด้านการศึกษา ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้วยังเคยกล่าวว่า โครงการแท็บเล็ตอาจจะเป็นดาบสองคม ที่คมสองด้านพุ่งเข้าหาตัวเด็ก อาทิ ในบางพื้นที่ในต่างจังหวัด หากแจกเด็ก ป.1 ถือกลับบ้าน เด็กคนนั้นจะถือว่ามีทรัพย์สินที่มีมูลค่าติดตัว โดยอาจจะตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มมิจฉาชีพ ที่แทบไม่ต้องใช้กำลังบังคับเด็กกลุ่มนี้เลย ซึ่งรัฐบาลต้องคิดถึงนโยบายนี้ในระยะยาวด้วย
อย่างไรก็ตามเอ็นจีโอนักการศึกษาท่านนี้ ยังได้วิพากษ์วิจารณ์โครงการนำร่องใช้แท็บเล็ต 5 โรงเรียน ของ มศว-สพฐ.ถึงความเลื่อนลอยหลักการการวิจัยว่า ไม่สะท้อนความเป็นจริงของโรงเรียนทั่วประเทศ และการนำผลวิจัยไปใช้หากมีผลทางใดทางหนึ่ง พร้อมกับท้าทายว่า หากผลวิจัยออกมีแล้วไม่ดีจะล้มโครงการแท็บเล็ตเลยหรือไม่ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจกับข้อท้วงติงทั้งหมด และยังคงเดินหน้าแจกแท็บเล็ตต่อจนล่าสุดก็เตรียมแจกเครื่องแท็บเล็ตล็อตใหม่ ซื้อใจนักเรียน และผู้ปกครองอย่างเต็มที่
จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามและน่าห่วงใยว่า หากโครงการแจกแท็บเล็ตไม่สะดุดด้วยอุปสรรคใด ๆ เลย ประกอบกับงบลงทุนจัดซื้อไม่มากเท่ากับโครงการใหญ่ของรัฐบาล แต่ได้ใจเด็กและผู้ปกครอง เป็นเรื่องน่ากลัวว่าปีต่อไป เงินภาษีของประชาชนจะใช้เพื่อไปจัดซื้อแท็บเล็ตแจกให้นักเรียนทุกคนทุกปีก็ได้ เมื่อถึงวันนั้นงบประมาณจัดซื้อก็คงงอกเงย จากระดับพันล้านเป็นหมื่นล้านอย่างแน่นอน ทั้งนี้หากโครงการแจกแท็บเล็ตทำให้การศึกษาไทยดีขึ้นได้ เงินจำนวนนี้ถือว่าคุ้มค่า ทว่าหากการลงทุนดังกล่าวเป็นการทำเพื่อเรียกคะแนนเสียง ก็เป็นเรื่องที่น่าหดหู่ว่าเด็กไทยที่ลำพังก็เดินถอยหลังช้า ๆ อยู่แล้ว กลับลื่นไถลลงกองขยะแท็บเล็ตก็เป็นได้
ขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยรัฐ, เดลินิวส์, กรุงเทพธุรกิจ, Google
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ