เปิดปมเรื้อรังทิ้งขยะพิษ-กากอุตฯ คพ.เอาผิดไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจ กรมรง.จัดการได้-ไม่เจอคนทำผิด

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 25 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 5123 ครั้ง

 

จากกรณีมีการนำขยะพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม มาทิ้งในพื้นที่ ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และในอีกหลายพื้นที่ของจ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ฯลฯ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จนทำให้เกิดการลุกขึ้นต่อสู้กับผู้ประกอบการที่ขาดความรับผิดชอบ นำไปสู่การสังหารแกนนำการคัดค้านคนสำคัญ ชี้ให้เห็นว่า การกระทำผิดด้วยการลักลอบทิ้งสารพิษเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ยังลุกลาม กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งรุนแรงระหว่างประชาชน ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

 

 

แม้ปัญหาจะยังเกิดอยู่อย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเขตนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่หลายแห่ง จนเกิดการร้องเรียนอยู่หลายครั้ง แต่หากย้อนกลับไปในแต่ละกรณีของการลักลอบกากพิษอุตสาหกรรม จะพบว่ามีอยู่น้อยครั้งที่ผู้เป็นต้นเหตุได้รับโทษ จากการกระทำที่ไม่รับผิดชอบดังกล่าว แต่กลับมีอยู่หลายครั้งที่ประชาชนจะยังต้องทนอยู่กับความเดือดร้อนเหล่านี้ต่อไป เพราะแม้จะพยายามต่อต้าน คัดค้าน และร้องเรียน ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว ก็ไม่พบว่าจะมีการดำเนินการเด็ดขาดเพื่อแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด

 

ปัญหาเกิดขึ้นเพราะอะไร ติดขัดที่ขั้นตอนไหน เพราะแม้จะดูเหมือนว่า ประเทศไทยมีหน่วยงานสำหรับการปกป้องสิทธิประชาชน เกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการกระทำของโรงงานอุตสาหกรรมหลายหน่วยงาน แต่เพราะเหตุใดจึงไม่สามารถที่จะทำให้ปัญหาเหล่านี้น้อยลงได้ จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบโดยตรง

จากข้อมูลของสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า สำหรับหน้าที่ในการดำเนินการในการตรวจสอบแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมนั้น มีหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบตรวจสอบร่วมกัน ประกอบด้วย 

กรมควบคุมมลพิษ

กรมโรงงานอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมจังหวัด

สาธารณสุขจังหวัด

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ตำรวจท้องที่ และผู้เชี่ยวชาญ

กองบังคับการปราบปรามกระทำความผิด เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ซึ่งตามหน้าที่แล้วจะต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมดำเนินการตรวจสอบ หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชน หรือทันทีที่เกิดเหตุการพบกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ โดยจะมีการประสานไปยังพื้นที่รับผิดชอบเพื่อเข้าตรวจสอบ โดยจะดำเนินการตามขั้นตอนว่ากากของเสียเหล่านั้นส่งผลกระทบสร้างอันตรายรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ก่อนจะส่งรีบกำจัดของเสียเหล่านั้นทันที

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พบตัวการไม่แก้ไข สั่งปิดได้ตามกฎหมาย แต่ไม่เคยเจอคนผิด

 

 

โดยการดำเนินการแบ่งเป็น 2 กรณีคือ

1.ในกรณีที่ทราบแหล่งที่มาว่ามาจากโรงงานใด จะมีการเข้าตรวจสอบภายในโรงงาน และหากพบว่าปฏิบัติไม่ถูกต้อง จะใช้ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535  มาตรา 37 ที่ระบุว่า ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่า ผู้ประกอบกิจการโรงงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือการประกอบกิจการโรงงานมีสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงาน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือแก้ไขหรือปรับปรุงหรือปฏิบัติให้ ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ ในกรณีที่เห็นสมควร เมื่อได้รับอนุมัติจากปลัดกระทรวง หรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจผูกมัดประทับตราเครื่องจักร เพื่อมิให้เครื่องจักรทำงานได้ในระหว่างการ ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตามหากพบว่า ยังไม่ปฏิบัติตามอีก ก็จะมีการดำเนินคดีกับโรงงานต้นเหตุ ในมาตรา 39 ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานใด จงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 37 โดยไม่มีเหตุอันควร หรือในกรณีที่ปรากฏว่า การประกอบกิจการของโรงงานใด อาจจะก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนอย่างร้ายแรง แก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงาน หรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงานให้ปลัดกระทรวง หรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวง มอบหมายมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบ กิจการโรงงานนั้นหยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว และปรับปรุงแก้ไข โรงงานนั้นเสียใหม่หรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าผู้ประกอบกิจการโรงงานได้ปรับปรุงแก้ไขโรงงาน หรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่ กำหนดแล้ว ให้ปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายสั่งให้ประกอบกิจการโรงงานต่อไปได้

 

แต่หากร้ายแรงที่สุด ถ้าผู้ประกอบกิจการโรงงานไม่ปรับปรุงแก้ไขโรงงาน หรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง ภายในเวลาที่ กำหนด ให้ปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายมีอำนาจสั่งปิดโรงงานได้ และในกรณีที่ เป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ให้คำสั่งปิดโรงงานดังกล่าวมีผลเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตด้วย

 

2.แต่หากเป็นกรณีที่ไม่ทราบว่ากากอุตสาหกรรมเหล่านั้นมาจากที่ใด ก็จะมีการดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนพร้อมกับสืบหาเจ้าของกากอุตสาหกรรมเพื่อดำเนินการต่อไป

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะพบว่ามีข้อกำหนดชัดเจนดังกล่าว แต่จะพบว่า การร้องเรียนของประชาชนต่อกรณีการทิ้งกากอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่จะก้าวไปไม่ถึงการค้นพบเจ้าของกากอุตสาหกรรมต้นเหตุ หรือการลงโทษโรงงานที่เป็นผู้ก่อเหตุให้เป็นกรณีตัวอย่าง ทำให้ที่ผ่านมาเหตุการณ์ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมยังคงเกิดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 

 

 

คาดหวัง คพ.จัดการ แต่เป็นแค่เสือกระดาษ

 

แม้ว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรม จะมีหน้าที่ในการดำเนินการ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหานี้โดยตรง แต่เมื่อเกิดเหตุอันเกี่ยวข้องกับมลพิษ หรือกลุ่มสารเคมีอันตรายอันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่ถูกคาดหวังว่าจะมีส่วนร่วมเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้ก็คือ กรมควบคุมมลพิษ  ซึ่งหากเข้าไปดูในอำนาจหน้าที่ที่แท้จริงแล้ว ก็กลับพบว่ากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจหน้าที่ในการสั่งการ เพื่อให้เกิดการกระทำหรือไม่กระทำของผู้กระทำผิดได้ ตามที่สังคม หรือประชาชนเข้าใจ นอกจากการเข้าดำเนินการตรวจสอบในกรณีที่ได้รับร้องเรียนจาก ประชาชน หรือเกิดเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม พร้อมกับรายงานผลว่า เหตุที่เกิดดังกล่าวมีผลอย่างไรบ้าง ก่อนที่จะส่งต่อคำเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการ และอาจจะมีการขอให้ส่งผลการดำเนินการกลับมายัง คพ. แต่จะมีการดำเนินการตามสิ่งที่ร้องขอหรือไม่นั้น

 

 

คพ.ก็ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เข้าไปบังคับสั่งการได้แต่อย่างใด

 

 

          “อย่างไรก็กรณีที่เกิดการทิ้งกากสารพิษ หรือน้ำเสีย เมื่อได้รับร้องเรียนจากประชาชน คพ.จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบเพื่อหาผลกระทบทั้งในเชิงของวิชาการต่าง ๆ เมื่อได้ผลออกมา ก็จะมีการรายงานไปตามลำดับขั้นตอน  พร้อมทั้งทำหนังสือเรื่องข้อเสนอแนะต่าง ๆ ไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม  หรือองค์กรปกกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบ แต่หน่วยงานดังกล่าวจะดำเนินการหรือไม่อย่างไรนั้น คพ.ก็ไปบังคับไม่ได้ หรือแม้กระทั่ง การขอให้รายงานผลการดำเนินงานกลับมา ถ้าเขาไม่ทำส่งกลับมาเราก็ไปทำอะไรไม่ได้เช่นกัน” เจ้าหน้าที่ คพ.คนหนึ่งกล่าว

 

 

แต่การคาดหวังของประชาชนในทุกครั้งที่เกิดเหตุเดือดร้อนจากปัญหามลภาวะ หรือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม หน่วยงานแรกที่ทุกคนนึกถึง คือกรมควบคุมมลพิษ หากแต่ในทางปฏิบัติหน่วยงานนี้กลับไม่มีอำนาจดำเนินการได้เท่าไรนัก

 

 

สั่งแก้ไขไม่ได้ ได้แต่แนะนำ

 

 

          “นั่นคือสิ่งที่ประชาชนเข้าใจ แต่ คพ.จะเป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน ร่วมกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่จริงแล้วเราไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะไปสั่งการอะไรได้เลย ทำได้แค่การตรวจสอบผลพร้อมส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ไม่เหมือนกับต่างประเทศ ที่มีกฎหมายให้อำนาจกับ กรมด้านสิ่งแวดล้อมมาก และโรงงาน หรือผู้กระทำผิดจะกลัวมาก อย่างไรก็ตามเราก็พยายามเต็มที่ที่จะให้ส่งข้อมูลเพื่อให้เกิดการแก้ไขไปยังหน่วยงานรับผิดชอบ แต่ถ้าเขาไม่ทำก็ไม่สามารถทำอะไรได้”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สำหรับบทบาทและภารกิจของกรมควบคุมมลพิษ  ซึ่งถือปฏิบัติตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ระบุว่า ให้อำนาจคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมมลพิษ และเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ ในการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการควบคุม ป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากภาวะมลพิษ ซึ่งได้แก่ การเสนอความเห็นในการจัดกำหนดนโยบายด้านการควบคุมมลพิษของประเทศ การกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม (มาตรฐานคุณภาพน้ำในแม่น้ำลำคลอง น้ำทะเลชายฝั่ง คุณภาพอากาศในบรรยากาศ ฯลฯ (การกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด (มาตรฐานน้ำทิ้งจากอาคารต่าง ๆ น้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม และนิคมอุตสาหกรรม มาตรฐานไอเสียจาก ยานพาหนะต่าง ๆ ฯลฯ)

 

การจัดทำแผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมาตรการควบคุมมลพิษ (การจัดการขยะมูลฝอย การจัดการของเสียอันตราย การประกาศเขตควบคุมมลพิษ ฯลฯ) การติดตามตรวจสอบสถานการณ์มลพิษ รับเรื่องราวร้องทุกข์ด้านมลพิษ และดำเนินการตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านการควบคุมมลพิษ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โดยบทบาทและภารกิจดังกล่าวตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ พ.ศ.2535 มิได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้กรมควบคุมมลพิษมีอำนาจลบล้าง หรือเข้าแทนที่อำนาจการจัดการน้ำเสียหรือของเสียอื่น ๆ ที่ออกตามกฎหมายอื่นหรือของหน่วยงานอื่น แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีหน่วยงานรับผิดชอบ ด้านการควบคุมมลพิษโดยเฉพาะ เอื้อประโยชน์ สนับสนุนและผลักดันการดำเนินงานของหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม และอุดช่องว่างในกรณีที่ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ตัวอย่างเช่น เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษแม้มีอำนาจเข้าไปทำการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรม หากพบว่ามีการละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายก็ไม่มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที แต่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายโรงงานให้เป็นผู้ดำเนินการ

 

ต่อเมื่อปรากฎว่าเจ้าพนักงานดังกล่าวไม่ดำเนินการแก่ผู้กระทำผิดภายในเวลาอันสมควร เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษจึงจะมีอำนาจ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนตามกฎหมาย หรือกรณีการกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายอื่นก็สามารถดำเนินการได้ แต่มาตรฐานดังกล่าวต้องเข้มงวดกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ออกตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ พ.ศ.2535 เป็นต้น

 

 

          “เช่นเดียวกับกรณีการทิ้งกากอุตสาหกรรมที่ ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งภาระกิจรับผิดชอบโดยตรง จะต้องเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน คพ.ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้หากไม่ได้รับแจ้งร้องเรียน หรือร้องขอจากเจ้าของพื้นที่” เจ้าหน้าที่คนเดิมระบุ

 

 

นอกจากนี้ในส่วนของท้องถิ่นที่ยังพบว่า มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด หรือแม้กระทั่งตำรวจท้องที่ กลับพบว่า การทำงานไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลในการทำงานร่วมกันได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่ถูกเชื่อว่า น่าจะรับผิดชอบแก้ไขเรื่องนี้โดยตรง กลับมีข้อจำกัดทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทำให้เกิดช่องว่าง จนเป็นเหตุให้หลายปัญหาไม่สามารถแก้ไขไปจนถึงจุดสิ้นสุดได้ กลายเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

 

 

 

กรีนพีซเสนอแก้ที่ต้นเหตุ ลดช่องโหว่

 

 

ขณะที่ในมุมมองขององค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเคยทำรายงานรายละเอียดในเรื่องนี้ และออกเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 เห็นว่าการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ล้วนมีการทำกันเป็นขบวนการ ตั้งแต่โรงงานผู้ก่อ ผู้รับกำจัด ผู้ขนส่ง และหรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการ ที่อาจจะรู้เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหละหลวมในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และมองว่า ประเทศไทยยังมีช่องโหว่เรื่องของการตรวจสอบการดำเนินการของบริษัทรับกำจัดกากอุตสาหกรรมว่า ได้มีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่ อย่างไร หรืออาจจะมีการนำกากอุตสาหกรรม หรือสารพิษเหล่านั้นไปทิ้งอย่างไม่รับผิดชอบ รวมทั้งยังขาดการรวบรวมข้อมูลปริมาณขยะอุตสาหกรรมที่ครบถ้วนและถูกต้อง ข้อมูลที่มีอยู่ก็ยังเป็นข้อมูลเก่าที่ใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550

 

นอกจากนี้ในรายงานฉบับเดียวกัน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่อภาครัฐใน 6 ประเด็นด้วยกัน คือ

1.เร่งจัดทําระบบและเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ อุตสาหกรรมและสารเคมีอันตราย และให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย

2.นําระบบติดตามข้อมูลการขนส่งของเสียอันตรายมาใช้อย่างเคร่งครัดและบังคับใช้ให้ครอบคลุมทุกโรงงานที่เป็นแหล่งกําเนิดมลพิษ โดยต้องมีการสุ่ม ตรวจการขนย้ายกากอุตสาหกรรมตั้งแต่แหล่งกําเนิด การขนส่ง และปลายทางกําจัดหรือบําบัดกากอุตสาหกรรม

3.ตรวจสอบโรงงานรับกําจัดและบําบัดกากอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด ให้มีการปฏิบัติตามกฏหมายและการกําจัดหรือบําบัดอย่างถูกวิธี

4.เร่งผลักดัน พ.ร.บ.มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม และร่างอนุบัญญัติว่าด้วยภาษีการปล่อยกากของเสีย ที่จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้เกิดการลดมลพิษ และกองทุนสนับสนุนด้านเทคโนโลยีที่สะอาด ลดของเสียอันตราย สนับสนุนด้านการกําจัดและบําบัด รวมถึงทุนการเยียวยา และฟื้นฟูผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน

5.สนับสนุนและผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด ลดและมุ่งสู่ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายตั้งแต่ต้นทาง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

6.เพิ่มบทลงโทษกับผู้กระทําผิดทั้งทางแพ่งและอาญาแก่ผู้ที่กระทําผิดกฏหมาย

 

แต่แม้จะมีข้อเสนอแนะมากมาย แต่ก็ยังพบว่ายังไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองจากภาครัฐ จึงน่าเชื่อได้ว่า ปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรม จะยังไม่หมดไปจากประเทศนี้ และมีพื้นที่ประสบปัญหาถูกเปิดโปงออกมาเรื่อย ๆ ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม และมีการแก้ไขกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับความเป็นจริงนั่นเอง

 

ขอบคุณภาพจาก Google, Greenpeace

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: