ชี้‘แท็บเล็ต’กระตุ้นเด็กป.1สนใจเรียนขึ้น ร.ร.เซ็ง'เน็ตช้า-ขาดงบซ่อม-ไร้คนสอน'

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 25 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2358 ครั้ง

 

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อโครงการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้น ป.1 ของกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่เริ่มแนวคิด แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ทำให้การเดินหน้าโครงการนี้หยุดชะงัก โดยรัฐบาลได้แจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้น ป.1 ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนไปแล้ว 1 ปี และมีการประมูลรอบใหม่ไปแล้วครั้งหนึ่ง ของปีการศึกษา 2556 สำหรับนักเรียนชั้นป.1 ม.1 และครูผู้สอน ขณะเดียวกันก็มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำผลสำรวจไปพร้อม ๆ กัน ด้วยหวังว่าจะนำข้อมูลที่ได้ กลับมาแก้ไขปรับปรุงให้โครงการนี้มีประสิทธิภาพสูงสุด

 

สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจโรงเรียนใช้แท็บเล็ต

 

ล่าสุด เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ  เปิดเผยผลการสำรวจ “ความพึงพอใจเกี่ยวกับนโยบายการแจกแทบเล็ต ให้กับเด็กนักเรียนชั้น ป.1 พ.ศ.2556”โดยระบุภาพรวมว่า ผู้บริหารและครูผู้สอนของโรงเรียนที่อยู่ในข่ายของการจะได้รับการจัดสรรเครื่องแท็บเล็ต ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อนโยบายนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเห็นว่าช่วยให้เด็กนักเรียนกระตือรือร้นในการเรียนมากขึ้น แม้ว่าจะมีผลเสียเรื่องของสายตาและสุขภาพของเด็กก็ตาม

ทั้งนี้ในรายงานการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฯ โดยเก็บข้อมูลด้วยการส่งแบบสำรวจทางไปรษณีย์ ไปยังโรงเรียนที่อยู่ในข่าย ของการจะได้รับการจัดสรรเครื่องแท็บเล็ต จำนวน  4,930 แห่ง ใน 6 ประเด็น คือ 1.ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียน และความพร้อมในการใช้ไอซีที 2.การบริหารจัดการการใช้แท็บเล็ตภายในโรงเรียน 3.ผลดีและผลเสียของนโยบายการแจกเครื่องแท็บเล็ต 4.ความพึงพอใจต่อนโยบายการแจกแท็บเล็ต 5.ความคิดเห็นต่อคุณสมบัติของแท็บเล็ตที่ใช้ในการเรียนการสอน และ 6.ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อนโยบายการแจกแท็บเล็ต

 

 

ข้อมูลระบุโรงเรียนมีคอมพ์เกือบครบแต่ไม่มีครูสอน

 

ประเด็นที่ 1 โครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียน และความพร้อมในการใช้ไอซีที จากการสำรวจพบว่า โรงเรียนที่อยู่ในข่ายของการได้รับการจัดสรรเครื่องแท็บเล็ต ส่วนใหญ่ร้อยละ 97.2 มีเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว มีเพียงร้อยละ 2.1 เท่านั้น ที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ในโรงเรียนเลย ส่วนร้อยละ 1.9 ไม่ระบุว่า มีคอมพิวเตอร์ใช้ในโรงเรียนหรือไม่

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่าโรงเรียนในโครงการ ร้อยละ 97.2 ที่ระบุว่า มีคอมพิวเตอร์ใช้ภายในโรงเรียนแล้ว แต่ผลสำรวจกลับพบว่า มีโรงเรียนเพียงร้อยละ 40.4 เท่านั้น ที่มีครูสอนคอมพิวเตอร์เพียงพอ ขณะที่โรงเรียน ร้อยละ 57.7 ระบุว่า มีครูสอนคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอ และโรงเรียนที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ส่วนใหญ่ร้อยละ 98.6 หรือเกือบทั้งหมด นำคอมพิวเตอร์ไปใช้ในงานด้านการบริหารจัดการโรงเรียน ขณะที่โรงเรียนที่ระบุว่า ไม่ได้นำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการบริหารจัดการโรงเรียน เพราะขาดบุคลากร หรือระบบงานยังไม่ทันสมัยเท่าที่ควร แต่สำหรับในส่วนของการนำไอซีที มาใช้ในระบบการเรียนการสอนนั้นพบว่า โรงเรียนร้อยละ 96.2 ระบุว่า นำระบบไอซีทีมามีส่วนในการเรียนการสอน ในระดับปานกลางถึงมากที่สุด หรือใช้ในระดับปานกลาง ร้อยละ 33.1 ระดับมากร้อยละ 47.8 และระดับมากที่สุดร้อยละ 15.3 ขณะที่โรงเรียนที่ระบุว่า ใช้ระบบไอซีทีมาใช้ในการเรียนการสอนน้อยที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 0.5 เท่านั้น

 

ปัญหาใหญ่ไอซีทีโรงเรียน ‘อินเตอร์เน็ตช้า-คอมพ์เก่า-ขาดบุคลากร’

 

สำหรับปัญหาอุปสรรคในการใช้อุปกรณ์ไอซีทีในระบบการเรียนการสอน จากการสำรวจของสำนักงานสถิตแห่งชาติ ระบุชัดเจนว่า มีโรงเรียนถึงร้อยละ 92.1 มีปัญหาอุปสรรคในการใช้ไอซีทีในระบบการเรียนการสอน โดย ปัญหา 5 อันดับแรก คือ 1.ความเร็วในการใช้อินเตอร์เน็ตที่มีช้าเกินไป รองลงมาคือ 2.การขาดงบประมาณในการดูแลรักษา 3.คอมพิวเตอร์เก่า 4.คอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอ และ 5.ขาดบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์ หรือผู้ดูแลคอมพิวเตอร์

 

ส่วนประเด็นการบริหารจัดการการใช้แท็บเล็ตภายในโรงเรียน จากการสำรวจระบุว่า ขณะนี้มีโรงเรียน ร้อยละ 97.7 ได้รับมอบเครื่องแท็บเล็ตแล้ว และร้อยละ 89.7 ไม่พบว่า มีเครื่องเสียหายระหว่างการรับมอบ แต่สำหรับส่วนที่รับความเสียหายร้อยละ 8.9 มีสาเหตุจากอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์มากที่สุด รองลงมาเป็นความเสียหายของระบบโปรแกรมซอฟต์แวร์ ที่ทำให้ไม่สามารถใช้เครื่องแท็บเล็ตได้ และหลังการรับมอบแล้ว โรงเรียนต่าง ๆ ก็ได้เริ่มใช้เครื่องแท็บเล็ตในการเรียนการสอนแล้ว มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่ยังไม่ได้ลงมือใช้ เนื่องจากอุปกรณ์ยังมาไม่ครบ ครูยังไม่ได้รับการอบรม และยังไม่มีบุคลาการที่พร้อมจะสอน เป็นต้น ทั้งนี้ในการเรียนการสอนด้วยเครื่องแท็บเล็ต โรงเรียนส่วนใหญ่ได้กำหนดชั่วโมงการสอนด้วยเครื่องแท็บเล็ตเฉลี่ย 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยมีครูที่จะให้สอนโดยเฉลี่ยโรงเรียนละ 2 คน

 

กระตุ้นเด็กสนใจเรียน แต่ทำลายสุขภาพร่างกาย-สายตา

 

สำหรับประเด็นผลดีผลเสีย ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ผลสำรวจผู้บริหารและครูผู้สอนเห็นว่า นโยบายแจกเครื่องแท็บเล็ต มีผลดี 3 อันดับแรก คือ 1.การมีสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย จูงใจให้เด็กอยากเรียนรู้ สนใจการเรียนมากขึ้น (ผู้บริหาร ร้อยละ 93.1 และ ครูผู้สอน ร้อยละ 87.5) 2.ทำให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้พื้นฐานในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ (ผู้บริหาร ร้อยละ 85.8 และครูผู้สอน ร้อยละ 83.4) และ3.ทำให้เด็กเรียนรู้ก้าวทันโลกาภิวัตน์ การเรียนรู้ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ (ผู้บริหาร ร้อยละ 82.5 และครูผู้สอน ร้อยละ 78.9)

ขณะที่ด้านผลเสีย 3 อันดับแรก ผู้บริหารและครูผู้สอนระบุว่า 1.การมีปัญหาเรื่องสายตา มีปัญหาด้านสุขภาพ ทำให้ออกกำลังกายน้อยลง (ผู้บริหาร ร้อยละ 56.5 และครูผู้สอน ร้อยละ 59.4) ไม่เหมาะกับวุฒิภาวะของนักเรียนชั้น ป.1 เพราะจะทำให้ทักษะการใช้มือเขียนไม่เป็น (ผู้บริหาร ร้อยละ 53.6 และครูผู้สอน ร้อยละ 53.2) และ 3.มีโอกาสอยู่ในโลกไซเบอร์มาก ทำให้ขาดมนุษยสัมพันธ์ ลดการเล่นกับเพื่อน ๆ (ผู้บริหาร ร้อยละ 45 และครูผู้สอน ร้อยละ 44.6)

นอกจากนี้ในส่วนของความคิดเห็นต่อคุณสมบัติของแท็บเล็ต ที่ใช้ในการเรียนการสอน จากการสำรวจพบว่า ครูผู้สอนของโรงเรียนที่อยู่ในข่ายของการได้รับการจัดสรรเครื่องแท็บเล็ตเห็นว่า เครื่องแท็บเล็ตมีคุณสมบัติ เหมาะสมในระดับปานกลางถึงมาก ร้อยละ 92.3 อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 7.7 เห็นว่า เหมาะสมในระดับน้อยถึงไม่มีคุณภาพ และไม่เหมาะสมเลย

โดยครูผู้สอนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นกลุ่มที่เห็นว่า เครื่องแท็บเล็ตมีคุณสมบัติเหมาะสมในระดับปานกลางถึงมาก อยู่ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่นคือ ร้อยละ 93.8 รองลงมาเป็นกลุ่มครูในภาคเหนือ ร้อยละ 92.6 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 92.0 ภาคกลาง ร้อยละ 91.3  และน้อยสุดคือ ครูในกลุ่มภาคใต้ ร้อยละ 89.3

ส่วนของคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะต่อนโยบายการแจกแท็บเล็ตนั้น ผู้บริหารของโรงเรียนที่อยู่ในข่ายของการได้รับการจัดสรรเครื่องแท็บเล็ตร้อยละ 39.5 เห็นว่า ควรเพิ่มสาระ แบบฝึกหัดลงไปในโปรแกรมให้มากกว่านี้ ควรแจกเครื่องแท็บเล็ตที่มีคุณภาพมากกว่านี้ จัดอบรมครูผู้สอนในเรื่องการใช้เพิ่มเติม ยังไม่เหมาะกับเด็กในวัยนี้ ควรจัดให้ครูมีเครื่องแท็บเล็ตใช้ด้วยเพื่อความสะดวกในการสอน และควรดำเนินการนโยบายอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

 

จาตุรนต์ สั่งตั้งอนุกรรมการดูแลเนื้อหาแท็บเล็ต

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวระหว่าง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบาย 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน ครั้งที่ 9/2556 ว่า แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบาย 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน โดยนายกรัฐมนตรี เพื่อการทำงานดูแลเรื่องนโยบายแท็บเล็ต ให้เด็กได้มีแท็บเล็ตและได้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง รวมทั้งดูแลในเรื่องหลักสูตรที่กำหนดไว้ในแท็บเล็ตตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว แต่พบว่ายังไม่มีคณะอนุกรรมการที่จะเข้ามาดูแลมาตรฐานของเนื้อหาในแท็บเล็ตโดยตรง จึงจำเป็นที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ด้วยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สสวท. ร่วมกันพิจารณาในเรื่องนี้ แต่จะให้คณะอนุกรรมการดังกล่าวดูแลเป็นหลัก และต้องเร่งดำเนินการ

นอกจากนี้ให้สพฐ.จัดการเสวนา เพื่อให้มีการรวบรวมผลการวิจัยและผลการศึกษาที่เกี่ยวข้อง กับการใช้แท็บเล็ตในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในแง่ความทั่วถึง คุณภาพ ปัญหาอุปสรรค รวมทั้งในส่วนของเนื้อหา เช่น ประโยชน์ของการใช้ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และอีกส่วนหนึ่งจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็น ครู นักเรียน ผู้ปกครอง เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร ต้องการให้แก้ไขปรับปรุงอย่างไร เพราะเรื่องนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อดำเนินการระยะหนึ่งแล้ว ผู้ใช้อาจจะต้องการสเป็กหรือคุณภาพที่สูงกว่านี้ แต่สิ่งสำคัญคือ เนื้อหา รวมทั้งความเหลื่อมล้ำระหว่างนักเรียนที่มีแท็บเล็ต กับครูที่ไม่มีแท็บเล็ต และการอบรมพัฒนาครูด้วย เพื่อจะนำผลการเสวนาและข้อมูลไปใช้ปรับปรุงในส่วนของนโยบายและการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป

 

สั่งชะลอประมูลแท็บเล็ตโซน 3 หลังพบร้องเรียน

 

นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าว ยังมีการพูดคุยถึงความคืบหน้า การดำเนินการประมูลด้วยวิธี E-Auction ในการจัดซื้อแท็บเล็ตทั้ง 4 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 และ 2 ซึ่งไม่มีข้อทักท้วงในการประมูล จะให้สพฐ.ดำเนินการตามคำแนะนำของที่ประชุม คือ เจรจาต่อรองเกี่ยวกับราคาที่จะจัดซื้อแท็บเล็ตทั้ง 2 โซน จากนั้นให้รวบรวมผลการเจรจาและข้อมูลเสนอต่อ รมว.ศธ.เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

โซนที่ 3 พบว่ามีการร้องเรียนจากภาคีเครือข่ายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และมีการเสนอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายทั้งในส่วนของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และอำนาจหน้าที่ของ รมว.ศึกษาธิการ จึงจะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านกฎระเบียบและผู้เกี่ยวข้องมาให้ความเห็นและข้อแนะนำว่า ในกรณีที่เรื่องนี้ยังมีชั้นความลับในส่วนของ รมว.ศึกษาธิการ จะต้องดำเนินการอย่างไรให้เป็นไปตามกฎหมายและดีที่สุด ดังนั้นขั้นตอนการจัดซื้อแท็บเล็ตของโซนที่ 3 จึงอาจจะต้องชะลอไว้ก่อน

โซนที่ 4 จะต้องดูผลการหารือในกรณีโซนที่ 3 ก่อนว่า จำเป็นจะต้องเลื่อนการประมูลโดย E-Auctionในโซนที่ 4 ออกไปหรือไม่ เนื่องจากหากพบปัญหาช่องว่าง ช่องโหว่ของระเบียบ วิธีการ กติกา ในการจัดซื้อโซนที่ 3 ก็จะนำมาประกอบการพิจารณาว่าจำเป็นจะต้องแก้ไขเสียก่อนหรือไม่

 

ยกเลิกประมูลโซน 4 เพราะยื่นเพียงบริษัทเดียว

 

            “สำหรับการให้ชะลอการประมูลการจัดซื้อแท็บเล็ตโซนที่ 3 ของนักเรียนชั้น ม.1 และครู ของภาคกลางและภาคใต้ ที่เปิดประมูลด้วยวิธีการประมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ ไปเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้นจะต้องรอรวบรวมข้อร้องเรียน และความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะมีการระบุว่า มีการสมยอมในการประมูลเกิดขึ้น ซึ่งมีผู้ผ่านคุณสมบัติเพียง 2 ราย ราคาประมูลก็ไม่ได้ต่ำกว่าราคากลางมากนัก รวมถึงสเป็กเครื่อง และปัญหาอื่น ๆ อีก ซึ่งจะต้องทำอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันปัญหาการถูกฟ้องกลับ โดยจะมีการปรึกษากับตัวแทนของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น กรมบัญชีกลาง และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าจะทำอย่างไรในกรณีที่สั่งให้เปิดประมูลไปแล้ว แต่มีการชะลอ ซึ่งอาจจะทำให้การจัดซื้อล่าช้าไปบ้าง แต่เราไม่มีทางเลือกอื่น เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหา ไม่อย่างนั้นผมอาจจะติดคุกได้  ส่วนโซนที่ 4 แท็บเล็ต ม.1 ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ต้องประกาศยกเลิกการประมูลไปก่อนเช่นกันนั้น เนื่องจากมีบริษัทที่ผ่านการตรวจสอบเพียงบริษัทเดียว จึงไม่สามารถทำอี-อ๊อคชั่นได้นั้น ถ้าจำเป็นก็ต้องไปชะลอไปก่อนเช่นกัน” นายจาตุรนต์กล่าว

สำหรับ ในส่วนการประมูลของโซนที่ 1 และโซนที่ 2 ที่ผ่านขั้นตอนไปแล้ว ให้ดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนปกติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการให้ สพฐ. ไปเจรจาต่อรองราคาให้ลดลงมาจากราคากลางอีก และเสนอมาก่อน หลังจากนั้นจึงจะสรุปได้ว่า จะจัดซื้อได้เมื่อใด ส่วนจะมีการดำเนินการจัดซื้อได้เมื่อใดนั้น ยังตอบไม่ได้ แต่จะพยายามดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด โดยเน้นความถูกต้อง

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก Google และ สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: