“ตำรวจ” นับเป็นอาชีพที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนมากที่สุดก็ว่าได้ เท่าที่นึกได้พื้นฐาน ตั้งแต่การแจ้งความเอกสารหาย การแจ้งความในคดีต่างๆ เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกลักขโมย ทะเลาะวิวาท ทำลายทรัพย์สิน คดีเกี่ยวกับยาเสพติด คดีเรื่องเพศ คดีการจราจร การรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่เว้นแม้แต่การช่วยเหลือประชาชนในเหตุการณ์ต่างๆ เช่น จับสัตว์ร้ายเข้าบ้าน ทำนาเกี่ยวข้าว ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ไฟไหม้ ฯลฯ ฉะนั้นตำรวจจึงเป็นอาชีพที่ได้รับความคาดหวังจากสังคมค่อนข้างสูง
ทว่าการเข้าไปเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะถูกจับตามองมากเป็นพิเศษกว่าอาชีพอื่น และหลายครั้งมักถูกมองไปในแง่ลบ ทั้งที่ยังมีตำรวจอีกจำนวนมาก ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีจริยธรรม ศีลธรรม เสียสละ ในการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน และบางครั้งเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ก็มีไม่น้อย อย่างไรก็ตามในความเป็นอาชีพที่มีผู้คนจำนวนมาก ซึ่งจากข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการระบุว่าประเทศไทยมีตำรวจประมาณ 240,000 นาย ย่อมมีผู้กระทำความผิดอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งกองวินัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รวบรวมไว้นับย้อนตั้งแต่ปี 2552-2556
ปี 2552 ละทิ้งหน้าที่มากที่สุด-โกงสอบน้อยที่สุด
ปี 2552 มีตำรวจถูกดำเนินการทางวินัยมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ละทิ้งหน้าที่ 1,014 ราย บกพร่องต่อหน้าที่ (พนักงานสอบสวน) 675 ราย ทรัพย์สินราชการ 320 ราย ทุจริตหรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ 261 ราย บกพร่องต่อหน้าที่ (อบายมุข) 171 ราย
ซึ่งในปีเดียวกัน หากแยกตามหน่วยงานสังกัดต่าง ๆ พบว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) มีตำรวจผิดวินัย ละทิ้งหน้าที่มากที่สุด 218 ราย บกพร่องต่อหน้าที่ (พนักงานสอบสวน) 204 ราย ส่วนความผิดต่อทรัพย์สินราชการ มากที่สุดคือ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 43 ราย ทุจริตหรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ มากที่สุดคือ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 50 ราย และบกพร่องต่อหน้าที่ (อบายมุข) มากที่สุดคือ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 (บช.ภ.8) จำนวน 73 ราย
หากดูจากหน่วยงานสังกัดต่าง ๆ ที่มีตำรวจถูกดำเนินการทางวินัยมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) 860 ราย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 (บช.ภ.8) 464 ราย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 (บช.ภ.4) 460 ราย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (บช.ภ.3) 432 ราย กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 418 ราย
ส่วนกองบัญชาการที่มีผู้ถูกดำเนินการทางวินัยน้อยที่สุดคือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) 39 ราย รองลงมาคือ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) 50 ราย นอกจากนี้ในส่วนของข้อหาที่มีผู้กระทำความผิดน้อยที่สุดคือ ทุจริตสอบ 2 ราย ปกปิดความผิดผู้ใต้บังคับบัญชา 3 ราย ซ้อมผู้ต้องหา 4 ราย ข่มเหงประชาชน 8 ราย
บช.น.มีตำรวจทำผิดมากที่สุด 4 ข้อหาจาก 5 ข้อหา
ปี 2553 มีตำรวจถูกดำเนินการทางวินัยมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ละทิ้งหน้าที่ 1,594 ราย บกพร่องต่อหน้าที่ (พนักงานสอบสวน) 542 ราย บกพร่องต่อหน้าที่ (อบายมุข) 268 ราย อาวุธปืน 258 ราย และ ทุจริตหรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ 251 ราย
เมื่อแยกตามคดีพบว่า ในปีเดียวกัน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) มีตำรวจถูกดำเนินการทางวินัย ข้อหาละทิ้งหน้าที่มากที่สุด 530 ราย บกพร่องต่อหน้าที่ (พนักงานสอบสวน) 157 ราย บกพร่องต่อหน้าที่ (อบายมุข) 148 ราย ส่วนข้อหาอาวุธปืน มากที่สุดคือ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 42 ราย ส่วนข้อหาทุจริตหรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ มากที่สุดคือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) 73 ราย
เมื่อแยกตามสังกัดพบว่า มีตำรวจที่ถูกดำเนินการทางวินัยมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) 1,496 ราย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 (บช.ภ.4) 557 ราย กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 409 ราย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (บช.ภ.3) 371 ราย ศูนย์ปฎิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศจต.) 361 ราย
ส่วนกองบัญชาการที่มีตำรวจถูกดำเนินการทางวินัยน้อยที่สุดคือ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) 48 ราย รองลงมาคือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) 60 ราย นอกจากนี้ในส่วนของข้อหาที่มีผู้กระทำความผิดน้อยที่สุดคือ ปกปิดความผิดผู้ใต้บังคับบัญชา 1 ราย ข่มเหงประชาชน 5 ราย
ปี 2554 ตำรวจถูกดำเนินการทางวินัยข้อหา ‘ละทิ้งหน้าที่’ เกือบ 2 พันราย
ปี 2554 มีตำรวจถูกดำเนินการทางวินัยมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ละทิ้งหน้าที่ 1,957 ราย บกพร่องต่อหน้าที่ (พนักงานสอบสวน) 619 ราย ทุจริตหรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ 401 ราย อาวุธปืน 328 ราย ประพฤติตนไม่เหมาะสม 251 ราย
เมื่อแยกตามคดีพบว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) มีตำรวจถูกดำเนินการทางวินัยข้อหาละทิ้งหน้าที่ มากที่สุด 839 ราย ส่วนข้อหาบกพร่องต่อหน้าที่ (พนักงานสอบสวน) มากที่สุดคือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) 196 ราย ขณะที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) มีตำรวจที่มีความผิดข้อหาทุจริตหรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ มากที่สุด 82 ราย เช่นเดียวกับข้อหาอาวุธปืนที่มากที่สุด 80 ราย และหน่วยงานที่มีตำรวจทำผิดข้อหาประพฤติตนไม่เหมาะสมมากที่สุดคือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) 40 ราย
และหากแยกตามสังกัดโดยรวมทุกข้อหา 5 หน่วยงานแรกที่มีตำรวจถูกดำเนินการทางวินัยมากที่สุดคือกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) 2,521 ราย รองลงมากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 (บช.ภ.4) 593 ราย กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 562 ราย ศูนย์ปฎิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) 438 ราย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 (บช.ภ.8) 408 ราย
ส่วนหน่วยงานที่มีตำรวจถูกดำเนินการทางวินัยน้อยที่สุดคือ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) 30 ราย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) 35 ราย และเป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2554 มีข้อหาที่ไม่มีตำรวจกระทำความผิดเลย 2 คือ ปกปิดความผิดผู้ใต้บังคับบัญชา และข่มเหงประชาชน ในขณะที่การทำผิดวินัยกรณีอื่นๆ กลับมากกว่าทุกปี คือมีจำนวน 2,573 ราย ขณะที่ปี 2552 มีจำนวน 1,946 ราย ปี 2553 มีจำนวน 1,735 ราย ปี 2555 มีจำนวน 1,361 ราย
ส่วนปี 2555 มีตำรวจที่ถูกดำเนินการทางวินัยมากที่สุด ในข้อหาละทิ้งหน้าที่ 1,140 ราย รองลงมาคือ บกพร่องต่อหน้าที่ (พนักงานสอบสวน) 607 ราย ทุจริตหรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ 444 ราย อาวุธปืน 360 ราย ประพฤติตนไม่เหมาะสม 166 ราย
ซึ่งเมื่อดูจากหน่วยงานที่มีตำรวจถูกดำเนินการทางวินัยมากที่สุด 5 อันดับแรก พบว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) มีตำรวจที่กระทำความผิดมากที่สุดในข้อหาต่างๆ ถึง 4 ข้อหาคือ ละทิ้งหน้าที่ 191 ราย บกพร่องต่อหน้าที่ (พนักงานสอบสวน) 99 ราย ทุจริตหรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ 197 ราย และประพฤติตนไม่เหมาะสม 50 ราย ส่วนคดีอาวุธปืนหน่วยงานที่มีตำรวจกระทำความผิดมากที่สุด คือ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 98 ราย
หากแยกตามสังกัดจากทุกข้อหาพบว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) มีตำรวจกระทำความผิดมากที่สุด 866 ราย รองลงมาศูนย์ปฎิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศจต.) 444 ราย กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 435 ราย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 (บช.ภ.4) 377 ราย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (บช.ภ.3) 372 ราย
ส่วนหน่วยงานที่มีตำรวจถูกดำเนินการทางวินัยน้อยที่สุดคือ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) 38 ราย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) 45 ราย คดีที่ไม่มีตำรวจกระทำความผิดเลยคือ ทุจริตสอบ และปกปิดความผิดผู้ใต้บังคับบัญชา
สำหรับปี 2556 เป็นการรวบรวมสถิติจากวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 มีข้อหาที่ตำรวจถูกดำเนินการทางวินัยมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ ละทิ้งหน้าที่ 249 ราย บกพร่องต่อหน้าที่ (พนักงานสอบสวน) 143 ราย อาวุธปืน 75 ราย ทุจริตหรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ 47 ราย และผู้ต้องหาหลบหนี 166 ราย
ซึ่งตำรวจที่กระทำความผิดในข้อหาที่มากที่สุด 5 อันดับแรก ข้อหาละทิ้งหน้าที่คือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) 54 ราย บกพร่องต่อหน้าที่ (พนักงานสอบสวน) คือ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (บช.ภ.9) 29 ราย อาวุธปืน คือ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 17 ราย ทุจริตหรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ คือ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) 23 ราย ส่วนข้อหาผู้ต้องหาหลบหนี คือ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 (บช.ภ.5) 7 ราย
เมื่อรวมจากทุกคดีพบว่ามีหน่วยงานที่มีตำรวจถูกดำเนินการทางวินัยมากที่สุด 5 อันดับคือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) 118 ราย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 (บช.ภ.4) 104 ราย กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 86 ราย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 (บช.ภ.8) 78 ราย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 (บช.ภ.6) 74 ราย
ส่วนหน่วยงานที่มีตำรวจถูกดำเนินการทางวินัยน้อยที่สุดคือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) 7 ราย รองลงมาคือ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 (บช.ภ.2) 30 ราย ส่วนคดีที่ไม่มีตำรวจกระทำความผิดเลยคือ ทุจริตเงิน ซ้อมผู้ต้องหา ปกปิดความผิดผู้ใต้บังคับบัญชา และการพนัน
อย่างไรก็ตามจากการสังเกตจากตัวเลขสถิติพบว่า หน่วยงานที่มีตำรวจทำผิดน้อยคือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด
ผบ.ตร.กำชับเรื่องความประพฤติและวินัยเมื่อต้นปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้มีคำสั่งเรื่อง มาตรการควบคุม กำกับ ดูแลและเสริมสร้างความประพฤติและวินัยผู้ใต้บังคับบัญชา ไปยังผบช. หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ผบก.ในสังกัด สง.ผบ.ตร. หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ระบุว่า เนื่องจากที่ผ่านมามีข้าราชการตำรวจกระทำผิดเป็นจำนวนมากปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และข้าราชการตำรวจโดยรวม แสดงให้เห็นว่าผู้บังคับบัญชายังไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่งในการควบคุมเสริมสร้างความประพฤติและวินัยผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด จึงกำชับการปฏิบัติ ดังนี้
1.ผู้บังคับบัญชาต้องกวดขัน กำกับ ดูแล เอาใจใส่ เสริมสร้างความประพฤติและวินัยของผู้ใต้บังคับบัญชาตามแนวทางที่กำหนดไว้ในระเบียบ ก.ตร.ว่าด้วยวิธีการเสริมสร้างและพัฒนาให้ข้าราชการตำรวจมีวินัยและป้องกันมิให้ข้าราชการตำรวจกระทำผิดวินัย พ.ศ.2549 และคำสั่ง ตร. ที่ 1212/2537 ลง 1 ต.ค.2537เรื่องมาตรการควบคุมและเสริมสร้างความประพฤติและวินัยข้าราชการตำรวจอย่างเคร่งครัด
2.การเสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีวินัยและป้องกันมิให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 80 โดยมีแนวทางปฏิบัติตามหนังสือ ตร.ที่ 0006.3/ว 64ลง 27 ก.ค.54 และหนังสือ ตร. ที่ 0006.3/ว 35 ลง 27 มี.ค.55 เช่น หน่วยต้องจัดให้มีสถิติข้าราชการตำรวจที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยแยกตามข้อกล่าวหา ต้องจัดให้มีการอบรมข้าราชการตำรวจให้ทราบข้อห้าม ข้อปฏิบัติต่าง ๆ ต้องจัดให้มีการอบรมความรู้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานด้านวินัย เป็นต้น
3.การจัดทำคำสั่งมอบหมายการปกครองบังคับบัญชาของหัวหน้าหน่วยงานตามคำสั่ง ตร ที่ 1212/2537ลง 1 ต.ค.37 ต้องชัดเจนและเป็นปัจจุบัน โดยพิจารณาให้มีการควบคุม กำกับ ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาในหน่วยอย่างทั่วถึงลดหลั่นกันลงไป ในแต่ละกลุ่มให้มีจำนวนไม่มากเกินไปประมาณ 4-5 คน
4.ผู้บังคับบัญชาต้องจัดประชุมอบรมผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยตนเองให้สม่ำเสมออย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง เพื่อให้ทราบถึงข้อห้ามและข้อปฏิบัติ กฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ซึ่งหากฝ่าฝืนจะเป็นความผิดวินัย และต้องทำบันทึกการประชุมอบรมชี้แจงในแต่ละครั้ง ด้วยตนเองเป็นหลักฐานในสมุดที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะให้พร้อมที่จะรับการตรวจสอบ
5.กรณีที่ข้าราชการตำรวจต้องหาคดียาเสพติดทุกเรื่อง โดยเฉพาะคดีเสพยาเสพติด หรือคดีจำหน่ายยาเสพติด ให้พิจารณาถึงพฤติการณ์ก่อนถูกจับกุมด้วยว่า ผู้บังคับบัญชาควรรู้หรือทราบพฤติการณ์มาก่อนหรือไม่ และได้มีการกวดขัน ควบคุม กำกับ ดูแลความประพฤติของผู้ใต้บังคับบัญชามากน้อยเพียงใด เนื่องจากผู้ติดยาเสพติดหรือจำหน่ายยาเสพติด น่าจะมีพฤติการณ์มาก่อนที่จะถูกจับกุม การที่ผู้บังคับบัญชาอ้างเหตุเพียงว่าได้ประชุมชี้แจงอบรมแล้วนั้น ยังไม่พอฟังได้ว่าไม่บกพร่อง ทั้งนี้ตามหนังสือ ตร. ที่ 0006.42/7377 ลง 4 ก.ย.43
6.ผู้บังคับบัญชาควรสอดส่องผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีทรัพย์สินเกินฐานะและมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะได้ทรัพย์สินมาโดยมิชอบ หากมีกรณีกระทำผิดอาญาหรือวินัยแล้ว ให้พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ด้วยความรวดเร็วเฉียบขาด ทั้งนี้เพื่อขจัดโอกาสการกระทำผิดในทางที่ร้ายแรงขึ้น
7.การละทิ้งหน้าที่ราชการของข้าราชการตำรวจ เป็นกรณีความผิดวินัยที่เกิดขึ้นมากสุด เมื่อข้าราชการตำรวจไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการ ผู้บังคับบัญชาต้องเอาใจใส่ รีบดำเนินการตรวจสอบหรือติดตามตัวในทันที เพื่อเป็นการขจัดโอกาสกระทำผิดอย่างอื่นในทางที่ร้ายแรงขึ้น
8.ความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาตามคำสั่ง ตร. ที่ 1212/2537 ลง 1 ต.ค.37 ต้องปรากฏว่า เป็นกรณีที่ผู้บังคับบัญชาพึงรู้หรือมีเหตุอันควรรู้และสามารถแก้ไขป้องกันได้แต่ไม่ดำเนินการแก้ไขป้องกัน หรือปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดเกิดขึ้น โดยพิจารณาโทษผู้บังคับบัญชาแต่ละระดับตามสมควรแก่เหตุตามหนังสือ ตร. ที่ มท 0604.42/16562 ลง 2 ธ.ค.40 หากผู้บังคับบัญชาซึ่งต้องรับผิดชอบใกล้ชิด ปล่อยปละละเลย ไม่ควบคุมกำกับดูแล เป็นเหตุให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย ถ้าผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ลงโทษผู้บังคับบัญชาซึ่งต้องรับผิดชอบอย่างต่ำกักยาม ส่วนกรณีที่ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง ให้ลงโทษผู้บังคับบัญชาซึ่งต้องรับผิดชอบอย่างต่ำภาคทัณฑ์
ขั้นตอนการดำเนินการทางวินัย
สำหรับขั้นตอนการดำเนินคดีทางวินัย ตาม พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547ระบุว่า
มาตรา 84 เมื่อมีการกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัยให้ผู้บังคับบัญชารีบดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่
ในการสืบสวนข้อเท็จจริงให้แจ้งเรื่องที่ถูกกล่าวหาหรือถูกร้องเรียนให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริงภายในเวลาที่กำหนด ถ้าเห็นว่ากรณีไม่มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยให้สั่งยุติเรื่องได้ ถ้าเห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา 85 หรือมาตรา 86 แล้วแต่กรณีทันที
มาตรา 85 เมื่อข้าราชการตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงให้ผู้บังคับบัญชานำสำนวนการสืบสวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 84 มาพิจารณาสั่งการตามมาตรา 89
มาตรา 86 เมื่อข้าราชการตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวน ในการสอบสวนต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยจะระบุหรือไม่ระบุชื่อพยานก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา เมื่อดำเนินการแล้ว ถ้าฟ้งได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัย ให้ดำเนินการต่อไปตาม
มาตรา 89 หรือมาตรา 90 แล้วแต่กรณี ถ้าฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัย ให้สั่งยุติเรื่อง
ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 72 หรือผู้บังคับบัญชาอื่นตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. เป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ข้าราชการตำรวจตำแหน่งต่างกันถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงร่วมกันให้ผู้มีอำนาจสำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่มีตำแหน่งในระดับสูงกว่าเป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 101 และผลการสอบสวนปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการสั่งการตามผลการสอบสวน โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือดำเนินการสอบสวนใหม่ แต่ทั้งนี้ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยจะระบุหรือไม่ระบุพยานก็ได้ และต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาได้ด้วย
มาตรา 87 หลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาเกี่ยวกับการสืบสวน และการสอบสวนที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 84 และมาตรา 86 ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.
ในการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจตามมาตรา 85 มาตรา 86 มาตรา 89 หรือมาตรา 90 ให้พิจารณาสั่งการให้แล้วเสร็จภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันได้รับสำนวน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. ซึ่งทำให้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวก็ให้ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกินสองครั้ง โดยแต่ละครั้งจะต้องไม่เกินหกสิบวัน ในการนี้ หากยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ให้ข้าราชการตำรวจผู้ถูกกล่าวหากลับคืนสู่ฐานะเดิมก่อน และให้ถือว่าไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างถูกสืบสวนหรือสอบสวน แล้วแต่กรณี นับแต่วันครบกำหนดเวลาดังกล่าวจนกว่าการพิจารณาสั่งการในเรื่องนั้นจะเสร็จสิ้นและมีคำสั่ง
ในกรณีที่เป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร. จะดำเนินการทางวินัยโดยไม่ต้องสืบสวนหรือสอบสวนก็ได้
มาตรา 88 เมื่อมีเหตุจำเป็นจะต้องกักตัวข้าราชการตำรวจซึ่งถูกกล่าวหาไว้เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน เช่น จะหลบหนี หรือจะไปทำร้าย หรือข่มขู่ผู้เสียหายหรือพยาน ให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจกักตัวข้าราชการตำรวจนั้นระหว่างดำเนินการสอบสวนได้เท่าที่จำเป็นแก่การสอบสวน แต่ต้องไม่เกินอำนาจลงโทษกักขังของผู้สั่งกักตัวและต้องไม่เกินสิบห้าวัน
ในกรณีที่ข้าราชการตำรวจตามวรรคหนึ่งถูกลงโทษกักยามหรือกักขังให้หักจำนวนวันที่ถูกกักตัวออกจากระยะเวลากักยามหรือกักขังด้วย และในกรณีที่ถูกลงโทษทัณฑกรรม ให้ถือว่าการถูกกักตัวเป็นการรับโทษสำหรับความผิดนั้นแล้ว
มาตรา 89 ข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือนตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้ แต่สำหรับการลงโทษภาคทัณฑ์ให้ใช้เฉพาะกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยหรือมีเหตุอันควรลดหย่อน ซึ่งยังไม่ถึงกับจะต้องถูกลงโทษทัณฑกรรม
ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่าผู้กระทำผิดวินัยควรได้รับโทษสูงกว่าที่ตนมีอำนาจสั่งลงโทษ ให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาของตนที่มีอำนาจ เพื่อให้พิจารณาดำเนินการเพื่อลงโทษตามควรแก่กรณี
ในกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยและมีเหตุอันควรงดโทษ จะงดโทษให้โดยให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือหรือว่ากล่าวตักเตือนก็ได้
การลงโทษตามมาตรานี้ ผู้บังคับบัญชาจะมีอำนาจสั่งลงโทษผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาในสถานโทษและอัตราโทษได้เพียงใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.
มาตรา 90 ข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา72 สั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก ตามความร้ายแรงแห่งกรณี ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลงโทษก็ได้ แต่ห้ามมิให้ลดโทษต่ำกว่าปลดออก
การพิจารณาสั่งลงโทษของผู้มีอำนาจตามมาตรา 72 (2) (3) และ (4) ให้ผู้มีอำนาจดังกล่าวตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองเสนอ โดยคณะกรรมการดังกล่าวอย่างน้อยต้องประกอบด้วยรองหัวหน้าหน่วยงานนั้นทุกคน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎ ก.ตร. ผู้ถูกลงโทษปลดออกตามมาตรานี้ ให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญเสมือนว่าผู้นั้นลาออกจากราชการ
มาตรา 91 เมื่อผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจผู้ใดแล้ว ให้รายงานการดำเนินการทางวินัยต่อผู้บังคับบัญชาที่มีตำแหน่งเหนือผู้ดำเนินการทางวินัยและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาที่ได้รับรายงานตามวรรคหนึ่งเห็นว่าการยุติเรื่อง การงดโทษหรือการลงโทษเป็นการไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ก็ให้มีอำนาจสั่งลงโทษ เพิ่มโทษเป็นสถานโทษหรืออัตราโทษที่หนักขึ้น ลดโทษลงเป็นสถานโทษหรืออัตราโทษที่เบาลง งดโทษโดยให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือหรือว่ากล่าวตักเตือนหรือยกโทษให้ถูกต้องหรือเหมาะสมตามควรแก่กรณี ตลอดจนแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในคำสั่งเดิมให้ถูกต้องเหมาะสมได้ด้วย และในกรณีที่เห็นว่าควรดำเนินการอย่างใดเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาให้ได้ความจริงและยุติธรรมก็ให้มีอำนาจดำเนินการหรือสั่งดำเนินการได้ตามควรแก่กรณี โดยการสั่งลงโทษหรือเพิ่มโทษเป็นสถานโทษที่หนักขึ้น ต้องไม่เกินอำนาจของตนตามมาตรา ๘๙ และการเพิ่มอัตราโทษเมื่อรวมกับอัตราโทษเดิมต้องไม่เกินอำนาจนั้นด้วย ถ้าเกินอำนาจของตน ก็ให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นตามลำดับเพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี ทั้งนี้ ถ้าเห็นว่าการจะสั่งลงโทษหรือเพิ่มโทษนั้นกรณีเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ก็ให้รายงานต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อให้พิจารณาดำเนินการ
ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษตามมาตรา 89 สั่งยุติเรื่อง หรือสั่งงดโทษข้าราชการตำรวจผู้ใดไปแล้ว แต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นว่ากรณีเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือเมื่อได้รับรายงานที่ผู้บังคับบัญชาตามวรรคสองเห็นว่ากรณีเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ก็ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจดำเนินการตามมาตรา 86 แต่ถ้าเป็นกรณีที่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 86 ไว้แล้ว ก็ให้ดำเนินการตามมาตรา 90
เมื่อมีกรณีเพิ่มโทษ ลดโทษ งดโทษ หรือยกโทษ ให้ผู้สั่งมีคำสั่งใหม่ และในคำสั่งดังกล่าวให้สั่งยกเลิกคำสั่งลงโทษเดิมด้วย พร้อมทั้งระบุวิธีการดำเนินการให้ผู้ถูกลงโทษตามคำสั่งเดิมรับโทษที่เพิ่มขึ้นหรือกลับคืนสู่ฐานะเดิม แล้วแต่กรณี ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.ตร.
มาตรา 92 เมื่อผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงหรือสั่งให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการในเรื่องใดไปแล้ว ถ้า ก.ตร. พิจารณาเห็นเป็นการสมควรที่จะต้องสอบสวนเพิ่มเติมหรือสอบสวนใหม่ ให้ ก.ตร. มีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติมหรือสอบสวนใหม่ในเรื่องนั้นได้ตามความจำเป็นโดยจะสอบสวนเองหรือตั้งอนุกรรมการหรือให้คณะกรรมการสอบสวน สอบสวนเพิ่มเติมหรือสอบสวนใหม่แทนก็ได้ หรือกำหนดประเด็นหรือข้อสำคัญที่ต้องการทราบส่งไป เพื่อให้คณะกรรมการสอบสวนที่ผู้บังคับบัญชาได้แต่งตั้งไว้เดิมทำการสอบสวนเพิ่มเติมได้ด้วย ในการดำเนินการตามมาตรานี้ให้นำมาตรา 93 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 93 ให้ผู้สืบสวน กรรมการสืบสวน และกรรมการสอบสวน เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และให้กรรมการสอบสวนมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพียงเท่าที่เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของกรรมการสอบสวน และโดยเฉพาะให้มีอำนาจเรียกให้กระทรวง ทบวง กรม หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ ห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงข้อเท็จจริง ส่งเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ส่งผู้แทนหรือบุคคลในสังกัดมาชี้แจงหรือให้ถ้อยคำเกี่ยวกับเรื่องที่สอบสวน
มาตรา 94 ข้าราชการตำรวจผู้ใดถูกสอบสวนในกรณีการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือมีกรณีที่ถูกชี้มูลความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไว้แล้ว แม้ต่อมาข้าราชการตำรวจผู้นั้นจะออกจากราชการไปแล้วก็ให้ทำการสอบสวนต่อไปได้ แต่ต้องดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันออกจากราชการ
การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ เว้นแต่กรณีที่ผลการสอบสวนพิจารณาปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยที่จะต้องลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม หรือกักขัง ก็ให้งดโทษนั้นเสีย
มาตรา 95 ข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ผู้มีอำนาจตามมาตรา 72 หรือผู้บังคับบัญชาอื่นตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. มีอำนาจสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัยได้ แต่ถ้าภายหลังปรากฏผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัยว่าผู้นั้นมิได้กระทำผิดหรือกระทำผิดไม่ถึงกับถูกลงโทษปลดออกหรือไล่ออก และไม่มีกรณีที่จะต้องออกจากราชการด้วยเหตุอื่นก็ให้ผู้มีอำนาจดังกล่าวสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งในระดับเดียวกันที่ผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น
เมื่อได้มีการสั่งให้ข้าราชการตำรวจผู้ใดพักราชการหรือออกจากราชการไว้ก่อนตามวรรคหนึ่งแล้ว หากภายหลังปรากฏว่าผู้นั้นมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในกรณีอื่นอีก ผู้มีอำนาจตามมาตรา 72 หรือผู้บังคับบัญชาอื่นตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. มีอำนาจดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณาตามมาตรา 84 และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 86 ตลอดจนดำเนินการทางวินัยตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ต่อไปได้
ในกรณีที่ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการหรือได้รับคำสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุใดๆ ที่มิใช่เป็นการลงโทษ ให้ผู้นั้นมีสถานภาพเป็นข้าราชการตำรวจตลอดระยะเวลาระหว่างที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
เงินเดือน เงินอื่นที่จ่ายเป็นรายเดือน และเงินช่วยเหลืออย่างอื่น และการจ่ายเงินดังกล่าวของผู้ถูกสั่งพักราชการและผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยการนั้น
หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสั่งพักราชการ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ระยะเวลาให้พักราชการและให้ออกจากราชการไว้ก่อน และการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามผลการสอบสวนพิจารณาให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.
มาตรา 96 ข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีที่อาจถูกสืบสวนหรือสอบสวนว่ามีการกระทำผิดวินัยแต่ได้ออกจากราชการก่อนดำเนินการสืบสวนหรือสอบสวน หากภายหลังได้กลับเข้ารับราชการใหม่ภายในห้าปี ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจตามมาตรา 72 ดำเนินการสั่งให้มีการสืบสวนหรือสอบสวนต่อไป
ขอบคุณภาพประกอบจาก Google
หมายเหตุ : ภาพทั้งหมดนำมาเพื่อประกอบข่าวเท่านั้น มิได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ