ย้อนอดีตรอยร้าว‘มหานิกาย-ธรรมยุติ’ กรณีตั้งสังฆราช-แนะเลิกกฎหมายสงฆ์

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 25 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 18692 ครั้ง

การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก นอกจากการสูญเสียปูชนียบุคคลด้านพุทธศาสนาของประเทสไทยแล้ว ด้านหนึ่งที่สังคมสนใจคือผู้ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งสังฆราชองค์ต่อไปจะเป็นใคร ซึ่งหากดูตามกฎหมาย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ คือ ว่าที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

คาดกันว่า การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชรอบนี้น่าจะเป็นไปโดยราบรื่น แม้ว่าจะมีสุ้มเสียงคัดค้านออกมาบ้างในแง่ที่ว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นพระอุปปัชฌาย์ของ พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดธรรมกาย ก็ตาม

แต่หากย้อนดูประวัติศาสตร์วงการสงฆ์ของไทย คงต้องกล่าวว่า มีความไม่ลงรอยกันระหว่างมหานิกาย และธรรมยุติกนิกายมาโดยตลอด นับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ซึ่งปัจจุบันความไม่ลงรอยดังกล่าวนับว่า ลดน้อยลงไปมากแล้วตามความเห็นของสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการและคอลัมนิสต์ด้านพุทธศาสนา

ก่อตั้งธรรมยุติจุดเริ่มต้นความขัดแย้ง

รูปแบบการปกครองสงฆ์ของไทยสืบย้อนไปตามเส้นทางประวัติศาสตร์กระแสหลัก คือสมัยสุโขทัย โดยแบ่งเป็นฝ่ายคามวาสีหรือพระบ้าน และอรัญวาสีหรือพระป่า แต่ละฝ่ายมีผู้นำของตนปกครองตามลำดับชั้น พอถึงสมัยอยุธยาก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางการเมือง

จวบจนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระวชิรญาณภิกขุ ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 4 ในเวลาต่อมาได้สถาปนาธรรมยุติกนิกายขึ้นในปี 2379 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อต้องการปฏิรูปศาสนาด้วยแนวคิด  2 ประการ หนึ่ง-ต้องการปฏิรูปปรัชญาพุทธศาสนา ให้สอดคล้องกับแนวคิดการปกครองแบบใหม่เข้ามาพร้อมกับการล่าอาณานิคมที่ว่า ผู้ที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ คือผู้ที่ได้รับความยินยอมจากประชาชน รัชกาลที่  4 จึงนำพระไตรปิฎกมาตีความเป็นทฤษฎีอเนกชนนิกรสโมสรสมมติ สอง-ในแง่สังคมสงฆ์ ณ เวลานั้น รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าวงการสงฆ์โดยรวมย่อหย่อนด้านวินัยสงฆ์ จึงต้องการปฏิรูปโดยก่อตั้งนิกายธรรมยุติ แน่นอนว่า อีกด้านหนึ่งก็เพื่อเป็นฐานทางการเมืองของรัชกาลที่ 4 เองด้วย

แต่ขณะเดียวกัน ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างมหานิกาย ซึ่งเป็นพระส่วนใหญ่ที่มีอยู่ก่อน กับธรรมยุติกนิกาย ที่ยังคงทิ้งริ้วรอยความบาดหมางจวบจนปัจจุบัน

ธรรมยุติอภิสิทธิ์เหนือมหานิกาย

เหตุหนึ่งเป็นเพราะว่าธรรมยุติกนิกายได้รับการก่อตั้งโดยรัชกาลที่ 4 เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ทำให้ธรรมยุติกนิกายได้รับอภิสิทธิ์เหนือกว่าพระในมหานิกาย ทั้งที่มีจำนวนน้อยกว่า ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการออก พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ขึ้น ซึ่งยิ่งตอกย้ำความไม่เสมอภาคระหว่าง 2 นิกาย เช่น การที่เจ้าคณะผู้เป็นธรรมยุติกนิกายสามารถปกครองฝ่ายมหานิกายได้ แต่เจ้าคณะผู้เป็นฝ่ายมหานิกายปกครองฝ่ายธรรมยุติกนิกายไม่ได้ หรือการที่เชื้อพระวงศ์จะต้องบวชเฉพาะในธรรมยุติกนิกายเท่านั้น เป็นต้น

            “ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา มีพระสังฆราชมาจากธรรมยุติกนิกายตลอด เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จึงมีพระหนุ่มหัวก้าวหน้าในยุคนั้นที่เรียกว่า คณะปฏิสังขรณ์ ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นประชาธิปไตย จึงเข้าไปหานายปรีดี พนมยงค์ ทำให้เกิด พ.ร.บ.สงฆ์ ที่เป็นประชาธิปไตยในปี 2484 จากเดิมที่เป็นระบบมหาเถระสมาคมที่รัชกาลที่ 5 ตั้งขึ้น เปลี่ยนเป็นระบบสังฆสภาที่เลียนแบบการปกครองของรัฐ” สุรพศกล่าว

แต่เมื่อถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ อีกครั้งในปี 2505 โดยรื้อฟื้นมหาเถระสมาคมขึ้นมา และมีการแก้ไขกฎหมายอีกครั้งในปี 2535

ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ความขัดแย้งอื้อฉาวในวงการสงฆ์ที่สำคัญคือกรณีการจำคุกพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) พระสายมหานิกาย เป็นเวลา 5 ปี ในข้อหาคอมมิวนิสต์ สุรพศกล่าวว่า

            “เนื่องจากพระพิมลธรรมเป็นพระภิกษุที่มาจากภาคอีสาน ตอนนั้นผู้คนยังรังเกียจคนอีสานที่ขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโต ท่านมีความเจริญก้าวหน้า เป็นสังฆมนตรีด้านการปกครองที่มีบทบาทในการส่งพระไทยไปเรียนที่พม่า ทั้งยังได้เดินทางไปยุโรปและนำแนวคิดใหม่ ๆ มาปรับปรุงการศึกษาของสงฆ์ให้ก้าวหน้า จึงเป็นที่ไม่พอใจของธรรมยุติและพระผู้ใหญ่บางรูปในมหานิกาย มีการร่วมมือกันต่าง ๆ จนนำไปสู่การใส่ร้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์

            “ติดคุกอยู่ 5 ปี แต่ท่านไม่ได้สึก นุ่งผ้าขาวแทน ต่อมาศาลตัดสินว่าท่านไม่มีความผิด จึงคืนตำแหน่งและสมณศักดิ์ให้ สุดท้ายท่านได้รับตำแหน่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ รักษาการณ์สมเด็จพระสังฆราช ก่อนที่สมเด็จพระญาณสังวร จะขึ้นมาเป็นสังฆราช ซึ่งตอนนั้นผมก็แปลกใจว่า ควรจะแต่งตั้งท่านขึ้นเป็นพระสังฆราช แต่ไม่ตั้ง ตั้งเป็นแค่รักษาการณ์ ไม่นานจากนั้นท่านก็มรณภาพ”

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) อดีตพระพิมลธรรม

หลวงตาบัวเคยดันกฎหมายหวังธรรมยุติขึ้นพระสังฆราชแทนสมเด็จเกี่ยว

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงมีแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่มาจากมหานิกายคือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 12 นับจากนั้นเรื่อยมา การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชจะมีการสับเปลี่ยนกันระหว่างมหานิกายและธรรมยุติกนิกายฝ่ายละสมัย

กระทั่งเมื่อสิ้นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 ซึ่งเป็นฝ่ายธรรมยุติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวัฑฒโน) จึงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 ซึ่งเป็นฝ่ายธรรมยุติเช่นองค์ก่อน ทั้งที่น่าจะเป็นฝ่ายมหานิกายที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ถึงปี 2545 เกิดความขัดแย้งในหมู่สงฆ์เกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ โดยกลุ่มสนับสนุนนำโดยพระราชกวี เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย มีแนวร่วมสำคัญคือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ส่วนกลุ่มคัดค้านหลักคือกลุ่มของพระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด หนึ่งในประเด็นร้อนที่สุดขณะนั้นที่ฝ่ายหลังหยิบยกขึ้นมาคัดค้านคือประเด็นที่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับแก้ไขลิดรอนพระราชอำนาจแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชของพระมหากษัตริย์ ซึ่งด้านหนึ่งถูกมองว่า เป็นความขัดแย้งระหว่างสองนิกาย เป็นเหตุให้ในปี 2546 ถึงกับมีความคิดเล็ดลอดออกมาว่า ควรให้มีสมเด็จพระสังฆราช 2 องค์จากทั้งสองนิกาย ซึ่งถูกต่อต้านอย่างหนัก

พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน

ความขัดแย้งดังกล่าวสงบลงชั่วคราว จนถึงกลางปี 2547 เมื่อสมเด็จพระญาณสังวรทรงอาพาธ และมีการแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งประกอบด้วยสมเด็จพระราชาคณะ 7 รูป มีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโน) เป็นประธาน และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระสายหลวงตาบัวนำโดยลูกศิษย์-ทองก้อน วงษ์สมุทร ออกมาคัดค้าน เพราะเห็นว่าเป็นการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 2

ปลายปี 2547 ส.ส.พรรคไทยรักไทย 70 คน ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เพื่อให้การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช, ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช หรือคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการแก้ไขมาตรา 7 และมาตรา 10 และการขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไม่ต้องถืออาวุโสตามสมณะศักดิ์ แต่ให้ถืออาวุโสตามพรรษา ซึ่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยอมรับว่าแนวคิดการแก้กฎหมายเกิดจากการพูดคุยกับหลวงตาบัว ทว่า การแก้ไขกฎหมายครั้งนั้นไม่สำเร็จ เรื่องจึงเงียบไปอีกครั้ง

แต่แล้วความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ก็ถูกจุดประเด็นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยเป็นการริเริ่มจากสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) กว่า 30 คน สาระสำคัญคือการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชจากความอาวุโสตามพรรษา มิใช่ตามสมณศักดิ์ ซึ่งก็ไม่สำเร็จอีกตามเคย

หากการแก้ไขกฎหมายครั้งนั้นสำเร็จและสมเด็จพระญาณสังวรเกิดสิ้นพระชนม์ในคราวนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโน) พระสายมหานิกาย ซึ่งมีสมณศักดิ์สูงสุดในขณะนั้นก็จะพลาดตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช และเช่นกันหากกฎหมายแก้ไขสำเร็จ ว่าที่ผู้ที่จะขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ตามความอาวุโสของสมณะศักดิ์ก็จะมิใช่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) พระสายมหานิกาย เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ แต่จะเป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) พระสายธรรมยุติ เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร เนื่องจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) มีอาวุโสทางพรรษามากกว่าคือ 76 พรรษา ขณะที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) มีอายุพรรษาเพียง 68 พรรษา

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

ยกเลิกกฎหมายสงฆ์ แยกรัฐออกจากศาสนา

สุรพศกล่าวว่า ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เคยมีความพยายามแก้ไขความขัดแย้งระหว่างมหานิกาย-ธรรมยุติกนิกาย ด้วยการรวมสองนิกายเป็นนิกายเดียว มีการสร้างวัดพระศรีมหาธาตุขึ้นให้สงฆ์ทั้งสองนิกายอยู่ในวัดเดียวกัน เพื่อทดลองอยู่ร่วมกันว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ปรากฏว่าไม่สำเร็จและต่อมาวัดพระศรีมหาธาตุก็กลายเป็นวัดธรรมยุติจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของสุรพศ ปัจจุบัน ความขัดแย้งระหว่างมหานิกายและธรรมยุติกนิกายไม่ได้มีเช่นกาลก่อน หากจะมีหลงเหลืออยู่ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลมากกว่า โดยภาพรวมแล้วทั้งสองนิกายทำงานร่วมกันได้ดีมากยิ่งขึ้น ไม่มีตัวแปรใดที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง อีกทั้งโครงสร้างระบบปัจจุบันก็พยายามให้สองนิกายอยู่ร่วมกันได้

            “เหตุที่ทำให้ความขัดแย้งลดน้อยลง ผมคิดว่าเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเรียนรู้ของคณะสงฆ์ในโลกที่เปลี่ยนไป คือคณะสงฆ์รุ่นหลังที่ขึ้นมามีบทบาทในการปกครองเป็นคณะสงฆ์ที่ได้เรียนรู้การศึกษาสมัยใหม่ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความคิดเปลี่ยนไป แต่ในยุคราชาธิปไตย การศึกษาไม่เจริญ มีแค่ในวังกับวัด วัดก็เรียนแต่คัมภีร์พุทธศาสนา รู้แต่เรื่องความคิดแบบอนุรักษ์นิยม เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สงฆ์ยุคก่อนมีความคับแคบและมีความขัดแย้งเรื่องนิกาย มีความรู้สึกว่าธรรมยุติเป็นนิกายของเจ้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทั้งที่เป็นคณะสงฆ์ส่วนน้อย สมัยก่อนแค่บิณฑบาตรเจอกันในต่างจังหวัดก็เขม้นกันแล้ว”

ถึงกระนั้นปัญหาในวงการสงฆ์ไทยยังมีอีกหลายประเด็น การผูกคณะสงฆ์เข้ากับรัฐทำให้สถาบันสงฆ์กลายเป็นเครื่องมือส่งเสริมอุดมการณ์ของรัฐ มีลักษณะไม่ต่างจากหน่วยงานราชการรูปแบบหนึ่งที่จะไม่ขัดแย้งกับรัฐ ซึ่งแตกต่างจากสมัยรัชกาลที่ 4 ขึ้นไปที่พระชั้นผู้ใหญ่สามารถตักเตือนพระมหากษัตริย์ได้ สุรพศจึงเห็นว่า หนทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาสถาบันสงฆ์ในสังคมไทยคือการยกเลิกกฎหมายคณะสงฆ์ และปล่อยสังคมหรือชุมชนเป็นผู้ดูแลตรวจสอบโดยรัฐไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับศาสนาจักร

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: