ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อีกนโยบายหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ แต่ดูเหมือนจะถูกมองข้ามจากผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.แทบทุกคน และเกือบทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งก็ว่าได้ คือ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่เป็นปัญหาแทบจะเรียกว่าใหญ่อันดับหนึ่งของกทม.ก็ว่าได้ ตั้งแต่เรื่องขยะที่ผู้ว่าฯกทม.คนแล้วคนเล่า ไม่เคยประสบความสำเร็จในการแก้ไข ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองแสนแสบ ปัญหามลพิษทั้งทางอากาศและเสียง ปัญหาผังเมือง ปัญหาอีกสารพัด ซึ่งมากที่สุดที่ผู้ว่าฯกทม.ทำได้คือ พยายามสร้างภาพลักษณ์ของตัวเองด้วยการจัดปลูกต้นไม้ อ้างเรื่องเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทั้งที่ไม่เคยห้ามทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน แม้แต่หน่วยงานในสังกัดกทม. ตัดต้นไม้ขนาดใหญ่เลย จึงนับว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นนโยบายเพ้อเจ้อ สวยหรู ที่ผู้สมัครฯผู้ว่าฯกทม.แต่ละคนพูดไปเรื่อยเปื่อยเหมือนกับโครงการประชานิยมอื่น ๆ ที่ทุกพรรค หรือทุกคนทำเหมือน ๆ กัน
ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงจัดเสวนาหัวข้อ “ปัญหาสิ่งแวดล้อมเมืองกรุง โจทย์ที่ผู้ว่าฯกทม.ต้องแก้ ?” โดยมีผู้ร่วมเวทีคือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักวิชาการอาวุโส นายศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ ผู้ประสานงานโครงการจักรยานกลางเมือง มูลนิธิโลกสีเขียว นายพงศ์พรหม ยามะรัต ผู้ประสานงานกลุ่ม Big Trees เพื่อให้บรรดาผู้ทำงานสิ่งแวดล้อม ด้านต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า มีปัญหาอะไรบ้างที่ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ควรเข้ามาดำเนินการแก้ไข
ชี้ผู้สมัครผู้ว่าฯไม่มีมุมเรื่องสิ่งแวดล้อม
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักวิชาการอาวุโส กล่าวว่า จากที่ได้ติดตามนโยบายผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำเสนอในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว เห็นว่า ไม่มีผู้สมัครคนไหนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องบ่มเพาะความคิดมานาน และต้องเกิดจากความรู้และตระหนักในปัญหา ซึ่งหลายนโยบายเป็นเรื่องที่เพิ่งคิดขึ้น และบางเรื่องไม่สามารถทำได้เองโดยอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เช่น นโยบายของ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่เสนอว่า ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม ตนเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่ในทางปฏิบัติจะทำอย่างไร หรือนโยบายนำสายไฟลงใต้ดิน ซึ่งเป็นหน้าที่ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และต้องใช้งบประมาณสูงมาก กฟน.จะยอมทำหรือไม่
ขณะที่ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ เสนอนโยบายความปลอดภัยในอาคารสูงด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ซึ่งต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาสูง ทำไมกทม.ไม่ทำให้ระบบดับเพลิงในอาคารใช้ได้ดี ด้วยการมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอจากกทม. หรือเพิ่มชุดดับเพลิงให้กับชุมชน
ส่วนนโยบายสร้างอุโมงค์ลอดทางรถไฟ เพื่อแก้ปัญหาจราจร แต่ไม่มีการเสนออุโมงค์เพื่อให้คนเดินข้าม รวมถึงคนพิการและคนชราด้วย ส่วนเรื่องเพิ่มรถจักรยาน 10,000 คัน เพื่อให้คนกรุงเทพฯได้ใช้นั้น ไม่ได้ผลเพราะน้อยเกินไป ควรจะต้องเพิ่มถึง 100,000 คัน จะช่วยแก้ปัญหาได้
ดร.ธงชัยเสนอว่า ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ทุกคน ควรจะมองไกลไปถึง 20-30 ปี ข้างหน้า เพื่อแก้ปัญหากรุงเทพมหานครที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เช่น การจัดการปัญหาขยะของคนกรุงเทพฯ ซึ่งตอนนี้กทม.ยังจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการ ขณะที่บริษัทเหล่านี้นำขยะไปทิ้งที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และอ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
“กทม.ควรจัดการขยะ ด้วยการสร้างเตาเผาขยะ ในเขตพื้นที่หนองจอก บางขุนเทียน ลำลูกกา วิธีการคือ ซื้อที่ดินกว้าง ๆ สร้างเป็นป่า และมีเตาเผาขยะอยู่ตรงกลาง มีโรงปุ๋ย ราคาของที่ดินตรงนั้นจะไม่ตก ชาวบ้านไม่โวยวาย แต่ต้องสร้างเป็นเตาเผา อย่าใช้ระบบฝังกลบเพราะใช้พื้นที่มาก เรื่องนี้จำเป็นมากในวันข้างหน้า” ดร.ธงชัยกล่าว
ส่วนนโยบายเรื่องการปรับพื้นที่ทางเท้าเพื่อให้คนเดิน หลักคิดที่ควรคำนึงถึงคือ ให้เรียบและคนพิการ สามารถเดินได้ ซึ่งผู้สมัครส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงคนพิการที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และมีสิทธิออกเสียง
อย่างไรก็ตามนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมของผู้สมัคร ยังไม่เข้าตาคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมนัก อย่างที่พูดไปแล้วว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องหลักคิดและวิธีคิด แต่การหาเสียงเสนอเพียงแค่หลักคิดไม่ได้ ยังมีช่องว่างระหว่างคนทำงานสิ่งแวดล้อมกับการหาเสียง ที่ยังเชื่อมต่อกันไม่ได้ ถ้าตนเป็นผู้ว่าฯกทม. จะใช้งบประมาณก้อนใหญ่เพื่อเปลี่ยนวิธีคิดของคน เมื่อคนเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องอื่นจะตามมา โดยไม่ต้องพูดมาก
ผู้สมัครผู้ว่าฯไม่เข้าใจประเด็นรถจักรยาน
ทางด้าน นายศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ ผู้ประสานงานโครงการจักรยานกลางเมือง มูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า ผิดหวังกับนโยบายการสนับสนุนการใช้รถจักรยานในการสัญจร ของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เพราะแต่ละคนพูดเรื่องรถจักรยานน้อยมาก และไม่เป็นรูปธรรม ขณะที่สภาพแวดล้อมทั่วไปของกรุงเทพมหานคร สภาพอากาศแย่มาก มาจากมลพิษจากรถยนต์ จากการสำรวจอากาศของมูลนิธิโลกสีเขียวพบว่า รอบกรุงเทพฯ ปัญหาการจราจรเป็นปัญหาหลัก ที่ทำให้เมืองมีอากาศเสียเพิ่มขึ้น
นายศิระกล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้คนสัญจรไปมา 18 ล้านเที่ยวต่อวัน โดย 9 ล้านเที่ยวต่อวัน เป็นรถยนต์ส่วนตัว 40 เปอร์เซนต์ เป็นรถสาธารณะ แบ่งเป็นรถไฟฟ้า 2.5-5 เปอร์เซ็นต์ รถโดยสารสาธารณะหรือรถเมล์ทั่วไป 4 เปอร์เซนต์เท่านั้น ที่เหลือเป็นการโดยสารสาธารณะแบบอื่น นอกจากนี้จากการสอบถามคนขี่จักรยาน 80 เปอร์เซ็นต์ จะขี่จักรยานถ้าถนนปลอดภัย มีเพียง 5 เปอร์เซนต์ ที่บอกว่าจะไม่ขี่เพราะอากาศร้อน และ 93 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ขับรถยอมแบ่งปันพื้นที่ถนนให้จักรยาน ขณะที่ตำรวจจราจรยืนยันว่า หากมีคนขี่จักรยานมากขึ้น จะทำให้รถติดเพิ่มขึ้น
คิดว่าจักรยานเป็นทางเลือก เพราะเป็นพาหนะที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้แรงคน ไม่ปล่อยมลพิษสร้างสุขภาพ และที่สำคัญคือแก้ปัญหาเมืองด้วย ถ้าเรามีการสื่อสารที่ดี ผู้สมัครมีวิสัยทัศน์กว้างไกลในการแก้ปัญหา โดยใช้จักรยาน คิดว่าคนกทม.จะเลือกผู้สมัครคนนั้น ซึ่งนโยบายของผู้สมัครแต่ละคน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องจักรยานเลย ขณะที่บางคนไม่มีเลย และยังจอดรถหาเสียงทับเลนจักรยานอีกด้วย นอกจากนี้ไม่มีผู้สมัครคนไหนพูดเรื่องจักรยาน เพื่อลดการใช้รถยนต์ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส เสนอแค่ว่าการขี่จักรยานเป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ส่วน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พูดถึงแต่ข้อมูล ปริมาณ แต่ไม่มีวิธีการแก้ปัญหาที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร มีเพียงคนเดียวที่พูดเรื่องจักรยานคือ คุณสุหฤท สยามวาลา ขณะที่พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เสนอนโยบายประชานิยม ให้นั่งรถเมล์ฟรีตลอด ซึ่งมันไม่ได้แก้ปัญหาเมือง
นายศิระเสนอในตอนท้ายว่า ผู้สมัครควรจะเริ่มต้นนโยบายใหม่ ๆ เช่น เรื่องจักรยาน และสร้างเมืองใหม่ให้เป็นมิตรกับจักรยาน ปรับเปลี่ยนให้ถนนเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่รถทุกชนิดสามารถวิ่งได้ ไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่รถยนต์เพียงอย่างเดียว
แนะสร้างมูลค่าให้กรุงเทพฯ
ทางด้าน นายพงศ์พรหม ยามะรัต ผู้ประสานงาน กลุ่ม Big Trees ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในเมือง และพื้นที่สีเขียว ระบุว่า นโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. เหมือนเซลล์แมนขายสินค้า ไม่มีวิธีคิด ขาดกระบวนการในการที่จะพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. บางคนมีนโยบายเพิ่มต้นไม้ พื้นที่สีเขียว 100 ไร่ แต่ไม่รู้ว่า 100 ไร่ ที่พูดมาจากไหน แล้วมันมากน้อยอย่างไร และจากข้อมูลพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วน้อยมาก กรุงเทพฯมีพื้นที่สีเขียวเพียงคนละ 3-4 ตารางเมตรเท่านั้น ขณะที่สิงคโปร์ประชาชนมีพื้นที่สีเขียวคนละ 66 ตารางเมตร ซึ่งผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ควรจะมองภาพรวมว่า สิ่งที่คุณจะสร้าง คือคุณต้องสร้างวิถีให้คนกรุงเทพฯ ไม่ใช่เร่ขายเสียง และในฐานะของผู้ประสานงานกลุ่ม Big Trees ซึ่งทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนทั่วกรุงเทพมหานคร แต่ยังไม่มีผู้สมัครคนใดเข้ามาขอฟังนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมจากกลุ่ม จึงอยากจะย้อนถามกลับไปยังผู้สมัครแต่ละคนว่า นโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เสนอมานั้นมีที่มาอย่างไร
“อย่าคิดเอง เออเอง มีกลุ่มคนทำงานที่มีข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่งพร้อมที่จะให้นำไปใช้ พูดตรง ๆ ว่านโยบายสีเขียวของผู้สมัครแต่ละคนไม่ได้เรื่อง ที่พอจะเข้ามาขอข้อมูลบ้างก็มีคุณสุหฤท เมื่อผู้สมัครเข้าไม่ถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม จึงไม่มีทางที่จะนำเสนอออกมาเป็นนโยบายได้ อย่างเช่นเรื่องจักรยาน ขณะนี้นโยบายของเมืองใหญ่ในต่างประเทศเริ่มเข้ามาสู่จักรยาน ส่วนกรุงเทพมหานครยังเป็นเมืองที่ไม่ต้อนรับจักรยาน และเน้นนโยบายรถยนต์ส่วนตัว หลายประเทศเริ่มหันมาเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมืองมากขึ้น โดยใช้การอนุรักษ์เป็นการเพิ่มมูลค่า ให้คนอยากมาอยู่ในเมืองและดึงการลงทุนมาสู่เมือง จีนบอกว่านโยบายสีเขียวจะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เพราะถ้าร้อนมากคนจะไม่มาอยู่ ถ้าเราหันมาหยิบสิ่งที่น่าสนใจขึ้นมาให้เด่นเป็นจุดขาย เช่น อาหารข้างทาง หรือวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ ก็เป็นจุดขายได้ วันนี้การอนุรักษ์ต้องทำให้คนได้ประโยชน์ด้วย”
และสิ่งที่ว่าที่ผู้ว่าฯกทม.ต้องคำนึงถึงคือ การกระจุกตัวของคนในกรุงเทพฯ ที่ต้องการอยู่แต่กรุงเทพฯ ชั้นใน เพราะมีงานทำ หากินง่าย จะทำอย่างไรให้คนได้กระจายตัวออกไปอยู่รอบนอก ทำอย่างไรให้คนกลับไปที่อยู่และมีงานทำ หาที่ทางให้เขาได้ขายของได้ ทำมาหากินได้ แก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย ปัญหามาเฟีย ซึ่งต่างประเทศก็มี และเขาใช้วิธีไหนในการแก้ปัญหา ผู้ว่าฯกทม.ต้องศึกษาและแก้ปัญหา
นอกจากนี้ อีก 10 ปีต่อจากนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของกรุงเทพฯ เนื่องจากประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กรุงเทพฯจะเป็นที่รองรับเพื่อนบ้านจากอาเซียน ซึ่งผู้ว่าฯกทม.จะต้องคิดเพื่อรองรับจุดนั้นด้วย
“ท่านจะมาเป็นผู้ว่าฯ เพราะเป็นนักการเมือง หรือท่านจะมาเป็นผู้ว่าฯ เพราะอยากเปลี่ยนกรุงเทพมหานคร”
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ