เสรีภาพสื่อในภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างไร? หากดูในภาพรวม คนไทยอาจรู้สึกว่าสื่อในอาเซียนค่อนข้างมีเสรีภาพ โดยใช้ความนึกคิดเอาจากเสรีภาพสื่อในประเทศ แต่สิ่งที่เห็นนี้อาจเป็นเพียงภาพลวงตา
MEDIA INSIDE OUT จัดเวทีอภิปรายในหัวข้อ ‘เสรีภาพสื่อในภูมิภาค’ โดยเชิญตัวแทนนักสื่อสารมวลชนจากประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน มาร่วมแบ่งปันข้อมูลถึงสถานการณ์เสรีภาพของสื่อในอาเซียน
จากการจัดลำดับเสรีภาพของหน่วยงาน Freedom House ปี 2555 พบว่า ประเทศในอาเซียนรวมติมอร์ เลสเต้ มีเพียงอินโดนีเซียประเทศเดียวที่ถูกระบุว่า ‘เสรี’ ส่วนไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และติมอร์ เลสเต้ มี ‘เสรีบางส่วน’ ขณะที่บรูไน พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ถือว่า ‘ไม่มีเสรีภาพ’
ส่วนการจัดลำดับเสรีภาพของสื่อโดย Reporters without Borders 2556 จากทั้ง 179 ประเทศ อันดับสูงสุดคือ ติมอร์ เลสเต้ ได้อันดับที่ 90 บรูไน 122 พม่า 151 กัมพูชา 143 อินโดนีเซีย 139 ลาว 168มาเลเซีย 145 ฟิลิปปินส์ 147 สิงคโปร์ 149 ไทย 135 และเวียดนาม 172
ซีป้าชี้สื่ออาเซียนเผชิญความท้าทาย 4 ข้อ
กายาทรี เวนกิทสวารัน ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีป้า (Southeast Asian Press Alliance : SEAPA) กล่าวว่า ปัจจุบัน เสรีภาพของสื่อในอาเซียนกำลังเผชิญกับความท้าทายสำคัญ 4 ประการ ประการแรกคือ ความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้สื่อข่าวและสื่อในสถานการณ์ที่มีการใช้ความรุนแรงทางกาย การข่มขู่และคุกคาม และการใช้กฎหมายปราบปรามมากขึ้นจากทั้งหน่วยงานของรัฐและไม่ใช่รัฐ ในปี 2555 ซีป้า พบว่า มีการทำร้ายสื่อและผู้จัดทำเว็บบล็อกในภูมิภาคอาเซียนรวมกันจำนวน 100 กรณี ที่ไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา และเวียดนาม
ประการที่ 2 ความบกพร่องของมาตรฐาน และการปฏิบัติแบบมืออาชีพและตามจรรยาบรรณ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรมต่อสื่อมวลชน และผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในระดับแตกต่างกันไป ทั้งยังเป็นเหตุให้มีการฟ้องหมิ่นประมาทในบางกรณีและทำให้เกิดความเกลียดชังเพิ่มขึ้น
ประการที่ 3 กรอบกฎหมายที่ส่งผลด้านลบต่อเสรีภาพของสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก เช่น กฎหมายความมั่นคง หรืออย่างในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ก็มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ต เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทางอินเตอร์เน็ต
และประการสุดท้าย ผลกระทบจากความเป็นสื่อเชิงพาณิชย์ และการที่กลุ่มการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง การทำให้สื่อตกเป็นเหยื่อ และการที่สื่อไม่สามารถแก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยได้
อินเตอร์เน็ตโตเร็ว-รัฐจ้องหาทางควบคุม
อย่างไรก็ตาม อินเตอร์เน็ตกลายเป็นพื้นที่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นพื้นที่ที่ประชาชนใช้เป็นช่องทางเปิดรับข้อมูลข่าวสารและแสดงออก ถึงกระนั้นทางซีป้าตั้งข้อสังเกตว่า ทุกประเทศในอาเซียนยกเว้นบรูไนและติมอร์ เลสเต้ ล้วนหามาตรการควบคุมข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต หรือลงโทษบุคคล ด้วยเหตุผลด้านคุ้มครองความมั่นคงชาติและจารีตประเพณีอันดีงาม
กายาทรี ยกตัวอย่างรัฐบาลพม่าที่ใช้ พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ฟ้องร้องดำเนินคดีผู้สื่อข่าวและประชาชนที่ส่งข้อมูลข่าวสารให้แก่สื่อ ที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศ หรือการขยายคำนิยามคำว่า ‘สิ่งพิมพ์’ ใน พ.ร.บ.การพิมพ์และสิ่งพิมพ์ ของรัฐบาลมาเลเซีย เพื่อให้ครอบคลุมเว็บบล็อกและบัญชีเฟซบุ๊ค รวมถึงกรณีกฎหมายอาญามาตรา 112 ในประเทศไทย
‘พม่า’ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนครั้งใหญ่
ส่วนประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญด้านเสรีภาพสื่อ ในรอบปีที่ผ่านมาย่อมหนีไม่พ้นประเทศพม่า กล่าวได้ว่า เป็นการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อครั้งใหญ่ เอ ชาน นาย ผู้อำนวยการและบรรณาธิการสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า เขาเพิ่งได้เดินทางกลับพม่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 หลังจากต้องลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศถึง 24 ปี กล่าวว่า หากนับตั้งแต่การยึดอำนาจของนายพลเนวินในปี 2505 ต่อเนื่องมาจนถึงยุคของพลเอกอาวุโส ตัน ฉ่วย สื่อของพม่าถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ ในช่วงปี 2531-มกราคม 2555 มีการจับกุมคุมขังผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยแห่งพม่าถึง 17 คน
แต่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2553 พม่าเริ่มเดินหน้าปฏิรูปประเทศภายใต้การนำของประธานาธิบดี เต็ง เส่ง นักข่าวทั้ง 17 คน ได้รับการปล่อยตัวเป็นที่เรียบร้อย พร้อมกับนักโทษการเมืองอีกหลายร้อยคน รัฐบาลพม่ายังได้เลิกปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์สำนักข่าวที่ลี้ภัยในต่างประเทศ และเว็บไซต์ของสำนักข่าวต่างประเทศ
แต่การเปลี่ยนแปลงที่ เอ ชาน นาย คิดว่าสำคัญที่สุดในแง่เสรีภาพของสื่อในพม่า คือการยกเลิกคณะกรรมการเซ็นเซอร์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 48 ปี ที่ผู้สื่อข่าวไม่จำเป็นต้องส่งบทความให้คณะกรรมการเซ็นเซอร์ก่อนตีพิมพ์ แม้ว่าวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 กระทรวงข้อมูลข่าวสารได้เผยแพร่ ร่าง พ.ร.บ.กิจการการพิมพ์และการจัดพิมพ์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะนำคณะกรรมการเซ็นเซอร์กลับมา แต่เมื่อถูกผู้สื่อข่าวทักท้วง ทางรัฐบาลพม่าก็ได้ชะลอการพิจารณาออกไป จนกว่าทางสภาการหนังสือพิมพ์จะจัดทำร่างกฎหมายของตนแล้วเสร็จ ขณะที่กระทรวงข้อมูลข่าวสารก็เห็นชอบที่จะแก้ไขฉบับร่างของตน ความเปลี่ยนแปลงนี้ ยังรวมถึงการที่รัฐบาลพม่าอนุญาตให้หนังสือพิมพ์รายวันของเอกชน สามารถตีพิมพ์ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสมาคมผู้สื่อข่าวที่เป็นอิสระ เพื่อให้ความคุ้มครองและสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของผู้สื่อข่าว โดยในช่วงกลางปี 2554 มีการจัดตั้งเครือข่ายผู้สื่อข่าวพม่า (Myanmar journalists Network) สมาคมผู้สื่อข่าวพม่า (Myanmar Journalists Association) และสหภาพผู้สื่อข่าวแห่งพม่า (Myanmar Journalists Union)
ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ ช่วยให้อันดับเสรีภาพสื่อของพม่าเลื่อนขึ้นถึง 18 ขั้นมาอยู่อันดับที่ 151 จาก 179 ประเทศ จากการจัดอันดับของ Reporter without Borders เมื่อปี 2555
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางประเด็นที่ เอ ชาน นาย กล่าวว่า นักข่าวในพม่ายังไม่กล้าแตะต้อง แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายห้ามไว้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกองทัพและพลเอกอาวุโส ตัน ฉ่วย
“ผมคิดว่ายังมีอุปสรรคต่อเสรีภาพสื่อในพม่า 2 ประการ ที่ต้องได้รับการแก้ไข หนึ่งคือตัวกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กรณีใช้เมล์ส่งข้อมูล ซึ่งถ้าเป็นข้อมูลที่ทำลายภาพลักษณ์ประเทศ อาจติดคุกสามถึงเจ็ดปี ประการที่ 2 คือความเป็นอิสระของตุลาการ ที่จะต้องไม่อยู่ใต้อำนาจของรัฐบาล ซึ่งต้องได้รับการปฏิรูปเช่นกัน ในอนาคตผมเชื่อว่าสื่อ จะถูกคุมจากรัฐบาลน้อยลง แต่จะถูกครอบงำโดยธุรกิจมากขึ้น” เอ ชาน นาย กล่าว
รัฐ-ศาสนา ทำสื่อมาเลเซียถูกปิดกั้นเสรีภาพ
สำหรับสถานการณ์เสรีภาพสื่อในประเทศมาเลเซีย กายาทรี สรุปปัญหาเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออกที่สำคัญมีอยู่ 4 ประการคือ ความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าว ซึ่งเดิมทีไม่ใช่ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์สื่อในมาเลเซีย แต่ช่วงหลังที่สถานการณ์การชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปการเลือกตั้ง ก่อให้เกิดกรณีเจ้าหน้าที่รัฐทำร้าย และคุกคามผู้สื่อข่าว ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่หลายกรณี แต่กลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ
ประการต่อมา คือการควบคุมสื่อโดยรัฐบาลผ่านกฎหมายต่าง ๆ ประการที่ 3 การใช้กฎหมายที่มุ่งปราบปรามการทำงานของสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะเสรีภาพด้านอินเตอร์เน็ต
ประการสุดท้าย คือการอ้างศาสนาเพื่อแทรกแซงเสรีภาพ ในการแสดงออกของหน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐ ทำให้เกิดการสั่งห้ามสิ่งพิมพ์บางฉบับ เกิดการข่มขู่คุกคามผู้ที่สนับสนุนศาสนาอิสลามแนวเสรีนิยม เหตุการณ์ทำนองนี้ส่งผลกระทบต่อการรายงานข่าวของสื่อมวลชน และปิดกั้นการถกเถียงอย่างเปิดเผย เกี่ยวกับศาสนาและการบริหารงานศาสนา
ระบุมาตรา112ทำให้สื่อไทยไม่เสรีจริง
มุมมองของประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์ The Nation ต่อเสรีภาพของสื่อไทย เขามุ่งตรงไปยังประเด็นร้อนแรงในสังคมไทยเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สื่อในประเทศไทยไม่มีเสรีภาพอย่างแท้จริง
“น่าสนใจว่าสื่อไทยมีเสรีภาพจริงหรือไม่ ถ้าย้อนไป 30-40 ปีก่อน หนังสือพิมพ์ไทยมีจุดยืนที่จะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันมากกว่านี้ แต่ปัจจุบันสื่อไทยไม่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เลย สะท้อนว่าสื่อไทยมีลักษณะโอนอ่อนและหนุนมายาคติที่จะไม่วิพากษ์วิจารณ์สถาบัน
“สื่อที่เป็นของธุรกิจไทยต่างจากประเทศอื่น ยกเว้นบรูไนที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะสื่อไทยเลือกที่จะไม่รายงานข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบัน มาตรา 112 ทำให้ไม่สามารถวิจารณ์สถาบันได้ เป็นกฎหมายที่รุนแรงที่สุดในโลก มีโทษติดคุก 3-15 ปี และยังเป็นกฎหมายที่ต่อต้านประชาธิปไตยที่สุดในโลกเช่นกัน ตอนนี้มีประมาณ 10 กว่าคน ที่ติดคุกจากมาตรา 112 ในจำนวนนี้มี 2 คนที่ติดคุกเพียงเพราะพยายามเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่วิจารณ์สถาบัน” ประวิตร กล่าว
ในทางกลับกัน ที่ผ่านมาสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่กลับปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์และป้อนข้อมูลด้านดีของสถาบันเพียงด้านเดียวแก่ประชาชน ประวิตรกล่าวว่า หากเป็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว สื่อและประชาชนไม่ต้องใช้ตรรกะคิดตั้งคำถามใด ๆ ใช้เพียงความเชื่อและข้อมูลด้านดีด้านเดียว เกี่ยวกับสถาบันก็เพียงพอแล้ว นอกจากนี้สื่อยังเซ็นเซอร์ข้อมูลด้านลบและข้อมูลเท่าทันสถาบันจากทั้งในและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ และไม่ใยดีกรณีมาตรา 112
“ที่เป็นเช่นนี้เพราะสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากบทบาทดังกล่าว ซึ่งเป็นท่าทีที่ปลอดภัยต่อธุรกิจสื่อ และไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์นี้มีการเปลี่ยนแปลง”
ประวิตรสรุปว่า จริงๆ แล้ว สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่มิใช่เหยื่อของมาตรา 112 แต่เป็นผู้พิทักษ์มาตรา 112และอุดมการณ์กษัตริย์นิยมแบบที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งจากสถานการณ์ที่ดำรงอยู่นี้ก็คือสื่อเองกำลังทำให้เกิดความพร่ามัวและสร้างธเข้าใจผิดแก่สังคมว่า สื่อและสังคมไทยมีเสรีภาพแล้ว
ขอบคุณภาพจาก Google, www.japanprobe.com
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ