ทีดีอาร์ไอX-Rayละเอียด โครงการ2ล้านล้านบาท

26 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1734 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 25 เมษายน ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เปิดเผยรายละเอียดโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท โดยชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลยังไม่ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการลงทุนกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการลงทุนรวมทั้งหมดว่ามีความเป็นไปได้และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ ทั้งนี้ ดร.สุเมธได้ทำการวิเคราะห์ถึงกรณีการสร้างระบบรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ที่จะก่อให้เกิดกับประเทศในภาพรวม โดยชี้ให้เห็นว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงอาจไม่มีผู้ใช้บริการเพียงพอที่จะให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน นอกจากนี้ ผู้วิเคราะห์ได้ยกตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีของการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Projects) ในต่างประเทศว่า รัฐต้องสร้างระบบความรับผิดชอบ (Accountability) โดยการสร้างความโปร่งใส และการตรวจสอบที่เป็นระบบโดยสาธารณะ รวมไปถึงการวัดผลหลังจากดำเนินโครงการเสร็จสิ้นแล้ว

 

 

X-Ray รายละเอียดโครงการ

 

 

โครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศถือว่าเป็นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมระบบการขนส่งของประเทศครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยสามารถจำแนกตามยุทธศาสตร์และประเภทของการคมนาคมได้ดังนี้

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ ดร. สุเมธ ได้จัดกลุ่มโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานออกเป็น 4 ประเภท ตามการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและความพร้อมในการดำเนินการ ดังนี้

โครงการสนับสนุน (โครงการก่อสร้างด่าน จัดซื้อและติดตั้ง) รวม 49 โครงการ มีวงเงิน 56,704 ล้านบาท ซึ่งพร้อมดำเนินการได้ทันที

โครงการที่พร้อมดำเนินการ (มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การออกแบบรายละเอียด และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และโครงการที่ไม่ต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ) 25 โครงการ รวมวงเงิน 473,134 ล้านบาท

โครงการที่ขาดการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม 18 โครงการ รวมวงเงิน 529,055 ล้านบาท

โครงการที่ยังกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และโครงการที่ยังไม่ได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ 11 โครงการ รวมวงเงิน 931,886 ล้านบาท

ตารางสรุปการแบ่งประเภทโครงการต่าง ๆ ตามความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จากตารางดังกล่าว เราจะเห็นได้ว่า กว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด (โครงการในกลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 4) ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1,460,941 ล้านบาท ยังไม่มีความพร้อมในการดำเนินการ เนื่องจากโครงการในกลุ่มที่ 3 กำลังศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Assessment) และโครงการในกลุ่มที่ 4 มีทั้งในส่วนที่กำลังศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและในส่วนที่ยังไม่เริ่มดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น

ข้อสังเกตต่อกรณีการลงทุนในระบบขนส่งทางราง

ดร. สุเมธ ชี้ให้เห็นว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงและการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่นั้น ส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 4 ซึ่งยังไม่ได้รับการศึกษาความเป็นได้ของโครงการ ทั้งนี้ การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ทั้งทางเก่าและทางใหม่เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อลดต้นทุนในการขนส่งของระบบเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ดร. สุเมธได้ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีการลงทุนในระบบขนส่งทางราง ดังนี้

 

 

บทบาทของภาครัฐในการอุดหนุนระบบ

 

 

ในกรณีของประเทศไทย ภาครัฐบริหารจัดการระบบขนส่งทางรางแบบรัฐวิสาหกิจเดียวซึ่งเป็นการอุดหนุนกิจการที่ไม่ทำกำไรหรือขาดทุน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในรูปแบบของต่างประเทศ (โดยเฉพาะในแถบสหภาพยุโรป) พบว่า มีการแบ่งแยกระหว่างโครงสร้างพื้นฐานและการประกอบการเดินรถไว้อย่างชัดเจน คือการอุดหนุนของรัฐมีการแบ่งชัดเจนระหว่างการอุดหนุนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (ราง) และการอุดหนุนการประการการเดินรถสำหรับผู้โดยสาร นอกจากนี้ ยังมีความชัดเจนในการบริหารจัดการหนี้ที่เป็นระบบและมีการปฏิรูปองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานอีกด้วย

 

 

ความคุ้มค่าในการลงทุนและเทคโนโลยีรองรับ

 

 

ดร. สุเมธ ได้ตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าในการลงทุนในระบบรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงมาก แต่อาจไม่เกิดความคุ้มค่าในประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับ หากเปรียบเทียบกับกรณีระบบรถไฟรางคู่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง ประหยัดเวลาและต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ในขณะที่รถไฟความเร็วสูงเน้นการเดินทางของคนและสิ่งค้าเบาเป็นหลัก นอกจากนี้ ดร. สุเมธยังเห็นว่า คนส่วนใหญ่ที่จะใช้บริการรถไฟความเร็วสูงอาจเป็นกลุ่มผู้ใช้ที่มีฐานะเป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่การให้บริการทางสังคมแก่คนทั่วไปในวงกว้าง

ทั้งนี้ การสร้างรถไฟความเร็วสูงที่ประสบความสำเร็จ ควรต้องมีการเชื่อมโยงโครงข่ายที่ดี คือมีระบบรถไฟปกติในการรองรับพื้นที่โดยรอบ มิใช่เป็นเพียงการสร้างขึ้นเดี่ยว ๆ โดยปราศจากระบบการเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง ดร.สุเมธ มีความเห็นว่า ควรมีการพัฒนาการลงทุนในระบบรถไฟรางคู่ที่มีความจำเป็นและมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า

 

จากการวิเคราะห์พบว่า ภายใต้เงื่อนไขการลงทุนก่อสร้างในปัจจุบัน ระบบรถไฟความเร็วสูงควรต้องมีผู้โดยสารในปีแรกสูงถึงประมาณ 9 ล้านคน/เที่ยว เป็นอย่างน้อย ถึงจะคุ้มค่ากับต้นทุนในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้โดยสารเครื่องบินระหว่างกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งมีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 4-5 ล้านคนเท่านั้น

 

เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรทำการศึกษาถึงพฤติกรรมการใช้งานและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจในการลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงดังกล่าว

 

แนวทางการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการขนาดใหญ่ (Mega-Projects)

ดร. สุเมธ ยังได้ชี้ให้เห็นว่า โครงการขนาดใหญ่หรือ Mega-Projects ที่มีระยะเวลาในการวางแผนยาวและมีความเสี่ยงสูง รวมถึงมีการประสานงานที่สลับซับซ้อน ควรมีความชัดเจนในเรื่องการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยมีประเด็นในการวิเคราะห์ที่ชัดเจน

 

งานวิจัยของ Flyvbjerg (2009) [1] ระบุปัญหาของโครงการขนาดใหญ่ในอดีตว่ามีปัญหาด้านต้นทุนการก่อสร้างโครงการที่สูงกว่าที่คาดการณ์ (Cost overruns) และ ผลประโยชน์ที่ได้รับน้อยกว่าที่คาดการณ์ (Benefit shortfalls) เมื่อโครงการเริ่มดำเนินการ กล่าวคือการมีจำนวนผู้ใช้งานจริงน้อยกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ ได้รวบรวมข้อมูลของโครงการขนาดใหญ่มากกว่า 200 โครงการ จาก 20 ประเทศ ในห้าทวีป พบว่า ต้นทุนของโครงการด้านรถไฟ มีค่าเฉลี่ยต้นทุนสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึงร้อยละ 44.7 และในส่วนของการคาดการณ์ผู้โดยสารที่ใช้บริการ พบว่า โครงการรถไฟมีจำนวนผู้โดยสารจริงน้อยกว่าการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารมากถึง ร้อยละ 51.4

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จากปัญหาข้างต้น การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการจึงมีความสำคัญมาก และควรมีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการอย่างเป็นระบบ โดยที่งานศึกษาของ European Commission (2008) [2] ได้ระบุประเด็นในการวิเคราะห์ที่ชัดเจนว่า ควรมีการประเมินปริมาณความต้องการในการเดินทางและขนส่งเมื่อมีและไม่มีโครงการ (Demand Analysis) การวิเคราะห์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (Economic Benefits) เช่นมูลค่าการประหยัดเวลา มูลค่าของการลดอุบัติเหตุ และมีการวิเคราะห์ต้นทุนของโครงการ รวมถึงแหล่งเงินในการลงทุน เป็นต้น

โครงการขนาดใหญ่ควรมีการสร้างระบบความรับผิดชอบหรือ Accountability ที่ชัดเจน โดยในส่วนการดำเนินงานของภาครัฐ ควรมีการสร้างความโปร่งใสและมีการตรวจสอบได้ของสาธารณะ ผ่านการเปิดเผยข้อมูลและผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการให้แก่สาธารณชนและสื่อมวลชน รวมถึงนักวิชาการได้ตรวจสอบและติดตามความคืบหน้า

ทั้งนี้ควรให้หน่วยงานที่มีความเป็นกลาง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดำเนินงานตรวจสอบพิจารณาอย่างครบถ้วนในเรื่อง ราคา ความถี่ของการให้บริการ รวมถึงรายละเอียดตัวแปรอื่น

นอกจากนี้ การสร้างระบบความรับผิดชอบสามารถทำได้โดยการตั้งกลุ่มผู้ตรวจสอบอิสระ (Independent Peer Review) ของโครงการและควรมีหน่วยงานกลางของรัฐเป็นผู้ตรวจสอบโครงการอีกด้วย ในระยะยาว โครงการต่าง ๆ ควรได้รับการวัดผลหลังจากดำเนินโครงการเสร็จสิ้นแล้วเพื่อให้เพิ่มความมั่นใจว่า การดำเนินงานและการศึกษาความเป็นไปได้มีความสัมฤทธิ์ผล และเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในอนาคตต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

[1] Flyvbjerg (2009) Survival of the unfittest : why the worst infrastructure gets built—and what we can

do about it, Oxford Review of Economic Policy, Volume 25, Number 3, 2009, pp.344–367

[2] European Commission (2008) Guide to Cost-Benefit Analysis of Investment Projects, Directorate General Regional Policy



 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: