ปัญหาที่ดิน‘จุฬาฯ-อุเทนฯ’จบยาก อุเทนฯเปิดข้อมูลเก่า-สัญญาเช่าสู้ จุฬาฯยันเดินหน้าแผนจัดการที่ดิน

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 26 มิ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 19930 ครั้ง

 

ประเด็นที่คุกรุ่นมานาน ยืดเยื้อสะสมมาเกือบ 4 ทศวรรษ กรณีการขอคืนผืนดินที่ตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ประมาณ 20 ไร่ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการยืนยันสิทธิ์บนที่ดินผืนดังกล่าว พร้อมหยิบนำเอกสารทางประวัติศาสตร์มายืนยันว่า ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ของฟากอุเทนถวาย

 

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ละฝ่ายยังงัดเอกสารอ้างความชอบธรรมตีแผ่ เรียกคะแนนจากมวลชน พร้อมทั้งการรวมตัวของกลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอุเทนถวายกว่า 1,000 คน เดินขบวนกลางถนนพญาไท เพื่อยื่นหนังสือทวงถามการทวงคืนที่ดินกับจุฬาฯ พร้อมยื่นหนังสือ 3 ฉบับ ที่มีใจความเหมือนกันว่า “ผลของการเพิกเฉยไม่ให้ความสำคัญ ย่อมเกิดเหตุที่ไม่พึงประเมินสถานการณ์ได้” กับตัวแทนผู้บริหารจุฬาฯ

 

โดยระบุว่าจะกลับมาชุมชนทวงถามความคืบหน้าอีกครั้งภายใน 90 วัน

 

แน่นอนว่าถึงประเด็นนี้ยังไม่มีบทสรุปในวันนี้ แต่เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ศูนย์ข่าว TCIJ จึงล้วงลึกที่มาที่ไปอันกลายเป็นฉนวนเหตุของความขัดแย้งดังกล่าวมานำเสนอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จุดเริ่มต้นความขัดแย้ง

 

 

หากพอติดตามข่าวสารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คงพอทราบว่า สำนักงานจัดการทรัพย์สินแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมาสเตอร์แพลน หรือแผนแม่บทจัดการที่ดินมหาศาล จำนวน 1,153 ไร่ ซึ่งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาจุฬาฯ ขึ้น

 

โดยมาสเตอร์ แพลน ดังกล่าวได้ออกแบบการใช้ประโยชน์ออกเป็น 3 ลักษณะ ประกอบด้วย 52 เปอร์เซนต์ “ใช้เพื่อการศึกษา” 18 เปอร์เซนต์ ใช้เพื่อประโยชน์ของส่วนราชการอื่นและบริการสาธารณะ ส่วนที่เหลืออีก 30 เปอร์เซนต์ ใช้เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์

 

ในส่วนของเขตพื้นที่ 18 เปอร์เซนต์ นั้น มีทั้งให้ยืม และให้เช่า อาทิ บริเวณซอย 5 ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร (กทม.)

 

ขณะที่พื้นที่ 30 เปอร์เซนต์ บริเวณสยามสแควร์ สามย่าน จามจุรีสแควร์ มาบุญครอง ใช้ในเชิงพาณิชย์ทั้งหมด

 

 

จุฬาฯอ้างพัฒนาที่ดิน ‘อุเทน’ต้องย้ายออกตามสัญญาเช่า

 

 

ส่วนของพื้นที่ 52 เปอร์เซนต์ ถูกตั้งเป้านำมาใช้ประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้ “โครงการศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน” ประกอบไปด้วย 5 หน่วยงาน กับ 1พิพิธภัณฑ์ ไล่เรียงตั้งแต่หน่วยวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้งานสร้างสรรค์ หน่วยข้อมูลด้านนวัตกรรมงานสร้างสรรค์ หน่วยเผยแพร่นวัตกรรมงานสร้างสรรค์ หน่วยบ่มเพาะเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หน่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านนวัตกรรมงานสร้างสรรค์ และพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เพื่อสังคม

 

โดย 5 หน่วยงาน จะครอบคลุมงานนวัตกรรมและสร้างสรรค์ 14 สาขา คือ สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม หัตถกรรม โฆษณา การออกแบบ การออกแบบเครื่องแต่งกาย การออกแบบสิ่งทอ ภาพยนตร์ ดนตรี การแสดง สื่อวิทยุและโทรทัศน์ การเผยแพร่ผลงาน การพัฒนาระบบ และกิจกรรมพัฒนาทักษะเยาวชนประเภทของเล่นและเกม

 

 

 

ซึ่งจุฬาฯ เชื่อมั่นว่า ศูนย์ดังกล่าวจะช่วยให้ธุรกิจ SMEs ในด้านนี้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 50 ราย มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ไม่ต่ำกว่า 75 ผลิตภัณฑ์ต่อปี รวมทั้งเกิดธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมสร้างสรรค์ไม่ต่ำกว่าปีละ 50 ธุรกิจ

 

แต่อุปสรรคใหญ่ของจุฬาฯ ก็คือพื้นที่เพื่อการศึกษาทั้ง 52 เปอร์เซนต์ นี้ ได้รวมถึงพื้นที่ตั้งของอุเทนถวาย จำนวน 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา เข้าไปด้วย ดังนั้นจุฬาฯ ซึ่งถือครองกรรมสิทธิ์บนที่ดินดังกล่าว จากสัญญาเช่าที่อุเทนถวายได้ทำไว้กับจุฬาฯ เป็นเวลา 68 ปี หรือตั้งแต่ปี พ.ศ.2478-2546 จึงเจรจาขอคืนพื้นที่เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ข้างต้น

 

โดยประเด็นนี้ฟากเจ้าของกรรมสิทธิ์ ตั้งธงอย่างชัดเจนมาโดยตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 แล้วว่าต้องการขอคืนที่ดินส่วนดังกล่าว ถึงขนาดออกหน้าเจรจากับกระทรวงศึกษาธิการ และกรมธนารักษ์ ให้ช่วยจัดหาพื้นที่ให้อุเทนถวายใหม่ เพราะไม่เช่นนั้นอุเทนถวายก็คงไม่ย้ายออกไปอย่างแน่นอน

 

และเหมือนทุกอย่างจะเป็นใจให้ฝั่งจุฬาฯ เมื่อกรมธนารักษ์ได้จัดหาพื้นที่ ต.บางปิ้ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ จำนวน 36 ไร่ ให้อุเทนถวายในปี พ.ศ.2545 โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติจัดสรรงบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อการก่อสร้างและขนย้ายครุภัณฑ์ต่าง ๆ

 

เวลาล่วงเลยมาได้ 2 ปี นายทวีชัย เหลี่ยมศิริวัฒนา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการอุเทนถวาย ในขณะนั้น ได้ลงนามในหนังสือลงวันที่ 11 มีนาคม 2547 ตกลงจะขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้จุฬาฯ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2548 และจะผ่อนผันให้ไม่เกิน 1 ปี หากจำเป็น ผ่านมาอีก 1 ปี อุเทนถวายและจุฬาฯ จึงทำบันทึกร่วมกันอีกครั้ง โดยครั้งนี้พ่วงสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เข้ามาด้วย

 

 

‘จุฬาฯ’ ขอคืนพื้นที่จาก ‘อุเทนฯ’ 3 ครั้ง

 

 

ทั้ง 4 ฝ่ายตกลงร่วมกันว่า อุเทนถวายจะย้ายไปก่อสร้างสถาบันใหม่ในที่ดินที่กรมธนารักษ์จัดหาให้ โดยจะย้ายบุคลากรและนักศึกษาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 แต่สุดท้ายข้อตกลงดังกล่าวก็กลายเป็นหมัน เพราะอุเทนถวายไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้ ร้อนถึงจุฬาฯ ต้องทำหนังสือขอคืนพื้นที่ต่อเนื่องอีก 3 ครั้ง

 

ครั้งแรกวันที่ 6 ธันวาคม 2549 จุฬาฯ ได้ส่งหนังสือถึงอุเทนถวายหลังจาก “คณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” (กยพ.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุดแต่งตั้งขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ มีมติชี้ขาดให้อุเทนถวายคืนพื้นที่ให้กับจุฬาฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 พร้อมทั้งชำระค่าเสียหายปีละประมาณ 1,000,000 บาทเศษ จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เป็นที่เรียบร้อย

 

จากนั้นจึงตามมาด้วยหนังสือฉบับที่ 2 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 และฉบับที่ 3 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2550

 

สำหรับในส่วนค่าเสียหายอุเทนถวายยังไม่เคยชำระให้จุฬาฯเลยแม้แต่ครั้งเดียว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

‘อุเทน’ ดิ้นสู้ถวายฎีกา

 

 

ฟากอุเทนถวายชี้แจงว่า การที่นายทวีชัย เหลี่ยมศิริวัฒนา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการอุเทนถวาย ลงนามในคำสั่งหนังสือลงวันที่ 11 มีนาคม 2547 ตกลงขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้จุฬาฯ นั้น ถือเป็นการปิดบังซ่อนเร้นบันทึกสัญญา เนื่องจากนายทวีชัยเพิ่งเข้ามารักษาการเป็นปีแรก ไม่เคยเสนอข้อตกลงดังกล่าวให้สภาคณาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน รับทราบ เพื่อรับรองมติ 

ดังนั้น

 

อุเทนถวายจึงรวมตัวร้องขอความเป็นธรรมกับนายทวีชัย นำมาสู่บันทึกข้อตกลงในวันที่ 21 มีนาคม 2548 สรุปใจความว่า ข้อตกลงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม ขอให้นายทวีชัยทำหนังสือยกเลิกบันทึกฉบับดังกล่าว ทำหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการขอย้าย โดยเปิดเผยทุกเรื่องก่อนการลงนาม และทำหนังสือตอบเรื่องถวายฎีกา ที่สโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2 ครั้ง เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยลงมา กระทั่งวันที่ 10 มิถุนายน 2547 นายทวีชัยจึงทำหนังสือยกเลิกบันทึกที่ทำไว้กับจุฬาฯ สรุปได้ว่า อุเทนถวายไม่ยอมรับการขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้จุฬาฯ โดยอ้างว่าเป็นการตัดสินใจจากคนเพียงคนเดียว ไม่ใช่การตัดสินใจจากอุเทนถวายทุกคน โดยพวกเขาเชื่อมั่นว่า

 

            “หากใช้ผืนดินนี้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ตามพระราชประสงค์ของ รัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระราชทานเงิน จำนวน 10,000 บาท เพื่อก่อสร้างโรงเรียนขึ้นมา อุเทนถวายก็ยังมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะครอบครองที่ดินผืนนี้สืบไป”

 

 

ส่วนการพิจารณาของ กยพ.นั้น ทางอุเทนถวายชี้แจงว่า ตลอดระยะเวลาที่กยพ.พิจารณาความเป็นเจ้าของที่ดินตามกฎหมาย อุเทนถวายไม่เคยเข้าไปมีส่วนร่วมในการไต่สวนและชี้แจงรายละเอียดเลยแม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ยอมรับคำตัดสิน

 

ขณะที่การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาทั้ง 2 ครั้งคือวันที่ 2 มีนาคม 2547 และ 9 กรกฎาคม 2552 นั้น แม้สำนักราชเลขาธิการจะมีหนังสือที่ รล 0007.4/1935 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 อ้างถึงหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล 0009.4/22943 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2552 ตีเรื่องกลับโดยให้ยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ.

 

แต่เมื่ออุเทนถวายมองว่า การตัดสินของกยพ.ไม่เป็นที่ยอมรับ จึงยังคงยืนกระต่ายขาเดียวปักหลักเรียกร้องสิทธิ์ต่อไป พร้อมตั้งทีมศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ มาใช้ในการต่อสู้ ซึ่งประเด็นนี้มีข้อสังเกตอยู่ตรงที่ประกาศว่า การลงนามตกลงขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้จุฬาฯ ของรรก.ผอ.วิทยาเขตอุเทนถวาย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 คณาจารย์ บุคลากร ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันยืนยันว่าไม่เคยรับทราบมาก่อน

 

แต่ปรากฎว่าการยื่นเรื่องถวายฎีกาของสโมสรนักศึกษาอุเทนถวายในครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2547 หรือก่อนหน้าการลงนาม 9 วัน

 

 

 

 

 

 

 

เริ่มมาสเตอร์แพลน-เปิดหน้าชก

 

 

จากนั้นเป็นต้นมาความเป็นไม้เบื่อไม้เมาของสองสิงห์พญาไท ก็คุกรุ่นขึ้นเรื่อย ๆ โดยแต่ละฝ่ายต่างดูเชิงซึ่งกันและกันมาตลอด กระทั่งจุฬาฯ เริ่มดำเนินการตามมาสเตอร์ แพลน ที่วางไว้อย่างจริงจัง เช่น การขอคืนพื้นที่ตั้งเดิมของโรงเรียนปทุมวัน เพื่อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะสำหรับคนกรุงเทพฯ หลังจากอ้างว่าได้หารือร่วมกับสำนักงานการศึกษา กทม.แล้ว

 

การเตรียมขึ้นค่าเช่าสนามศุภชลาศัย การขยายพื้นที่ถนนจุฬาฯ ซอย 5 ให้กว้างขึ้น เพื่อลดปัญหาการจราจร โดยจะรวมศูนย์ราชการของ กทม.ประกอบด้วย สถานีตำรวจปทุมวัน สถานีดับเพลิงปทุมวัน สาธารณสุข กทม.ไว้ด้วยกันเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

 

 

หรือการยื่นคำสั่งศาลขอบังคับให้อุเทนถวายออกจากที่ดินผืนดังกล่าว ภายใน 30 วัน หลังศาลมีคำสั่งให้จุฬาฯ ชนะคดี ส่งผลเกิดกระแสต่อต้านจากฟากผู้ถูกไล่ทันที โดยกลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอุเทนถวายกว่า 500 คน ที่ทราบข่าว รวมตัวเดินขบวนประท้วงกรณีการทวงคืนที่ดิน หน้าสำนักงานจัดการทรัพย์สินแห่งจุฬาฯ พร้อมทั้งวางพวงหรีดประชดประเทียดเสียดสี มาตรการเชิงรุกของจุฬาฯ ไปตามถนนพญาไท เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา

 

ที่สำคัญคือการเปิดหน้าแลกหมัดครั้งใหม่นี้ อุเทนถวายไม่ได้สู้อย่างโดดเดี่ยวเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ดึงกระแสสังคมที่เริ่มโจมตีจุฬาฯ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเป็นเจ้าภาพรับเรื่องร้องเรียน และเรียกร้องขอคืนพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสนามศุภชลาศัยที่ถูกขึ้นค่าเช่า โรงเรียนปทุมวันที่ถูกยกเลิกสัญญา ตลอดจนการบีบให้พวกเขาออกจากผืนดินที่ตั้งสถาบันภายใน 30 วัน

 

คล้อยหลังได้ 3 วัน ศ.น.พ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องออกมายืนยันว่า การขอที่ดินคืนก็เพื่อใช้เป็นพื้นที่การศึกษา พัฒนาเป็นศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน ไม่มีนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด ที่สำคัญตลอดมาจุฬาฯ ได้พยายามหาทางช่วยเหลือมาโดยตลอด กระทั่งกรมธนารักษ์ได้จัดหาพื้นที่ใหม่ให้ ขณะที่ครม.ก็จัดสรรงบประมาณ 200 ล้านบาท ให้สำหรับก่อสร้างและขนย้าย

 

 

 

 

 

 

 

 

แต่เมื่ออุเทนถวายไม่ยอมย้ายไป สุดท้ายกรมธนารักษ์จึงนำที่ดินผืนดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นแทน ดังนั้นกรณีของอุเทนถวายจะต้องแก้ไขโดยขอความร่วมมือจากรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานต่าง ๆ จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม พร้อมทั้งงบประมาณให้ใหม่ ในส่วนของโรงเรียนปทุมวันนั้น จุฬาฯยืนยันว่าได้หารือร่วมกับสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร แล้ว ซึ่งทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันดี แต่หากประชาชนได้รับผลกระทบ จุฬาฯก็จะหารือกับทุกฝ่ายอีกครั้ง

 

จากนั้นในวันที่ 4 มีนาคม อธิการบดีจุฬาฯ จึงเข้าพบ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ เพื่อหารือถึงข้อพิพาท และชี้แจงว่า ที่ดินผืนนี้ผ่านการตีความชี้ขาดให้เป็นสิทธิของจุฬาฯ จากกยพ.แล้ว โดยอุเทนถวายต้องย้ายออกไป ดังนั้นนายพงศ์เทพจึงรับปากจะประสานไปยังผู้บริหารอุเทนถวาย เพื่อให้ดำเนินการตามมติ กยพ.

ตลอดจนทำความเข้าใจกับบุคลากร ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน ที่จะออกมาเคลื่อนไหวประท้วง ว่าจะต้องย้ายไปสถานศึกษาใหม่ เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นของจุฬาฯตามกฎหมาย โดยกระทรวงศึกษาธิการ จะพิจารณาพื้นที่ตั้งใหม่จากที่ดิน ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ เช่น ที่ดินราชพัสดุ ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เป็นต้น

 

 

เวลาผ่านไปจนถึงวันที่ 11 มีนาคม 2556 คณะผู้บริหารจุฬาฯ จึงตั้งโต๊ะแถลงข่าวการจัดการทรัพย์สินของจุฬาฯ อีกครั้งโดยอธิบายว่า ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ที่ได้รับจากการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ได้จากที่ดินพระราชทานของจุฬาฯ เป็นการดำเนินการตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านผู้สถาปนาจุฬาฯ ที่ทรงเล็งเห็นว่า การที่มหาวิทยาลัยจะสามารถดำเนินพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยได้ จำเป็นต้องมีทรัพยากรเกื้อหนุนเพิ่มเติมจากงบประมาณแผ่นดิน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก

 

ซึ่งงบประมาณจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยในทุก ๆ ด้าน ทั้งนี้การขอเวนคืนที่ดินอุเทนถวาย จะต้องเป็นไปตามมาสเตอร์แพลน ที่จุฬาฯ เตรียมการไว้ หากอุเทนถวายไม่สามารถย้ายออกได้ เนื่องจากยังไม่มีพื้นที่ใหม่ จุฬาฯก็สามารถรอต่อไปได้ เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดมีข้อยุติเชิงกฎหมายแล้ว

 

โดยการแถลงข่าวในวันนั้น ศ.นพ.ภิรมย์ยืนยันว่า เข้าใจและเห็นใจอุเทนถวาย จึงไม่ได้รบเร้าให้ย้ายออกไปภายในวันสองวัน ตราบใดที่ยังไม่ได้ที่ดินผืนใหม่ ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือ การจับเข่าคุยกันโดยมีกระทรวงศึกษาธิการร่วมวงด้วย เพื่อวางแผนอนาคตว่า ควรย้ายไปในช่วงเวลาไหนถึงจะเหมาะสม และถ้าตกลงได้จะเกิดผลดีทุกฝ่าย ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดี

 

ในส่วนของศิษย์เก่าอุเทนถวาย ที่ประกาศรวมตัวกันที่อุเทนถวายในวันที่ 15 มีนาคม เพื่อทวงคืนที่ดินจากจุฬาฯ อีกครั้งนั้น จุฬาฯเชื่อมั่นในเกียตริภูมิของอุเทนถวายทุกคนว่า จะไม่ทำอะไรให้เกิดผลกระทบต่อประเทศ และสังคมในภาพรวม ซึ่งที่ผ่านมาการชุมนุมก็เป็นไปอย่างสงบ

 

 

 

จุฬาฯตั้งโต๊ะแจงแผนจัดการทรัพย์สิน-อุเทนชุมนุมกดดัน

 

 

ด้าน รศ.น.อ.น.พ.เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สิน กล่าวถึงการเวนคืนที่ดินต่าง ๆ ว่า ได้ยึดหลักการสร้างความเข้าใจร่วมกับผู้ที่ใช้พื้นที่ แม้ว่าจะเป็นการเช่าพื้นที่จุฬาฯ เมื่อหมดสัญญาแล้วก็ยังไม่สามารถเข้าไปรื้อได้ จนกว่าจะพูดคุยกับผู้ค้าให้เข้าใจ และมีที่รองรับเยียวยา ทั้งหมดนี้เพราะจุฬาฯเป็นสถานศึกษา ไม่เหมือนเอกชน

 

 

            “กรณีการขอคืนพื้นที่จากอุเทนถวายนั้น ยังไม่รู้ว่าอีก 30 ปี จะเสร็จหรือเปล่า แต่ยืนยันว่า จุฬาฯต้องเอาความเหมาะสม ความลงตัวดีที่สุด นอกจากนี้ทางจุฬาฯและอุเทนถวายยังเคยมีความตกลงร่วมกัน เมื่อปี 2547 ที่จะโอนย้ายไปใช้พื้นที่ที่ จ.สมุทรปราการ แต่ติดเรื่องงบประมาณในขณะนั้น ทำให้พื้นที่ดังกล่าวถูกนำไปใช้แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีพื้นที่ใหม่อีกแห่งอยู่ที่ อ.บางปิ้ง จ.สมุทรปราการ ที่มีความเหมาะสม ดังนั้นยืนยันว่าการแก้ปัญหากรณีนี้ยังมีความเป็นไปได้อยู่” รศ.น.อ.นพ.เพิ่มยศ กล่าว

 

ส่วน ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ วัฒนสินธุ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แจกแจงพิมพ์เขียวมาสเตอร์แพลน ว่า จุฬาฯได้จัดทำแผนแม่บทมาเป็นเวลานานแล้ว โดยผังแม่บทปี 2559 ได้กำหนดพื้นที่ฝั่งถนนพญาไทเป็นพื้นที่การศึกษา ซึ่งในส่วนของที่ตั้งอุเทนถวายที่จะได้รับคืนนั้น ได้กำหนดเป็นพื้นที่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีความสำคัญในอนาคต

 

ประกอบด้วย การจัดสร้างศูนย์นวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน 5 หน่วยงาน พร้อมทั้งสร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เพื่อสังคม และจัดตั้งคณะเทคโนโลยีอาหาร เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น เพราะจุฬาฯมองถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนสังคมไทย ให้กลายเป็นสังคมที่มีความรู้เป็นฐาน และศูนย์ดังกล่าวจะทำให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์

 

อย่างไรก็ตาม ถึงการพัฒนาที่ดินฝั่งตะวันออกของถนนพญาไทเป็นพื้นที่การศึกษา จะติดปัญหากรณีพิพาทกับอุเทนถวายอยู่ แต่ น.อ.น.พ.เพิ่มยศ โกศลพันธ์ รองอธิการบดี จุฬาฯ ยืนยันว่า จุฬาฯยังคงเดินหน้าพัฒนาที่ดินหลังสนามกีฬาแห่งชาติ ประมาณ 16 ไร่ เพื่อเป็นหอพักนักศึกษานานาชาติ และที่พักอาศัย มูลค่าลงทุน 2,000 ล้านบาทต่อไป ควบคู่กับการขยายถนนจุฬาฯ ซอย 5 ตั้งแต่ฝั่งถนนพระราม 1-ถนนพระราม 4 รวมระยะทาง 30 เมตร เพื่อเป็นถนนต้นแบบ

 

รวมถึงการเนรมิตอุทยานจุฬาฯ 100 ปี เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว มูลค่าลงทุน 500-600 ล้านบาท

 

 

ส่วนพื้นที่บริเวณหัวมุมติดถนนพระราม 4 ตรงข้ามจามจุรีสแควร์ กำลังอยู่ระหว่างตกลงรายละเอียดสัญญากับบริษัท ทิพย์พัฒน อาร์เขต จำกัด อีกเล็กน้อย และพร้อมที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ใน 1-2 เดือนข้างหน้า ขณะที่พื้นที่ประมาณ 15 ไร่ บริเวณหัวมุมแยกเจริญผล ตรงข้ามห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส ติดกับสนามกีฬาแห่งชาติ ก็จะเปิดประมูลให้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ โดยจุดนี้จุฬาฯ ได้เสนอต่อครม.ไปแล้ว ส่วนของโรงแรมบริเวณสยามสแควร์ จะเปิดประมูลได้ประมาณไตรมาส 2 ปีนี้ และที่สุดแล้วพื้นที่อุเทนถวาย จะถูกนำมาพัฒนาเป็นศูนย์นวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืนต่อไป

 

 

อุเทนชุมนุมยื่นเอกสารประวัติศาสตร์ให้จุฬาฯ

 

 

ฟากศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอุเทนถวาย ที่ประกาศรวมตัวกันที่อุเทนถวายในวันที่ 15 มีนาคม เมื่อถึงวันนัดหมายต่างตบเท้ามารวมพลภายในอุเทนถวาย เพื่อแสดงพลังทวงคืนที่ดินจากจุฬาฯ อีกคำรบ โดยการรวมตัวในครั้งนี้กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน หรือกองร้อยน้ำหวาน 30 นาย ได้ตั้งจุดตรวจค้นอาวุธ บริเวณประตูทางเข้าออก และสามารถตรวจยึดอาวุธมีดได้บางส่วน

 

ซึ่งเรื่องนี้นายสืบพงษ์ ม่วงชู รองอธิการ มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เปิดเผยว่า ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับศิษย์เก่าและนักศึกษาอุเทนถวายให้ชุมนุมอย่างสงบ เพื่อแสดงจุดยืนขออยู่ที่เดิมต่อ โดยการชุมนุมจะไม่ยืดเยื้อ และไม่วุ่นวายแน่นอน หากเกิดความวุ่นวาย ไม่น่าจะใช่นักศึกษาอุเทนถวาย เพราะได้กำชับแล้วว่าให้ชุมนุมอย่างสงบ

 

ต่อมาเวลา 11.00 น.กลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ประมาณ 50 คน เดินทางมาชุมนุมที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อยื่นหนังสือขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่อุเทนถวาย และขอให้ตั้งอยู่ที่เดิม ต่อนายพงศ์เทพออกมารับด้วยตัวเอง หลังจากรับหนังสือแล้ว นายพงศ์เทพชี้แจงว่า ประเด็นที่นักศึกษามายื่นหนังสือ เป็นประเด็นเดียวกับที่ผู้บริหารอุเทนถวายได้เคยมาหารือ ซึ่งข้อสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ขอพิจารณาในข้อกฎหมายต่าง ๆ ก่อน

 

เวลา 11.30 น. นักศึกษาอุเทนถวายได้ชี้แจงเส้นทางเดินขบวนให้เจ้าหน้าที่รับทราบเพื่อขอให้อำนวยความสะดวก โดยยืนยันไม่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน และจะใช้พื้นที่เกาะกลางหน้าสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ขณะเดียวกันจะยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงจุฬาฯด้วย

 

จากนั้น เวลา 12.30 น. ที่อาคารจามจุรี 3 ศ.น.พ.ภิรมย์ พร้อมคณะผู้บริหาร เปิดแถลงข่าวโดยระบุว่า มีความกังวลใจ และห่วงใยสวัสดิภาพของนิสิต 40,000 คน และบุคลากรอีกประมาณ 8,000 คน แต่จะไม่ปิดทำการจนกว่าจะได้รับการยืนยันถึงสถานการณ์จากตำรวจ ขณะเดียวกัน เชื่อว่าแนวทางในการแก้ปัญหา ต้องมีการเจรจาร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ ศธ. จุฬาฯ และอุเทนถวาย โดยเชื่อว่าหากอุเทนถวายมีที่ใหม่ที่ดีกว่าเดิม และใกล้กับภาคอุตสาหกรรมน่าจะยินดีขยับขยาย พร้อมกันนี้ ศ.นพ.ภิรมย์ ยังตอบคำถามสื่อมวลชนที่ว่า หากต่างฝ่ายต่างเห็นว่าตนเองมีกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน ใครจะเป็นผู้ชี้ขาด ว่า เรื่องประวัติศาสตร์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และใครก็มีสิทธิที่จะใช้ข้อความตอนหนึ่งตอนใดมาเป็นประวัติศาสตร์ได้ แต่การวินิจฉัยชี้ขาดของ กยพ.ก็ได้พิจารณาข้อเท็จจริง และตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคลและพยานหลักฐาน จากจุฬาฯและอุเทนถวายอย่างรอบคอบแล้ว โดยใช้เวลาพิจารณาถึง 2 ปี

 

กระทั่งเวลา 13.00 น.ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันกว่า 2,000 คน จึงเดินขบวนโดยใช้พื้นที่บริเวณถนนพญาไทขาเข้า ฝั่งด้านหน้าจุฬาฯ มายังบริเวณหน้าสำนักงานอธิการบดี และอาคารสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ พร้อมใช้รถบรรทุกติดตั้งเครื่องกระจายเสียงปราศรัย ทั้งนี้ตลอดแนวถนนที่นักศึกษาอุเทนฯเดินผ่านนั้น มีตำรวจคอยดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด

 

 

 

 

 

จากนั้นตัวแทนศิษย์เก่าและนายลิขิต จิตประวัติ นักศึกษาชั้นปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะนายกสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ตัวแทนศิษย์ปัจจุบัน เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรมในกรรมสิทธิ์ที่ดินของอุเทนถวาย โดยมี น.พ.เจษฎา แสงสุพรรณ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารจุฬาฯ เป็นตัวแทนรับหนังสือ

 

นายลิขิตกล่าวว่า มาขอความเป็นธรรมในกรรมสิทธิ์ที่ดินของอุเทนถวาย เพราะเป็นโรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งแรกของประเทศไทย ที่ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกมาจำนวนมาก จึงอยากให้จุฬาฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาเอกสารทางด้านประวัติศาสตร์ ที่นำมายื่นครั้งนี้

 

ด้าน น.พ.เจษฎากล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะบริหารจุฬาฯ และจะศึกษารายละเอียดประวัติศาสตร์ตามเอกสารที่ทางอุเทนถวายได้ยื่นมา

 

สำหรับบรรยากาศในการชุมนุมนั้น ตัวแทนอุเทนถวายได้ปราศรัยว่า จุฬาฯ และอุเทนถวายอยู่ร่วมกันมานานกว่า 80 ปี และที่ดินดังกล่าว อุเทนถวายได้รับพระราชทานจาก ร.6 และตั้งอยู่ตรงนี้มาโดยตลอด ไม่เคยย้ายไปที่อื่น อุเทนถวายและจุฬาฯเป็นเพื่อนบ้านที่มีรั้วติดกัน แต่หากจะให้อุเทนถวาย ย้ายบ้านไปอยู่ที่ ต.บางปิ้ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ นั้น ก็ยินดีที่จะไป หากจุฬาฯจะไปร่วมพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวด้วย โดยอยากให้จุฬาฯคำนึงถึงสัดส่วนพื้นที่การจัดการศึกษากับพื้นที่การค้าใหม่ และให้สัดส่วนเหมาะสม ไม่ใช่เอาแต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นสำคัญ และยืนยันว่าจะไม่ย้ายออกจากตรงนี้เด็ดขาด

 

จากนั้นเวลา 14.40 น. กลุ่มศิษย์เก่าฯได้ประกาศยุติการชุมนุมและได้ขอให้ผู้บริหารจุฬาฯ พิจารณาข้อเรียกร้องที่อุเทนถวายนำมาเสนอ หากยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง ครั้งต่อไปอุเทนถวายก็จะยกระดับการชุมนุม เพื่อยืนยันในข้อเรียกร้องเดิมต่อไป

 

 

 

ล่วงเลยมาถึงวันที่ 26 มีนาคม 2556 จุฬาฯ ได้จัดงานเสวนาเนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบรอบ 96 ปี เรื่อง "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใต้ร่มพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ถึงอธิการบดีจุฬาฯ จะยืนยันว่า ไม่ได้มีเป้าหมายจะนำเรื่องประวัติศาสตร์มาเป็นข้อโต้แย้งกรณีการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินกับอุเทนถวาย แต่การเชิญนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง และบรมครูด้านประวัติศาสตร์ที่ได้วิเคราะห์ ศึกษา ประวัติความเป็นมาของจุฬาฯ อย่างจริงจัง มาถกแถลงไขนั้น ก็เปรียบเสมือนการแลกหมัดกับอุเทนถวาย เพื่อดึงกระแสความชอบธรรมจากสังคมให้กลับมาอยู่ฟากฝั่งจุฬาฯ อีกระลอก

 

โดยนายสุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาว่า ร.6 ได้พระราชทานพื้นที่ในเขต ต.ปทุมวัน ให้แก่จุฬาฯ โดยมีพระราชประสงค์ให้มหาวิทยาลัยได้ใช้พื้นที่เป็นการถาวร โดยมีหลักฐานปรากฎในจารึกกระแสพระบรมราชโองการที่บรรจุไว้ในศิลาพระฤกษ์ตึกบัญชาการ พร้อมด้วยรูปถ่ายโรงเรียนและแผนที่อาณาเขตโรงเรียน ลงวันที่ 3 มกราคม 2458

 

 

            “ต่อมาในสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้อรรถาธิบายว่า พระประสงค์ในการพระราชทานที่ดินอันกว้างขวางแก่จุฬาฯนั้น ทรงเล็งเห็นว่า ต่อไปที่ดินจะมีความเจริญในทางการค้า จึงพระราชทานไว้แก่มหาวิทยาลัยเพื่อหาประโยชน์ เป็นรายได้แก่มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าการที่จุฬาฯ ใช้ที่ดินที่ได้รับพระราชทานไว้ในการหารายได้ ด้วยการสร้างศูนย์การค้าหรืออาคารพาณิชย์ ไม่ทิ้งไว้ให้อยู่เปล่านั้น เป็นการปฏิบัติตามพระราชดำริและตรงตามพระราชประสงค์อยู่แล้ว” นายสุเนตรกล่าว

 

 

ด้านนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในอดีตไม่มีใครเป็นเจ้าของที่ดิน ทุกแห่งล้วนต้องเช่า รวมถึงบริเวณที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับส่วนทรัพย์สินของจุฬาฯ ก็เป็นพื้นที่เช่าเช่นกัน จนกระทั่งเมื่อรัชกาลที่ 8 ได้มีการโอนที่ดินมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจุฬาฯ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อุเทนงัดไม้เด็ดชู 4 ประเด็น ทวงคืนความชอบธรรม

 

 

ต่อมาวันที่ 13 มิถุนายน อุเทนถวายจึงเปิดแถลงหลักฐานข้อมูลโต้จุฬาฯ ภายใต้ชื่อ “ทวงกรรมสิทธิ์ที่ดินพระราชทาน” พร้อมชู 4 ประเด็นหลักเน้นแก้ข้อกล่าวหา โดยกลุ่มศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้ตั้งกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “คณะพิทักษ์สิทธิ์เพื่อการศึกษาอุเทนถวาย (คพศ.)” เพื่อทำหน้าที่สืบเสาะแสวงหาข้อมูลหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่ออุเทนถวาย เพื่อชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงให้สังคมรับรู้ และดึงกระแสความชอบธรรมกลับมาอยู่ที่ฟากฝั่งพวกเขาบ้าง

 

โดยเนื้อหาที่คพศ.นำมาแถลงสรุปได้ว่า อุเทนถวายก่อตั้งตามพระราชดำริของ ร.6 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2465 โดยมีหลักฐานยืนยันว่า ร.6 ได้พระราชทานเงินการพระราชกุศลถาวรวัตถุสำหรับงานพระเมรุ สมเด็จกระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย จำนวน 10,000 บาท ให้สร้างโรงเรียนนักเรียนเพาะช่าง ซึ่งที่ผ่านมาอุเทนถวาย ไม่เคยทำผิดในเจตจำนงค์ด้านการศึกษา ดังนั้นอุเทนถวายจะย้ายไป ก็ต่อเมื่อกระทำการใด ๆ กับที่ดินผืนนี้ โดยขัดพระราชประสงค์ ร.6 ที่ไม่ใช่ที่ดินเพื่อการศึกษา

 

นอกจากนี้คพศ.ยังชี้แจงกรณี กยพ.ชี้ขาดให้สิทธิ์ที่ดินเป็นของจุฬาฯ ว่า จริง ๆ แล้วอุเทนถวายมีความชอบธรรมที่จะอยู่ตรงนี้ต่อไป เพราะเป็นโรงเรียนที่เกิดขึ้นพร้อมจุฬาฯ ได้รับพระราชทานให้ก่อตั้งจากรัชกาลที่ 6 เช่นเดียวกับจุฬาฯ ที่สำคัญทั้งสองสถาบันมีความเชื่อมโยงกัน เพราะนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ของจุฬาฯ 5 รุ่นแรก คือศิษย์เก่าของอุเทนฯที่จบจากวิชาช่างแผนกแบบแปลน และรับเหมาก่อสร้าง โดยผู้ที่ร่างหลักสูตรให้คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ

 

 

            “ทั้งอุเทนถวาย และจุฬาฯ ต่างก็เป็นสถาบันการศึกษาที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และผลิตบุคลากรเพื่อออกมาพัฒนาประเทศชาติจำนวนมาก ดังนั้นหากทางจุฬาฯ ต้องการจะพัฒนาพื้นที่ของวิทยาเขตอุเทนถวาย เพื่อเป็นศูนย์นวัตกรรม หรืออย่างอื่นนั้น จุฬาฯ ควรพิจารณาจากพื้นที่ส่วนอื่นของที่ดิน ที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่พาณิชย์ หรือมีแผนจะพัฒนาเป็นพื้นที่พาณิชย์ก่อน แทนที่จะมาสร้างบนสถานศึกษาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานอย่างอุเทนถวาย อีกทั้งพระราชประสงค์ดั้งเดิมของรัชกาลที่ 6 คือทรงต้องการให้ที่ดินตรงนี้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น” คพศ.กล่าว

 

(อุเทนถวาย : 7 มกราคม พ.ศ.2456 ก่อตั้งโรงเรียนหัตถกรรม ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเพาะช่างในวันที่ 17 ตุลาคม ปีเดียวกัน จากนั้น ร.6 พระราชทานเงิน 10,000 บาท สร้างโรงงานนักเรียนเพาะช่าง ใช้ชื่อแผนกที่ตั้งใหม่ว่า “โรงงานโรงเรียนเพาะช่าง แผนกช่างก่อสร้าง” เพื่อทรงพระราชอุทิศพระราชทานแด่เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ในปีเดียวกันนี้มีการก่อสร้างสะพานข้ามคลองสวนหลวง ถนนพญาไท โดยข้าราชการและพนักงานกรมสรรพากรร่วมบริจาคเงินเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 โดยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าพระราชทานนามว่า “อุเทนถวาย” ดังนั้นในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2475 โรงงานโรงเรียนเพาะช่าง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย”)

 

(จุฬาฯ : วันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2458 ก่อพระฤกษ์ “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” หลังจากวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2455 มีราชกิจจานุเบกษา หัวข้อความคิดจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน และวันที่ 12 พฤษภาคม ปีเดียวกัน โรงเรียนข้าราชการพลเรือน กราบบังคมทูลขอเช่าที่ดินรัชกาลที่ 6 จากนั้นวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2459โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ทำสัญญาเช่าที่ดินพระพินัยกรรม รัชกาลที่ 5 กำหนดระยะเวลาเช่า 10ปี จ่ายเดือนละ 1,200 บาท กับพระคลังข้างที่ 15 เมษายน พ.ศ.2460 เปลี่ยนชื่อ “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และสิ้นสุดสัญญาเช่าที่ดินพระคลังข้างที่ ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.1469 จากนั้นในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2478 จุฬาฯ จึงทำสัญญาเช่าที่ดินกับพระคลังข้างที่ ต่อไปอีก 30 ปี)

 

 

 

สำหรับประเด็นที่คพศ.สืบค้นข้อมูลมามี 4 ประเด็นคือ

 

ประเด็นที่ 1.ประวัติการก่อตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย

 

หากจะกล่าวว่า “โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2475” เห็นจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะแท้จริงมีต้นกำเนิดมาจากโรงเรียนฝึกหัดการหัตถกรรม พ.ศ.2456 ที่ได้รับโปรดเกล้าพระราชทานนามจากรัชกาลที่ 6 ว่า “โรงเรียนเพาะช่าง” ครั้งนั้นมีพระดำรัสความตอนหนึ่งว่า  “...เราเคยปรารภกับเจ้าพระยาพระเสด็จและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วยการศึกษา ที่จะใช้วิชาช่างของเราตั้งขึ้นใหม่จากพื้นเดิมของเราแล้ว และขยายให้แตกกิ่งก้านสาขางอกงามยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนเอาพันธุ์พืช ของเราเองมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเรา เอาพันธุ์ไม้ต่างประเทศมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเราอันไม่เหมาะกัน โดยประสงค์เช่นนี้ เมื่อเจ้าพระยาเสด็จมาขอชื่อโรงเรียน เราระลึกผูกพันอยู่ในความเปรียบเทียบกับต้นไม้ดังกล่าวนี้ เราจึงได้ให้ชื่อโรงเรียนนี้ว่า โรงเรียนเพาะช่าง...”

 

โรงเรียนเปิดสอนวิชาหัตกรรมไทยมาแต่แรกตั้ง มีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ทรงเป็นที่ปรึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 และทรงเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง ตั้งแต่ พ.ศ.2465 กระทั่งสิ้นพระชนม์ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินการพระราชกุศลถาวรวัตถุ สำหรับงานพระเมรุ ท้องสนามหลวง คราวนี้ เป็นเงิน 10,000 บาท ให้สร้างโรงงานนักเรียนเพาะช่าง ทรงพระราชอุทิศพระราชทานแด่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย” โรงงานนักเรียนเพาะช่าง ที่ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นนี้ ตั้งอยู่บริเวณอุเทนถวายปัจจุบัน

 

ที่มาของนาม ‘อุเทนถวาย’

 

เกิดขึ้นเมื่อถึงรัชสมัย รัชกาลที่ 7 พระเสนอพจนพากย์ (เสนอ รักเลียม) เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเพาะช่างในเวลานั้น เห็นว่าขาดแคลนช่างก่อสร้างที่เป็นคนไทย เพราะส่วนมากเป็นชาวต่างชาติ  ดังนั้นเพื่อเป็นการทำนุบำรุงวิชาก่อสร้างไทย จึงได้เปิดการสอนวิชาช่างแผนกแบบแปลน และรับเหมาก่อสร้าง ขึ้นที่เชิงสะพานอุเทนถวาย ถนนพญาไท ในปีพ.ศ.2475 ให้ชื่อแผนกที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า โรงเรียนเพาะช่าง แผนกก่อสร้าง

 

“สะพานอุเทนถวาย” ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานนักเรียนเพาะช่าง อันเป็นที่มาของชื่อโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เป็นสะพานข้ามคลองสวนหลวง ถนนพญาไท คลองนี้เชื่อมต่อคลองอรชร โดยข้าราชการและพนักงานกรมสรรพากรร่วมบริจาค เพื่อสร้างน้อมเกล้าฯถวายเป็นพระราชกุศลแด่ รัชกาลที่ 5 (กรมสรรพากรมีตราประจำกรมเป็นรูป “พระเจ้าอุเทนดีดพิณ”) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “อุเทนถวาย” ทรงเปิดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2456 ปัจจุบันสะพานถูกรื้อแล้ว

 

กำเนิดช่างก่อสร้างอุเทนถวาย

 

เมื่อคณะราษฎรยึดอำนาจ และเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475  ต่อมาเดือนตุลาคม 2475 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้มีคำสั่งเรื่องตั้งโรงเรียนวิสามัญศึกษาช่างก่อสร้าง ว่า

 

.........บัดนี้ถึงเวลาสมควรที่จะตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างขึ้น เพื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดวิชาชีพต่อไป เพราะฉะนั้นให้ตั้งโรงเรียน วิสามัญศึกษาขึ้นที่โรงงานของโรงเรียนเพาะช่าง ถนนพญาไท เชิงสะพานอุเทนถวาย ตำบลถนนพญาไท โรงหนึ่ง ให้ชื่อว่า “โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย” และขึ้นแขวงวิสามัญ กับให้มีกรรมการจัดการโรงเรียนขึ้นคณะหนึ่ง ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งได้ลงนามตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2475 โดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ซึ่งเป็นเสนาบดีในตอนนั้น

โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายมีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าโดยลำดับดังนี้

พ.ศ.2517 กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศยกฐานะเป็นวิทยาลัยอุเทนถวาย

พ.ศ.2518 โอนเข้าสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เป็นวิทยาเขตอุเทนถวาย

พ.ศ.2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย

พ.ศ.2548 เปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประเด็นที่ 2.ชี้แจง “หนังสือส่งเงินเช่าที่ดิน พ.ศ.2478”

 

โดยเอกสารที่สำนักจัดการทรัพย์สินแห่งจุฬาฯ ยกมากล่าวอ้างนั้น  คพศ.ตั้งข้อสังเกตจากเอกสารดังกล่าว 3 ข้อ คือ

2.1 เหตุใดเอกสารถึงไม่ระบุตำแหน่งสถานที่ตั้งของที่เช่า และทำไมไม่ระบุจำนวนพื้นที่เช่า ซึ่งต้องตั้งคำถามย้อนกลับไปที่สำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ว่า พื้นที่ตรงส่วนไหนและจำนวนเท่าไร

2.2 แล้วทำไม “หนังสือส่งเงินเช่าที่ดิน พ.ศ.2478” ที่ สำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ นำเข้ากระบวนการไต่สวน และผ่านมติ กยพ. ดังปรากฎอยู่ในรายงานการประชุม และที่เปิดเผยต่อสาธารณชน ถึงเป็น “เอกสารแค่ฉบับเดียวที่นำมาใช้” แล้วฉบับก่อนหน้านั้น คือสัญญาเช่าหลัก ที่ระบุสถานที่ตั้ง ขนาดพื้นที่เช่า ระยะเวลาเช่า ซึ่ง สำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ไม่เคยพูดถึงเลย

 

ประเด็นที่ 3.ชี้แจง “หนังสือเซ็นตกลงขนย้าย และส่งมอบพื้นที่ลงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2547”

 

 

ในช่วงที่เซ็นบันทึกข้อตกลงในปี 2547 นั้น นายทวีชัย เหลี่ยมศิริวัฒนา เพิ่งดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการ วิทยาเขตอุเทนถวาย เป็นปีแรก โดยไม่มีการนำข้อตกลงดังกล่าว เสนอต่อ สภาคณาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน เพื่อรับรองมติเลย กระทำไป ลุแก่อำนาจ ปิดบังซ้อนเร้น บันทึกสัญญา

 

คพศ.ตั้งข้อสังเกตว่า หากพิจารณาหนังสือ สัญญาเช่าช่วง ก่อนหน้านี้ คือเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2545 จะเห็นข้อความว่า....

 

“ข้อ 1. ผู้ให้เช่าตกลงให้เช่า ผู้เช่าตกลงเช่าที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 2059 เนื้อที่ประมาณ 33,316.34 ตารางเมตร ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนพญาไท ใกล้เคียงโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แขวงปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ปรากฎรายละเอียดตามแผนผัง แนบท้ายสัญญานี้”

 

 

 

 

 

 

หากดูหนังสือสัญญาเช่าช่วง ลงวันที่ 11 มีนาคม 2547 จะพบความต่างแสดงให้เห็นว่า...

ข้อ 1. “สถาบัน” ตกลงขนย้ายและส่งมอบพื้นที่เช่าคืนให้แก่ “มหาวิทยาลัย” ภายในวันที่ 30 เดือนกันยายน 2548 ...........และวรรคต่อมาว่า..................หากมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ “สถาบัน” ไม่สามารถขนย้ายและส่งมอบพื้นที่เช่า ได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้น “มหาวิทยาลัย” จะพิจารณาผ่อนผันระยะเวลาการใช้สถานที่ให้ตามความจำเป็น แต่ทั้งนี้ไม่เกินระยะเวลา 1 ปี”

 

โดย เรื่องบันทึกข้อตกลงดังกล่าว คณาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน ไม่เคยรู้เห็นกับการทำบันทึกข้อตกลงนี้ จวบจนเมื่อทราบเรื่อง จึงได้ร่วมกันร้องขอความเป็นธรรมต่อรักษาการผู้อำนวยการ วิทยาเขตอุเทนถวาย จนนำมาสู่บันทึกข้อตกลง 21 มีนาคม 2548  โดยสาระสำคัญของหนังสือฉบับนี้คือ

 

3.1 กระทำเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม ขอให้ทำหนังสือยกเลิกบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเสีย

3.2 ให้ทำหนังสือตอบเรื่องถวายฎีกา และต้องเปิดเผยข้อความทั้งหมด

3.3 หนังสือที่เกี่ยวข้องกับวิทยาเขตอุเทนถวายในเรื่องการย้าย จะต้องเปิดเผยทุกเรื่องก่อนลงนามด้วยเหตุนี้ จึงนำมาสู่หนังสือ วันที่ 10 มิถุนายน 2548 เรื่อง ขอยกเลิกบันทึกข้อตกลงระหว่าง “จุฬาฯ” กับ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย” ฉบับลงวันที่ 11 มีนาคม 2547

 

ทั้งนี้ทางจุฬาฯ ชี้แจงว่า อุเทนถวายได้จัดเตรียมพื้นที่แห่งใหม่ที่บางปิ้งแล้วนั้น เป็นเรื่องที่ทางจุฬาฯ ดำเนินการประสานหาพื้นที่กับกรมธนารักษ์เอง  แต่กล่าวอ้างว่า “วิทยาเขตอุเทนถวาย” ได้จัดเตรียมสถานที่แล้ว ซึ่งช่วงเวลาจริง ๆ ของเรื่องนี้ คือปีพ.ศ. 2550 (หลังจากเหตุการณ์เซ็นบันทึกข้อตกลงวันที่ 11 มีนาคม 2547 ไปแล้วถึง 3 ปี) แต่นำมาอ้างให้สาธารณชนเข้าใจคลาดเคลื่อน 

3.1.1 อุเทนถวายเซ็นยินยอมออกจากพื้นที่แล้ว

3.1.2 อุเทนถวายจัดเตรียมสถานที่ไว้รองรับการย้ายออกแล้ว ขณะที่ “วิทยาเขตอุเทนถวาย” ไม่เคยดูเรื่องสถานที่ตั้งแห่งใหม่ อีกทั้งรูปแบบอาคารและงบประมาณจากภาครัฐ ก็ยังไม่เคยดำเนินการแต่อย่างใด

 

 

 

ประเด็นที่ 4.ชี้แจงประเด็นที่อ้างมติชี้ขาดตามรายงานประชุม กยพ.

 

“วิทยาเขตอุเทนถวาย” ไม่เคยได้มีส่วนร่วมในการไต่สวนและชี้แจงรายละเอียดต่อ คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) โดยประเด็นที่ชี้ขาดคือ ความเป็นเจ้าของที่ดินตามกฎหมาย แต่วิทยาเขตอุเทนถวายพูดถึงความชอบธรรมในการอยู่ในพื้นที่ ตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6ที่ทรงบริจาคเงิน 10,000 บาท เพื่อสร้างถวายแด่พระเจ้าจุฑาธุชธราดิลก ซึ่งทางเรากำลังเรียกร้องประเด็นนี้

 

ส่วนเรื่องการยื่นฎีกา ครั้งที่ 2 สำนักราชเลขาธิการ ตีเรื่องกลับและยืนตามคำวินิจฉัยของ กยพ. โดยที่การยื่นถวายฎีกาทั้ง 2 ครั้งยังไม่เคยมีพระบรมราชวินิจฉัยลงมาเลย

 

นอกจากนี้คพศ.จะปิดท้ายว่า วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2556 กลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอุเทนถวาย จะเดินขบวนไปสอบถามความคืบหน้าในการหาทางออกร่วมกันกับจุฬาฯ หลังจากครบ 90 วันในการยื่นหนังสือ และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของอุเทนถวาย ต่อสาธารณชน อีกทั้งยังเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ถึงเกียรติประวัติ และสิ่งที่อุเทนถวายทำให้กับสังคม

 

ก่อนที่ คพศ.จะปิดท้ายว่า ด้วยเกียรติภูมิของสถาบัน คพศ.มั่นใจว่าต่อสู้บนแนวทางของกฎหมายที่ถูกต้องตรวจสอบได้ และการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ยืนยันเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย เพราะ “เราไม่ได้ขอมากไปกว่าที่ดินที่เป็นของเรา”

 

 

กระทั่งเวลา 12.00 น.ของวันที่ 14 มิถุนายน คพศ.และบรรดาศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน กว่า 1,200 คน จึงเดินทางมารวมตัวกันภายในสถาบันเพื่อเคลื่อนขบวนไป ยังสำนักงานจัดการทรัพย์สินแห่งจุฬาฯ ก่อนที่เคลื่อนขบวนไปตามท้องถนนมุ่งหน้าไปอาคารจามจุรี 2 โดยยึดพื้นที่บริเวณเกาะกลางถนนพญาไท และหนึ่งช่องการจราจร ถือป้ายรูปภาพและข้อความเชิงประวัติศาสตร์การได้มาของที่ดิน

 

เมื่อไปถึงตัวแทน คพศ.ตั้งโต๊ะแถลงข่าวทวงถามคำตอบหลังจากครบระยะเวลา 90 วัน ที่ได้ยื่นหนังสือชี้แจงกรณีกรรมสิทธิ์ที่ดินพระราชทานของอุเทนถวาย ตอนหนึ่งว่าอยากให้จุฬาฯ เปิดช่องทางการเจรจาที่เป็นการพูดคุยกันทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่คุยกันด้วยเอกสารเหมือนที่ผ่านมา และเราไม่ได้ต้องการทำให้ใครเสื่อมเสีย ดังนั้นเราจะติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามหนังสืออีกภายใน 90 วันจากนี้ และจะกลับมาชุมชนอีก

 

จากนั้นตัวแทนจึงยื่นหนังสือจำนวน 3 ฉบับ ให้กับ รศ.ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดี จุฬาฯ และเดินขบวนกลับอุเทนถวายอย่างสงบ สำหรับหนังสือที่ยื่นให้ตัวแทนผู้บริหารจุฬาฯนั้น ปรากฏว่าเป็นเอกสารระบุข้อความเพียงว่า “ผลของการเพิกเฉยไม่ให้ความสำคัญย่อมเกิดเหตุที่ไม่พึงประเมินสถานการณ์ได้” เหมือนกันทั้ง 3 ฉบับ

 

โดยรองอธิการ มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย สืบพงษ์ อธิบายว่า การเดินขบวนยื่นหนังสือกับจุฬาฯ ครั้งล่าสุดนี้ อุเทนถวายคงไม่ออกมาตอบโต้อะไร เพราะทางกฎหมายมีข้อเท็จจริงอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่ากฎหมายบางฉบับมีความไม่เป็นธรรม ไปลิดรอนสิทธิ์ของผู้อื่น โดยกรณีนี้หากจะแก้ไขจริง ๆ ต้องแก้กฎหมายให้ถูกต้อง ที่ดินตรงนี้อุเทนถวายไม่ได้ขอเพื่อเอามาเป็นของตนเอง แต่จะขอให้กลับไปอยู่ในการดูแลของกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์

 

 

ขณะที่ รศ.บุญไชย รศ.ดร. สุเนตร และดร.คณพล จันทน์หอม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของจุฬาฯ แถลงข่าวชี้แจงกรณีดังกล่าวตอบโต้เช่นกัน ดร.บุญไชยกล่าวว่า จุฬาฯให้คำตอบที่ชัดเจนแก่อุเทนถวายได้เลยว่า ข้อเรียกร้องที่สโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ยื่นจดหมายขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนให้แก่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้พื้นที่เป็นของจุฬาฯ ตามคำตัดสินของ กยพ.ที่มีมติให้อุเทนถวายส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่จุฬาฯ

 

ขณะที่ ดร.สุเนตรกล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ ควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาตัดสิน เพื่อให้เกิดความชัดเจน พร้อมกันนี้ขอชี้แจงในส่วนที่จุฬาฯ ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องการนำพื้นที่ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ขอยืนยันว่าพื้นที่ในส่วนที่ตั้งอุเทนถวายจะถูกใช้ไปในด้านการศึกษา ทั้งนี้มีการตีความเอกสารทางประวัติศาสตร์คลาดเคลื่อน ทางจุฬาฯขอชี้แจงว่าเนื้อความในเอกสารนั้นปรากฎเพียงว่า เป็นการพระราชทานเงินเพื่อสร้างโรงงานนักเรียนเพาะช่าง มิได้หมายความไปถึงสิทธิการถือครองที่ดินแต่อย่างใด

 

“กรณีที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจุฬาฯ ก็มีหลักฐานประกอบเป็นลายลักษณ์อักษรว่า จุฬาฯ ได้รับพระบรมราชานุญาตพระราชทานที่ดิน และรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้แก่จุฬาฯ ตามสัญญาปี พ.ศ.2478 ที่จุฬาฯ ได้ทำไว้กับพระคลังข้างที่ พร้อมอนุญาตให้การปล่อยเช่าพื้นที่นั้นทำได้ตามเหตุสมควร โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ให้เช่า”

 

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า กรณีพิพาทกรรมสิทธิ์ที่ดินของทั้งสองสถาบัน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ที่ต้องการพัฒนาคน เพื่อพัฒนาประเทศชาติ เหมือนกัน มีระยะเวลาก่อตั้งไล่เลี่ยกัน แต่ถือครองกรรมสิทธิ์บนที่ดินต่างสถานะ จนทำให้ทุกวันนี้มีจุดยืนที่แตกต่างกัน จะสามารถคลี่คลายลงได้ด้วยวิธีใด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: