ชำแหละรายได้กองสลาก-ไม่ช่วยคนจน วิจัยชี้การเมืองแทรก-ขาดธรรมาภิบาล

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 26 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 5826 ครั้ง

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 กรกรฎาคม 2556 เครือข่ายภาคประชาชนปฏิรูปสลาก 18 เครือข่าย นำโดย นายธนากร คมกฤส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน นำร่างพ.ร.บ.กิจการสลากเพื่อสังคม พ.ศ.... (ฉบับประชาชน) และ ร่างพ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคม พ.ศ.... (ฉบับประชาชน) เสนอต่อ นายมณเฑียร บุญตัน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการสลากในประเทศไทย วุฒิสภา ซึ่งนายมณเฑียรระบุว่า จะนำร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับเพื่อแนบท้ายรายงานการศึกษาการปฏิรูปสลากเพื่อสังคม ของคณะกรรมาธิการฯ ที่จะเสนอต่อรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในวันที่ 26 กรกฎาคม คณะกรรมาธิการฯ จะประชุมเพื่อพิจารณาร่างรายงานฉบับดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งคณะกรรมาธิการฯเห็นว่า สลากกินแบ่งรัฐบาลมีไว้เพื่อสังคม ไม่ใช่เพื่อการแสวงหากำไรเข้ารัฐ ต้องมีการดำเนินการอย่างมีธรรมาภิบาล และต้องคุ้มครองผู้บริโภค

 

 

ขณะที่นายธนากรกล่าวว่า การบริหารจัดการสลากในปัจจุบัน เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มเท่านั้น ไม่มีความโปร่งใสในการการบริหารจัดการกิจการสลาก จึงเรียกร้องให้มีกองทุนเพื่อการพัฒนาสังคม ที่ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ และสามารถมีสิทธิ์ขอใช้เงินจากกองทุน ซึ่งการปฏิรูประบบการจัดการสลาก ให้เป็นกิจการเพื่อระดมทุนมาพัฒนาสังคม ไม่ใช่การแสวงหารายได้เข้ารัฐ

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปถึงวัตถุประสงค์ของการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลของไทย ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 เพื่อการแสวงหารายได้จากการจำหน่ายล็อตเตอรี่ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ เพื่อช่วยเหลือสังคม ขณะเดียวกันกฎหมายฉบับดังกล่าวมิได้บัญญัติ เรื่องการจัดสรรเงิน เพื่อสนับสนุนกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง เช่น กลุ่มคนพิการ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และการพัฒนาสังคมด้านอื่น ๆ ไว้ในบทบัญญัติแต่อย่างใด

แม้ว่าในทางปฏิบัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้จัดสรรเงินส่วนหนึ่งที่เป็นค่าบริหารจัดการของสำนักงานฯ สัดส่วนร้อยละ 12 ของเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลากฯ ทั้งหมด มาใช้ในกิจกรรมเพื่อสังคมหรือโครงการสาธารณประโยชน์ อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานผลการศึกษาที่ระบุถึงผลลัพธ์ของการดำเนินการ ว่าประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์จากการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวอย่างไรบ้าง

 

 

ต่างประเทศปรับหลักเกณฑ์การใช้เงินรายได้จากล็อตเตอรี่

จากงานศึกษาวิจัยของ นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อ “โครงการศึกษากลไกการบริหารจัดการรายได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาล สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตในกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง” ซึ่งหนึ่งในประเด็นการศึกษาเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนที่จัดเก็บรายได้จากธุรกิจการพนันประเภทล็อตเตอรี่ ใน 4 ประเทศ คือ สหราชอาณาจักร ประเทศแคนาดา มลรัฐอัลเบอร์ต้า ประเทศนิวซีแลนด์ และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ผลการศึกษาระบุว่า หลักการและเหตุผลที่สำคัญในการจัดตั้งกองทุน ของประเทศที่ทำการศึกษาที่ผ่านมา มักจะเกิดจากความต้องการของรัฐบาลในขณะนั้น ที่ต้องการระดมเงินทุน เพื่อนำมาใช้ในแผนงาน หรือโครงการเฉพาะกิจในการพัฒนาประเทศ ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งภาครัฐไม่สามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างเพียงพอ จึงจำเป็นที่ต้องจัดหารายได้ด้วยการออกล็อตเตอรี่ ที่ถือเป็นการระดมเงินจากประชาชนโดยตรง

 

 

การใช้เงินเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตยังไม่มีในไทย

ต่อมาหลักการและเหตุผลในการออกล็อตเตอรี่เริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม โดยนำเงินที่ได้ส่วนหนึ่งมาใช้ในกิจกรรมหรือโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ เนื่องจากผู้ที่ซื้อล็อตเตอรี่ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้มีรายได้ไม่สูงมากนัก และซื้อล็อตเตอรี่เพื่อหวังเงินรางวัล อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงหลักการการใช้เงินเช่นนี้ ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลของไทย ยังไม่เคยมีการเปิดเผยอีกด้วย

นอกจากนี้จากการศึกษายังพบว่า ในต่างประเทศมีการบริหารจัดการเงินรายได้จากล็อตเตอรี่ จะมีการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ประกอบด้วย หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐ เช่น รัฐสภา รัฐบาลที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย รวมถึงการเสนอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในเรื่องการจัดตั้งกองทุนฯ องค์กรกำกับดูแลกิจการล็อตเตอรี่ ที่จะตั้งเป็นคณะกรรมการล็อตเตอรี่ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการล็อตเตอรี่ ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ป้องกันปัญหาการโกงผลการออกล็อตเตอรี่ หรือการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงการหารายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้  ผู้ประกอบกิจการล็อตเตอรี่ ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการล็อตเตอรี่ ซึ่งหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล จะไม่ทำหน้าที่ควบคุมกิจการเหมือนประเทศไทย

 

 

ต่างประเทศเน้นเงินใช้เพื่อสังคม แต่ห้ามใช้หาเสียง

องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการเงินกองทุนล็อตเตอรี่ ซึ่งจะตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานอิสระจากการแทรกแซงของรัฐบาล และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ มีหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินกองทุนฯ แต่ไม่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติจัดสรรเงินกองทุนฯฯ ยกเว้นฮ่องกงที่ให้หน่วยงานของรัฐ ด้านสวัสดิการสังคมทำหน้าที่นี้ ซึ่งจะต้องเป็นคนละองค์กรกับองค์กรที่กำกับดูแลกิจการล็อตเตอรี่ และองค์กรหรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาจัดสรรเงินกองทุน มีหน้าที่พิจารณางบประมาณให้แก่ผู้ยื่นเสนอโครงการฯ ซึ่งในประเทศอังกฤษและนิวซีแลนด์ จะตั้งเป็นหน่วยงานอิสระที่ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การควบคุมหรือสั่งการของรัฐ ในขณะที่มลรัฐอัลเบอร์ต้า ประเทศคานาดา หน่วยงานของรัฐทำหน้าที่ดังกล่าว โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาที่เข้มงวด

รายงานของนายไพศาลยังระบุถึงหลักเกณฑ์ในการจัดสรรเงินรายได้จากล็อตเตอรี่ ซึ่งหลายประเทศกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขสำหรับกิจกรรมที่จะได้รับเงินสนับสนุน ส่วนใหญ่จะต้องเป็นโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์หรือกิจกรรมเพื่อสังคม ที่สำคัญจะต้องไม่ใช่โครงการที่สามารถใช้งบประมาณปกติของรัฐ

           “เช่น ประเทศนิวซีแลนด์ จะกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องไม่ใช่โครงการหรือนโยบายที่ริเริ่มโดยรัฐบาล คือ รัฐบาลไม่สามารถใช้เงินกองทุน เป็นเครื่องมือในการสร้างคะแนนนิยม หรือหาเสียงให้แก่กลุ่มตนเองได้ เพราะไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนฯ”

 

 

เน้นประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการ

ทั้งนี้ลักษณะของกิจกรรม โครงการที่ขอรับการสนับสนุน เช่น โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อชุมชน โครงการที่สนับสนุนให้มีการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน การพึ่งพาตนเองของคนในชุมชนท้องถิ่น งานอาสาสมัคร และการช่วยเหลือสนับสนุน กลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง ส่วนหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติโครงการ จะใช้หลักการพิจารณาทุนตามผลลัพธ์ เช่น ประเทศอังกฤษ และนิวซีแลนด์ มีความพยายามที่จะใช้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อที่จะรับทราบความเห็น มุมมองของประชาชนในกลุ่มต่างๆ ซึ่งบางประเทศเช่น ฮ่องกง และอังกฤษ เปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชน ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการกำหนดลำดับความสำคัญในการให้การสนับสนุนด้วย

รายงานดังกล่าวยังกล่าวถึง องค์กรกำกับดูแลกิจการล็อตเตอรี่และองค์กรจัดสรรเงินล็อตเตอรี่แห่งชาติ ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง อังกฤษและนิวซีแลนด์ ตามระบบกฎหมายอังกฤษเรียกองค์กรในลักษณะนี้ว่า Non-Departmental Public Body (NDPBs)  ซึ่งสามารถเทียบได้กับองค์กรอิสระ เช่น องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีกฎหมายเป็นของตนเองและตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 และองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามมาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งระบบธรรมาภิบาลในการจัดสรรเงินกองทุนล็อตเตอรี่ จะกำหนดให้องค์กรเหล่านี้มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ กรรมการในองค์กรเหล่านี้จะผ่านกระบวนการสรรหาที่เข้มงวด และถูกตรวจสอบการปฏิบัติงานตลอดเวลา โดยทั่วไปจะไม่มีการแต่งตั้งกรรมการโดยตำแหน่งที่เป็นกรรมการ ยกเว้นจะมีการกำหนดสัดส่วนของตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและตัวแทนฝ่ายค้านในสัดส่วนที่เท่ากัน

 

และในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลนั้น กรณีศึกษาในประเทศแอฟริกาถือเป็นประเด็นสำคัญที่เป็นหลักประกันธรรมาภิบาล โดยกฎหมายล็อตเตอรี่แห่งชาติของประเทศแอฟริกาใต้ กำหนดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลผลประโยชน์ที่ขัดกันของกรรมการลอตเตอรี่แห่งชาติ ก่อนที่จะเข้ามาเป็นกรรมการ ส่วนอังกฤษและนิวซีแลนด์จะมีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ บัญญัติไว้ในกระบวนการสรรหา ฮ่องกงจะมีมาตรการให้กรรมการเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน ความสัมพันธ์กับหน่วยงาน องค์กรของรัฐและองค์กรธุรกิจ ต่างๆ รวมถึงการกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการที่ได้รับทุน องค์กรหรือบุคคลที่ได้รับทุน จำนวนเงิน ระยะเวลาที่ดำเนินการ และผลที่ได้รับด้วย

อีกประเด็นที่น่าสนใจในรายงานฉบับดังกล่าวคือ ระบบการคานอำนาจระหว่างหน่วยงาน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรหรือหน่วยงานที่พิจารณาจัดสรรเงินกองทุน เช่น ในกรณีที่รัฐบาลประสงค์จะออกหลักเกณฑ์หรือแก้ไขหลักเกณฑ์ในการจัดสรรทุน ที่กระทบต่อการดำเนินการขององค์กรหรือหน่วยงานที่พิจารณาจัดสรรเงินกองทุน เช่น ในประเทศอังกฤษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ที่กำหนดนโยบายจะต้องปรึกษาหารือกับผู้บริหารกองทุนก่อน และหากการดำเนินการนั้นเกี่ยวข้องกับแคว้นต่างๆ เช่น เวลส์ สก็อต หรือไอร์แลนด์เหนือ รัฐมนตรีจะต้องหารือกับรัฐสภาหรือหน่วยงานของแคว้นต่าง ๆ ด้วย

 

ของไทยยังมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลในการบริจาคเงิน

นอกจากนี้ผลการศึกษาดังกล่าวระบุว่า สำนักงานสลากกินบางรัฐบาลของไทย มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลในการบริจาคเงิน ในกิจกรรมหรือโครงการเพื่อสังคม ซึ่งหลายกรณีไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจตาม แนวปฏิบัติว่า ด้วยบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจ ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยรายงานการวิจัย ได้สรุปปัญหาต่าง ๆ ดังนี้

ปัญหาบทบาทหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวกับสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มีบทบาทหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการออกและจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีลักษณะเป็นผู้ดำเนินการ ในขณะเดียวกันสำนักงานสลากฯ มีบทบาทเป็นหน่วยงานธุรกิจของ คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลกิจการสลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งนี้การที่รัฐเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องกับกิจการของสำนักงานสลากฯ ในลักษณะที่เป็นผู้ประกอบการ และผู้กำกับดูแล จึงมีลักษณะขัดแย้งกันเองในเรื่องบทบาทหน้าที่ ทำให้รัฐไม่สามารถบริหารงานหรือดำเนินงานกิจการของสำนักงานสลากฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ กรรมการในตำแหน่งบางคน ยังเป็นตัวแทนกลุ่มองค์กร ที่ได้รับจัดสรรการจำหน่ายสลากด้วย ทำให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ขัดกัน ระหว่างอำนาจหน้าที่ของกรรมการตามกฎหมาย กับผลประโยชน์ของกลุ่มองค์กรตนเอง

 

 

ไม่มีอิสระถูกการเมืองแทรกแซง-รัฐบาลตั้งกรรมการเอง

ประเด็นต่อมาคือ ปัญหาความเป็นอิสระและการแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เนื่องจากคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ล้วนมาจากการแต่งตั้งของฝ่ายบริหาร หรืออยู่ภายใต้การสั่งการของรัฐบาล หรือฝ่ายการเมืองแทบทั้งสิ้น กระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการสลากฯ ไม่มีการจัดทำหลักเกณฑ์การพิจารณาที่ชัดเจน ไม่ใช้กระบวนการสรรหาแบบเปิดกว้าง การกำหนดตัวบุคคลที่จะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จึงขึ้นอยู่กับการเสนอชื่อของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเท่านั้น การแทรกแซงการทำงานจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่มีหลักประกันความเป็นอิสระในการบริหารงาน ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติ ว่าด้วยบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจ ที่ระบุว่ารัฐบาลไม่ควรแทรกแซงการบริหารงาน หรือดำเนินงานทั่วไปของรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจ และควรอนุญาตให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการได้อย่างเป็นอิสระ

และการที่ความเป็นอิสระของคณะกรรมการและสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของ OECD ข้างต้น ทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กลายเป็นช่องทางที่ถูกฝ่ายบริหาร นักการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์

 

 

ชี้หวยบนดิน 2 ตัว 3 ตัวผิดกฎหมาย

รายงานผลการศึกษายังพบว่า สำนักงานสลากฯ มีปัญหาการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จากกรณีศึกษา โครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว เพื่อนำรายได้คืนสู่สังคม หรือโครงการหวยบนดิน เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาธรรมาภิบาล ของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลและสำนักงานสลากฯ อย่างชัดเจน เนื่องจากการดำเนินโครงการนี้ดำเนินการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อพ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 และกฎหมายอีกหลายฉบับ

และยังมีปัญหาความรับผิดชอบของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งสำนักงานสลากฯ มิได้จัดทำแนวปฏิบัติหรือประมวลจริยธรรมสำหรับผู้อำนวยการสำนักฯ และคณะกรรมการฯแต่อย่างใด ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของ OECD อีกทั้งในพ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มิได้กำหนดเหตุที่ทำให้กรรมการพ้นตำแหน่ง หรือต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด หากพบว่ามีการกระทำผิดตามกฎหมายหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่กิจการสลากกินแบ่งรัฐบาล

 

 

ปัญหาเงินบริจาค-เจตนารมณ์ดีแต่ขั้นตอนไม่ชัดเจน

ปัญหาที่รายงานการวิจัยได้กล่าวถึงต่อไปคือ ปัญหาจากหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินรายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลตามกฎหมาย ที่ผ่านมาแม้ว่า การบริจาคเงินของสำนักงานสลากฯ ในกิจกรรมหรือโครงการเพื่อสาธารณประโยชน์ จะมีเจตนารมณ์ที่ดีและควรได้รับการสนับสนุน แต่หลักเกณฑ์ในการอนุมัติบริจาคเงินรายได้จากการจำหน่ายสลากฯ ที่กำหนดไว้อย่างกว้าง ๆ ไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดและค่อนข้างหละหลวม ทำให้เป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ อีกทั้งยังไม่มีกลไกการติดตามโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับว่า อนุมัติเงินบริจาคไปแล้วว่ามีการใช้เงินอย่างถูกต้องหรือไม่ อย่างไร

ปัญหาความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล รายงานการศึกษา ระบุการจัดทำรายงานประจำปีของสำนักงานสลากฯ ค่อนข้างล่าช้า และไม่มีการเผยแพร่รายงานประจำปีบนเว็บไซต์ของสำนักงานฯ ทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร ในบางกรณีก็ไม่เปิดเผยรายละเอียดกิจกรรมบางอย่าง เช่น รายละเอียดเงินที่เหลือในกองทุนเงินรางวัลในโครงการหวยบนดิน  ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า บุคคลหรือองค์กรใดที่ได้รับเงินไปบ้าง

อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบข้อบังคับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ว่าด้วยการบริจาคและการสนับสนุนความรับผิดชอบต่อสังคม พ.ศ.2553 ซึ่งลงนามโดย นายมนัส แจ่มเวหา ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 พบว่า ในข้อ 16. อำนาจการบริจาคเงิน 1.ผู้อำนวยการ รายละไม่เกิน 300,000 บาท ประธานกรรมการ รายละไม่เกิน 500,000 บาท ข้อ 17. อำนาจการอนุมัติเงินสนับสนุน 1.ผู้อำนวยการ รายละไม่เกิน 300,000 บาท 2.ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคม รายละไม่เกิน 1,000,000 บาท 3.คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคม รายละไม่เกิน 5,000,000 บาท

 

 

กองสลากไม่เคยเปิดเผยรายรับรายจ่ายแต่ละงวด

และปัญหาสุดท้ายในงานวิจัยของนายไพศาลระบุไว้คือ ปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้ การดำเนินโครงการที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างของสำนักงานสลากฯ ควรมีนโยบายรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายข้างน้อยตามแนวปฏิบัติของOECD แต่ในทางปฏิบัติพบว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาของสำนักงานสลากฯ เช่น โครงการหวยบนดิน มิได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่เป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง

ปัญหาทั้งหมดที่ระบุในงานวิจัยของนายไพศาลชี้ให้เห็นว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ทำเงินในแต่ละงวดในการขายล็อตเตอรี่เป็นเงินไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท และเงินเหล่านั้นมาจากผู้มีรายได้น้อยของประเทศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ซื้อสลากเหล่านี้ไม่เคยรับรู้ว่า เงินที่จ่ายเพื่อซื้อล็อตเตอรี่ในแต่ละงวดไปไหนบ้าง แต่ละงวดกองสลากฯ จ่ายเงินเท่าใดให้กับผู้ถูกรางวัล และกองสลากฯ ได้กำไรเท่าใดในแต่ละงวด ข้อมูลเหล่านี้ไม่เคยได้รับการเปิดเผย

 

 

แนะจัดตั้งกองทุนฯเพื่อพัฒนาสังคม

นอกจากนี้รายงานการวิจัยของนายไพศาล ยังเสนอให้มีการ แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม โดยจัดตั้งเป็นกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม มีคณะกรรมการบริหารกองทุนที่มีความเป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ทำหน้าที่บริหารกองทุนฯ ตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง

รายงานวิจัยยังเสนอด้วยว่า ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่..)พ.ศ.... ฉบับปรับปรุงแก้ไข ควรบัญญัติให้มีการโอนเงินรายได้ จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลส่วนหนึ่ง เป็นรายได้ของกองทุนที่จัดตั้งตามกฎหมาย อยู่ในความรับผิดชอบของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 (กองทุนคุ้มครองเด็ก) พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 (กองทุนผู้สูงอายุ) พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 (กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ.2550) (กองทุนการจัดสวัสดิการสังคม) และ กฎหมายการจัดตั้งกองทุนอื่น ๆ สำหรับกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง

ทั้งนี้โครงสร้างและอำนาจการบริหารกองทุน จะต้องแยกออกจากการกำกับดูแลสำนักงานสลากฯ และคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลอย่างชัดเจน มีหลักเกณฑ์การให้การสนับสนุนเงินที่รัดกุมโปร่งใส ตรวจสอบได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: