‘ชายรักชาย’เหยื่อถูกรุนแรงเพศกลุ่มใหม่ จี้รัฐทำนโยบายให้เข้มแข็งเพื่อแก้ปัญหา

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 26 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 3280 ครั้ง

เดือนพฤจิกายน นับเป็นเดือนที่องค์กรด้านผู้หญิงทั่วโลก ยกให้เป็นเดือนแห่งการต่อต้านการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก โดยในวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็นวันที่ถูกกำหนดอย่างเป็นทางการให้เป็นวันแห่งการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก หลายหน่วยงานมีการจัดงาน เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องนี้กันอย่างคึกคัก โดยในประเทศไทยพยายามรณรงค์เรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีจะรณรงค์แก้ปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะการกระทำต่อผู้หญิงและเด็กมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ดูเหมือนความพยายามที่จะลดปัญหาสำคัญนี้จะยังไม่ลดลงตามความคาดหวังของทุกคน เพราะหากย้อนกลับไปดูสถิติการกระทำรุนแรงในครอบครัว ที่เกิดขึ้นช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้รับคำยืนยันจากหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องชัดเจนว่า ไม่ได้ลดน้อยลง และที่น่าตกใจกว่าก็คือ ตัวเลขสถิติการเกิดความรุนแรงกลับพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วงอีกด้วย

หญิงไทยยอมรับการทำร้ายเป็นอันดับ 2 ของโลก

ก่อนหน้านี้  มีการเปิดเผยข้อมูลสถิติการให้บริการของศูนย์พึ่งได้ ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2550-2554 ซึ่งเป็นผลสำรวจล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มีเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงต้องส่งเข้ารับบริการจำนวน 117,506 ราย เฉลี่ยปีละ 23,501 ราย หรือก่อเหตุทุก 20 นาที โดยในปี 2554 มีเด็กและสตรีถูกกระทำจำนวน 22,565 ราย เป็นเด็ก 11,491 ราย เป็นหญิงอายุ 18 ปีขึ้นไป 11,074 ราย  โดยในกลุ่มผู้หญิงอายุ 18 ปีขึ้นไป สาเหตุของปัญหาเกิดจาก อันดับ 1 คือการถูกกระทำต่อร่างกาย เช่น ถูกทุบตี 8,716 ราย ผู้ทำร้ายส่วนใหญ่เป็นผู้ใกล้ชิด เช่น สามี แฟน สาเหตุอันดับ 1 ได้แก่ การนอกใจ ทะเลาะ หึงหวง รองลงมาคือเมาสุรา และใช้สารเสพติดอื่น ๆ

แม้จะไม่มีผลสำรวจมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2556 ในปัจจุบัน  แต่หากพิจารณาจากจำนวนข่าวที่เกิดขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์ จะเห็นได้ว่า คดีที่เกิดขึ้นจากการกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่ถูกนำเสนอในสื่อกลับมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น และมีการนำเสนออย่างต่อเนื่องตลอดมา ทำให้จากการสำรวจขององค์กรสหประชาชาติ ถึงกับระบุว่า หญิงไทยยอมรับการถูกทำร้ายมากเป็นอันดับ 2 ของโลกอีกด้วย

กทม.แชมป์หญิงถูกทำร้ายมากที่สุด

น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ระบุว่า จากข้อมูลสถิติของผู้ที่เข้ามาเพื่อขอรับการช่วยเหลือจากมูลนิธิฯ ในช่วงปีที่ผ่านมา มีสถิติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2554-2555 ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปี 2556 ซึ่งยังไม่สรุปผล ก็เชื่อว่าน่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยแชมป์ตลอดการคือ พื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีคนอาศัยอยู่มาก ปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ก็มีโอกาสทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตามเนื่องจากในการทำงานด้านการแก้ปัญหาการทำร้ายผู้หญิง มีหลายหน่วยงานที่ดำเนินการอยู่ ตัวเลขของจำนวนอาจจะแตกต่างกันไป แต่สำหรับการทำงานของมูลนิธิฯ ที่จะต้องให้การช่วยเหลือต่อผู้ที่ติดต่อเข้ามาในแต่ละกรณีนั้น ยืนยันว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ชี้นโยบายรัฐ แก้ปัญหาแบบไฟไหม้ฟาง

น.ส.สุเพ็ญศรีกล่าวว่า หากพิจารณาจากจำนวนสถติที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ซึ่งพบว่าไม่ลดลงเป็นที่น่าพอใจเลยนั้น หากจะมองวิเคราะห์เรื่องปัญหาอุปสรรคแล้ว ตนคิดว่า ต้องให้ความสำคัญกับการทำงานในเชิงนโยบายมากที่สุด เพราะพบว่า การทำงานในเชิงนโยบายของภาครัฐ ยังไม่ต่อเนื่องและหนักแน่นพอที่จะขับเคลื่อนให้สังคมตระหนักและมองเห็นว่า ปัญหานี้คือปัญหาสำคัญที่สุด ที่จะส่งผลไปสู่ปัญหาสังคมอื่น ๆ แต่ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินนโยบายในลักษณะของ “ไฟไหม้ฟาง” ทำให้ไม่สามารถที่จะจัดการกับปัญหาได้ตามเป้าหมาย ดังนั้นสิ่งที่รัฐจะต้องเพิ่มความสำคัญในเชิงนโยบาย คือ เรื่องของการปรับเปลี่ยนทัศนคติให้กับสังคม และต้องลงลึกไปในชุมชน ไม่ใช่แค่เพียงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพราะจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่แท้จริงได้

นอกจากนี้ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง คือเรื่องของคุณภาพ และทัศนคติของบุคลากรเอง ซึ่งปัจจุบันเรามีหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนที่ทำงานเรื่องนี้แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เมื่อมีหญิงถูกทำร้ายเข้ามาเพื่อขอความช่วยเหลือ บุคลากรรัฐส่วนหนึ่งกลับไม่เข้าใจ และยังคงเห็นว่าเป็นเรื่องครอบครัว ส่วนใหญ่มักแนะนำให้กลับไกล่เกลี่ยแก้ปัญหากันเอง ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้ไขมากที่สุด ดังนั้นความพร้อมของบุคลากร รัฐจะต้องลงทุนในการฝึกอบรมบุคลากรให้มีความพร้อม ในการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ ทั้งในเรื่องของแง่กฎหมาย รวมไปถึงเรื่องจิตวิทยา และอื่น ๆ

            “ปัญหาที่เราพบจะเห็นได้ว่า เมื่อเกิดกรณี อะไรที่ผู้ถูกกระทำเข้าไปร้องเรียน หรือขอความช่วยเหลือ ภาครัฐบางหน่วยงานกลับไม่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดของกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลของผู้ที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ มีการนำออกแถลงข่าว เปิดเผยตัวตน ซึ่งไม่ว่าจะได้รับการยอมรับหรือไม่ก็ตาม แต่ในข้อกฎหมายแล้วไม่สามารถกระทำได้เลย ซึ่งเรื่องนี้เจ้าหน้าที่จะต้องระมัดระวัง เนื่องจากจะกลายเป็นการซ้ำเติมผู้ถูกกระทำไปอีกด้วย ภาครัฐเองจึงจะต้องเข้าใจและลงทุนในการฝึกอบรมบุคลากรให้มีคุณภาพและเข้าใจปัญหานี้จริง” น.ส.สุเพ็ญศรีกล่าว

ชี้สังคมไทยติดกับ “ครอบครัวต้องมี พ่อ แม่ ลูก”

ความเห็นของ น.ส.สุเพ็ญศรี ไม่แตกต่างจาก น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง ผอ.มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร ที่เห็นว่า  สังคมไทยยังคงติดกับอยู่กับความคิดที่ว่า ความสุขของครอบครัว คือการที่จะต้องมีพ่อ แม่ ลูก อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ทั้งที่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะทุกครั้งที่เกิดปัญหาความรุนแรงขึ้นในครอบครัวและเหยื่อขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่เองมักจะพยายามไกล่เกลี่ยเพื่อให้กลับไปอยู่ร่วมกันอีกครั้ง เพราะยึดติดกับคำว่า “ครอบครัว” เปรียบเสมือนกับการผลักให้เหยื่อกลับไปพบความรุนแรง และเป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรงซ้ำ

แม้กระทั่งใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ของไทยเอง ก็เน้นไกล่เกลี่ยรักษาความสัมพันธ์ให้สามีภรรยาหรือครอบครัว ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังต้องอาศัยการสร้างความเข้าใจ และสังคมไทยเองต้องกลับมาทบทวนใหม่ว่า ผู้หญิงหรือผู้ชายที่ถูกกระทำก็ตาม ล้วนมีสิทธิในชีวิตเนื้อตัวของตัวเอง ความพยายามไกล่เกลี่ย จึงไม่ใช่การแก้ปัญหา และสังคมไทยจะต้องยอมรับว่า ครอบครัวที่เป็นสุขไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน หากพ่อแม่ต้องทำร้ายกัน เพราะคำว่า “สามี ภรรยา” มีวันหมดอายุได้ แต่ความเป็น “พ่อแม่” ไม่มีวันหมดอายุ การสร้างให้ทุกคนเข้าใจว่า แม้ว่าจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ แต่ความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ลูก” ทุกคนก็ยังคงที่จะต้องปฏิบัติไปไม่มีวันสิ้นสุดไม่ต่างกันว่าจะอยู่ด้วยกันหรือไม่ก็ตาม

ครอบครัว “เพศเดียวกัน” กลุ่มใหมที่ต้องให้การดูแล

น.ส.นัยนากล่าวต่อว่า ในพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ไม่ได้เพียงจำกัดผู้ถูกกระทำเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงเท่านั้น แต่คุ้มครองให้กับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบัน พบว่า กลุ่มที่ถูกทำร้ายไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างหญิงชายเท่านั้น แต่ยังมีในกลุ่มรักเพศเดียวกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นชายรักชาย หรือหญิงรักหญิง ซึ่งหากมีการกระทำความรุนแรงเกิดขึ้น ทุกคนก็ล้วนที่จะมีสิทธิในการรับความคุ้มครองนี้ ด้วยเช่นกัน

            “ตอนนี้ต้องสร้างความเข้าใจว่า พ.ร.บ.นี้ให้ความคุ้มครองกับทุกคน แม้ว่าจะต้องมีการถกเถียงแก้ไขในรายละเอียดของกฎหมายอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันปัญหาไม่ได้จำกัดอยู่ที่ชายกับหญิงแล้ว เพราะสังคมไทยเปลี่ยนไป ชายถูกกระทำจากชายด้วยกันก็อยู่ภายใต้การคุ้มครองนี้เช่นกัน หรือหญิงกับหญิงก็ไม่ต่างกัน นอกจากนี้สิ่งที่เราเห็นได้อีกอย่างคือ การเปลี่ยนแปลงคู่จากเพศตรงข้ามไปหาเพศเดียวกัน เช่น ภรรยาไปคบแฟนใหม่เป็นหญิง จะยิ่งสร้างอุณภูมิให้เกิดความรุนแรงของผู้ชายมากขึ้น ซึ่งตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่จะต้องนำมาวิเคราะห์แก้ไขกันต่อไป” นางนัยนากล่าว

ระบุ “ชายรักชาย” ถูกทำร้ายแต่ไม่กล้าขอความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ในกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มรักเพศเดียวกัน น.ส.สุเพ็ญศรีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มีผู้ชายซึ่งอยู่ในกลุ่มของชายรักชาย เข้ามาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพิ่มขึ้นเช่นกัน และกรณีในลักษณะนี้ดูเหมือนว่า จะมีความรุนแรงเฉลี่ยที่มากกว่าการเกิดกับผู้หญิง ซึ่งมูลนิธิฯ เองก็ได้รับให้การช่วยเหลือโดยไม่ได้แบ่งว่าเป็นเพศใด และกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงเนื่องจาก ส่วนใหญ่มักจะไม่เปิดเผยตัวเอง ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาถูกทำร้ายร่างกายก็มักจะต้องยอมทน เพราะความอับอาย บางรายถึงกับต้องทนทั้งถูกทำร้ายร่างกายเตะต่อย แล้วยังต้องทนทรมานกับการถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์แบบไม่เต็มใจอีกด้วย

            “กลุ่มนี้เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เรากำลังให้ความช่วยเหลือและพยายามจะสื่อสารว่าสามารถเข้ามาขอรับการช่วยเหลือได้ เพราะส่วนใหญ่เขาจะไม่รู้ว่าจะไปขอความช่วยเหลือที่ไหน เมื่อหาข้อมูลส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของการช่วยเหลือผู้หญิง จึงไม่กล้าที่จะเดินเข้าไปขอรับความช่วยเหลือ ตอนนี้เราก็ช่วยอยู่หลายเคส บางเคสถูกขู่ ทำร้ายร่างกายเมื่ออีกฝ่ายมาง้อขอคืนดี ก็มักจะใจอ่อนและกลับไปทุกข์ทรมานอีก ซึ่งไม่ได้แตกต่างกับผู้หญิงเลย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มของผู้มีชื่อเสียงระดับประเทศ กลุ่มผู้หญิงในสังคมชั้นสูง นักการเมืองต่างๆ  บางคนที่มูลนิธิไปช่วยเป็นข้าราชการระดับสูง แต่กลับทำร้ายภรรยาที่เป็นข้าราชการซี 8 ดังนั้นปัญหานี้เกิดได้กับคนทุกระดับ” น.ส.สุเพ็ญศรีกล่าว

แนะรัฐสร้างกลไกเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ชายรุนแรง

ขณะที่ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวเช่นเดียวกันว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบายนั้นเห็นว่า รัฐจะต้องสร้างกลไกการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรงให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนากลไกลการช่วยเหลือและคุ้มครองผู้ถูกกระทำเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการถูกกระทำซ้ำ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องพัฒนากลไกลการทำงานของภาครัฐแบบเร่งด่วน สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารช่องทางการให้ความช่วยเหลือให้มากกว่านี้ นอกจากนี้ในกลไกการแก้ไขปัญหาความรุนแรง ควรต้องมีกระบวนการให้คำปรึกษากับผู้กระทำความรุนแรงแบบต่อเนื่อง แม้ว่าผู้กระทำความรุนแรงจะอยู่ในห้องขัง ต้องทำกระบวนการให้ผู้กระทำความรุนแรงคลี่คลายความรู้สึกคับแค้นใจต่อภรรยา รวมถึงต้องมีกระบวนการให้คำปรึกษาต่อผู้กระทำความรุนแรงด้วยเช่นกันเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูด้านจิตใจ สามารถแยกแยะปัญหา มีทางเลือกในการแก้ไขปัญหามากขึ้น

ผลโพลชี้หญิงไทยร้อยละ 30 ยอมรับความรุนแรง

ทั้งนี้จากการสำรวจความคิดเห็นผู้หญิงจำนวน 1,194 ราย อายุ 20-60 ปี ใน พื้นที่กรุงเทพฯ เรื่อง “ความคิดเห็นเนื่องในวันยุติความรุนแรง ปี 2556” ได้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า มีผู้หญิงถึงร้อยละ 67 ยังไม่ทราบว่า วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก โดย ผู้หญิงส่วนใหญ่เห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาด้วยปัญหาหึงหวง นอกใจ การแสดงอำนาจ เล่นการพนันและการใช้ยาเสพติด ตามลำดับ

นอกจากนี้ผู้หญิงจำนวนร้อยละ 30 ระบุว่า ยินยอมได้ที่จะยอมรับการถูกกระทำความรุนแรง โดยอดทนไม่ทำอะไร ด้วยเหตุผลอันดับหนึ่งคือ อาย รองลงมาคือ ทนเพื่อลูก กลัวถูกทำร้ายซ้ำ และไม่รู้ช่องทางการขอความช่วยเหลือ ทั้งนี้ผู้หญิงกลุ่มตัวอย่างนี้ระบุว่า ไม่รู้ว่าหน่วยงานช่วยเหลือมีที่ใดบ้าง ขณะที่ร้อยละ 34.3 ระบุว่า ไม่ทราบว่ามีกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว

ผลโพลยังพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า สำหรับพฤติกรรมความรุนแรงที่ผู้หญิงคิดว่ายอมรับได้ อันดับหนึ่งได้แก่ การเงียบไม่พูดจา ร้อยละ 46.8 ตามมาด้วย การหึงหวง ร้อยละ 45.7 การห้ามไม่ให้ออกไปไหน ร้อยละ 26.5 การใช้คำพูดตะคอก/ส่อเสียด /ด่าทอ ร้อยละ 25 การไม่รับผิดชอบครอบครัว ร้อยละ 23.4 การทำลายข้าวของ ร้อยละ 19.9 การบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ ร้อยละ 13.5, และการทุบตีทำร้ายร่างกาย/ขู่ฆ่า/ประจาน ร้อยละ 8 ตามลำดับ ขณะที่พฤติกรรมที่ผู้หญิงไม่ถือว่าเป็นความรุนแรงทางเพศ ได้แก่ การหยอกล้อ/แซว ร้อยละ 61.9 การใช้สายตาแทะโลมจ้องมองเรือนร่าง ร้อยละ 35.8 การพูดจาลวนลาม ร้อยละ 27.6 การจับเนื้อต้องตัว หรือแต๊ะอั๋ง ร้อยละ 10.8  ตามลำดับ

            “จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า ผู้หญิงยังยอมรับพฤติกรรมความรุนแรงของสามี เพราะมีความเชื่อว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เมื่อเกิดปัญหาจึงไม่กล้าบอกใคร รวมถึงสังคมแบบชายเป็นใหญ่ สอนให้ผู้หญิงเก็บปัญหาไว้ ไม่ควรบอกเล่าให้ผู้อื่นรู้ จึงรู้สึกอายเมื่อต้องพูดถึงเรื่องนี้ รวมถึงยอมอดทนเพื่อลูกและครอบครัว กลัวการถูกกระทำซ้ำ และไม่รู้ช่องทางการช่วยเหลือ ซึ่งหลายกรณีที่มูลนิธิฯ ให้ความช่วยเหลือ หลายรายยอมอดทนไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี ดังนั้นจึงสุ่มเสี่ยงที่ผู้หญิงจะหันกลับไปตอบโต้ขั้นรุนแรง เหมือนฟางเส้นสุดท้ายทำให้บาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตจากความไม่ตั้งใจ” นายจะเด็จกล่าว

2 ตัวอย่างสุดอึ้ง ถูกทำร้ายปางตาย

สำหรับตัวอย่างความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ทำให้เห็นถึงความอดทนของผู้หญิงไทยนั้น น.ส.แอน (นามสมมติ) ซึ่งเคยเป็นผู้ถูกกระทำจากอดีตสามี จนปรากฎเป็นข่าวตามสื่อไปทั่วประเทศ เล่าว่า เมื่อครั้งแต่งงานกับสามีใหม่ ๆ สามีให้การดูแลเอาใส่ดี แต่เมื่อมีลูกด้วยกัน พฤติกรรมสามีกลับเปลี่ยนไป ไม่รับผิดชอบครอบครัว ดื่มเหล้า ภาระทั้งหมดจึงตกมาอยู่ที่ตน การออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อเลี้ยงครอบครัว เป็นสาเหตุกล่าวหาว่ามีชู้ ด่าว่า และทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง เมื่อทนไม่ไหวจึงขอเลิกและแยกทาง ส่วนลูกตนเป็นคนส่งเสียเลี้ยงดู แต่ให้อยู่กับญาติสามี จนกระทั่งเหตุการณ์ที่ทำให้ฝันร้ายไปตลอดชีวิต คือช่วงปีใหม่ สามีใช้อุบายหลอกว่าลูกต้องการพบ ได้มีการพูดคุยง้อขอคืนดี และขอมีเพศสัมพันธ์ แต่ตนปฏิเสธ จึงเกิดปากเสียง สามีทำร้ายร่างกายโดยใช้ค้อนตีที่ศีรษะ และลำตัว ตีจนนิ้วมือเกือบขาด เมื่อล้มลงก็ใช้เตารีดที่กำลังร้อนนาบที่ใบหน้า และนำสายเตารีดมัดปาก ด้วยความเจ็บปวดทรมานจึงนิ่งเงียบ จนสามีคิดว่าตนเสียชีวิตแล้ว จึงหลบหนีไป ตนได้ยินเสียงรถเงียบหายไป จึงพยายามพาร่างบอบช้ำ เต็มไปด้วยเลือดไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน

            “สิ่งที่อดีตสามีทำกับเรา มันโหดร้ายเกินกว่าจะบรรยาย ทำเหมือนเราไม่ใช่คน แม้จะร้องขอชีวิตแต่เขาก็ทำร้ายอย่างรุนแรง จนร่างกาย ใบหน้า หัว และแขน มีเลือดท่วมตัว ถึงตอนนี้เหตุการณ์ครั้งนั้นยังคอยหลอกหลอนและติดตามอยู่ตลอดเวลา ไม่กล้าไปไหนมาไหนคนเดียว ส่วนเรื่องคดีความเขาถูกคุมขังอยู่ที่ สน.มีนบุรี และอยู่ระหว่างการพิจารณาจากศาล” น.ส.แอนกล่าว

ผัวนักมวยซ้อมหนักแม้ตั้งท้อง

ขณะที่ น.ส.บี (นามสมมติ) หญิงสาวที่เคยถูกอดีตสามีทำร้ายร่างกายจนเกือบเสียลูก เล่าว่า สามีเป็นนักมวย ซึ่งตอนที่รักกันใหม่ ๆ สามีสัญญาว่าจะดูแลปกป้องเป็นอย่างดี ทำให้รู้สึกอบอุ่น หลังแต่งงานสามีทำดีอยู่ครู่ใหญ่ แต่ก็เริ่มที่จะทำร้ายร่างกายตนเพราะหึงหวง เนื่องจากตนทำงานค้าขายจะต้องพบปะกับลูกค้าหลายคน แม้จะพยายามบอกว่า ตนไม่คิดจะมีใครแต่สามีไม่เชื่อ เมื่อมีปากเสียงกันสามีก็ทำร้ายร่างกาย ตบตี ชกต่อย แม้ขณะที่ตนตั้งท้องสามียังทำร้ายร่างกายจนบอบช้ำ แต่โชคดีที่ยังไม่แท้งลูก โดยเรื่องที่ถูกทำร้ายร่างกายนี้ ตนไม่เคยเล่าให้กับพ่อแม่ หรือญาติฟัง เพราะครอบครัวอยู่ต่างจังหวัด และถึงแม้ว่าจะไปเล่าให้ฟัง มักจะได้รับคำตอบว่า ให้อดทนเพื่อลูก ทำให้ต้องอดทนเรื่อยมา

กระทั่งวันหนึ่งได้รู้จักกับเพื่อนบ้านที่เป็นทนายความอาสา แนะนำให้รู้จักรักษาสิทธิของตัวเอง และไม่ควรจะปล่อยให้สามีทำร้ายอยู่อย่างนี้ จึงตัดสินใจเข้ามาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิฯ แม้กระนั้นสามีก็ยังติดตาม ขู่จะฆ่า แต่ตนเริ่มที่จะไม่กลัวเพราะมีกำลังใจ ทำให้ในที่สุดสามีก็ค่อยๆ เลิกราไป ล่าสุดได้ข่าวว่ากำลังจะแต่งงานใหม่กับผู้หญิงคนใหม่แล้ว

            “ผู้หญิงหลายคนคิดว่า ตัวเองสู้ผู้ชายไม่ได้ จึงยอมทน ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องร่างกายเราสู้เขาไม่ได้อยู่แล้ว แต่เราสู้ได้หากเราออกมาจากการที่ยอมให้เขาทำร้าย เมื่อก่อนนี้ยอมรับว่าไม่กล้า เพราะอาย และไม่อยากให้ครอบครัวที่บ้านแม่พ่อรู้ แต่เมื่อถึงที่สุดแล้วคิดว่าเราจะไปยอมทนอยู่ทำไม ดังนั้นจึงอยากฝากให้ผู้หญิงที่กำลังต้องทนอยู่กับความรุนแรงให้ออกมา เอาชนะตัวเองให้ได้ เพราะในสังคมภายนอกยังมีคนอีกมากที่คอยให้กำลังใจเราอยู่ค่ะ” น.ส.บี กล่าวในตอนท้าย

ศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรง

สำหรับผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์กระทำความรุนแรงในครอบครัว สามารถแจ้งได้ที่ หน่วยงานสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศูนย์ประชาบดี 1300 ศูนย์ปฎิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว (กรุงเทพมหานคร) 0-2659-6287,0-2659-6375 ต่างจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (76 จังหวัด) ศูนย์ประสานงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้กระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 0-2306-8774 บ้านพักเด็กและครอบครัวทั้ง 76 จังหวัด

หน่วยงานด้านยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 0-2280-5060-79 หรือสถานีตำรวจทุกแห่ง สำนักงานอัยการสูงสุด 0-2515-4042  call center 1175 สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัด 76 จังหวัด ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็กและสถาบันครอบครัวกลาง 0-2222-0364 หน่วยงานองค์กรเอกชน

สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ 0-2929-2222,0-2566-2707 มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1186มูลนิธิชายหญิงก้าวไกล 0-2513-2889

 

อ่านข่าวออนไลน์จากแฟนเพจเฟสบุ๊คของ TCIJ ได้ทุกวัน

www.facebook.com/tcijthai

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: