แรงงานข้ามชาติทำงานเสี่ยงแทนคนไทย วอนรัฐดูแลพ้นอุบัติเหตุ-ถูกจนท.รังแก

พรรณษา กาเหว่า ศูนย์ข่าว TCIJ 26 ธ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3513 ครั้ง

แรงงานข้ามชาติ ส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทย การมองข้ามปัญหาการเกิดอุบัติเหตุของแรงงานข้ามชาติ การไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายและทัศนคติต่อแรงงานข้ามชาติ เป็นเพียงผู้หลบหนีเข้าเมืองจึงถูกละเลยการด้านสิทธิมนุษยชน เสนอให้รัฐออกนโยบายที่คงที่ ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

ด้วยวันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานข้ามชาติสากล ตามที่องค์การสหประชาชาติ รับรองอนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว เพื่อเป็นการรณรงค์ถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติ และผู้ติดตามที่เป็นบุคคลในครอบครัว ที่ทำงานและย้ายถิ่นทั่วโลกได้รับการคุ้มครองทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิเป็นแรงงาน

หลายปีที่ผ่านมา นโยบายรัฐมุ่งเน้นไปที่การเปิดให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบและเข้าถึงความคุ้มครองตามกฎหมายได้อย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย ในขณะที่ยังเน้นการสะกัดกั้นและกวาดล้างแรงงานนอกระบบ ซึ่งสังคมไทยได้รับรู้ทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และชะตากรรมของการถูกละเมิดสิทธิของแรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องราวที่ของชะตากรรมหนึ่งซึ่งมักไม่ได้รับรายงานในบริบทของการเป็นแรงงานข้ามชาติคือ อุบัติเหตุในการเดินทาง

จากการศึกษาของทางเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) ศึกษาข่าวอุบัติเหตุจากการเดินทางของแรงงานข้ามชาติ ที่เกิดขึ้นในช่วง 22 เดือนที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ตุลาคม 2556 ในหนังสือพิมพ์จำนวน 14 ฉบับ และเว็บไซต์ข่าว 3 เว็บไซต์ ซึ่งนำไปสู่ข้อท้าทายบางประการ

แรงงานข้ามชาติประสบอุบัติเหตุสูงแต่ไม่เป็นข่าว

นายอดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ ระบุว่า การเกิดอุบัติเหตุในการเดินทางของแรงงานข้ามชาติ ไม่ได้สัมพันธ์กับช่วงเวลาที่มีการประกาศจดทะเบียนพิสูจน์สัญชาติ ทำบัตรอนุญาตแรงงงาน หากแต่สัมพันธ์กับเทศกาลสำคัญเช่น เทศกาลสงกรานต์ โดยในข่าวที่เกี่ยวข้องจำนวน 106 ข่าว ของอุบัติเหตุ 33 กรณี อุบัติเหตุเกิดขึ้นแก่แรงงานจากประเทศพม่าสูงที่สุด ตามมาด้วยกัมพูชา และลาว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานจำนวน 910 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 445 คน เสียชีวิต 86 คน

ไม่ได้มีแต่ชายฉกกรรจ์ ผู้หญิง-เด็กก็มีจำนวนมาก

นายอดิศรกล่าวว่า จากการเกิดอุบัติเหตุของแรงงานข้ามชาติ มีข่าวที่ระบุผู้ได้รับผลกระทบ โดยจำแนกเพศและวัยชัดเจนเพียง 13 กรณีเท่านั้น เป็น ผู้หญิง ร้อยละ 20.84 เด็กร้อยละ 4 แต่ถ้ามีการพิจารณาจำนวนผู้บาดเจ็บพบว่า ผู้หญิงมีสัดส่วนถึงร้อยละ 35.71 และเด็กร้อยละ 10.12 ขณะที่กลุ่มผู้เสียชีวิตเป็นหญิงถึงร้อยละ 50 และเด็กร้อยละ 24 ซึ่งมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่เป็นเด็กพบว่า มีอายุต่ำที่สุดคือ 8 เดือนเท่านั้น เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า “แรงงานข้ามชาติ” ที่เดินทางมายังประเทศไทย ไม่ได้มีแต่เพียงแต่ชายฉกรรจ์เท่านั้น หากรวมถึงแรงงานผู้หญิงและเด็ก ซึ่งในบางกรณีเป็นแรงงานผู้เยาว์ เช่นกรณีรถขนแรงงานประสบอุบัติเหตุ พบว่าผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมีอายุระหว่าง 11-17 ปีเท่านั้น ที่สำคัญข้อมูลดังกล่าวยืนยันว่า ผู้หญิงและเด็ก มีโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในการทำงานสูงกว่าผู้ชายมาก อุบัติเหตุเกิดโดยรถยนต์เป็นหลัก เนื่องจากสภาพรถและการบรรทุกคนที่หนาแน่นเกินไป

สาเหตุของอุบัติเหตุส่วนใหญ่คือ การการขับขี่โดยประมาทเช่นเดียวกับอุบัติเหตุในการเดินทางทั่วไป แต่ปัญหาหนึ่งคือ พาหนะหรือการขนส่งที่ไม่เหมาะสม โดยส่วนใหญ่ คือการขนส่งคนจำนวนมากเกินศักยภาพของรถหรือเรือ และสภาพพาหนะที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น

นอกจากนี้จากการสำรวจพบว่า อุบัติเหตุที่เกิดแก่แรงงานนอกระบบ มีสัดส่วนสูงกว่าแรงงานในระบบ สัดส่วนเป็นร้อยละ 69.70 ของทั้งหมด ซึ่งในกรณีหนึ่งคือ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างการหลบหนีการส่งกลับประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการหลบหนีเจ้าหน้าที่ทั้ง การวิ่งฝ่าด่านตรวจจนรถพลิกคว่ำ รถชน รถตกคลอง สูงถึงร้อยละ 34.78 ของกรณีที่เกิดขึ้นแก่แรงงานนอกระบบทั้งหมด

ข่าวอุบัติเหตุของแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่ได้มีการรายงานถึงบทบาทประเทศต้นทาง เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาประชาชนของตน และไม่ได้มีการพูดถึงการเยียวยาทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าสินไหมตามพ.ร.บ.ประกันภัย แต่มีการรายงานเพียง ผลที่เกิดตามมาจากอุบัติเหตุ คือ การจับกุม ดำเนินคดีและการผลักดันกลับของผู้ได้รับผลกระทบ มีบ้างที่กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ นอกเหนือจากการนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล เช่น การประสานหาญาติ การนำศพกลับประเทศ การทำศพตามพิธีทางศาสนาและการค้นหาผู้เสียชีวิตทางทะเล และมีกรณีหนึ่งระบุว่า โรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้สถานที่เกิดเหตุที่สุดปฏิเสธการรักษา เนื่องจากเห็นว่าเป็นแรงงานข้ามชาตินอกระบบ

แนะรัฐปรับทัศนคติ แรงงานคือกำลังสำคัญไม่ใช่ผู้หลบหนีเข้าเมือง

การเปิดรับแรงงานข้ามชาติเพื่อมาเป็นกำลังหนึ่งของเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเปิดโดยระบบหรือรับนอกระบบ แรงงานข้ามชาติก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ประเทศไทยควรหันกลับมาดูทัศนคติและมาตรฐานการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐไทย และรัฐต้นทางต่อแรงงานดังกล่าว และสายตาของสังคมที่จะมองแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบ และไม่ควรมุ่งเน้นไปที่การเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จนละเลยการตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ ที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือและเยี่ยวยาทางกฎหมายและทางมนุษยชนธรรม

            “แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ไม่ได้รับสิทธิ์อะไรเลย และสื่อไม่สนใจว่า ประสบอุบัติเหตุแล้วมีการดำเนินการอย่างไรต่อ การไม่นำเสนอทำให้ไม่มีการป้องกันและแก้ไขในเชิงนโยบาย และรัฐก็ไม่มีนโยบายมากไปกว่าการรณรงค์ป้องกัน ซึ่งการเคลื่อนย้ายเกิดขึ้น แน่นอนหากเปิดประชาคมอาเซียน ซึ่งรัฐมีการรับรองการแก้ปัญหานี้หรือไม่” นายอดิศรกล่าว

แรงงานต่างชาติเรียกร้องตั้งสหภาพแรงงานข้ามชาติ

ด้านน.ส.เอมา โฉ่ ผู้แทนแรงงานข้ามชาติ เปิดเผยว่า แรงงานนอกระบบเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่ยังมีปัญหาหลายด้าน ทั้งเรื่องของนโยบายที่ไม่คงที่ ทำให้ถูกเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่รัฐ ปัญหาความไม่เข้าใจทางด้านการสื่อสาร การยึดเอกสารของนายจ้าง ทำให้เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจสอบเอกสาร ไม่มีเอกสารชี้แจง บางครั้งต้องถูกจับกุมเข้าห้องขังเพื่อรอให้นายจ้างนำเอกสารมาชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ หรือหากแรงงานต้องการเปลี่ยนงาน จะต้องกลับไปยังประเทศเดิม และหานายหน้าใหม่เพื่อกลับเข้ามาทำงาน เป็นความยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น

เนื่องจากงานที่แรงงานข้ามชาติเป็นงานที่แรงงานไทยปฏิเสธที่จะทำ ซึ่งเป็นงานที่ค่อนข้างเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ปัญหาเรื่องสุขภาพของแรงงาน และการสูญเสียอวัยวะ กลายเป็นปัญหาสำคัญ การซื้อประกันสุขภาพหรือการเข้าสู่ระบบประกันสังคม ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องขึ้นอยู่กับนายจ้าง หากนายจ้างไม่ไปดำเนินการ แรงงานก็จะไม่ได้รับสิทธิ์ ในกรณีที่แรงงานประสบอุบัติเหตุ มีแรงงานหลายรายที่นายจ้างนำไปทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล กลายเป็นภาระของโรงพยาบาล เพราะแรงงานเมื่อไม่มีเงินจ่ายก็ต้องหลบหนีออกจากโรงพยาบาล จึงอยากเสนอให้รัฐบาลมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานข้ามชาติ เพื่อช่วยกันดูแลในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ การจัดหาล่ามเพื่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐ และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อกฎหมาย และการทำความเข้าใจถึงสิทธิที่แรงงงานข้ามชาติพึงได้รับ

            “ประเทศไทยยังต้องการแรงงานข้ามชาติ ก็ควรจะทำอะไรให้แรงงานอยากอยู่ด้วย เพราะงานส่วนใหญ่เป็นงานที่คนไทยไม่ทำ จึงต้องจ้างแรงงานต่างชาติมาทำแทน” น.ส.เอมา โฉ่ กล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: