สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี จากการสนับสนุนของโครงการสะพาน โดย USAID จัดเสวนา “ป.ป.ช. สู่ ป.ป.จ. ล้างเมืองไทยให้สะอาด” มีตัวแทนนักวิชาการ สื่อมวลชนท้องถิ่น ภาคประชาชนที่ต่อต้านการทุจริต เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.จ.อุบลราชธานี ร่วมแลกเปลี่ยนข้อเสนอและแนวทางปฏิบัติที่ผ่านมา โดยมีนักเรียนชั้นประถมศึกษา-มัธยมศึกษาจากโรงเรียนเทศบาล 2 หนองบัว เทศบาลนครอุบลราชธานี และภาคประชาชนร่วมแสดงความเห็น ที่โรงแรมสุนีย์ แกรนด์แอนคอนเวนชั่นเซนเตอร์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
นายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการ ถามนายชาญชัย พลศรี รักษาการผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดอุบลราชธานี ถึงกระบวนการคัดเลือกผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็น 5 เสือของ ป.ป.จ.อุบลราชธานี มี 109 คน จาก 9 องค์กร เสนอตัวเข้ามาเป็นคณะกรรมการคัดสรรผู้สมัครเป็น ป.ป.จ.
โดยคัดเลือกเหลือ 10 คน จากนั้นจะส่งรายชื่อให้ ป.ป.ช.คัดเหลือ 5 คน ในเดือนกรกฎาคม 2556 และทั้ง 5 คน จะเข้ามาทำหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องเรียนที่ถูกส่งเข้ามา โดยกระบวนการคัดเลือกผู้สมัครเป็น ป.ป.จ.จะต้องถูกเปิดเผยรายละเอียดประวัติส่วนตัวให้สาธารณะชนรับทราบ เพื่อให้ส่งข้อมูลเข้ามาก่อนการคัดเลือก เพื่อป้องกันกลุ่มการเมือง หรือหน่วยงานของรัฐที่ทำทุจริต ส่งตัวแทนเข้ามาสมัคร
เมื่อเข้าทำหน้าที่ ป.ป.จ.ทั้ง 5 คน จะใช้วิธีการไต่สวนหาข้อมูลตามที่ได้รับแจ้งมีการทุจริตจากหน่วยงานประชาชนทั่วไป เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงความบริสุทธิ์ของตนเอง จึงยอมรับว่า กระบวนดังกล่าวมีความล่าช้า ผิดจากกระบวนการของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับข้อมูลไปใช้ดำเนินคดี เพราะ ป.ป.จ.ได้พิจารณาหลักฐานทุกอย่างละเอียดจนพบความผิดชัดเจนแล้ว จึงส่งไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีฟ้องร้องผู้กระทำผิด
นายชาญชัยกล่าวว่า จำนวนอัตรากำลังพลของ ป.ป.จ.กับจำนวนประชากรที่มากกว่า 1.8 ล้านคนของจังหวัด ไม่เพียงพอรับมือ แต่เจ้าหน้าที่ ป.ป.จ.ทุกคนมีความตั้งใจ พร้อมเห็นว่าอนาคตควรมีการเพิ่มอำนาจ ป.ป.จ.ให้มากขึ้น เพราะทำให้เกิดการคล่องตัวในการทำงาน
ด้าน น.ส.เพียงกมล มานะรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งมีบทบาทสร้างเครือข่ายพลเมืองติดตามการทุจริตในภาครัฐ หรือโครงการสร้างธรรมาภิบาลภาคพลเมือง ซึ่งบางเรื่องทำในเชิงงานวิจัย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ แม้บางหน่วยงานจะยังไม่เกิดการทุจริต แต่หน่วยงานมองว่าเป็นการมาจับผิด สำหรับหน่วยงานที่อยู่ในข่ายทำทุจริตอยู่แล้ว จึงได้รับการต่อต้าน ต้องใช้เวลาเข้าไปสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ
พร้อมทั้งเสนอให้ ป.ป.ช. และ ป.ป.จ.เป็นเครื่องมือของประชาชนและยืนอยู่ข้างประชาชนในจังหวัด อย่าทำงานตามแบบฉบับของราชการ เพราะจะไม่ต่างจากหน่วยงานราชการ ที่มีเพิ่มขึ้นมาอีกแห่งเท่านั้น และเมื่อประชาชนเข้าตรวจสอบพบการทุจริต ป.ป.จ.ต้องเร่งทำงานให้กระชับรวดเร็ว เพราะยิ่งปล่อยเวลาให้นานออกไปประชาชนยิ่งอ่อนแรง จึงต้องลดขั้นตอนตรวจสอบการทำทุจริต เพื่อให้เห็นประจักษ์สร้างความศรัทธาความเชื่อมั่นให้เกิดในกลุ่มประชาชน จึงได้การยอมรับ
ขณะที่ นายสงวน ศรีชนะ สมาชิกสภาตำบลทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ซึ่งต้องสู้กับการทุจริตงบประมาณพัฒนาในต.ทรายมูล กระทั่งทำให้เจ้าหน้าที่และผู้บริหารสภาตำบลต้องถูกดำเนินคดี กล่าวว่า ไม่ตั้งใจทำร้ายใคร แต่พบการใช้จ่ายงบประมาณพัฒนาท้องถิ่นแบบล้างผลาญ ไม่เกิดประโยชน์ต่อชุมชน จึงนำเรื่องปรึกษากับผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน ก่อนตัดสินใจร่วมกันตรวจสอบ และพบการทุจริตเป็นเงินหลายแสนบาท จึงทำเรื่องส่งไปให้ ป.ป.ช.เข้ามาตรวจสอบกระทั่งนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดจำนวนหลายคน
ด้านนายพิเชษฐ์ ทาบุตดา หรือดีเจต้อย สื่อมวลชนวิทยุท้องถิ่นวิพากษ์การทุจริตของประเทศไทย ว่า อยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก สาเหตุเกิดจากพ่อ แม่ ครูอาจารย์ไม่อบรมสั่งสอนเด็ก เมื่อโตไปทำงานเห็นการทุจริตได้เป็นเรื่องดี จึงติดเป็นนิสัย เมื่อเข้ามาเป็นนักการเมืองก็พูดจาหลอกแต่ชาวบ้าน
“ขณะนี้นักการเมืองสนใจแต่โครงการกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท แต่ไม่สนใจชาวบ้าน จ.อุบลราชธานี มี 25 อำเภอ แต่มีข้าราชการระดับสูง 24 คน ถูกตรวจสอบทุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ถูก ป.ป.ช.ตั้งกรรมการสอบ เมืองไทยอยู่ในยุคที่มีการทุจริตตั้งแต่ระดับบนลงมาถึงล่าง ตั้งแต่รัฐบาลถึง อบจ.ลามไปถึงตำบล อนาคตเชื่อว่า ต้องมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบติดตามการทุจริตในระดับตำบลด้วย พร้อมเห็นว่าการคัดเลือกผู้เข้าไปเป็น ป.ป.จ.ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิปริญญาตรี หรือปริญญาโท เอาชาวบ้านธรรมดาที่ตั้งใจจริงก็ได้ เพราะเหมือนคณะกรรมการ กกต.มีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขา สุดท้ายนั่งรอรับการร้องเรียนจากชาวบ้าน ไม่ยอมทำงาน บางครั้งก็เป็นผู้สร้างความหวาดกลัวให้ผู้เเข้ามาป็นพยานเสียเอง”
ขณะที่ภาคประชาชนและนักเรียนนักศึกษาที่เข้าร่วมฟังการเสวนา แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันเมื่อเรียนจบต้องเสียเงินเพื่อให้ได้เข้าไปทำงานราชการคนละ 4-5 แสนบาท จึงไม่โทษ อบจ. เทศบาล หรือ อบต. เพราะเกิดขึ้นทั้งระบบแต่เสนอว่า ควรต้องล้างประเทศไทยให้สะอาดเสียที เพื่อให้ประเทศอยู่รอดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น
ส่วนกลุ่มต่อต้านการรื้อทางเท้าเทศบาลนครอุบลราชธานี สะท้อนว่า ต่อสู้การทุจริตเชิงนโยบายมาหลายปี ต้องลงทุนไปฟ้องร้องกับศาลปกครองเอง เมื่อศาลมีคำสั่งให้เทศบาลคืนทางเท้าให้ประชาชน แต่เทศบาลไม่ยอมทำตามคำพิพากษา ต้องลงทุนไปยื่นเรื่องขอบังคับคดีด้วยตนเอง จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้า จึงไม่เชื่อกระบวนการจับทุจริตในประเทศไทย จะเกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง
ทางด้านกลุ่มเด็กและเยาวชนระบุว่า มาตรฐานการศึกษาปัจจุบันสอนให้รู้จักโกงตั้งแต่เด็ก เพราะนักเรียนบ้านนอกหลังเลิกเรียนไปจับหอยจับปูจับปลามากิน แต่เด็กนักเรียนในเมืองเรียนกวดวิชา แล้วจะให้ความรู้เท่ากันได้อย่างไร จึงเป็นการสร้างความหนักใจให้แก่เด็ก ต้องรู้จักโกงตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเรียน เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด
หลังการเสวนามีผู้มาเขียนภาพเสือลงบนผืนผ้าของมูลนิธิประชาสังคม จ.อุบลราชธานี ซึ่งวางไว้สำหรับประชาชนมาเขียนข้อความเพื่อปฏิรูปประเทศไทย และมีตัวอักษรด้านล่างของรูปวาดเสือนั้นว่าเสือกระดาษที่มีชีวิต
สำหรับบทการเสวนาครั้งนี้ สามารถชมเทปบันทึกภาพย้อนหลังได้ที่สร้างสุขแชนแนล ซึ่งออกอากาศทางวีเคเบิ้ลทีวี sangsook.net โสภณเคเบิ้ลทีวี ราชธานีเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม nextstep ช่องของดีประเทศไทย รายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกันอุบลราชธานี FM 102.75Mhz และ Cleanradio92.5 Mhz อุบลราชธานี
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ