กระบี่ไล่โรงไฟฟ้าถ่านหิน แฉมลพิษเพียบแต่ถูกเมิน

27 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1566 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 27 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ประมาณ 200 คน ขี่รถจักรยานยนต์มารวมตัวกันตั้งขบวนที่หน้าศาลาเอนกประสงค์ หมู่ 2 ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง พร้อมถือป้ายข้อความต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จากนั้นก็ได้เคลื่อนขบวนไปตามถนนภายในหมู่บ้าน ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร เพื่อรณรงค์เชิญชวนประชาชน ให้ออกมาร่วมต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกกะวัตต์ ที่จะมีโครงการก่อสร้างในพื้นที่ต.คลองขนาน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ห่างจากตำบลปกาสัยประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ โดยมีประชาชนออกมาร่วมขบวนจำนวนมาก และกลับมารวมตัวตั้งเวทีปราศรัย ให้ข้อมูลประชาชน เกี่ยวกับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่ายหิน เนื่องจากเกรงว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะสร้างมลภาวะ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่

 

นายสมศักดิ์ นบนอบ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ปกาสัย กล่าวว่า ที่ชาวบ้านเดินทางมารวมตัวกันในวันนี้ เพื่อร่วมกันหาแนวทางยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ ที่มีกำลังการผลิต 800 เมกกะวัตต์ ในพื้นที่ต.คลองขนาน ห่างจากหมู่บ้านทุ่งสาคร ต.ปกาสัย ประมาณ 1.5 กิโลเมตร เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายระบบนิเวศในพื้นที่ ผลผลิตทางการเกษตร สวนปาล์มน้ำมันและยางพารา ของชาวบ้าน ตำบลปกาสัย และตำบลใกล้เคียงลดลง โดยผลจากการสร้างโรงไฟฟ้า เมื่อปี2507 ขนาด 340 เมกกะวัตต์ ในพื้นที่ตำบลคลองขนาน

 

ที่ผ่านมาชาวบ้านในตำบลได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องสุขภาพ และผลิตทางการเกษตร ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจแล้วกว่า 500 คน เป็นโรคมะเร็งผิวหนังกล่าว 29 คน ถือเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ แต่ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาตรวจสอบ หรือช่วยเหลือเยียวยาแต่อย่างใด ซึ่งหลังจากนี้จะยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดไปยังรมว.พลังงาน เพื่อขอให้ระงับโครงการดังกล่าว

 

ด้านนายสุนทร ศรประเสริฐ อายุ 55 ปี ชาวบ้านทุ่งสาคร ต.ปกาสัย อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทรัพยากรทางทะเลก็ได้รับผลกระทบ การขนถ่ายน้ำมันเตาโรงไฟฟ้าเดิมขนาด340 เมกกะวัตต์ ทำให้ระบบนิเวศป่าชายเลนเสียหาย สัตว์น้ำไม่มีที่อาศัยชาวประมงไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้ และที่สำคัญเมื่อไม่นานมานี้มีการสำรวจบริเวณแหลมหิน ต.ตลิ่งชัน ใกล้สถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ มีแหล่งหญ้าทะเลอาหารของพะยูน มากเป็นอันดับ 2 รองจากเกาะลิบง จ.ตรัง โดยในปี 2555 มีพะยูนเข้ามาอาศัยในพื้นที่ 8 ตัว หากมีการก่อสร้างโรงฟ้าถ่านหิน หญ้าทะเลก็จะถูกทำลาย จากเรือขนาดใหญ่ที่ลำเลียงถ่านหิน ทำให้สัตว์ทะเลหายากขาดแหล่งอาศัย ทำลายระบบนิเวศ ไม่เฉพาะพะยูนเท่านั้นสัตว์น้ำอื่น ๆ ก็จะขาดแหล่งที่อยู่อาศัยด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: