‘นางเลิ้ง’โอดรฟม.ไล่ที่ซุกหัวนอน สงสัยโรงแรมหรู-บริษัทดังไม่โดน จี้รัฐฟื้นชีวิตในมุมมืดข้างทำเนียบ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 27 มี.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3844 ครั้ง

 

แม้จะเป็นย่านประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานครที่ มักจะถูกกล่าวถึงอยู่เป็นประจำ ทั้งในมิติของการท่องเที่ยวที่มีความเป็นมายาวนาน บ่งบอกชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกรุงเทพฯ ในอดีตได้อย่างดี หรือ ความเกี่ยวข้องในเชิงประวัติศาสตร์การเมือง แต่ดูเหมือนว่า “นางเลิ้ง” ในปัจจุบันอาจจะไม่สามารถดำรงรักษาความเป็นเอกลักษณ์สำคัญนี้ได้อีกต่อไป เพราะการเป็นพื้นที่เป้าหมายแห่งการสร้างเส้นทางคมนาคมทันสมัยตามนโยบายการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนาดใหญ่กับ โครงการ “รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม” เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนกรุงเทพฯ กำลังจะทำให้ “นางเลิ้ง” ในอดีต เปลี่ยนโฉมไปจนใคร ๆ นึกไม่ถึงในไม่ช้านี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รถไฟฟ้าสายสีส้ม ตัดกลางเมืองเก่า เตรียมเวนคืนชุมชนนางเลิ้ง

 

 

“ชุมชนนางเลิ้ง”เป็นเป้าหมายหนึ่งในการใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่จะกินอาณาเขตในย่านชุมชนข้างวัดแคนางเลิ้ง ซึ่งเป็นบ้านเรือนเก่าจำนวนหลายร้อยหลังคาเรือน ยังไม่นับรวมชุมชนรอบๆ พื้นที่อีกจำนวนมาก ที่จะต้องสละพื้นที่เพื่อหลีกทางให้โครงข่ายการขนส่งมวลชนสายนี้

 

จากรายละเอียดโครงการ ระบุว่า รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี) เป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน หนึ่งโครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีแนวเส้นทางที่รองรับการเดินทางภายในเขตเมือง ตามแนวตะวันออก-ตะวันตก จะมีจุดเริ่มต้นจากสถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน ชานเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี ตัดผ่านเส้นทางสำคัญต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อ กับสถานีรถไฟฟ้าศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ก่อน ออกสู่ถนนรามคำแหง แล้วสิ้นสุดที่เขตมีนบุรี ในทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ รวมระยะทาง 37.5 กิโลเมตร ซึ่งแน่นอนว่า เส้นทางจากทิศตะวันตก สู่ทิศตะวันออกของเส้นทางนี้ จะผ่าตัดกลางย่านเมืองเก่า ในเขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต ผ่านสถานที่สำคัญเช่น สนามหลวง ถนนราชดำเนิน ภูเขาทอง ตลาดมหานาค โดยมีการจัดตั้งสถานีต่างๆ เป็นระยะ และรวมถึงสถานีหลานหลวง ที่มีชุมชนนางเลิ้ง เป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญด้วย

 

 

เจาะใต้ดินเชื่อมโครงข่ายตะวันตกสู่ตะวันออก

 

 

การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายนี้ จะเป็นการสร้างเส้นทางใต้ดินทั้งหมด เริ่มต้นจากที่สถานีบางขุนนนท์ ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน จากนั้นวิ่งผ่านสถานีรถไฟธนบุรี โรงพยาบาลศิริราช ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่แนวถนนราชดำเนินกลาง ผ่านสนามหลวง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายสีม่วง ที่สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผ่านสะพานผ่านฟ้าลีลาศเข้าสู่แนวถนนหลานหลวง ผ่านตลาดมหานาค เข้าสู่แนวถนนเพชรบุรีที่แยกยมราช ผ่านแยกอุรุพงษ์ แยกเพชรพระราม มาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีราชเทวี เลี้ยวซ้ายที่แยกประตูน้ำมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือตามแนวถนนราชปรารภ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่สถานีราชปรารภ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เบี่ยงขวาที่แยกสามเหลี่ยมดินแดงเข้าสู่ถนนดินแดง แล้วเบี่ยงซ้ายที่แยกใต้ทางด่วนดินแดง มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง แล้วเลี้ยวขวาบริเวณถนนมิตรไมตรีตรงข้ามโรงพยาบาลทหารผ่านศึกไปทางทิศตะวันออก ผ่านศาลาว่าการ กทม.2 ไปที่สถานีประชาสงเคราะห์ ใจกลางย่านเคหะชุมชนดินแดงบริเวณถนนประชาสงเคราะห์ จากนั้นมุ่งหน้าสู่ถนนรัชดาภิเษกไปสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน)รวมระยะทางทั้งสิ้น 17.5  กิโลเมตร

 

 

ชาวนางเลิ้งร้องรฟม.ทำประชาพิจารณ์ใหม่

 

 

แต่แม้จะยอมรับในการเสียสละเพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดการพัฒนา และเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม การจะต้องรื้อย้ายจะที่เดิมที่เคยอยู่มาตลอดชีวิต ผู้ได้รับผลกระทบชาววัดแคนางเลิ้ง จึงพยายามดิ้นรนรักษาบ้านของตัวเอง ด้วยการยื่นเรื่องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนแผนการดำเนินการนี้อีกครั้งหนึ่ง อย่างน้อยให้มีโอกาสได้ชี้แจง และขอรับฟังข้อมูล รวมทั้งต้องการให้เกิดการประชาพิจารณ์ต่อโครงการนี้อย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านจำนวนมากยังไม่ทราบข้อมูลที่อย่างกว้างขวาง ดังที่ควรจะเป็น

 

 

            “สิ่งที่ชาวบ้านวัดแคนางเลิ้ง พยายามเรียกร้องขอให้รฟม.ทำประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวางอีกครั้ง เพื่อให้เป็นตามขั้นตอน และชาวบ้านจะมีโอกาสได้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้บ้าง เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านไม่มีโอกาสได้พูด แต่มักจะทราบข้อมูลหลังการตัดสินใจทำแผนการต่าง ๆ ไปแล้ว ดังนั้นจึงได้พยายามเคลื่อนไหวเพื่อขอให้ รมฟ.ทบทวนการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าหลานหลวง ซึ่งไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของชาวบ้านแล้ว ยังจะทำให้พื้นที่ย่าน“นางเลิ้ง” ซึ่งเป็นย่านประวัติศาสตร์ได้รับผลกระทบ และอาจจะทำให้ไม่หลงเหลือความเป็นชุมชนเก่าดั้งเดิมอีกต่อไป” นางสุวัน แววพลอยงาม ประธานชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแคนางเลิ้ง) กล่าว

 

 

 

จี้ยกเลิกสถานีหลานหลวง เพราะไม่จำเป็น

 

 

สิ่งที่ชุมชนเรียกร้องให้ รฟม.ทบทวนโครงการ ระบุประเด็นสำคัญคือการยกเลิกการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า “หลานหลวง” ออกไปจากแผน เพราะเห็นว่า มีระยะห่างจากสถานียมราชไม่มากนัก หากก่อสร้างจะสูญเสียพื้นที่ชุมชนไปจำนวน 7,890 ตารางเมตร ซึ่ง จากการศึกษาแผนที่ในการก่อสร้างเห็นชัดเจนว่า สถานีหลานหลวง ห่างจากสถานียมราชตั้งแต่จุดขึ้น-ลง ช่วงถนนพะเนียง แค่ประมาณ 500 เมตร ขณะที่ความห่างระหว่างสถานีหลานหลวง ช่วงขึ้น-ลง บริเวณสี่แยกหลานหลวง-ช่วงขึ้น ลงสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณหน้าลานพลับพลา มหาเจษฎาบดินทร์ ประมาณ 800 เมตร

 

นอกจากนี้ชาววัดแคนางเลิ้งยังเห็นว่า พื้นที่จะใช้ในการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าหลานหลวง นั้นไม่ได้มีจุดสำคัญของการใช้บริการ เช่น สถานศึกษา สถานที่ราชการ หรือโรงพยาบาลใด ๆ ที่จะทำให้มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก หากเทียบกับพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเขตวัฒนธรรมเก่าแก่ อาคารบ้านเรือน สถานที่โบราณที่มีอายุเป็นร้อยปี เช่น โรงภาพยนตร์ หรือ ร้านขายยาแผนโบราณ "ถนอม บุรยะกลม" หรือ "หมอถนอม" ที่เป็นตำรับยาไทยแผนโบราณที่ได้รับการถ่อยทอดโดยตรงจากตำรับของพระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุทรเวช) แพทย์ประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 6) ที่อาจจะต้องสูญสลายไปหากเกิดการก่อสร้างขึ้น

 

 

พื้นที่น้อยแต่คนอยู่มาก เพราะเป็นชุมชนแออัด

 

 

นอกจากจะเป็นย่านประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในจุดสำคัญของกรุงเทพฯ แล้ว นางเลิ้งยังถือเป็นแหล่งชุมชนแออัด และแหล่งที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้าน อีกจำนวนมาก ท่ามกลางฉากอาคารบ้านเรือนเก่าที่เรียงรายอยู่หน้าถนนในรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่สวยงาม และยังตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ห่างจากทำเนียบรัฐบาลไม่ถึงกิโลเมตร แต่หากเดินลัดเลาะเข้าไปตามตรอกซอกซอยของย่านนี้ ก็จะสามารถพบเห็นชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากภาพด้านหน้าไปอย่างสิ้นเชิง

 

 

            “ย่านนี้ส่วนใหญ่หากเดินเข้าไปดู จะพบว่าเป็นชุมชนแออัดทั้งนั้น ตึกสวยก็จะมีอยู่แค่ด้านหน้าเท่านั้น แต่ตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ มีคนอยู่อาศัยจำนวนมากที่อาศัยพื้นที่บริเวณบ้านเก่ากั้นเป็นห้องเล็กๆ อาศัย และเรียกมันว่าบ้าน ดังนั้นแม้จะดูเหมือนว่าเป็นพื้นที่ที่มีบริเวณไม่มากนัก แต่ผู้ที่จะเดือดร้อนจะมีจำนวนมากทีเดียว” นางสุวันเล่า พร้อมกับระบุว่า ที่ผ่านมา ชาวชุมชนนางเลิ้งพยายามรวมตัวกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในชิวิตความเป็นอยู่ของตัวเอง ถึงแม้จะเป็นชุมชนแออัด ที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาต่อพื้นที่แหล่งประวัติศาสตร์สำคัญ ด้วยการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้วยกันเอง มีการก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ร่วมกัน ปัจจุบันมีกองทุนรวมกว่า 1.4 ล้านบาท เพื่อสานต่อโครงการบ้านมั่นคง เพื่อให้ทุกคนมั่นใจว่าจะสามารถทำมาหากินอยู่ในแหล่งเกิดแห่งนี้ได้ แต่เมื่อเกิดโครงการ รฟม.ขึ้น จึงทำให้ทุกคนรู้สึกตกใจว่า อาจจะต้องโยกย้ายไปหาที่ทำกินใหม่

 

 

โดนรัฐบาลหลอกให้เช่า 30 ปี ตามโครงการบ้านมั่นคง

 

 

จากปากคำของชาวนางเลิ้งหลายราย ระบุตรงกันว่า ก่อนหน้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล รัฐบาลให้สัญญากับชุมชนว่า จะให้ทำสัญญาเช่า 30 ปี ตามโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งสมาชิกที่มีอยู่กว่า 200 หลังคาเรือน พยายามอย่างยิ่งที่จะพัฒนาตนเองเพื่อเข้าสู่โครงการบ้านมั่นคง ทั้งรวมตัวทำกลุ่มออมทรัพย์ และ เตรียมตั้งสหกรณ์ชุมชน แต่ทันทีที่ความเจริญเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และการก่อสร้างสถานีนางเลิ้ง ทุกอย่างกลับเปลี่ยนแปลง เพราะทางโครงการฯ ประกาศว่าจะเวนคืน 2 มุมเมืองของชุมชน ด้านถนนหลานหลวง และ ถนนพะเนียง เพื่อจะทำการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2562 โดยจุดที่จะถูกเวนคืน ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งละประมาณ 10 หลังคาเรือน จากทั้งหมด 200 หลังคาเรือน ไม่รวมตึกแถว ซึ่งประชาชนในพื้นที่ต่างกังวลกับสถานการณ์ดังกล่าว และเข้าร้องเรียนต่อสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่า คำตอบเป็นอย่างไร เบื้องต้นทางชุมชนได้ยื่นเรื่องขอให้โครงการฯ ระงับและเลื่อนการก่อสร้างในส่วนของสถานีหลานหลวง ที่ติดกับชุมชนวัดแคนางเลิ้ง เนื่องจากสถานีดังกล่าวอยู่ไม่ห่างจากสถานีผ่านฟ้า แต่การเสนอความคิดเห็นก็ไม่มีใครยืนยัน ว่าจะทำได้หรือไม่ได้ หลายคนจึงยังกังวลกับอนาคตที่ต้องยู่อย่างลำบาก และถูกตัดสินให้ออกจากชุมชน เพียงเพราะโครงการความเจริญเข้ามา ขณะที่โครงการบ้านมั่นคง ก็เงียบหายไปตามรัฐบาลเก่าที่เคยคิดไว้

 

 

กังขาเวนคืนแต่ชุมชน แต่โรงแรมดัง บริษัทใหญ่ ไม่โดน

 

 

ความคลางแคลงใจของประชาชนไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอย เพราะประธานชุมชนยืนยันว่า ความไม่ยุติธรรมเกิดจากโครงการดังกล่าวเลือกสร้างสถานี แล้วตั้งเป้าเวนคืนในส่วนของชุมชน ขณะนี้บริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นส่วนสำนักงานฝั่งตรงข้าม พร้อมด้วยธุรกิจโรงแรมบางแห่ง กลับไม่ถูกคำสั่งเวนคืน หรือโยกย้ายแต่อย่างใด สะท้อนว่าโครงการเลือกผลักไสเฉพาะชุมชนที่ยากจนแล้วไร้ทางเลือก แต่รักษาไว้ซึ่งกลุ่มทุน นอกจากนี้สถานการณ์ของชุมชนที่กำลังสร้างความกังวลไม่ต่างกัน ก็คือ การเพิ่มค่าเช่าในพื้นที่ โดยมีแนวโน้มว่า ตึกแถวในชุมชนกำลังจะประกาศขึ้นราคาค่าแล้วในเร็ว ๆ นี้แล้ว โดยชาวบ้านในพื้นที่ก็ทำได้แค่เคลื่อนไหวตามความสามารถไม่รู้ชะตาว่าจะสู้หรือยับยั้งโครงการดังกล่าวอย่างไร

 

 

 

อยู่ใกล้ทำเนียบแค่ไม่กี่ก้าว แต่คุณภาพชีวิตต่ำติดดิน

 

 

ไม่เพียงปัญหาการเตรียมถูกโยกย้ายจากแหล่งอาศัยเดิม เพื่อเปิดทางให้กับการสร้างรถไฟฟ้า สายสีส้มจนเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวนี้เท่านั้น นางสุวัน ซึ่งทำงานเคลื่อนไหวให้กับชาวชุมชนนางเลิ้ง ในฐานะประธานชุมชนมาตลอด ยังตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาอื่น ๆ ของชุมชนนางเลิ้ง ที่แม้จะได้ชื่อว่าเป็นจุดท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่า และยังอยู่ห่างจากที่ทำการของรัฐบาลไม่กี่ร้อยเมตร แต่กลับไม่ได้รับการดูแลคุณภาพชีวิตเหมือนกับชุมชนอื่น ๆ ดังนั้นปัญหาของชุมชนแห่งนี้ จึงไม่เพียงเพิ่งเกิด แต่ที่ผ่านมาปัญหาอื่น ๆ ก็ไม่เคยได้รับการแก้ไขมาเป็นเวลานานเช่นกัน

 

 

            “ที่จริงแล้วพื้นที่นี้อยู่ห่างจากทำเนียบรัฐบาลไม่ไกล และยังเป็นจุดสำคัญของการท่องเที่ยว เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ อย่างตลาดนางเลิ้งที่มีชื่อเสียงเรื่องอาหารการกิน ขนมโบราณ แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมชาวชุมชนนางเลิ้ง จึงถูกปล่อยให้มีชีวิตอย่างไร้คุณภาพ บ้านเรือนที่อยู่อาศัยไม่ได้เคยรับการพัฒนาให้ดีขึ้น หลายครอบครัวต้องอยู่กันอย่างแออัด ชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ในขณะที่ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนกลายเป็นคนไร้สัญชาติ ทั้งที่เป็นไทยเกิดที่นี่ แต่กลับไม่มีสิทธิทางสังคมใด ๆ เพียงเพราะรัฐไม่ออกบัตรประชาชนให้โดยอ้างว่าไม่มีหลักฐานชี้ชัด ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายพยายามเรียกร้องมานานแล้ว มีการทำวิจัยหลายอย่าง แต่ก็เงียบหายไป ปัญหานี้แม้จะไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดกับคนในละแวกนี้ แต่ก็เกิดขึ้นแล้วและเป็นปัญหาใหญ่ด้วย”

 

 

ผู้สูงอายุกลายเป็นคนไร้สัญชาติ-ไม่ได้ทำบัตรประชาชน

 

 

ประธานชุมชนวัดแคนางเลิ้ง กล่าวต่อว่า ปัจจุบันในชุมชน มีคนเร่ร่อนที่เป็นคนไทยถูกรัฐลืม บุคคลไร้สถานะ ไร้บ้าน และไร้รัฐ อีกมากมาย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ โดยจากกรณีที่กล้าเข้ามาแสดงตัวและยืนยันว่า ไม่มีบัตรประชาชนนั้น ประธานชุมชนระบุว่า มีจำนวนมากกว่า 10 คน บ้างป่วยเป็นอัมพาต วัยสูงอายุ เช่น กรณีลุงตู่ ชายไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในโบสถ์วัดแคนางเลิ้ง นานกว่า 20 ปี ซึ่งญาติและเพื่อนสมัยเด็กยืนยันว่า ลุงตู่ คือคนไทย ที่มีบิดามารดา เป็นคนไทย แต่กลับถือครองได้แค่บัตรประจำตัวบุคคลไร้สถานะทางทะเบียน ไม่ใช่บัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้ประธานชุมชน ได้พยายามช่วยเหลือโดยการประสานงานผ่านเขตปกครองในพื้นที่ คือ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม.แต่กลับถูกปฏิเสธ กระทั่งเรื่องดำเนินการถึงขั้นร้องเรียน รองผู้ว่าฯกทม. นำโดยประธานเครือข่ายคนไร้สัญชาติ และจากโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิของบุคคล กองทุนศาสตราจารย์คนึง ฦาไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พยายามจะช่วยเหลือและเรียกร้องความเป็นธรรมแก่คนไร้สัญชาติ เรื่องจึงถูกเคลื่อนไหวต่อ

 

 

 

ขณะนี้กรณีลุงตู่อยู่ในขั้นสอบปากคำพยานและตรวจ ดีเอ็นเอ กับพี่ชายต่างบิดา โดยกรณีของลุงตู่ นำไปสู่การเปิดเผยจำนวนคนไร้สัญชาติ และไร้รัฐมากขึ้น รวมทั้งกรณียายอ้วน หรือ นางบุญเลี้ยง สำแดงอำนาจ หญิงชราวัย 66 ปี ที่ป่วยเป็นอัมพาตท่อนล่างเกือบ 6 ปี ไม่สามารถเดินหรือลุกขึ้นนั่งได้ด้วยตนเอง ขณะเดียวกันก็ไม่มีบัตรประชาชน ฐานะยากจน อาศัยอยู่ร่วมกับหลานสาวและหลานเขย ในที่ดินของวัดแคนางเลิ้งมานานกว่า 40 ปีแล้ว เคยยื่นเรื่องขอพิสูจน์สัญชาติแล้ว แต่ไม่มีการตอบรับใด ๆ จึงต้องยุติความพยายามลง เพราะไม่มีความรู้ในกฎหมายใด ๆ และไม่เข้าใจขั้นตอนทางกฎหมาย ขณะที่บางกลุ่มยังคงเลือกรับจ้างฝ่ายการเมืองเพื่อยังชีพ โดยไร้ซึ่งสิทธิในฐานะคนไทย และมีเพิงที่พักที่ถูกกั้นซอยออกเป็นห้องเล็ก ๆ พอนอนได้ และไม่มีห้องน้ำเป็นที่อยู่อาศัย เพิงบางแห่งที่ถูกเรียกว่าบ้าน ทำได้แค่นำตัวลงไปนอนหลับพักผ่อนในเวลากลางคืนได้เท่านั้น เพราะเป็นเพียงแค่ช่องเล็ก ๆ แม้จะนั่งยังลำบาก

 

 

นักวิชาการจี้รัฐรับผิดชอบตามกฎหมายอย่างจริงจัง

 

 

ขณะที่ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนไร้สัญชาติในชุมชนนางเลิ้ง ร่วมกับอาสาสมัครโครงการบางกอกคลีนิคมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า ที่ผ่านมาชุมชนได้พยายามเรียกร้องให้กลุ่มผู้ไร้สัญชาติเหล่านี้ได้มีสิทธิเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ การมองว่าผู้สูงอายุเหล่านี้เป็นปัญหา คือความคิดที่ไม่ถูกต้องและใจร้ายเกินไป ควรตั้งคำถามกลับว่ารัฐรับผิดชอบประชาชนได้ถูกต้องตามกฏหมายแล้วหรือไม่ เพราะถึงวันนี้ชุมชนก็ยังรอคอยคำตอบจากสำนักงานเขตป้อมปราบฯ

 

 

            “วันนี้เราได้เห็นป้าอ้วนผู้ที่ชุมชนนางเลิ้งไม่เคยสงสัยว่าเป็นคนต่างด้าว เป็นคนชราและเป็นโรคอัมพฤกษ์นอนป่วยอยู่ลำพัง ถามว่าประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนหลายฉบับได้ปฏิบัติอย่่างเหมาะสมต่อมนุษย์ผู้ยากไร้แล้วหรือไม่ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำกฏหมายที่เกี่ยวเนื่อง กับการแก้ไขปัญหาสัญชาติมาบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไข เมื่อกฏหมายมีอยู่ แต่ไม่ได้ถูกบังคับใช้ มนุษย์ก็จะไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากกฏหมายเลย ซึ่งเมื่อมีกฏหมายที่ดีอยู่แล้วเราต้องช่วยกันบังคับใช้กฏหมาย” ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าว

 

 

‘เตือนใจ’สะกิดรัฐ ลงพื้นที่บูรณการแก้ปัญหา

 

 

ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานเครือข่ายคนไร้สัญชาติ กล่าวว่า จากข้อมูลเบี้องต้นสามารถสันนิษฐานได้ว่าผู้สูงอายุไร้สัญชาติในชุมชนนางเลิ้งป็นคนไทย จึงนับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่อยู่ในมุมมืดที่สุดของกรุงเทพฯ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ กทม.และสำนักงานเขตควรเข้ามาให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับข้อมูลของชุมชนนางเลิ้งที่มีอยู่แล้ว เพื่อจะได้ช่วยกันวางแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันในระดับเบี้องต้นก่อน

 

 

            “แม้ด้านหน้าชุมชนวัดแคนางเลิ้งเป็นอาคารที่สวยงาม ควรที่จะอนุรักษ์ไว้ แต่ในซอกซอยมีผู้คนอาศัยอยู่ในชุมชนมากมาย การดำเนินโครงการใด ๆ ก็ตามก็ต้องคำนึงถึงชีวิต และชุมชนดั้งเดิมด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาส่องไฟฉายดูในมุมมืดที่นางเลิ้งเพื่อให้ผู้สูงอายุเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสมกับเป็นมนุษย์คนหนึ่ง”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นางเตือนใจมองว่า การแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการหยิบยกเรื่องปัญหาคนไร้สัญชาติขึ้นมาเป็นนโยบายหลักที่จะต้องทำ โดยนำ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ร.บ.ทะเบียนราษฏร์ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง มาใช้อย่างจริงจัง เพื่อยกระดับบทบาทหน้าที่ใหม่ ไม่ใช่รวมศูนย์อยู่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนเดียว ขณะเดียวกันการพูดคุย เพื่อหาแนวทางเยียวยาผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ รัฐบาลก็ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรม เพื่อให้ชาวชุมชนเกิดความมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ต่อไปได้เหมือนกับคนอื่น ๆ

 

ปัญหาในชุมชนนางเลิ้ง ในมิติของคุณภาพชีวิตอาจจะดูไม่แตกต่างจากชุมชนแออัดอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ แต่หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดแล้ว จะเห็นว่าด้วยศักยภาพของเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน รวมถึงจุดที่ตั้งซึ่งน่าจะเป็นจุดที่ได้รับความสนใจจากภาครัฐ เพราะถือเป็นหน้าตาของกรุงเทพฯ ที่เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ความเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ และแหล่งวัฒนธรรมโบราณ และยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการเมืองของประเทศในหลายครั้งหลายครา

 

ทำให้หลายฝ่ายเห็นว่า ควรจะได้รับความใส่ใจจากรัฐในการพัฒนาคุณภาพทั้งด้านกายภาพ หรือสภาพความเป็นอยู่ของชาวชุมชนดั้งเดิมเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่อย่างยั่งยืนมากกว่าที่เป็นอยู่ จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องทวงคืนพื้นวัฒนธรรมชุมชนนางเลิ้ง ที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้การเคลื่อนไหวของชาวชุมชนในครั้งนี้ จะดูมีความหวังริบหรี่ก็ตามที

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: