วันที่ 26 ก.ค. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายชุมนุม เมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) จัดอภิปรายหัวข้อ “108 เหตุผล ทำไมต้องนิรโทษกรรคมนักโทษการเมือง” โดย นางกฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัดงานว่า ศปช.ได้รวบรวมคดีต่าง ๆ ที่ถูกจับกุมอันเนื่องมาจากการสลายการชุมนุมในปี 2553 มีผู้ถูกจับกุมหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน 1,833 คน นับเป็น 1,151 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่ดำเนินสิ้นสุดแล้ว 1,644 คน อยู่ระหว่างจำคุก 5 คน และเป็นคดีที่ยังไม่สิ้นสุด 150 คน ประกันตัวไปแล้ว 137 คน ยังอยู่ในเรือนจำ 13 คน ศปช.พบว่า ยังมีหมายจับที่ยังค้างอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ หลายร้อยหมาย ได้แก่ จ.อุดรธานี มุกดาหาร ขอนแก่น และเชียงใหม่ หมายจับกลุ่มนี้อาจจะแสดงผลออกมาเมื่อไรก็ได้ ดังนั้นถ้าเรานับรวมคดีในเหตุการณ์อื่น ๆ ด้วย 55 ราย ซึ่งเป็นคดีที่สิ้นสุดแล้ว 13 ราย ยังไม่สิ้นสุด 23 ราย และไม่ทราบคดี 9 ราย จะมีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีหลังรัฐประหาร กว่า 2,000 คน
นางกฤตยากล่าวอีกว่า ศปช.ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการถูกจับกุมที่แท้จริงได้ ดังนั้นหน่วยงานอื่น ๆ ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุยชนแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และหน่วยงานอื่น ๆ ต้องใช้กลไกของตนในการแสวงหาข้อมูล ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ศาลยุติธรรม ฯลฯ ทั้งนี้ ศปช.พบว่า ประชาชนที่ถูกคุกคามสิทธิและเสรีภาพ มีสาเหตุมาจาก การบังคับให้กฎหมายความมั่นคง และพรก.ฉุกเฉิน ซึ่งเปิดช่องว่างให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจ ในการละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน และหน่วยงานในองค์การยุติธรรมไม่ได้ทำหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความยุติธรรม หากแต่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
“การผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อลบล้างความผิดให้ผู้ที่กระทำผิดทางการเมือง เพื่อให้เกิดความปรองดอง แต่เพื่อแก้ไขความผิดพลาดของฝ่ายรับ และคืนความยุติธรรมให้กับผู้ที่ถูกจับกุมคดีในระยะยาว ศปช.เห็นว่า ควรผลักดันให้มีการยกเลิกกฎหมายความมั่นคง แต่เราต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูปความยุติธรรม ตั่งแต่พนักงาน ผู้ถูกดำเนินคดี อัยการ และที่เรือนจำด้วย เพื่อให้พนักงานอัยการทำงานได้เต็มที่ และเกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง” นางกฤตยากล่าว
ด้าน นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2475 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้ว 22 ฉบับ เฉลี่ยแล้ว 3 ปีครึ่ง มีกฎหมายนิรโทษกรรม 1 ฉบับ และกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของกฎหมายนี้ เป็นการนิรโทษกรรมให้กับความผิดของชนชั้นนำ มีการนิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ จนกลายเป็นการอนุญาตให้ฆ่าประชาชน หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2549 มีนักโทษการเมืองถูกจองจำหลายร้อยคน วันนี้นักโทษการเมืองต้องหมดไปจากประเทศไทย ด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ขณะเดียวกัน การนิรโทษกรรมนี้ ต้องไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงด้วย เพราะจากประวัติศาสตร์บอกว่า ต่อไปความรุนแรงจะยังเกิดขึ้นอีก
ขณะที่ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ระบุว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่ใช่เรื่องที่จะมาพูดว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย แต่เป็นเรื่องความชอบธรรม ที่นักโทษการเมืองในสังคมไทยต้องได้รับ ในฐานะที่เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน และมีประสบการณ์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่าเหตุการณ์หลายปีที่ผ่านมา เป็นการใช้สิทธิของประชาชนในฐานะพลเมือง ที่มีสิทธิทางการเมือง ดังนั้นการนิรโทษกรรมจึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ส่วนตัวอยากเสนอ 3 ประการ คือ หนึ่ง การนิรโทษกรรมทุกคนควรมีส่วนร่วมโดยไม่แยกสี แยกข้าง สองการนิรโทษกรรมต้องยืนหยัดเรื่องการปกป้องสิทธิ การมีส่วนร่วมทางการเมือง และไม่ให้บุคคลที่แปลกปลอมในทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงและครอบงำ และสาม ที่ผ่านมาร่างพ.ร.บ.ของประชาชนที่ส่งเข้าสู่รัฐสภา ไม่เคยมีฉบับไหนประสบความสำเร็จ ดังนั้นการต่อสู้เรื่องการนิรโทษกรรมต้องใช้ความมุ่งมั่น และต้องเข้าใจระบบการเมืองแบบรัฐสภาที่ยังพิการ ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของประชาชน
นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การนิรโทษกรรมทางการเมืองเป็นเรื่องยากในสังคมไทย เพราะความคิดแบบพุทธนั้น การยกโทษแบบกรรมทำได้ยากกว่าศาสนาอื่น ดังนั้นแม้จะมีกฎหมายนิรโทษกรรม จึงยกโทษให้แต่ชนชั้นนำเท่านั้น เมื่อพูดถึงนิรโทษกรรมทางการเมือง เรากำลังพูดถึงการจัดการกับความแตกต่างในสังคมทางการเมือง ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องคิดว่าในประเทศนี้มีความเห็นต่างทางการเมืองจริง ๆ และคิดต่อว่าสิ่งที่เราคิดว่าเป็นความผิดทางการเมือง แท้จริงแล้วคือความเห็นต่างของคนในสังคม
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย กล่าวว่า การนิรโทษกรรมหลายครั้งในไทยเกิดขึ้นโดยง่าย เพราะเป็นการนิรโทษกรรมตัวเองของผู้กระทำรัฐประหาร หรือเป็นการนิรโทษกรรมให้ผู้มีอำนาจด้วยกันเอง แต่ประโยชน์ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของ ส.ส. ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในครั้งนี้ มีประโยชน์คือ เป็นการนิรโทษกรรมให้ประชาชนเป็นเหยื่อการปราบปรามของรัฐ เป็นการแก้ปัญหาระหว่างประชาชนกับรัฐ ไม่ใช่ประชาชนกับรัฐบาล การนิรโทษกรรมเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้ผู้ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างรวดเร็ว ส่วนที่กลัวกันว่านิรโทษกรรมแล้ว ต่อไปถ้าคนออกมาชุมนุมอีกจะทำอย่างไร สังคมก็ต้องมาตั้งหลักกัน ไม่ใช่บอกว่า ใช้กฎหมายให้เข้มงวดที่สุด เอากระบวนการยุติธรรมมาจัดการกับทุกปัญหาที่เกิดขึ้น
นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกียวโต กล่าวว่า นิรโทษกรรมมีความจำเป็นอย่างมาก เราบอกว่าเป็นประเทศอารยะ แต่ยังมีนักโทษการเมืองอยู่มาก ขณะนี้ประเทศพม่าซึ่งเป็นเผด็จการมายาวนาน ขณะที่กัมพูชา นายสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านก็ได้รับประทานอภัยโทษ และมีอีกหลายประเทศที่นักโทษการเมืองได้รับการปล่อยตัว แต่ประเทศไทยยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ การปล่อยตัวนักโทษการเมืองเป็นเรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรม คนกลุ่มนี้ต้องได้รับความยุติธรรม ไม่ใช่ช่วยด้วยความสมเพศเวทนา นอกจากนี้ยังมีนักโทษการเมืองที่ถูกจับภายใต้มาตรา 112 ซึ่งกำลังประสบปัญหาอย่างมาก
นายธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน กล่าวว่า เหตุผลร้อยแปดพันเก้าที่จะต้องนิรโทษกรรม สุดท้ายประมวลได้เหตุผลเดียวคือ ความอยุติธรรม ประเทศไทยต้องมีกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่ยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมเชื่อถือไม่ได้ และไม่เป็นที่พึ่ง แต่กลับเอื้ออำนวยให้ผู้มีอำนาจ ธรรมเนียมการปฏิบัติของศาลไทย คือเอาความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐมายึดกับฝ่ายอำนาจ แทนที่จะยึดหลักความเที่ยงธรรมเพียงหลักเดียวเท่านั้น ตัวอย่างง่าย ๆ คือการไม่ยอมให้ประกันตัว การนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมืองไม่ใช่การลบล้างความผิดให้คนที่อยู่ในคุก แต่คนเหล่านี้ไม่มีความผิดตั้งแต่ต้น และไม่ควรเข้าไปอยู่ในคุกอยู่แล้ว
“ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีผู้เสนออยู่ตอนนี้มีข้อดีข้อเสียทั้งนั้น ต้องคิดว่ามีข้อเสียทางการเมือง แต่มีข้อดีในแง่อื่นหรือเปล่า อยากให้ทุกฝ่ายที่ถกเถียงกันว่าร่างของตัวเองดีอย่างไร คิดในทางกลับกันด้วยว่า ร่างของตัวเองเสียอย่างไร ไม่มีร่างไหนสมบูรณ์แบบไม่มีข้อเสีย และขอให้ทำความเข้าใจด้วยว่าอีกฝ่ายทำไมจึงคิดและเสนอแบบนั้น” นายธงชัยกล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ