ไม่ใช่แค่'แม่วงก์'แต่จ่อผุดทั่วไทย21เขื่อน แฉกรมชลฯยัดไส้หวังใช้งบ3.5แสนล้าน

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ กราฟฟิก โดย ชนากานต์ อาทรประชาชิต 27 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2898 ครั้ง

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์ นำโดย ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เดินเท้าจากหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เพื่อคัดค้านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแ ละสุขภาพ หรือ EHIA โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งเป็นหนึ่งหลายโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงมากที่สุดประเด็นหนึ่งในสังคม แม้ในช่วงแรกของการเดินจะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อหลักเท่าไหร่นัก แต่หลังการแชร์รูปภาพผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กมาก ทำให้เกิดกระแสคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์เพิ่มมากขึ้น แม้กระทั่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้  การเดินเท้าระยะทาง 388 กิโลเมตรของเลขาธิการมูลนิธิสืบฯ และผู้ร่วมอุดมการณ์ จึงน่าจะเป็นการเรียกความสนใจจากประชาชนให้กลับเข้าสู่ประเด็นการเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านอีกครั้ง หลังจากที่กระแสเงียบหายไปสักระยะหนึ่งแล้ว

เดิน 388 กม.อ่านแถลงการณ์ค้าน EHIA แม่วงก์

ประเด็นหลักของการเดินรณรงค์ในครั้งนี้ อยู่ที่การคัดค้าน การอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์  โดยในวันสุดท้ายของการเดินรณรงค์ดังกล่าว ได้มีการอ่านแถลงการณ์คัดค้านการดำเนินการของรัฐบาล พร้อมระบุเหตุผลต่างๆ ในการคัดค้าน EHIA ฉบับดังกล่าว ระบุว่า

1.รายงานฉบับนี้ไม่ได้ให้ความจริงใจในการศึกษาทางเลือกในการพัฒนาแหล่งน้ำโดยวิธีอื่น ๆ โดยใช้วิธีคำนวณเทคนิคทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมให้ไม่คุ้มค่าในการเลือกทางเลือกอื่นๆ หรือ เทคนิคกำหนดตัวแปรที่เบี่ยงเบนน้ำหนักของการเลือกที่ตั้ง ให้มาก่อสร้างในป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

2.รายงานฉบับนี้ละเลยข้อมูลความสำคัญของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ต่อเนื่องกับพื้นที่มรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่เป็นป่าใหญ่อุดมสมบูรณ์ไม่มีการรบกวนระบบนิเวศสัตว์ป่าโดยที่ตั้งของชุมชน ดังมีรายงานข้อมูลสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการกระจายตัวของเสือโคร่ง ทั้งจากรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทยและกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย

3.รายงานฉบับนี้ได้ระบุข้อมูลผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนว่า ในพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 291,900 ไร่ จะเป็นพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนถึง 175,355 ไร่ จึงได้พื้นที่ชลประทานฤดูแล้งเพียง 116,545 ไร่ ดังนั้นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จึงน้อยกว่าสิ่งที่ชาวบ้านเข้าใจว่าน้ำจะไปทั่งถึงทั้ง 23 ตำบลที่ได้ระบุในรายงาน หากพิจารณาเหตุผลที่ต้องสูญเสียพื้นที่ป่า และงบประมาณในการก่อสร้าง

สร้างเขื่อนแม่วงก์ แก้น้ำท่วมไม่ได้

4.รายงานฉบับนี้ระบุชัดเจนว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำที่ท่วมในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมได้ทั้งหมด และยังไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลน้ำที่ไหลบ่าจากพื้นที่เกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากป่าไม้ในพื้นที่นอกอุทยาน ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำมากถึง 70-80 เปอร์เซนต์ ที่ไหลลงมายังที่ราบอ.ลาดยาว ดังนั้นถึงสร้างเขื่อนแม่วงก์ สามารถบรรเทาอุทกภัยได้ไม่มากนักในพื้นที่โครงการ โดยไม่ต้องสงสัยว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์ จะมีผลต่อการบรรเทาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามงบประมาณสร้างเขื่อนตามโมดูล  A 1 ที่มากับโครงการเงินกู้จัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลได้เพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์ ของน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

5.ในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่มีมาตรการที่แน่ใจได้เลยว่าจะได้ผล ได้แก่ การปลูกป่าทดแทนที่ไม่มีการระบุพื้นที่ปลูกป่าว่าอยู่ในบริเวณใด มีแต่การคำนวณว่าจะได้ไม้และผลประโยชน์มากกว่าที่จะตัดไป ทั้งที่ความจริงแล้วพื้นที่นอกอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เกือบจะมีแต่พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน มิได้มีพื้นที่ใดสามารถปลูกป่าถึง 36,000 ไร่ ตามที่ระบุได้ หรือมาตรการลดผลกระทบจากการล่าสัตว์ ตัดไม้เกินพื้นที่ ในระหว่างการก่อสร้างก็เป็นเพียงมาตรการทั่ว ๆ ไปให้เจ้าหน้าที่ดูแลเคร่งครัด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในขณะก่อสร้างจะไม่สามารถควบคุมการล่าสัตว์ที่จะไปถึงพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงห้วยขาแข้ง ได้

6.ในการพิจารณารายงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการในการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อปลายปี 2555 มีมติให้แก้ไขรายงาน และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมหลายประเด็น โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องระบบนิเวศของสัตว์ป่า ซึ่งโดยหลักการแล้วต้องใช้เวลาในการศึกษาพอสมควร เป็นไปไม่ได้ที่จะศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบเพิ่มเติมแล้วเสร็จได้ภายในกรอบระยะเวลา 1 ปี

7.พื้นที่ชลประทานเขื่อนแม่วงก์ เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับคลองผันน้ำในโมดูล A5 ซึ่งจะทำให้สภาพแวดล้อมและการจัดการน้ำที่ศึกษาไว้ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปจากโครงการชลประทานเขื่อนแม่วงก์

สผ.ไม่โปร่งใส เปลี่ยนตัวข้าราชการเพื่อรอรับนโยบายรัฐ

8.ในการพิจารณารายงานฉบับนี้ รัฐบาลปรับเปลี่ยนบุคลากรของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการอย่างน่าสงสัย ตั้งแต่ต้นปี 2556 ได้แก่การโยกย้ายตำแหน่งของเลขาธิการอย่าง ดร.วิจารณ์ สิมะฉายา ซึ่งมีชื่อเสียงการยอมรับในการทำงานวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี มาเป็นนายสันติ บุญประคับ ซึ่งมีภูมิหลังทำงานด้านพัฒนาจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และปรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการผู้ชำนาญการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ จาก ดร.สันทัด สมชีวิตา ผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงในการทำงานด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มาเป็นข้าราชการประจำอย่างตัวเลขาธิการ สผ.เอง คือ นายสันติ บุญประคับ ซึ่งอาจจะสงสัยได้ว่าต้องเร่งรัดทำงานตามนโยบายที่ได้รับมาจากโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านเนื่องจากในขณะนั้น รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อมนี้คือ ปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้รับผิดชอบโครงการจัดการน้ำเช่นกัน

นอกจากนี้ยังทราบว่า มีการเปลี่ยนแปลงบุคคลในคณะกรรมการผู้ชำนาญการที่มีความเห็นทางวิชาการต่อความบกพร่องของรายงาน อาทิ ดร. อุทิศ กุฏอินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศป่าไม้ นายสมศักดิ์ โพธิ์สัตย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านธรณีวิทยา รวมถึงการปรับโครงสร้างองค์ประกอบให้ไม่มีผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และผู้แทนประจำของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ดังนั้นการเร่งรัดผ่านรายงานโครงการเขื่อนแม่วงก์ในครั้งนี้จึงมีความผิดปกติอย่างยิ่งต่อมาตรฐานทางวิชาการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

            “การสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่สามารถช่วยพื้นที่เกษตรได้เพียง 1 แสนไร่ ในฤดูแล้ง และสามารถแก้น้ำท่วมในพื้นที่ลาดยาวได้แค่ 20 เปอร์เซนต์ พร้อมทั้งลดปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ได้เพียง 1 เปอร์เซนต์ เท่านั้น มันมีความคุ้มค่าหรือไม่กับแหล่งผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดจะหายไป และความคุ้มค่าตรงนี้ใครจะเป็นคนชั่ง เราจะบอกให้ชาวบ้านตัดสินหรือ การตัดสินใจควรเป็นคนที่มีความรู้มาตัดสิน เช่น สำนักนโยบายและแผน ไม่ใช่ให้รัฐมนตรีหรือใครมาพูดแทนชาวบ้าน ที่ออกมาประท้วงในวันนี้ เพราะต้องการประท้วงคนมีความรู้ของหน่วยงานรัฐที่ต่างฝ่ายต่างเงียบเฉยกันไปหมด” นายศศินกล่าวให้สัมภาษณ์รายการ เสวนา “ล้อมวง...ค้านเขื่อนแม่วงก์” โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

อย่างไรก็ตามแม้ประเด็นหลักของการเดินประท้วงในครั้งนี้จะมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์  จ.นครสวรรค์  แต่หากพิจารณาจากแผนงานของ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ทั้งหมดแล้ว จะพบว่า ยังมีแผนในการสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือเขื่อนในอีกหลายพื้นที่ จำนวนมากกว่า 20 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน  ซึ่งในบางพื้นที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวคัดค้านการดำเนินการของ กบอ.บ้างแล้ว แต่ก็มีอีกหลายพื้นที่ที่ๆ ชาวบ้านระบุว่ายังไม่ทราบข้อมูลว่าจะมีการสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ ในพื้นที่ของตัวเอง และที่สำคัญยังไม่ทราบว่าหากสร้างแล้วพวกเขาจะได้ประโยชน์หรือได้รับผลกระทบอะไรบ้าง และนั่นน่าจะเป็นคำถามหนึ่ง ที่ กบอ.ในฐานะเจ้าของโครงการจะต้องตอบ !!!

มีอีกหลายเขื่อนที่ยังไม่มีรายละเอียดผลกระทบจาก กบอ.

สำหรับรายละเอียดแผนการบริหารจัดการน้ำในการจัดการเขื่อนเก็บกักน้ำหลัก และการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ ในโมดุล A และ โมดุล B มีรายละเอียดดังนี้

 

สำหรับโครงการใน Module A1 โดยระบุว่า เป็นการสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก ใช้งบประมาณ             50,000 ล้านบาท

ชื่อโครงการ และที่ตั้ง

รายละเอียดโครงการ

ผลกระทบ

การดำเนินงานที่ผ่านมา

งบประมาณ
(ล้านบาท)

หน่วยงานรับผิดชอบ (เดิม)

1.   เขื่อนแม่น้ำยม (กั้นแม่น้ำยม ณ ท้ายจุดบรรจบแม่น้ำงาว และแม่น้ำยมตามแนวลำน้ำ ประมาณ 5.3 กม. บริเวณบ้านอัมพวัน ตำบลเตาปูน อำเภอสอง จังหวัดแพร่ – ลุ่มน้ำยม)

เขื่อนหินถมแกนดินเหนียว ระดับสันเขื่อนสูง +234.50 ม.รทก. ความสูงเขื่อน 54.5 ม. ความกว้างสันเขื่อน 10.0 ม. ความยาวสันเขื่อน 1,520 ม. พื้นที่ผิวน้ำที่ระดับเก็บกักปกติ 21,000 ไร่ (33.6 ตร.กม.) ความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกักปกติ 500 ล้าน ลบ.ม.

-   พื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติแม่ยม

-   พื้นที่ทำกินบ้านดอนชัย/ ดอนแก้ว/ ดอนชัยสักทอง

ศึกษาความเหมาะสม และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงานรวม)

14,245.32

กรมชลประทาน

2.   เขื่อนแม่น้ำยมตอนบน (กั้นแม่น้ำยม บริเวณด้านเหนือบ้านดอนแก้ว ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ไปประมาณ 2 กิโลแมตร – ลุ่มน้ำยม)

เขื่อนหินถมดาดคอนกรีต ระดับสันเขื่อน +261.00 ม.รทก. ระดับสันกำแพงกันคลื่น +262.50 ม. ความสูงเขื่อน 40.0 ม. ระดับเก็บกักปกติ +258.00 ม.รทก.  พื้นที่ผิวน้ำที่ระดับเก็บกักปกติ 10,856 ไร่ (17.37 ตร.กม) ความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกักปกติ 166 ล้าน ลบ.ม.

-   พื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติแม่ยม

-   พื้นที่ทำกินในเขตตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ และ 11 ชุมชนในเขตอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา

3.   อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตีบ (วังแดง) ตำบลแม่ตีบ อำเภองาว จังหวัดลำปาง – ลุ่มน้ำยม

เขื่อนกักเก็บน้ำความจุ 28.50 ล้าน ลบ.ม.

 

-   ประชาสัมพันธ์โครงการ และศึกษาผลกระทบเบื้องต้น

349.60

กรมชลประทาน (โครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามแผนพัฒนาจังหวัด /กลุ่มจังหวัด ปี 56-58 จำนวน 64 ล้านบาท)

4.   แม่อ้อน 2 (ตำบลบ้านอ้อน อำเภองาว จังหวัดลำปาง – ลุ่มน้ำยม)

เขื่อนปิดช่องเขาขาด กว้าง 9 ม. สูง 43.70 ม. ยาว  354.00 ม. ความจุ 19.10 ล้าน ลบ.ม. พร้อมอาคารทางระบายน้ำล้น ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน ประมาณ 9,000 ไร่

 

-   สำรวจและออกแบบรายละเอียด (กรมชลประทาน ว่าจ้าง บริษัท รีซอสส์ เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแตนทส์ จำกัด)

-   เริ่มสำรวจและปักหลักเขต เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านการก่อสร้าง (ตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน 2548)

499.10

กรมชลประทาน

5.   อ่างเก็บน้ำห้วยโป่งผาก (กั้นลำน้ำแม่มอก บริเวณตอนบนของอ่างเก็บน้ำแม่มอก ในเขตพื้นที่บ้านหนองหอย หมู่ 8 ตำบลเวียงมอก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง – ลุ่มน้ำยม

เขื่อนดินถม สูง 32.08 เมตร ยาว 380 เมตร กักเก็บน้ำที่ระดับปกติ +221.30 ม.รทก. เท่ากับ 15.074 ล้าน ลบ.ม. ความจุที่ระดับเก็บกักสูงสุด +223.63 ม.รทก. เท่ากับ 19.50 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ผิวอ่างฯ ที่ระดับน้ำนองสูงสุด 2.23 ตร.กม.

ป่าอนุรักษ์ (ป่าแม่มอก RF.13) เนื้อที่ประมาณ 1,400 ไร่

-   จัดทำรายงานวางโครงการ (Pre - Feasibility Report), กลุ่มงานวางโครงการ 1 สำนักบริหารโครงการ, 2548 – เป็นโครงการที่อยู่ในข่ายต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์

-   ศึกษาผลกระทบเบื้องต้น

401.10

กรมชลประทาน

6.   อ่างเก็บน้ำแม่แลง (อยู่ในพื้นที่บ้านแสนทอง หมู่ที่ 10 ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ห่างจากที่ตั้งจังหวัดประมาณ 36 กม. – ลุ่มน้ำยม)

เขื่อนกักเก็บน้ำความจุ 11.50 ล้าน ลบ.ม. โดยจะทดน้ำเข้าระบบเหมืองฝายเดิมของชาวบ้าน และมีพื้นที่ชลประทานประมาณ 8,500 ไร่

 

-   ประชาสัมพันธ์โครงการ

294.58

กรมชลประทาน (โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามคำร้องขอของนายศักดิ์สิทธิ์ ปัญญาฉลาด ประธานสภาตำบลเวียงต้าและ นายมานิตย์ แสนเตชะ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2537)

7.   อ่างเก็บน้ำน้ำงิม (ตำบลงิม อำเภอปง จังหวัดพะเยา – ลุ่มน้ำยม)

เขื่อนดินถมกักเก็บน้ำความจุ 16.7 ล้าน ลบ.ม. โดยมีพื้นที่ชลประทานประมาณ 16,000 ไร่

ชาวบ้านแฮะ ตำบลงิม อำเภอปง จังหวัดพะเยา ประมาณ 400 คน สูญเสียที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน รวมพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่

-   ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (กรมชลประทานว่าจ้าง บริษัท แอกกี้ คอนซัลท์ จำกัด และ บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด, ปี 2543)

-   สำรวจพื้นที่ และออกแบบโครงการ (กรมชลประทาน ว่าจ้าง บริษัท รีซอสส์ เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแตนทส์ จำกัด)

585.00

กรมชลประทาน (กำหนดเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2559)

8.    เขื่อนแม่วงก์ (กั้นลำน้ำแม่วงก์บริเวณเขาสบกก ตำบลแม่เล่ย์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ – ลุ่มน้ำสะแกกรัง)

เขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียวขนาดใหญ่

ความยาว 730 เมตร กว้าง 10 เมตร สูง 57 เมตร กักเก็บน้ำ 258 ล้าน ลบ.ม. ที่ระดับเก็บกักปกติ +204.5 ม.รทก. และมีพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 19.8 ตร.กม.ที่ระดับกักเก็บสูงสุด +207.5 ม.รทก.

-  พื้นที่ป่าเนื้อที่ประมาณ 18 ตร.กม. ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

-  กระทบถิ่นที่อยู่ของสัตว์หายาก

-   คณะรัฐมนตรี มีมติให้ดำเนินโครงการ  เมื่อวันที 10 เมษายน 2555

-   อยู่ระหว่างศึกษา EHIA

13,280.00

กรมชลประทาน (ใช้ระยะเวลาก่อสร้างถึง 8 ปี โดยผูกพันงบประมาณถึงปี 2562)

9.    อ่างเก็บน้ำห้วยตั้ง (ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน – ลุ่มน้ำปิง)

เขื่อนเก็บกักน้ำความจุ 44.50 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 7,000 ไร่

 

-   ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

-   ออกแบบรายละเอียด

272.95

กรมชลประทาน (พร้อมก่อสร้าง)

10. อ่างเก็บน้ำแม่ขาน (บ้านห้วยโท้ง  ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ – ลุ่มน้ำปิง)

เขื่อนหินถม (Rock Fill Dam) ประกอบด้วยเขื่อนหลักและเขื่อนปิดช่องเขาต่ำ ความจุ 74.84 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ผิวอ่าง 3 ตร.กม. (1,875 ไร่) ที่ระดับเก็บกักปกติ สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานฤดูฝน 25,000 ไร่ ฤดูแล้ง 54,198 ไร่

-  น้ำท่วมบ้านเรือนและที่ทำกินของชาวบ้านแม่ขนิลใต้ หมู่ที่ 8 ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ จำนวนประมาณ 57 ครัวเรือน

-  พื้นที่ทำการเกษตรบริเวณแนวแกนเขื่อนในเขตบ้านห้วยโท้ง ม.8  ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่  และบ้านสันปูเลย ม.12  ต.ดอนเปา อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ได้รับผลกระทบ

-  พื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน ประมาณ  1,500 ไร่ ถูกน้ำท่วม

-   การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (FS)

1,893.22

กรมชลประทาน

11. อ่างเก็บน้ำคลองสวนหมาก (ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร – ลุ่มน้ำปิง)

เขื่อนกักเก็บน้ำความจุ 94.92 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ 50,624 ไร่

 

-   ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ

1,627.00

กรมชลประทาน

12. อ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม (ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ – ลุ่มน้ำปิง)

เขื่อนกักเก็บน้ำความจุประมาณ 134.694 ล้าน ลบ.ม.

 

-   สำรวจพื้นที่

2,352.18

กรมชลประทาน

13. คลองขลุงล่าง (หมู่ที่ 8 บ้านแปลงสี่/แม่พืช ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร – ลุ่มน้ำปิง)

เขื่อนเก็บกักน้ำความจุ 20.46

ล้าน ลบ.ม. ที่ระดับเก็บกัก +160.00 ม.(ร.ท.ก.) พื้นที่ชลประทาน 10,125 ไร่

-   บ้านเรือน และที่ทำกินบ้านแม่พืช บ้านแปลงสี บ้านคลองปลาสร้อย ตำบลคลองลานพัฒนา

-   ทางหลวง หมายเลข 1117

-   ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ

200.00

กรมชลประทาน

14. ห้วยฉลอม (ต.ท้องฟ้า อ.บ้านตาก จ.ตาก – ลุ่มน้ำปิง)

เขื่อนกักเก็บน้ำความจุ 15.2 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทาน 5,040 ไร่

 

-   ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

-   ศึกษาผลกระทบเบื้องต้น

-   ออกแบบรายละเอียด

187.46

กรมชลประทาน (พร้อมก่อสร้าง)

15. คลองวังเจ้า (ต.โกสัมพี อ.โกสัมพีนคร จ.กำแพงเพชร – ลุ่มน้ำปิง)

เขื่อนกักเก็บน้ำความจุ 37.91 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ด้านชลประทาน 38,120 ไร่

-  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง/อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า?

-   ศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

300.00

กรมชลประทาน

 

ชื่อโครงการ และที่ตั้ง

รายละเอียดโครงการ

ผลกระทบ

การดำเนินงานที่ผ่านมา

งบประมาณ
(ล้านบาท)

หน่วยงานรับผิดชอบ (เดิม)

16. อ่างเก็บน้ำคลองวังชมพู (หมู่ที่ 3 ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก – ลุ่มน้ำน่าน)

เขื่อนดินถมบดอัดแน่นแบบแบ่งโซน จุน้ำ 86.26 ล้านลบ.ม.และมีพื้นที่ผิวอ่าง 4.19 ตารางกิโลเมตร (2,619 ไร่) ทีระดับกักปกติ +110 ม.รทก. พื้นที่ชลประทาน 88,500 ไร่

-   อ่างเก็บน้ำอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง

-   ผลกระทบถิ่นที่อยู่ของสัตว์หายากและใกล้สูญพันธ์ เช่น ปลาถ้ำ ตุ๊กกาย ปลาขยุย และจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย

-   จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

-   คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ มีมติให้กรมชลประทานพิจารณาเสนอทางเลือกที่ตั้งโครงการใหม่ ที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง หากกรมชลประทานยืนยันใช้ตำแหน่งที่ตั้งโครงการเดิมให้ดำเนินการขออนุญาตการใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติให้แล้วเสร็จ รวมทั้งให้ปรับปรุงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ พิจารณาอีกครั้ง (7 ก.ย. 50)

1,955.00

กรมชลประทาน

17. อ่างเก็บน้ำน้ำปาด (ต.ฟากท่า อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ – ลุ่มน้ำน่าน)

เขื่อนดินสูง 46 เมตร ความยาว 360 เมตร ความจุ 59 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับกักเก็บปกติ สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน  32,200 ไร่ โดยมีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 19 สถานี

 

-   ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

-   จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (กรมชลประทานว่าจ้าง บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด, สิงหาคม 2554 – กุมภาพันธ์ 2546)

895.00

กรมชลประทาน

18. อ่างเก็บน้ำห้วยพังงา (หัวงานโครงการอยู่ที่บ้านนากวาง หมู่ที่ 3 ต.ฝาย อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ – ลุ่มน้ำน่าน)

เขื่อนเก็บกักน้ำ ขนาดความจุสูงสุด 11.33 ล้านลูกบาศก์เมตร กินพื้นที่ประมาณ 394 ไร่ สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่ชลประทานในช่วงฤดูฝน 9,900 ไร่ และในช่วงฤดูแล้ง 4,400 ไร่

สันเขื่อน-อ่างเก็บน้ำอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าน้ำปาด

-   จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (กรมชลประทานว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ฟรอนเทียร์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ส จำกัด และบริษัท องศา คอนซัลแตนท์ จำกัด, กันยายน 2553 – ธันวาคม 2554)

269.08

กรมชลประทาน

 

 

ชื่อโครงการ และที่ตั้ง

รายละเอียดโครงการ

ผลกระทบ

การดำเนินงานที่ผ่านมา

งบประมาณ
(ล้านบาท)

หน่วยงานรับผิดชอบ (เดิม)

19. อ่างเก็บน้ำสมุน (ต.สะเนียน อ.เมืองน่าน จ.น่าน – ลุ่มน้ำน่าน)

เขื่อนกักเก็บน้ำ ความจุ 11 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน.... ไร่ พื้นที่ได้รับประโยชน์ 6 ตำบล

บ้านเรือนกว่า 130 หลัง และที่ทำกินกว่า 2,000 ไร่ ในหมู่บ้านห้วยปุก  และที่ทำกินในหมู่บ้านแม่กาใส ต.สะเนียน อ.เมือง จ.น่าน อีกจำนวนหนึ่งถูกน้ำท่วม 

-   สำรวจออกแบบโครงการ (มติ ครม. 21 พ.ย. 43)

-   ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ)

726.00

กรมชลประทาน

20. อ่างเก็บน้ำห้วยท่าพล (ต.ท่าพล อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ – ลุ่มน้ำป่าสัก)

เขื่อนกักเก็บน้ำ ความจุ 12.3 ล้าน ลบ.ม.

 

-   ประชาสัมพันธ์โครงการ

-   ศึกษาผลกระทบเบื้องต้น

-   ออกแบบรายละเอียดโครงการ

369.35

กรมชลประทาน

21. ห้วยน้ำเฮี้ยะ (ต.บ้านเนิน อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ – ลุ่มน้ำป่าสัก)

เขื่อนกักเก็บน้ำ ความจุ 5.4 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 4,500 ไร่

 

-   ประชาสัมพันธ์โครงการ

412.00

กรมชลประทาน

22. อื่นๆ ที่เหมาะสม

 

 

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: