พท.ชี้ไม่มีกฎหมายให้กกต.เลื่อนเลือกตั้ง ระบุถ้าลาออกลามท้องถิ่น-เสี่ยงถูกฟ้อง

27 ธ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1654 ครั้ง

เมื่อเวลา 14.10 น. วันที่ 26 ธันวาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ กกต.ทั้ง 5 คน ประกอบด้วยนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ นายบุญส่งน้อยโสภณ นายประวิช รัตนเพียร และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายศุภชัยเป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ของกกต. ว่า วันนี้กกต.ได้นัดหมายพรรคการเมืองจำนวน 34 พรรค มาจับสลากหมายเลข เพื่อให้ได้หมายเลขประจำพรรคการเมือง ในเวลา 09.00 น. ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ดินแดง แม้ว่ากระบวนการดังกล่าวจะเสร็จสิ้นลง แต่สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในภายนอกอาคาร ที่มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม เป็นสิ่งที่น่าเสียใจ และไม่ควรเกิดขึ้นในสังคม กกต.ในฐานะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการเลือกตั้ง ขอแสดงจุดยืนต่อสังคมในปรากฎการณ์ดังกล่าวดังนี้

1.กกต.ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอโทษประชาชน ที่ไม่อาจอำนวยการให้การดำเนินการรับสมัครเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยได้

2.ปรากฎการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่กกต.ได้เคยส่งสัญญาณต่อผู้มีส่วนรับผิดชอบแล้วว่า เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ และยิ่งจะทวีความรุนแรง หากเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไป จนอาจเป็นต้นเหตุของความไม่สงบความโกลาหล การจราจลและการสูญเสียเลือดเนื้อของพี่น้องประชาชน

3.การรับสมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเพียงกระบวนการขั้นต้นของการเลือกตั้ง ซึ่งต่อไปภายหน้ายังมีการรับสมัครส.ส.เขตการหาเสียง การเลือกตั้งการนับคะแนน และประกาศผลและหากความขัดแย้งในแนวคิดระหว่างการมีหรือไม่มีการเลือกตั้งยังคงอยู่ เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ไม่ยากว่า การเลือกตั้งจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ด้วยความสงบเรียบร้อย และกกต.คงไม่สามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้อีกต่อไป

4.กกต.ขอส่งข่าวสารผ่านแถลงการณ์ฉบับนี้ถึงรัฐบาลคู่ขัดแย้ง และทุกภาคส่วนในสังคมว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557 จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการทำความเข้าใจ และสร้างข้อตกลงร่วมกันเพื่อความสงบสุขในสังคมระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นกกต.จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจนกว่าจะมีข้อตกลงร่วมกันดังกล่าว ทั้งนี้กกต.พร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการหาข้อยุติร่วมกัน

5.หากยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อให้เกิดการคลี่คลายสถานการณ์ในทางที่ดีขึ้นกกต.จะพิจารณาใช้สิทธิและอำนาจหน้าที่ของกกรรมการการเลือกตั้งในฐานะกรรมการการเลือกตั้งรายบุคคลเพื่อตัดสินใจคลี่คลายสถานการณ์ตามวิจารณญาณที่เหมาะสม

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง  กล่าวว่า  สิ่งที่สะท้อนออกไปเป็นการส่งข่าวสารถึงรัฐบาล คู่ขัดแย้งและทุกภาคส่วนในสังคมว่า หากไม่มีการทำความเข้าใจ และข้อตกลงร่วมกัน การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 จะมีขึ้นไม่ได้ ดังนั้นขอให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน เพื่อความสงบสุขในสังคมก่อนการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลมีอำนาจในการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ หากไม่ได้รับการตอบสนอง กกต.รายบุคคลจะพิจารณาใช้สิทธิและอำนาจส่วนบุคคลในการตัดสินใจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อแก้ไข และคลี่คลายปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า การตัดสินใจใช้สิทธิส่วนบุคคลจะใช้เวลานานหรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า หลังจากการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเสร็จสิ้นลง ทุกอย่างน่าจะเห็นภาพต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น ว่าจะคลี่คลายอย่างไร ฝากถึงกลุ่มผู้ชุมนุมว่า  กกต.ได้ตัดสินใจแล้วว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.จะมีไม่ได้ ดังนั้นขอให้ท่านสลายการชุมนุมและอาจจะลดดีกรีต่าง ๆ  ส่วนการที่จะให้วันที่ 2 ก.พ.มีไม่ได้ กกต.จะไปตกลงกับรัฐบาล หากรัฐบาลยังเดินหน้าเราจะใช้สิทธิส่วนบุคคล เพราะหากมีการเลือกตั้งจะสร้างความเสียหายให้กับบ้านเมือง  เชื่อว่าการใช้สิทธิส่วนบุคคลจะคลี่คลายสถานการณ์ได้

            “กกต.จะประชุมวาระปกติในวันที่ 2 ม.ค.2557 ดังนั้นระหว่างนี้ จะต้องประสานให้เกิดการพูดคุยก่อนวันที่เราจะประชุม ทุกอย่างจะตัดสินใจในวันนั้น ช่วงนี้ก็รอประสานฝ่ายต่าง ๆ อยู่ การทำหน้าที่ของ กกต.หลายคนอาจมองว่าล้ำเส้น เรามีหน้าที่จัดการเลือกตั้งก็จัดไป มายุ่งอะไร ขอเรียนว่าอีกฐานะหนึ่ง กกต.เป็นคนไทยที่รักแผ่นดิน เราปรารถนาดีที่จะเห็นความสงบเรียบร้อยในประเทศนี้ แม้บางเรื่องอาจทำหน้าที่เกินขอบเขตหน้าที่ แต่โดยศักยภาพสถานะของเรา เราคิดว่าถ้าเรายื่นมือเข้าไปแล้วทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้ วันนี้ถึงเวลาที่เราจะยื่นมือเข้าไป เมื่อยื่นไปแล้วหากหลายท่านบอกว่าเราทำผิดหน้าที่ ทำสิ่งเกินเลยเราพร้อมรับผิดชอบในสิ่งที่เราทำ” นายสมชัยกล่าว

ต่อมาเวลา 16.40 น. นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายโภคิน พลกุล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป โดยนายโภคินกล่าวว่า ก่อนที่จะมีการยุบสภาฯ นั้น หลายฝ่ายมองว่าความขัดแย้งน่าจะลดลงหากรัฐบาลยุบสภาฯ คืนอำนาจให้ประชาชน ทั้งนี้ รัฐบาลไม่สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ เพราะไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจรัฐบาลไปเลื่อนกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปได้ แต่ถ้าเป็นหน่วยเลือกตั้งที่ประชาชนไม่สามารถไปใช้สิทธิ์ได้นั้น กกต.สามารถกำหนดวันลงคะแนนใหม่ได้ อย่างไรก็ตามพี่น้องที่มาชุมนุมส่วนหนึ่งมาด้วยความสงบ แต่อีกส่วนหนึ่งก็กระทำขัดกฎหมายหลายครั้งหลายครา อีกทั้งที่ผ่านมาทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน และหลายภาคส่วน พยายามเสนอวิธีการเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่กปปส.ก็ไม่ยอมรับ

            “แถลงการณ์ของกกต.เรามองว่าเหมือนท่านไม่ค่อยรับผิดชอบ และจะไปตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมมากกว่า ซึ่งเราเป็นห่วงว่าประชาชนอาจจะเข้าใจผิดได้ ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเกิดเพียงในกรุงเทพฯ จังหวัดอื่น ๆ ไม่ได้เกิดปัญหาแต่อย่างใด ดังนั้นอยากเรียกร้องให้กกต.ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามกฎหมาย เพราะการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป โดยคาดหวังว่าความขัดแย้งอาจยุติลงนั้น อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น หรืออาจจะยิ่งไปกันใหญ่ก็ได้ อยากเรียกร้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจผ่านการเลือกตั้ง” นายโภคินกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากกกต.ไม่ดำเนินการตามหน้าที่สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้หรือไม่ นายโภคินกล่าวว่า หากใครที่มีหน้าที่แล้วไม่ทำตามหน้าที่ก็อาจมีคนไปร้องเรียนได้ แต่ขณะนี้ไม่คิดว่ากกต.จะทำอย่างนั้น ตอนนี้ท่านอาจเพียงแค่แสดงความกังวล ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่ากกต.อาจจะตัดสินใจลาออกนั้น นายโภคินกล่าวว่า “ท่านก็มีเกียรติและศักดิ์ศรี และท่านก็อาสาเข้ามาทำหน้าที่ ดังนั้นเชื่อว่ากกต.จะมีความสง่างามพอที่จะแก้ปัญหาให้กับประเทศ”

ด้านนายจารุพงศ์ กล่าวว่า ความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตย ทางออกที่ดีที่สุดคือการคืนอำนาจให้ประชาชนและมีการเลือกตั้ง ขอให้กกต.หนักแน่น ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด จัดการเลือกตั้งให้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวในคมชัดลึกออนไลน์ระบุว่า จากการที่กกต.ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลเลื่อนเลือกตั้ง โดยพร้อมเป็นคนกลางในการให้คู่ขัดแย้งได้มาเจรจาเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ และระบุว่า หากไม่มีการดำเนินการ กกต.จะพิจารณาใช้สิทธิและอำนาจหน้าที่ของกกต.ในฐานะกกต.รายบุคคลเพื่อตัดสินใจคลี่คลายสถานการณ์ตามวิจารณญาณที่เหมาะสมนั้น มีการวิเคราะห์กันว่า การส่งสัญญาณดังกล่าวของกกต.น่าจะหมายถึงหากไม่มีการดำเนินการตามข้อเสนอของกกต. อาจมีการลาออก ซึ่งอาจจะเป็นทั้งคณะหรือเป็นบางคนก็ได้ ซึ่งหากทั้งคณะก็จะทำให้เกิดปัญหาว่า จะไม่มีใครมาเป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งก็จะกลายเป็นช่องให้มีการเสนอต่อรัฐบาลพิจารณาเลื่อนการเลือกตั้งออกไป

            “แต่ทั้งนี้การลาออกทั้งคณะไม่เพียงทำให้เกิดสุญญากาศ เฉพาะการไม่มีกกต.มาจัดการเลือกตั้งส.ส.เท่านั้น ยังจะทำให้เกิดปัญหากับการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่มีอยู่เป็นประจำทุกสัปดาห์ ว่าจะไม่มีกกต.มาพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เพราะจะต้องรอการดำเนินการสรรหากกต.ชุดใหม่ ซึ่งแม้ดำเนินการสรรหากกต.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 จะดำเนินการได้ทั้งในส่วนของคณะกรรมการสรรหา และในส่วนที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก็ตาม แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาอย่างเร็วไม่น้อยกว่า 3 เดือน” แหล่งข่าว ระบุ

รายงานข่าวยังระบุอีกว่า แต่ถ้าเป็นการลาออกของกกต.บางคน โดยลาออก 3 คน ก็จะทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถประชุมกกต.และมีมติในเรื่องใดได้เลย เพราะตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.กกต. กำหนดให้องค์ประชุมของกกต.ต้องมีไม่น้อยกว่า 3 คน ดังนั้นการจะลงนามประกาศกกต.เพื่อดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เช่น การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ก็จะไม่สามารถทำได้อยู่ดี หรือหากลาออกเพียง 2 คน เหลือกกต.อยู่ 3 คนแม้จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งต่อไปได้จนไปถึงการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งการให้ใบเหลืองใบแดง แต่ก็จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของกกต.ค่อนข้างตึงตัว เพราะหากกกต.คนหนึ่งลาประชุมก็จะไม่สามารถประชุมได้ รวมทั้งเลือกตั้งแล้วจะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรายใด ก็ต้องเป็นมติเห็นชอบทั้ง 3 เสียง เนื่องจากมาตราเดียวกันกำหนดให้การลงคะแนนและมีมติในกรณีนี้ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่าสี่ในห้าของกรรมการที่มาประชุม

อย่างไรก็ตามหาก กกต.ไม่ลาออกและเลือกที่จะใช้อำนาจของกกต.ในการคลี่คลายสถานการณ์นั้น น่าเชื่อว่าจะเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ประกอบมาตรา 236 ที่กำหนดให้กกต.ต้องควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งส.ส. ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และให้กกต.ออกประกาศหรือวางระเบียบที่จำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อออกประกาศเลื่อนการลงคะแนนเลือกตั้ง ในหน่วยเลือกตั้งใดที่ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากเกิดเหตุสุดวิสัย หรือจำเป็นอย่างอื่น ถ้าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง ตามมาตรา 78 ของพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.

แต่ทั้งนี้ก็มีรายงานว่า มาตราดังกล่าวบัญญัติให้เป็นอำนาจของ กกต.ประจำเขตเลือกตั้ง ซึ่งกกต.กลางก็ต้องให้กกต.ประจำเขตเลือกตั้งตรวจสอบพื้นที่และเสนอความเห็นมา ซึ่งก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าหากกกต.จะใช้อำนาจตามช่องทางดังกล่าว ก็ไม่ควรที่จะต้องออกแถลงการณ์ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้ง และใช้ถ้อยคำในลักษณะยื่นคำขาดว่า หากไม่ดำเนินการจะใช้สิทธิในฐานะกกต.รายบุคคลพิจารณาตัดสินใจดำเนินการเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ เพราะที่สุดจะยิ่งทำให้กกต.ถูกตำหนิจากสังคม และผู้ที่เข้ามาช่วยปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง ว่า กกต.ไม่มีความชัดเจนว่าจะเดินหน้าเลือกตั้งหรือไม่ อีกทั้งเห็นว่าบทบัญญัติของ 3 มาตราดังกล่าวเนื้อหาไม่ชัดเจน ที่จะทำให้กกต.ตัดสินใจใช้ช่องทางนี้ โดยจะไม่ถูกฟ้องว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อาทิ หากกกต.สั่งเลื่อนการลงคะแนนไปเกินกว่าระยะเวลาที่พ.ร.ฎ.เลือกตั้งกำหนดให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.จะถือว่าไม่เลือกตั้งภายใน 60 วัน นับแต่วันยุบสภาหรือไม่ รวมทั้งถ้าได้ส.ส.แล้วจะถือว่าวาระการดำรงตำแหน่งส.ส.เริ่มขึ้นเมื่อใด ดังนั้นหากกกต.จะใช้ช่องทางนี้ย่อมหมายความว่า กกต.พร้อมแล้วที่จะเผชิญกับการถูกฟ้องตามมา

 

ขอบคุณภาพเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่บริเวณศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง จาก The Nation

ภาพแถลงข่าวจากประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: