แนะดึง'พม่า-บังคลาเทศ' แก้ปัญหาโรฮิงญาอพยพ

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 28 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2913 ครั้ง

 

จากสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างชาวพุทธและชาวโรฮิงญา ในรัฐอาระกัน (ยะไข่) ประเทศพม่า ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมาก อพยพข้ามน้ำข้ามทะเลอันดามัน เข้ามายังประเทศไทยจำนวนมาก จนเกิดเหตุการณ์ที่ตำรวจไทยบุกเข้าช่วยเหลือชาวโรฮิงญาประมาณ 800 คน ที่ถูกกักขังอย่างแออัด บริเวณสวนยางชายแดนไทย-มาเลเซีย ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ได้เชื่อมโยงไปถึงกระบวนการค้ามนุษย์ ที่มีชาวโรฮิงญาเป็นเหยื่อ ซึ่งสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เรือของผู้อพยพถูกสกัดโดยตำรวจและกองทัพไทย โดยมีข้อตกลงเพื่อขายกลุ่มผู้อพยพโรฮิงญา ให้กับขบวนการค้ามนุษย์ เพื่อส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลไทยยืนยันที่จะสืบสวนเรื่องนี้ต่อไป

 

ทั้งนี้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ ระบุว่า การทำงานของรัฐบาลไทยต่อกรณีผู้อพยพชาวโรฮิงญาไม่ได้ดำเนินการไปตามกฎหมาย อย่างที่ควรจะเป็น
 

 

สภาทนายความชี้จับโรฮิงญาทำผิดขั้นตอน

 

 

นายสุรพงษ์  กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า หน้าที่ในการดำเนินงานกับโรฮิงยา กรณีการลักลอบเข้าเมืองควรเป็นหน้าที่ของตำรวจในการจับกุม แต่ทหารเป็นผู้จับกุมซึ่งไม่ใช่หน้าที่

 

 

           “ทหารมีหน้าที่ผลักดัน ถ้าเห็นว่ามีโอกาสจะรุกน่านน้ำไทย แต่ถ้ารุกเข้ามาแล้วต้องจับกุม และส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการ ที่ผ่านมาไทยผิดพลาดที่ให้อำนาจทหารมากเกินไป”

 

 

 

 

นอกจากนี้รัฐบาลไทยต้องเปิดโอกาสให้ผู้อพยพ มีสิทธิในการต่อสู้และพิสูจน์สิทธิ ในกระบวนการยุติธรรม   ซึ่งรัฐบาลไทยไม่สามารถส่งผู้อพยพกลับประเทศต้นทางได้ และการที่จะส่งผู้ลักลอบเข้าเมืองกลับ ได้เพียง 2 กรณีเท่านั้นคือ ผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองจาก 3 สัญชาติคือ พม่า ลาว และกัมพูชา เนื่องจากมีดินแดนติดกับประเทศไทย สามารถส่งกลับโดยไม่ต้องขึ้นศาล และ 2 กรณีที่บุคคลเหล่านี้รับสารภาพเท่านั้น

 

 

              “ถ้ายอมรับว่าผิดสามารถส่งกลับได้เลย แต่หากไม่มีการยอมรับ ต้องเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนของศาล ซึ่งที่ผ่านมาจากการสอบปากคำ ไม่มีชาวโรฮิงญาคนใดสารภาพว่าเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และหากมีการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจริง ชาวโรฮิงญาต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องขึ้นศาลและประเทศไทย ต้องจัดหาทนายให้ด้วย”

 

 

แนะดึงพม่า-บังคลาเทศแก้ปัญหาด้วย

 

 

ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ฯ กล่าวต่อว่า สำหรับรายชื่อของขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์ จากการเปิดเผยของผู้อพยพชาวโรฮิงยาระบุว่า นายหน้ารายใหญ่ของบบวนการ เป็นชาวบังคลาเทศ ชื่อ นายอับดุล ราฮิม โดยมีผู้ร่วมขบวนการประกอบด้วย นางฮาชิบา ตอมายัง  และนายนาวี เป็นคนไทยอาศัยอยู่ในจ.สงขลา และผู้อพยพชาวโรฮิงยาที่ตกเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์โดยไม่รู้ตัว จะกระจายไปอยู่ที่ปาดังเบซาร์  สุไหลโกลก หาดใหญ่ และพังงา ส่วนบุคคลที่ไม่น่าไว้ใจที่ร่วมอยู่ในกระบวนการนี้คือ ล่ามที่คอยแปลภาษา คนเหล่านี้จะเป็นผู้จัดหามา ซึ่งจะแปลภาษาไปคนละเรื่องกับที่โรฮิงญาพูด

 

ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาผู้อพยพโรฮิงญาในระยะยาว จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลไทยรับหน้าที่ประสานงาน ระหว่างรัฐบาลพม่าและบังคลาเทศ เพื่อให้ทั้งสองประเทศเข้ามามีบทบาท และแก้ปัญหาร่วมกันทั้งปัญหาต้นเหตุในประเทศต้นทาง และปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับกลุ่มที่อยู่ในประเทศไทย อันนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป รัฐบาลไทยและสภาความมั่นคงแห่งชาติ ควรแถลงนโยบาย และแนวทางการแก้ปัญหาทั้งมิติการแก้ปัญหาเชิงป้องกัน และปัญหาเฉพาะหน้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตลอดถึงกำหนดท่าทีของรัฐบาลไทยต่อปัญหาให้ชัดเจน  และควรประสานงานสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เข้ามาดำเนินการคัดกรอง และคุ้มครองระหว่างประเทศต่อชาวโรฮิงญาที่เป็นผู้ลี้ภัย

 

 

ไทยต้องปราบขบวนการค้ามนุษย์ทั้งคนไทยและจนท.รัฐ

 

 

ส่วนกรณีกระบวนการค้ามนุษย์ รัฐบาลไทยควรดำเนินการปราบปรามอย่างเด็ดขาด ต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องในขบวนการนำพาเข้ามาในประเทศไทย และขบวนการค้ามนุษย์ ทั้งนายหน้าที่เป็นคนไทย คนพม่า คนบังคลาเทศ และเจ้าหน้าที่ไทย ที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการนำพาและค้ามนุษย์ รวมถึงให้การคุ้มครองกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ อีกทั้งให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง กับกระบวนการคัดกรองเหยื่อการค้ามนุษย์อย่างละเอียดถี่ถ้วน เช่น ไม่ใช้ล่ามแปลภาษา ที่นายหน้าหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์จัดหามาให้ เนื่องจากล่ามเหล่านั้นอาจจะสื่อข้อมูลไม่ตรงตามความเป็นจริง ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับอาจผิดพลาดจากข้อเท็จจริงได้

 

และรัฐบาลไทยควรดำเนินการอนุญาตให้กลุ่มโรฮิงญาอยู่ในประเทศไทยชั่วคราว ที่ไม่ใช่ห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือตำรวจท้องที่ และเพื่อเปิดโอกาสให้องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีโอกาสเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือต่อไป

 

 

 

 

เรียกร้องยูเอ็นร่วมแก้ปัญหา

 

นายอับดุล การัม ผู้ประสานงาน สมาคมโรฮิงญาสากลแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโรฮิงญาที่หนีภัยมาจากพม่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ปัจจุบันประกอบอาชีพขายโรตี ย่านบางรัก กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า สาเหตุที่หนีมาเพราะในพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่ จะมีทหารพม่าขนอาวุธขึ้นไปบนเขา โดยใช้ให้ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นขนอาวุธให้ หลังจากเสร็จภารกิจชาวบ้านโรฮิงญาจะถูกฆ่าตาย

 

 

           “ชาวบ้านแถวบ้านผมจะถูกเกณฑ์ไปช่วยทหารพม่าขนอาวุธ บางครั้งไป 20 คน กลับมาแค่ 5 คน ผมเลยคิดหนี เพราะถ้าอยู่ก็ต้องไปขนอาวุธให้ ขนแล้วก็จะถูกฆ่า ผมจึงชวนภรรยา เดินจากหมู่บ้านเข้ามาทางแม่สอด จ.ตาก จากนั้นก็เข้ามาหากินในกรุงเทพฯ”

 

 

ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นายอับดุลกล่าวว่า ตอนนี้โรฮิงญาทั่วโลกกำลังจับตามองประเทศไทยว่า จะแก้ปัญหากรณีการค้ามนุษย์นี้อย่างไร เพราะเป็นการกระทำที่รุนแรงและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาประเทศไทยช่วยเหลือชาวโรฮิงญาเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในประเทศไทย 3,000 – 4,000 คน ซึ่งอยู่อย่างหลบซ่อน ผิดกฎหมาย ซึ่งการหลบซ่อนเช่นนี้ เป็นที่มาของการจ่ายเงินสินบนอย่างผิดกฎหมาย เมื่อมีการตรวจพบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

 

              “ผมถือบัตรของ UNHCR จึงทำมาหากินได้ โรฮิงญาที่ถือบัตรแบบนี้ในประเทศไทย มีไม่ถึงร้อยคน นอกนั้นอยู่แบบผิดกฎหมาย ผมจึงอยากเรียกร้องให้ประเทศไทย ช่วยให้ชาวโรฮิงยาสามารถหากินในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย เช่น กำหนดให้เราจ่ายภาษีให้กับประเทศไทย ช่วยเหลือคนไทยที่ยากจน จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องจ่ายเงินใต้โต๊ะ”

 

 

แฉยูเอ็นรู้พม่าฆ่าโรฮิงยาแต่ทำอะไรไม่ได้

 

 

และในการประชุม เครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งมีผู้แทนจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และชาวโรฮิงญา ได้ร่วมกันเสนอความเห็นเพื่อเสนอต่อรัฐบาลไทย เพื่อการแก้ปัญหาชาวโรฮิงยา ซึ่งชาวโรฮิงยาในประเทศไทยได้เรียกร้องให้สหประชาชาติ (UN) เข้ามาแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างเต็มที่มากกว่านี้ เนื่องจาก UN รับรู้ปัญหามาโดยตลอด จึงขอตั้งคำถามไปถึง UN ว่ามีอำนาจอย่างเต็มที่หรือไม่ในการแก้ปัญหาโรฮิงยา ในขณะที่ปัญหาอื่นในประเทศใหญ่ๆ UN สามารถแก้ไขได้ แต่เรื่องนี้ UN ไม่เข้ามาแก้ปัญหา

 

 

 

 

 

 

       

        “รัฐบาลพม่าฆ่าโรฮิงญา UN ก็รู้แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะเมื่อรัฐบาลพม่าขอร้อง UN จะถอยออกไป เพราะที่ผ่านมารัฐบาลพม่าขัดขวางการช่วยเหลือชาวโรฮิงญามาโดยตลอด จากกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย UN ยังไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อการช่วยเหลือชาวโรฮิงญา แต่ประเทศไทยลงมือช่วยเหลือแล้ว”

 

 

ทั้งนี้ UN ควรทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือประชาคมโลก ไม่ใช่ต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง อย่างเช่น ชาวโรฮิงญาที่เป็นผู้อพยพในประเทศบังคลาเทศประมาณ 300,000-400,000 คน สหประชาชาติยังไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด

 

นอกจากนี้ที่ประชุมมีข้อสรุปเพิ่มเติม โดยเสนอให้รัฐบาลไทยแสวงหาความร่วมมือกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อแก้ปัญหาโรฮิงยา และผลักดันให้กลไกของอาเซียนเข้ามาดูแลเรื่องนี้ โดยเน้นที่ประเทศพม่า และบังคลาเทศ เพื่อให้การช่วยเหลือในอนาคต และควรเชิญกลุ่มประเทศมุสลิม ร่วมผลักดันให้ประเทศพม่าแก้ปัญหาโรฮิงญาด้วย ส่วนในระยะยาวนั้น เสนอให้รัฐบาลไทยแก้ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

 

ทางด้านผู้แทนจาก ฮิวแมนไรท์ วอท์ช องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เสนอให้ UNHCR เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เพื่อสร้างทางเลือกให้กับโรฮิงญาให้มีที่อยู่ที่ปลอดภัย ซึ่งอาจจะเป็นประเทศอื่นที่ไม่ใช่ประเทศไทย

 

                  “UNHCR ควรจะเข้าไปช่วยเหลือให้เต็มตัว ว่าควรจะทำอย่างไร เพราะขณะนี้ไม่สามารถส่งผู้อพยพเหล่านี้กลับประเทศต้นทางได้ หรืออาจจะให้อยู่ในประเทศไทยระยะหนึ่ง ซึ่ง UNHCR ควรจะเข้ามาช่วยเหลือประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยต้องซื้อเวลาเพื่อรวบรวมพันธมิตร เพื่อกดดันประเทศพม่า ก่อนจะส่งปัญหานี้ให้พม่า เพราะที่ผ่านมาพม่าสร้างปัญหาให้คนอื่นมาตลอด”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: