ชำแหละเงื่อนปมระบบไฟฟ้าไทย ทำสาธารณูปโภคให้เป็นธุรกิจโลก การเมืองขวางพลังงานหมุนเวียน

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 28 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 3514 ครั้ง

 

ภายหลังนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาลรมว.พลังงาน ออกมาประกาศว่าไฟฟ้าอาจจะดับในเดือนเมษายน เพราะพม่าหยุดซ่อมแท่นเจาะก๊าซที่แหล่งยาดานา-เยตากุน สร้างความหวาดวิตกให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก กระทั่งมีการมองว่า เป็นการบีบให้คนไทยต้องรับสภาพการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รอผุดขึ้นอีกหลายแห่งในประเทศ ทั้งยังมีคำถามอื่นอีกมากมายว่า เพราะเหตุใดประเทศไทยจึงต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ขณะที่ควรจะกระจายความเสี่ยงไปให้กับพลังงานทางเลือกอย่างอื่น ทั้ง แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ฯลฯ แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เกี่ยวโยงอยู่บนความซับซ้อนของผลประโยชน์ ทั้งรัฐบาล เอกชน นักการเมือง ข้าราชการ ฯลฯ ที่มองเห็นเรื่องพลังงานเป็นเค้กก้อนโต ที่จะยื้อแย่งกันอย่างไม่จบสิ้น

 

ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน-ไฟฟ้า วิเคราะห์สถานการณ์ ที่กำลังเกิดขึ้นกับโครงสร้างพลังงาน และไฟฟ้าของไทยในปัจจุบัน ผ่านศูนย์ข่าว TCIJ

 

 

ศูนย์ข่าว TCIJ : มองว่ารัฐบาลมีวาระซ่อนเร้นอะไร หรือมีสัญญาณอะไร ที่ออกมาประโคมข่าวเรื่องการขาดก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้าจะดับ จากการซ่อมแท่นเจาะก๊าซของพม่า ทั้งที่มีการปิดซ่อมอยู่เกือบทุกปี

 

ชื่นชม : ทุกปียาดานา เยตากุน หยุดเพื่อซ่อมบำรุงทุกปี แต่ก็ไม่เคยมีไฟฟ้าดับ จึงเป็นเรื่องแปลกใจของคนในวงการว่าเกิดอะไรขึ้นในปีนี้ และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องอะไรที่เราเพิ่งรู้ เรารู้เรื่องเหล่านี้มานานแล้ว เหมือนเป็นแผนหยุดประจำปี ต้องตั้งคำถามว่าในปีก่อน ๆ เราวางแผนได้ล่วงหน้า ซึ่งก็รู้อยู่แล้วไม่ใช่เพิ่งมารู้ ฉะนั้นถามว่า ถ้าจะปิดซ่อมจำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องมาปิดซ่อมตอนช่วงพีคของการใช้ไฟฟ้าของเรา อันนี้ประเด็นหนึ่ง ซึ่งต้องถามไปยังรัฐบาลว่าคุณรู้มาตั้งนานแล้ว แต่ทำไมคุณไม่วางแผนแล้วเพิ่งมาตีปี๊บ จึงสงสัยว่าคุณวางแผนล่วงหน้าไม่ได้หรือ

 

ประเด็นที่สองคือว่า ในการเจรจา ปตท.สผ.ซึ่งเป็นบริษัทของไทยเอง จริง ๆ เป็นหุ้นส่วนด้วย และเจรจาในความเป็นรัฐไทย ฉะนั้นตรงนี้ทำไมปตท.สผ.ลอยตัวมากไม่ออกมาพูดอะไรเลย ซึ่งปตท.สผ.เป็น 1 ใน 4 ของบริษัทที่ถือหุ้น ทำไมจึงไม่ช่วยในการเจรจา หรือรับผิดชอบอะไรบ้างเลย

 

ประเด็นที่สาม ในการสัมมนาการจัดทำแผน PDP 2010 (ตาราง 1) ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังใช้แผน PDP 2010 อยู่ แต่ว่าเป็นการปรับปรุงครั้งที่ 3 แต่ว่าเมื่อปี 2553 เขาระบุเลยว่าจะมีผลกระทบจากแหล่งก๊าซทางด้านตะวันตก ตั้งแต่ปี 2553 แล้ว และเมื่อเขาปรับปรุงแผนจาก PDP 2007 เขาปรับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) มาแล้ว จากแต่เดิมเป้ากำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง จะอยู่ที่ 15 เปอร์เซนต์ เขาวางแผนขึ้นไปเป็น 25 เปอร์เซนต์ ในปี 2556 ยังไม่พออีกหรือ ก็ต้องถามว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งจริง ๆ เราไม่ได้รู้ล่วงหน้าปีที่แล้ว แต่เรารู้ล่วงหน้ามานานแล้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ศูนย์ข่าว TCIJ : วิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร

 

ชื่นชม : น่าแปลกใจ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเกิดการเล่นตัวเลข หรือเล่นอะไรกันอยู่ ทั้งในส่วนของกฟผ.เอง และในส่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถ้าให้เดา ต้องบอกว่านี่เป็นการคาดเดา ซึ่งข่าวที่ปรากฎตามหนังสือพิมพ์ก็คือว่า มีการอนุมัติงบประมาณ 65 ล้านบาท เพื่อที่จะสื่อสารกับสังคมว่า ไฟฟ้ายังขาด เพื่อที่จะสังคมรับรู้ว่า เราไม่มีไฟฟ้าใช้ เพื่ออะไร ทั้งหมดนี้ชี้เลยว่า เป็นการทำการตลาด เพื่อนำไปสู่อะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะปั่นเงิน ตอนนี้ออกมาในรูปของอย่างเช่น จะต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้ามากขึ้น คำถามก็คือ ที่กฟผ.บอกว่าเรามีกำลังผลิตติดตั้งอยู่ที่ 33,000 เมกะวัตต์ ทีนี้เรามาดู (ตาราง 2) เขาบอกว่ามันจะหายไป 4,100 เมกะวัตต์

 

ศูนย์ข่าว TCIJ  : มองว่าเป็นการนำนโยบาย หรือสิ่งที่คิดกันไว้แล้ว มาครอบหรืออาศัยสถานการณ์ตอนนี้หรือไม่

 

ชื่นชม : มองว่า เขามีโปรเจคที่รอไว้หมดแล้ว เพราะในการบริหารของไทยใช้ระบบแบ่งเค้ก เป็นระบบการจัดสรรโควต้า จริง ๆ เพิ่งแบ่งไปไม่นานเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 แต่ทีนี้เหมือนกับว่าเค้กมันใหญ่ไม่พอ จึงพยายามทำให้เค้กก้อนใหญ่ขึ้น ซึ่งต่อไปก็จะมีการขุดก๊าซ การนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และกรณีของถ่านหิน เช่น กรณีของบ้านปู หุ้นก็ขึ้น 14 บาท (วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556) สวนกระแสตลาดหุ้น

 

 

 

ศูนย์ข่าว TCIJ : แสดงว่าเป็นการฉวยโอกาสของรัฐบาล โดยเอาประชาชนผู้ใช้ก๊าซ ใช้ไฟฟ้า เป็นตัวประกันใช่หรือไม่ว่า ต่อไปนี้จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น หรือกำลังจะบอกว่า ก๊าซจะไม่พอแล้ว หรือประเทศเราพึ่งพาก๊าซมากเกินไป เราควรจะหันมาใช้ถ่านหิน หรือมากไปจนถึงขนาดที่ว่าเราต้องใช้นิวเคลียร์

 

ชื่นชม : ใช่ ตรงนี้น่าสนใจ เพราะว่ากิจการไฟฟ้าเป็นกิจการที่ผูกขาด กับธุรกิจอื่น สมมุติอสังหาริมทรัพย์ เอกชนก็ทำการตลาดของเขา ถ้าเขาทำผิดพลาด ลงทุนผิดพลาด ลงทุนเกินหรือเกิดฟองสบู่อันนั้นก็เดือดร้อนเอง แต่ไฟฟ้าเป็นกิจการที่ผูกขาด ฉะนั้นผู้ใช้ไฟทั่วประเทศก็ต้องตกอยู่ในภาวะจำยอม ไม่สามารถไปซื้อไฟจากที่อื่นได้ เพราะไม่มีการแข่งขัน และในการทำการตลาด น่าสนใจว่า รัฐเป็นคนทำการตลาด ให้กับบริษัทพลังงานต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นเอกชน อันนี้จะไม่ใช่แค่ธุรกิจพลังงาน แต่เป็นคนขายเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน ต่อไปถึงผู้รับสัมปทานเช่น เชฟรอน ปตท.สผ. เป็นต้น คือ ซับพลายเชน (Supply Chain-ห่วงโซ่อุปทาน) มันยาว แต่ว่าทั้งหมดอยู่บนประชาชนที่จะต้องมาแบกรับภาระ

 

            “ตอนนี้มันเกินที่จะใช้คำว่าโยนหินถามทางแล้ว แต่เป็นสูตรสำเร็จของเขา ที่ทำให้คนรู้สึกกลัว จนเกิดความชอบธรรมที่ทำให้เขาเกิดการลงทุนขยายอะไรต่าง ๆ นำมาซึ่งเกิดภาระผูกพัน ที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายในที่สุด อย่างกรณีของก๊าซ ที่เราสร้างโรงไฟฟ้าไปเยอะแยะ สัญญาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการซื้อก๊าซ ซื้อไฟฟ้า อย่างโรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าไตรเอ็นเนอจี โรงไฟฟ้าราชบุรีพาวเวอร์ ฯลฯ กำลังผลิตหายไป แต่ไปดูการวิเคราะห์หุ้นของตลาดหลักทรัพย์จะพบว่า บริษัทเหล่านี้ไม่กระทบเลยแม้แต่บาทเดียว เพราะอะไร เพราะว่าในโครงสร้างสัญญากำหนดไว้แล้วว่า กำไรของเขาไม่ขึ้นอยู่กับว่าโรงไฟฟ้าของเขาจะถูกใช้หรือไม่ โรงไฟฟ้าได้กำไรจากการจ่ายค่าความพร้อมจ่าย ฉะนั้นโรงไฟฟ้าใช้ไม่ใช้ผู้บริโภคก็ต้องจ่าย ซึ่งไม่ได้จ่ายเฉพาะค่าลงทุน แต่จ่ายค่าประกันกำไรด้วย ดังนั้นกลายเป็นว่าสร้างมาเต็มไปหมดเลย ใช้ไม่ใช้ไม่สำคัญขอให้ได้สร้าง เพื่อเอามาเป็นตัวเลขผลกำไร ตัวเลขจีดีพีอะไรต่าง ๆ นี่คือโครงสร้างที่เรามี และมันจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ และก็มาอ้างว่าใช้ได้บ้างใช้ไม่ได้บ้าง” ชื่นชมกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ศูนย์ข่าว TCIJ : ที่บอกว่าประเทศไทยพึ่งพาการใช้ก๊าซมากเกินไปจริงหรือเปล่า

 

ชื่นชม : ต้องบอกว่าพึ่งพาค่อนข้างมาก ก็เห็นด้วยกับรัฐ แต่ทีนี้ต้องถามว่ามาตรการที่เขาออกมาสอดคล้องกันหรือไม่ อย่างที่เขาบอกว่าเดือนมิถุนายน 2556 จะมีการสรุปผลการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้า 5,400 เมกะวัตต์ ทั้ง 100 เปอร์เซนต์ของโรงไฟฟ้าเป็นการใช้ก๊าซทั้งสิ้น ถามว่าอย่างนี้มันสอดรับอย่างไร ที่คุณบอกว่าก๊าซมีปัญหาและนำไปสู่ความเสี่ยง คุณกำลังพาประเทศ พาผู้บริโภคไปสู่การพึ่งพิงก๊าซมากยิ่งขึ้น แล้วที่น่ากลัวคือ นี่ขนาดเป็นก๊าซที่อยู่ในเขตน่านน้ำที่เรามีชายทะเลติดกัน และปตท.สผ.ก็มีส่วนในการลงทุนในแหล่งก๊าซยาดานา และเยตากุนเอง ยังมีปัญหาขนาดนี้ แล้วถ้าเป็นก๊าซที่จะนำเข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้า IPP ที่จะมีการประมูล เป็นก๊าซที่นำเข้าจากการ์ต้า หรือที่อื่น ๆ ที่ไกล ๆ ทั้งสิ้น และมีราคาแพงกว่าก๊าซจากอ่าวไทยและพม่าถึง 2 เท่า ถามว่า คุณยังไม่รู้เลยว่า เราจะแก้ปัญหาก๊าซในปัจจุบันอย่างไรที่ไม่ให้เกิดความอ่อนไหว และคุณกำลังทำซ้ำรอยเดิม โดยไม่มีการสรุปบทเรียนว่า ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร แต่กลับมีการตีปี๊บเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพิ่มขึ้นอีก โดยไม่ได้มีวิธีการกระจายทางเลือกอื่น ซึ่งความจริงก็มี อย่างตอนนี้ก็มีพลังงานสะอาดมากมาย

 

            “ปัจจุบันเราใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยโดยไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ อันนี้เขามองเห็นปัญหา และออกมาเป็นแผนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งรัฐบาลก็อนุมัติงบประมาณเรียบร้อยแล้ว ประมาณ 29,000 ล้านบาท แต่ตรงนี้กลับไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนออกมา และก็พลังงานหมุนเวียน ตอนนี้ถูกควบคุม ซึ่งความจริงศักยภาพสามารถเติบโตมารองรับการใช้ แต่ช่วงที่ผ่านมามีการวางระเบียบการรับซื้อพลังงานหมุนเวียน ก็คือ ถ้าคุณมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ โดยใช้เชื้อเพลิงทางเลือกเช่น ชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ก็จะเข้ามาได้ และกฟผ.จะรับซื้อในราคาที่กำหนดไว้ แต่ปรากฎว่าเมื่อธุรกิจตรงนี้เริ่มขยายตัว กลายเป็นว่า การเมืองเริ่มเข้ามา เพราะมองเห็นว่าเป็นธุรกิจที่จะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ ผู้ที่สนใจจึงกลายเป็นคนของนักการเมือง กลายเป็นว่าในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรอง มาบริหารว่าผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามาได้ จะเป็นใครบ้างที่จะสามารถดำเนินการได้ ซึ่งตรงนี้เจตนาอาจจะดี ตามคำพูดของเขา แต่ในทางปฏิบัติทำให้เกิดช่องทางในการทุจริตคอร์รัปชั่น มีการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้มา จึงทำให้ทุกอย่างเกิดการหยุดชะงัก พลังงานหมุนเวียนแทนที่จะเกิดขึ้นได้ ก็หยุดชะงักลง แค่นั้นยังไม่พอสมัยรัฐบาลนี้มีโควต้าของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ที่เป็นรัฐมนตรีหลังบ้าน ปรากฎว่ามีการตั้งกรรมการอีกชุดหนึ่งขึ้นมากลั่นกรองจากกระทรวงอุตสาหกรรม เรียกว่าคณะกรรมการกลั่นกรองใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ซึ่งเดิมทีไม่มี ทั้งที่เดิมทีไม่มีแค่เป็นการขออนุญาต แต่ตอนนี้กลับมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง เรียกได้ว่า ตอนนี้โอกาสการเกิดพลังงานหมุนเวียนแทบจะเป็นศูนย์ นอกจากว่าคุณจะเส้นใหญ่จริง แล้วก็เงินถึง” ชื่นชมกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ศูนย์ข่าว TCIJ : ตอนนี้พีคของไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 27,000 เมกะวัตต์ ซึ่งห่างจากกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมากพอสมควร คิดว่าน่าจะเพียงพอแล้วหรือไม่

 

ชื่นชม : คิดว่าน่าจะเพียงพอแล้ว ในเอกสารของกฟผ.ระบุว่า จากกำลังผลิตติดตั้ง 33,000 เมกะวัตต์ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดคือ 26,500 เมกะวัตต์ คือประมาณการของปี 2556 ดังนั้น ถ้า 33,000 เมกะวัตต์ ก็จะเหลือประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ เขาบอกว่าจะหายไปกับก๊าซประมาณ 4,100 เมกะวัตต์ ก็จะเหลือประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะอะไรที่บอกว่าเหลือเพียง 600 เมกะวัตต์ กฟผ.อ้างว่า เขื่อนบางแห่งน้ำแห้ง แต่ต้องบอกว่าจริงๆแล้ว เขื่อนเป็นพีคโหลด แม้ว่าน้ำจะแห้งแต่เราใช้ไฟฟ้าจะเขื่อนเป็นช่วงเวลาสั้นมากๆ คือใน 1 วันเราผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่เราจะเก็บน้ำไว้เฉพาะตอนที่พีคมาก ๆ เช่นประมาณบ่ายสองโมง ซึ่งเราจะเก็บน้ำในเขื่อนไว้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าเฉพาะช่วงนั้นได้หรือไม่ ซึ่งน้ำอาจจะมีอยู่ไม่มากก็จริง แต่มันก็ยังมี จึงอยากเอาตัวเลขมาดูว่าน้ำไม่มีเลยหรือ น้ำมันต่ำขนาดที่ไม่สามารถปล่อยได้เลยหรือ ซึ่งเราในฐานะผู้บริโภคจ่ายค่าลงทุนตรงนี้ไปแล้วกับค่าไฟ ทำไมใช้ไม่ได้ ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ใครเป็นผู้ดูแลเรื่องมาตรฐานโรงไฟฟ้า ความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้า

 

 

ศูนย์ข่าว TCIJ  : ถ้าเราหันไปใช้ถ่านหินมองว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์หรือไม่ อย่างไร หรือคุ้มแต่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ มากกว่า พอมาคำนวณแล้วไม่คุ้มค่า

 

ชื่นชม :  ตอนนี้ถ่านหินในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นถ่านหินที่มีคุณภาพต่ำคือลิกไนต์ คือ เราก็ทราบว่าไม่ได้สะอาดเหมือนที่มีการพูดกัน และเราจ่ายผ่านต้นทุนของการประกันสุขภาพของผู้ที่อยู่รอบ ๆ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ฉะนั้นเราอาจจะไม่ได้จ่ายโดยตรงแต่เราจ่ายโดยอ้อม หรือจ่ายในลักษณะของผ่านเรื่องของภาวะโลกร้อน ซึ่งก็ต้องมีการตีเป็นมูลค่า เพื่อที่จะเปรียบเทียบ ซึ่งอาจจะต้องเปรียบเทียบกับสองสิ่งที่แตกต่างกันโดยมีฐานว่า คุณตีค่าสุขภาพ ตีค่าความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมอย่างไร ซึ่งตีค่ายาก

 

           “เห็นด้วยกับการกระจายแหล่งเชื้อเพลิง แต่ต้องขอบอกว่าเรื่องของถ่านหิน ถ้าเราจะเอาราคาถูกก็ควรจะจ่ายโดยอ้อมคือ เรื่องของสุขภาพ จริง ๆ แล้ว เรื่องของถ่านหินตอนนี้ ส่วนใหญ่ถ้าจะมีการสร้างเพิ่ม ถ้ามองเชิงเศรษฐกิจเราต้องนำเข้า หากมองในระยะยาว เรื่องราคา อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือความสมดุลย์ก็ไม่ต่างกับก๊าซมากนัก เพราะแนวโน้มก็ต้องนำเข้า ราคาก็ต้องขึ้นอยู่กับตลาดโลก ไม่ได้อยู่ในความควบคุมของเรา หากมองในเชิงความเสี่ยง ไม่ได้กระจายความเสี่ยงเท่าไหร่นัก ความผันผวนของราคาอาจไม่เท่ากัน แต่ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ไม่อยากให้มองว่าถ่านหินหรือก๊าซ แต่อยากให้มองภาพรวมว่า เรากำลังเน้นการนำเข้าทั้งที่เรายังมีทรัพยากรในประเทศ ที่กระจายอยู่ก็ยังมี แล้วเราก็ยังสร้างเศรษฐกิจในประเทศ เศรษฐกิจของท้องถิ่นด้วย ซึ่งตรงนี้กลับกลายเป็นว่า ถูกปิดประตูเพราะมีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง และหากเรามองแค่ก๊าซกับถ่านหินนั่นก็คือ โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ซึ่งถามว่าใครคือคนได้ประโยชน์ ก็คือแค่ กฟผ. และบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งนั้น ทั้งราชบุรี เอ็กโก บ้านปู โกลว์ อิตาเลี่ยนไทย ไทยออยล์ ช.การช่าง ปตท. ดังนั้นเราจะเห็นว่าคือกลุ่มที่มีอิทธิพลทางด้านความคิดต่อการกำหนดนโยบาย ถ้าเรามาลงทุนกับโรงไฟฟ้ารายเล็กรายย่อยที่มีทรัพยากรอยู่ในประเทศ ที่เป็นพลังงานหมุนเวียน ตรงนี้ใครได้ประโยชน์ ถ้าเปิดประตูจริงๆ ทำทุกอย่างให้เท่าเทียมกัน เราจะพบว่าผลประโยชน์มันจะกระจาย ให้กับบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งไม่ได้โทษบริษัทเหล่านี้ แต่มันเป็นที่โครงสร้างจริง ๆ เพราะโครงสร้างมันเอื้อออกมา ทราบหรือไม่ว่าทุกวันนี้ที่เราให้ผลตอบแทนการไฟฟ้าอย่างไร ซึ่งผลตอบแทนขึ้นอยู่กับงบลงทุนโดยตรง ยิ่งลงทุนมากยิ่งกำไรมาก นี่คือเกณฑ์ทางการเงินที่ใช้ในการกำกับการไฟฟ้า ดังนั้นเราจะแปลกใจหรือไม่ว่าทำไมการไฟฟ้าจึงเน้นการสร้าง”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในส่วนของการกำหนดกิจการไฟฟ้า จะมีเกณฑ์ทางการเงินที่ใช้กำกับกิจการไฟฟ้า เรียกว่า Return On Oriented Capital คือการไฟฟ้ากำหนดตายตัวเป็นเป้าว่า กฟผ.กำหนดที่ 6.4 เปอร์เซนต์ ส่วนกฟภ.-กฟน. กำหนดที่ 5.8 เปอร์เซนต์ โดยสูตร ดังนั้น 6.4 เปอร์เซนต์เท่ากับกำไรสุทธิหลังหักภาษี หารด้วยเงินลงทุน ดังนั้นถ้าตรงนี้กำนดไว้ที่ 6 เปอร์เซนต์ แต่เราอยากได้กำไรสูง ๆ เพื่อที่ได้โบนัสมากๆ วิธีที่ทำให้ตรงนี้โตง่ายที่สุดคือ ทำให้งบลงทุนสูงยิ่งขึ้น นี่คือนำมาสู่ปรากฎการณ์ที่ว่าทำไมเขาจึงเน้นที่จะสร้างโรงไฟฟ้า ทำไมแทนที่จะให้บริษัทอื่นที่มีการแข่งขัน แต่ดูว่าการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เพื่อที่จะสามารถได้รายได้มากที่สุด ก็มีเรื่องของประสิทธิภาพ เรื่องของการใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่ามากที่สุด แต่ของกฟผ.ถ้าทรัพย์สินที่มีอยู่ใช้ประโยชน์ได้น้อยที่สุด เขาจะยิ่งกำไรมากเพราะถ้าโรงไฟฟ้าที่สร้างแล้วไม่สามารถเดินเครื่องได้ นั่นหมายความว่า เขามีโอกาสที่จะไปลงทุนใหม่ เขาก็จะกำไรมากขึ้น นี่คือสมการกลับหัวกลับหาง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ศูนย์ข่าว TCIJ  : แต่เรามองว่าโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ใช้พลังงานหมุนเวียน มีต้นทุนสูง ใช้เวลานาน กว่าจะประสบความสำเร็จ ไม่สามารถเอื้อต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นทุกวันได้ มีทางออกหรือทางแก้อย่างไร

 

ชื่นชม : ความคิดที่ว่านี้อาจเป็นจริงเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ ณ วันนี้ต้องปรับแล้ว อย่างกรณีการประมูล IPP ผู้ว่าฯกฟผ.ออกมาให้สัมภาษณ์เลยว่า ต้องทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างแน่นอน เพราะว่า ก๊าซเหลว (LNG) ที่นำเข้ามาจากการ์ต้า ทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่หน่วยละ 5 บาท ซึ่งถือว่าสูงมาก ที่นี้ลองเอามาเปรียบเทียบดูกับพลังงานหมุนเวียนว่าราคาเท่าไหร่ เพราะขณะนี้มีการลดลงอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาอย่างพลังงานแสงอาทิตย์แนวโน้มราคาเห็นได้ชัดมาก คือ หน่วยละ 6 บาท ซึ่งราคาเทียบเคียงกันได้แล้ว แต่ที่ผ่านมาเราเกิดการเปรียบเทียบบนฐานที่ลำเอียง เมื่อเราจ่ายค่าไฟฟ้า เราไม่ได้จ่ายเฉพาะค่าผลิต เราจ่ายในเรื่อง ค่าส่ง ค่าจำหน่าย แต่ถ้าเราลงทุนพลังงานหมุนเวียน อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ เราจะต้องลงทุนกับสายส่งขนาดใหญ่ เพื่อที่จะไฟฟ้าข้ามจังหวัด ข้ามประเทศมาให้ผู้ใช้ไฟหรือเปล่า คำตอบก็คือไม่ต้อง แต่ปรากฎว่าต้นทุนไฟสายส่งกลับไม่มาบวกรวมกับต้นทุนของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน ถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ คือวิธีการเปรียบเทียบของเขาจึงมาคิดว่าทำไมพลังงานหมุนเวียนมันแพง แต่เอาเข้าจริงๆ ณ ปัจจุบันแนวโน้มตอนนี้ทั่วโลก พลังงานขนาดใหญ่แบบรวมศูนย์มีราคาแพงมาก เพราะมันต้องรวมต้นทุน ของการส่งและจำหน่ายเข้าด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

            “กราฟอันนี้เป็นตัวอย่างของการศึกษา เขากำลังเปรียบเทียบแผน สีเหลืองหมายถึงค่าส่ง สีน้ำเงินค่าผลิต ต้นทุนการผลิต สีขาวคือต้นทุนเชื้อเพลิง สีชมพูคือ ต้นทุนการบำรุงรักษา ในนี้เขาบอกว่าถ้าเลือกที่จะใช้การผลิตแบบรวมศูนย์ ต้นทุนต่าง ๆ จะเป็นเท่าไหร่ แต่ถ้าเกิดว่าใช้ต้นทุนแบบกระจายศูนย์ เพิ่มขึ้นมาเป็น 25 เปอร์เซนต์ 50 เปอร์เซนต์ 75 เปอร์เซนต์ และ 100 เปอร์เซนต์ ต้นทุนมันจะเป็นเท่าไหร่ ที่ผ่านมาเราเลือกเปรียบเทียบเฉพาะมีน้ำเงิน แต่ถ้าเราใช้พลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์ เขาก็จะบอกว่าพลังงานหมุนเวียนแพง เพราะต้นทุนสีน้ำเงินมันแพงกว่า แต่ที่เขาลืมนับคือในส่วนสีเหลือง คือต้นทุนการส่ง อย่างแผนการลงทุนที่ผ่านมา แผน PDP มูลค่า 3 ล้านล้านบาท เป็นต้นทุนการผลิต และต้นทุนสายส่ง ค่าสายส่ง 45 เปอร์เซนต์ ของต้นทุนรวมทั้งหมดของการลงทุน แต่ตรงนี้เขาไม่เอามาเปรียบเทียบระหว่างแผนการผลิตแบบรวมศูนย์ กับการกระจายศูนย์ นี่ชี้ให้เห็นถึงมายาคติ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนว่ามีราคาแพง ทั้งที่ไม่แพง”

 

นอกจากนี้เราจะสามารถพึ่งพลังงานหมุนเวียนได้มากน้อยแค่ไหน อันนี้ก็ต้องบอกว่าพลังงานหมุนเวียนมีศักยภาพสูงพอสมควร แต่ก็ไม่สามารถทดแทนพลังงานรวมศูนย์ได้ทั้งหมด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นส่วนที่ทำได้ มันก็ยังไม่สามารถเกิดได้ และจริง ๆ แล้ว มีผู้ประกอบการที่อยากจะทำตรงนี้ให้มันเกิดขึ้น แต่ตอนนี้ถูกกลไกของคณะกรรมการทั้งหลายปิดประตูไม่ให้เกิด

 

 

 

ศูนย์ข่าว TCIJ  : ขณะที่เราต้องการให้มีพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกอื่น แต่ในพื้นที่จริงๆ ก็ยังมีคนต่อต้านโรงไฟฟ้าชีวมวล เพราะก่อมลพิษเหมือนกัน หรือแม้แต่โรงไฟฟ้าชีวมวลบางแห่งก็พัฒนามาใช้ถ่านหิน ซึ่งเหมือนไม่จริงใจกับชุมชน จะทำอย่างไรให้ระบบนี้นิ่งและอยุ่ในความควบคุม

 

ชื่นชม : เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงกลไกของรัฐที่ไม่ทำงาน คือ ไม่ใช่แค่โรงไฟฟ้าชีวมวล แต่มันเป็นทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน ถ่านหิน หรือก๊าซ คือที่ผ่านมา พอมีผลกระทบแล้ว รัฐไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่วางไว้ ตรงนี้ต้องบอกว่ากลไกของรัฐไม่ทำงาน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การชนกันโดยตรงระหว่างเอกชนที่ต้องการสร้างโรงไฟฟ้า กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบที่ต้องการความเป็นธรรม จริง ๆ แล้วทำได้ไม่ยากคือ เรื่องการอุดช่องโหว่ของกฎหมาย ที่เกิดปัญหาเพราะประชาชนไม่สามารถที่จะมีความมั่นใจใด ๆ เลยว่า โรงไฟฟ้าจะมีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ เพราะปรากฎว่า โรงไฟฟ้าขนาดต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จึงไม่มีอะไรมาอ้างอิงเลยว่า แล้วถ้าไม่เป็นไปตามอีไอเอแล้วชาวบ้านมีหลักประกันอะไร ซึ่งจริง ๆ แล้วทำไม่ยาก ก็คือให้โรงไฟฟ้าขนาดเล็กต้องมีมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ที่สามารถบังคับใช้ได้จริง ไม่ใช่มีคณะกรรมการเพื่อใช้เป็นข้ออ้างเพื่อไม่ให้โรงไฟฟ้าบางโรงเกิด แต่เอาเข้าจริง ๆ ไม่มีการควบคุมอะไรได้เลยว่า มาตรฐานเป็นอย่างไร เป็นกลไกของรัฐที่ไม่ทำงาน ซึ่งจริง ๆ แก้ไขได้

 

นอกจากนี้ที่กำหนดว่าโรงไฟฟ้าควรจะตั้งที่ใด เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า อยู่ในที่ที่ไม่มีผลกระทบต่อชุมชน รัฐต้องมาเป็นตัวกลางในการเลือกพื้นที่ แต่ปัจจุบันการประมูล IPP วิธีการดำเนินงานคือว่า เอกชนต้องไปควานหาว่าจะซื้อที่ดินได้ตรงไหน ก็มาประมูล เมื่อประมูลได้ก็จะลงมือสร้าง ซึ่งเงื่อนไขของการประมูลคือ ห้ามเปลี่ยนเงื่อนไขที่ยื่นประมูลแล้ว ทีนี้ถ้าพื้นที่ตรงนั้นมีปัญหา หรือเกิดอะไรขึ้น เอกชนก็ต้องออกมาชนกับผู้ได้รับผลกระทบ เพราะเงื่อนไขมันถูกล็อกไว้หมดแล้ว ซึ่งถ้าจะให้ดีรัฐบาลเป็นคนดูว่า มีพื้นที่ใดที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า มีพื้นที่ใดที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า แล้วทำกระบวนการในเรื่องของชุมชนให้เสร็จแล้วค่อยมาเปิดประมูล ว่าพื้นที่ตรงนี้ใครต้องการทำ ใครทำได้ในราคาถูกที่สุดก็ทำ จริง ๆ กลไกแบบนี้รัฐทำได้ แต่รัฐไม่ทำ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเอกชนกับชุมชนมาสู้กันเอง ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องที่เหนื่อยมากสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ แต่ยังทำให้เกิดต้นทุนที่สูงมากสำหรับผู้ประกอบการด้วย ซึ่งตรงนี้หนีไม่พ้นที่ต้องเป็นต้นทุนผ่านมายังผู้ใช้ไฟ ทางค่าเอฟที ค่าโน่นค่านี่

 

 

ศูนย์ข่าว TCIJ  : อยากให้วิเคราะห์ว่าแนวโน้มของโลกเป็นอย่างไร เพราะปัจจุบันหลายประเทศกำลังแสวงหาแหล่งพลังงานเหมือนกับไทย และไทยควรจะปรับตัวอย่างไร

ชื่นชม : แต่เดิมเรามองว่าพลังงานเป็นสิ่งจำเป็น และรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องจัดหาให้เพียงพอกับความต้องการ ทีนี้มันมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความเป็นเอกชนที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ไม่ได้หยุดแค่นั้น จากไฟฟ้าที่เคยถูกมองว่าเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ตอนนี้กลายเป็นสินค้าตัวหนึ่งแล้ว นี่คือแนวโน้มที่เห็นมาทั่วโลก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็น Hedge Fund (กองทุนที่มุ่งผลกำไรสูงสุด) การซื้อขายพวก Futures & Options (สัญญาซื้อขายล่วงหน้า) ที่กำลังจะบอกก็คือว่า ตลาดทุนโลกกำลังมีอิทธิพลเป็นอย่างมากในการมองว่า พลังงานเป็นอย่างไร การลงทุนเป็นอย่างไร ตอนนี้การลงทุนในพลังงาน หรือการบริหารในเรื่องพลังงาน ถูกกำหนดโดยนักปั่นหุ้น พลังงาน ณ ปัจจุบันจึงถูกโดปให้มีการไหลเวียนของเงินมหาศาลระดับโลก ซึ่งผลในทางปฏิบัติคือ มีการเก็งกำไรหลายทอดหลายต่อตลอด Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทาน) ทำให้เกิดการลงทุนเกินความต้องการที่แท้จริง ทำให้เกิดการบริโภคเกินปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากว่ายิ่งลงทุนมากยิ่งกำไรมาก การไฟฟ้าจึงไม่มีแรงจูงใจอะไรใด ๆ ที่จะทำให้เกิดการบริโภคพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นนี่ก็คือเป็นแนวโน้มในการปั่นเงินของระบบเศรษฐกิจโลก สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ทั้งหมดทำอยู่บนหลังของประชาชนผู้ใช้พลังงาน ซึ่งหากวันหนึ่งผู้บริโภครับภาระนี้ไม่ไหว และความต้องการใช้พลังงานลดลง เกรงว่าจะเกิดปัญหาฟองสบู่แตก ซึ่งจะไม่เกิดเฉพาะพลังงานแล้ว แต่จะกระทบไปทั่วต่อระบบเศรษฐกิจมหภาค กระทบต่อระบบเศรษฐกิจของโลก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: