อัดกสท.จัดทีวีดิจิตัลไร้หลักเกณฑ์ รัฐได้ครองกว่าครึ่ง-ปฏิรูปสื่อแท้ง ระบุไม่ฟังความเห็นส่อผิดกฎหมาย

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 28 มี.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1450 ครั้ง

 

ในที่สุดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ก็มีมติเห็นชอบ 3 ต่อ 2 เสียง ในการกำหนดช่องรายการสำหรับกิจการบริการสาธารณะโทรทัศน์ระบบดิจิตัล จำนวน 12 ช่องรายการ ซึ่งมีการกำหนดประเภทและคุณสมบัติผู้มีสิทธิยื่นขอใบอนุญาตได้ตามมาตรา 10 ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ.2551

 

แต่ดูเหมือนว่าการกำหนดช่องทีวีสาธารณะของ กสท. ครั้งนี้จะสร้างข้อกังขาให้แก่สังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง ไม่ต่างจากเมื่อครั้งการประมูลคลื่น 3จี เพราะเมื่อสำรวจโครงสร้างของช่องสาธารณะทั้ง 12 ช่อง ปรากฏว่ายังไม่ได้ตอบโจทย์การปฏิรูปสื่อ อันเป็นเจตจำนงดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 ตรงกันข้าม ความพยายามจากเมื่อ 16 ปีก่อน ในการกระจายทรัพยากรสาธารณะชิ้นนี้ ยังคงตกอยู่ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์และอำนาจเดิม ๆ

 

 

กสท. จัดช่องให้กองทัพบก-กรมประชาฯ-ไทยพีบีเอส ไม่ต้องผ่านบิวตี้ คอนเทสต์

 

 

12 ช่องทีวีดิจิตัลสาธารณะตามการกำหนดของ กสท. แบ่งได้ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก จัดให้แก่ผู้ประกอบการรายเดิมคือช่อง 5, ช่อง 11 และไทยพีบีเอส ซึ่งในส่วนของไทยพีบีเอส นอกจากการได้ช่องทีวีดิจิตัลสาธารณะตามสิทธิการเป็นผู้ประกอบการรายเดิมแล้ว ยังได้เพิ่มอีก 1 ช่องภายใต้บันทึกข้อตกลงเบื้องต้นหรือเอ็มโอยู (MOU) ที่ทำไว้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยกำหนดให้มีเนื้อหาสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว

 

ขณะที่อีก 8 ช่อง ทาง กทช. จะพิจารณาให้ใบอนุญาตตามคุณสมบัติ (Beauty Contest) โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ดังนี้ ทีวีสาธารณะประเภทที่ 1 ได้แก่ ช่องที่ 5 เพื่อการส่งเสริมความรู้ การศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, ช่องที่ 6 เพื่อส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพ และช่องที่ 7 เพื่อส่งเสริมสุขภาพ อนามัย กีฬา หรือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

ทีวีสาธารณะประเภทที่ 2 ได้แก่ ช่องที่ 8 เพื่อความมั่นคงของรัฐ, ช่องที่ 9 เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ และช่องที่ 10 เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนและรัฐสภากับประชาชน

 

และทีวีสาธารณะประเภทที่ 3 ได้แก่ ช่องที่ 11 เพื่อสนับสนุนการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และช่องที่ 12 เพื่อบริการข้อมูลข่าวสารสาธารณะแก่คนพิการ คนด้อยโอกาส เด็กและเยาวชน

 

 

หน่วยงานรัฐมีสิทธิคว้าช่องสาธารณะเกินครึ่ง

 

 

หากดูตามเนื้อหาสาระของแต่ละช่องแบบผ่าน ๆ อาจไม่เห็นความผิดปกติ เพราะเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ แต่หากวิเคราะห์ผู้ที่ได้ครอบครองช่องและเนื้อหาของแต่ละช่องจะพบว่า ครึ่งหนึ่งจาก 12 ช่องตกอยู่ในกำมือของภาครัฐ เพราะช่อง 5 ก็คือ กองทัพบก ช่อง 11 คือกรมประชาสัมพันธ์ ขณะที่เนื้อหาของช่องที่ 8, 9, 10 และ 11 ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า เนื้อหา รูปแบบ ผังรายการ รวมถึงผู้ที่จะผลิตรายการให้ก็คงหนีไม่พ้นหน่วยงานของรัฐแห่งใดแห่งหนึ่ง

 

เกิดเป็นคำถามใหญ่ว่า สุดท้ายแล้ว ช่องทีวีดิจิตัลสาธารณะเป็นช่องสาธารณะจริงหรือไม่

 

สิ่งนี้ทำให้ข้อสังเกตตั้งแต่ครั้งได้บอร์ดกสทช. ที่ว่า บอร์ด กสทช. ทั้ง 11 คน เป็นผู้ที่มาจากสายทหารและตำรวจรวมกันถึง 6 คน เสมือนหนึ่งเป็นตัวแทนภาครัฐและฝ่ายความมั่นคง ที่หมายมั่นปั้นมือส่งเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ ไม่ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ โดยในส่วนของกสท. ประกอบด้วย พ.อ.นที ศุกลรัตน์, พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ, พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า, นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ซึ่งเมื่อดูจากองค์ประกอบของ กสท. และมติ 3 ต่อ 2 ก็น่าจะบ่งบอกอะไรได้พอสมควร

 

 

            “ในทางเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์มีทฤษฎีที่เรียกว่าทฤษฎีตัวแทนหรือปัญหาตัวแทน สอดคล้องกับ กสทช. เวลาที่มีตัวแทน พฤติกรรมของตัวแทนมักจะผิดจากที่เราคาดหวัง เพราะตัวแทนก็มีผลประโยชน์ กสทช. ก็เป็นหน่วยงานที่มีผลประโยชน์ของตัวเอง แต่อาจขัดกับผลประโยชน์ของประชาชน” ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ตั้งข้อสังเกต

 

 

ทำไมให้ไทยพีบีเอส 2 ช่อง-แฉเขียนกฎหมายเปิดช่องให้รัฐได้ช่องสาธารณะ

 

 

มุมมองของ ดร.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้อำนวยการสถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ กล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ มีลักษณะหัวมังกุท้ายมังกร ไม่ได้เป็นไปตามที่เจตนารมณ์ของตัวกฎหมาย เนื่องจาก กสทช. เองยังไม่มีความเข้าใจที่ดีเพียงพอว่า ‘บริการสาธารณะ’ คืออะไร ซึ่ง ดร.สุวรรณาเห็นว่า เป็นสิ่งสำคัญมาก ก่อนที่จะมีการกำหนดช่องรายการให้แก่ใคร ทั้งกฎหมายยังกำหนดว่า ทีวีสาธารณะต้องมีข่าวสารและสาระประโยชน์อย่างน้อยร้อยละ 70 แต่ตัวชี้วัดกลับยังไม่มีความชัดเจน

 

 

 

            “กฎหมายกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่แต่ละประเภทต้องจัดผังรายการให้มีสัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสารและสาระประโยชน์อย่างน้อยร้อยละ 70 แต่ผู้ประกอบการรู้หรือยังว่าผังแบบไหนจึงจะเป็นบริการสาธารณะ เพราะมันยังไม่มีคำตอบว่าข่าวสารหรือสาระประโยชน์คืออะไร กสท. ก็ไม่เคยบอกให้เรารู้เลยว่าบริการสาธารณะคืออะไร แล้วจะเตรียมตัวอย่างไร”

 

 

ประเด็นการแบ่งช่องและการกำหนดเนื้อหา ดร.สุวรรณา กล่าวว่า แรกเริ่มคาดหวังว่า ทาง กสท. จะใช้วิธีการตีความกฎหมายเพื่อกำหนดช่องให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ แต่สิ่งที่ กสท. ทำกลับเป็นการยกข้อความจากกฎหมายมาแยกย่อยออกเป็นช่องต่างๆ แทน (ดูล้อมกรอบ)

 

 

           “แล้ว กสทช. ก็บอกว่า ช่อง 5 ขึ้นมาด้วยกองทัพบก ช่อง 11 ขึ้นมาด้วยกรมประชาสัมพันธ์ แล้วก็ให้ช่อง 3 และช่อง 4 แก่ไทยพีบีเอส ดิฉันอยู่ในชมรมวิทยุเด็ก เยาวชน และครอบครัว และผลักดันให้เกิดช่องรายการสำหรับคนกลุ่มนี้ แต่ดิฉันไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมไทยพีบีเอสถึงได้ช่องนี้ มีกติกาตรงไหนที่ให้จัดสรรคลื่นความถี่ด้วยเอ็มโอยูของ กสทช. ที่พูด ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วย แต่กำลังถามหาหลักเกณฑ์ ถามหาความเป็นธรรม และถามหาความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ที่ช่องอื่นๆ เอาตัวหนังสือตามกฎหมายมาครบทุกตอน แต่ช่องไทยพีบีเอส เอาตรงไหนมาเขียนว่ามีช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว

 

“อีกจุดหนึ่ง ในฐานะที่ดิฉันเป็นผู้ร่างกฎหมายมาตรานี้ ต้องบอกว่าตอนที่ยกร่างมีเพียงวรรคแรกวรรคเดียว แต่วรรคที่ 2 และวรรคที่ 3 เรื่องความมั่นคง ความปลอดภัยสาธารณะ สิ่งเหล่านี้มาโผล่เอาในชั้นกรรมาธิการก่อนจะประกาศเป็นกฎหมาย ถามว่าเห็นความผิดปกติหรือไม่ เพราะวรรคที่ 1 ที่เป็นการจัดบริการสาธารณะประเภทที่ 1 เป็นการจัดตามเนื้อหารายการ แต่ประเภทที่ 2 จัดตามกลุ่มผลประโยชน์”

 

 

นักวิชาการชี้ กสทช. เป็นตัวแทนโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์เดิม

 

 

ด้าน ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเห็นต่อการจัดแบ่งช่องของ กสท. ว่า รูปร่างหน้าตาของ กสทช. ก็คือการจำลองโครงสร้างอำนาจเดิมของสังคม เพราะเป็นการส่งตัวแทนลงไปยึดครองสิ่งที่กลุ่มอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์เดิมเคยได้

 

 

“ถามว่า ช่องทีวีสาธารณะ ทำไมจึงถอดกฎหมายเอามาวางเป็นช่อง ทั้งที่การถอดกฎหมายมาวางไม่ได้คงหลักวิชาการอะไรเลย มีช่องอยู่ในใจหรือเปล่า นี่คือคำถาม ถ้าไม่มีกสท.ต้องบอกเกณฑ์ เพราะจะเห็นได้ว่าหน่วยงานของรัฐบางแห่งมีสิทธิจะอยู่ในแทบทุกช่อง” ดร.จิราพรกล่าว

 

ดร.จิราพร อธิบายให้เห็นความบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้น ซึ่งขัดแย้งกับแนวทางการปฏิรูปสื่อเมื่อครั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่า เดิมทีแนวคิดการปฏิรูปสื่อเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการผูกขาดใน 3 ประเด็นคือ การผูกขาดด้านความเป็นเจ้าของ, การผูกขาดด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการผูกขาดด้านเนื้อหา ซึ่งเกิดขึ้นจากการจับมือระหว่างนักการเมืองกับทุนจนเกิดการครอบงำสื่อในยุคก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 การจะเปลี่ยนสภาพนี้จำเป็นต้องปฏิรูปเชิงโครงสร้าง กสทช. จึงเกิดขึ้นเพื่อกระทำภารกิจนี้ แต่หากดูจากกรณีทีวีดิจิตัล 48 ช่อง กลับยังคงเห็นโครงสร้างเดิมๆ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น คือภาคธุรกิจได้รับการจัดสรร 24 ช่อง ภาครัฐ 12 ช่อง และภาคประชาชน 12 เห็นได้ว่าตัวเลขสวนทางกันแนวคิดการปฏิรูปสื่อ เพราะภาคธุรกิจกับภาครัฐยังคงครอบครองช่องรวมกันถึง 75 เปอร์เซ็นต์

 

 

สื่อธุรกิจครอบทั้งแอบแฝงและเปิดเผย กสทช. ไม่ทำอะไร

 

 

เหล่านี้สะท้อนว่า กฏหมายยังเอื้อให้มีการคงสิทธิในโครงสร้างเดิม ไม่เกิดการกระจายทรัพยากร การเป็นเจ้าของยังกระจุกตัว ทั้งยังมีความไม่ชัดเจนระหว่างประเภทของบริการ เช่น บริการสาธารณะ บริการชุมชน กิจการธุรกิจ เป็นต้น

 

 

           “การจัดสรรความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจก็ยังเหมือนเดิม กสท. กำหนดเกณฑ์ว่าต้องเป็นข่าวสารและสาระประโยชน์ร้อยละ 70 แต่ในกฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียงฯ มาตรา 9 และ 11 เปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐด้านความมั่นคงสามารถหารายได้จากการให้เช่าเวลาไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 แต่ไม่เกินร้อยละ 40 และมีการโฆษณาได้เท่าที่เพียงพอต่อการประกอบกิจการ แบบนี้ไม่ใช่บริการสาธารณะแล้วใช่หรือไม่ แล้วกฎหมายมันขัดแย้งกันเองได้อย่างไร เพราะบอกต้องมีสาระร้อยละ 70 แต่กลับให้เช่าเวลาได้สูงถึงร้อยละ 40 ดังนั้น การที่บอกว่าบริการสาธารณะ บริการชุมชน มีโฆษณาไม่ได้ ก็ไม่จริง แต่ทำไมวิทยุชุมชนถึงมีโฆษณาไม่ได้

 

          “จะเห็นว่าเป้าหมายการปฏิรูปสื่อคือการกระจายทรัพยากร แต่เรากลับไม่เห็น สิ่งที่เห็นคือการงอกงามของสื่อธุรกิจ ทั้งแอบแฝงและเปิดเผย โดยเฉพาะการครองสิทธิ์ข้ามสื่อ แต่ กสทช. ไม่ทำอะไรเลย ทั้งที่เป็นหน้าที่ของ กสทช.”

 

 

กสทช.ไม่รับฟังความเห็นทีวีสาธารณะส่อผิดกฎหมาย

 

 

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะเกิดปัญหาด้านข้อกฎหมายและการฟ้องร้องในอนาคตหรือไม่ เนื่องจาก มาตรา 28 ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2553 ระบุว่า

 

‘กสทช. ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป เพื่อนำความคิดเห็นที่ได้มาประกอบการพิจารณาก่อนออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง เกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและเกี่ยวข้องกับการแข่งขันในการประกอบกิจการหรือมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ โดยต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมา เหตุผล ความจำเป็นและสรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องที่จะรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนประเด็นที่ต้องการรับฟังความคิดเห็น ทั้งนี้ ระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วน กสทช. อาจกำหนดระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นให้น้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนดได้’

 

          “แต่ดิฉันได้ยิน กสทช. ตอบว่า เรื่องนี้เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้กับ กสทช. เอง ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เพราะฉะนั้นไม่ต้องรับฟังความคิดเห็น ถามว่าการจัดช่องรายการทีวีดิจิตัลสาธารณะ 12 ช่อง มีผลต่อการแข่งขันและมีผลกระทบต่อประชาชนหรือไม่” ดร.สุวรรณา ทิ้งเป็นคำถาม

 

นี่เพียงแค่ส่วนหนึ่งของทีวีดิจิตัล 48 ช่องในส่วนของทีวีสาธารณะ 12 ช่องเท่านั้น กลับเริ่มส่งสัญญาณผิดเพี้ยนไปจากความมุ่งหมายเดิมของการปฏิรูปสื่อเสียแล้ว มหากาพย์ทีวีดิจิตัลที่มีผลประโยชน์มหาศาลรออยู่ข้างหน้า อาจเป็นแหล่งผลประโยชน์และการเกาะกุมอำนาจไว้ในมือของภาคธุรกิจและภาครัฐ แต่ผลประโยชน์สำหรับสังคมและประชาชนยังคงเลือนลาง และ กสทช. ก็ดูจะไม่มีคำตอบให้แต่อย่างใด

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: