ในที่สุดรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็แหวกวาระร้อนจากการปะทะดุเดือดกับฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และแหวกวงล้อมจากสารพัดม็อบนอกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการเสนอแนวทาง “ปฏิรูปประเทศไทย”
เป็นแนวทางปฏิรูป ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลงมือเปิดตัวด้วยการแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ในค่ำวันที่ 2 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา
จากนั้นให้ 2 รัฐมนตรี ที่เป็นที่ไว้ใจทั้งนายกรัฐมนตรีใน-นอกประเทศ คือ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เดินสายเปิดหน้า บนดินกับกลุ่มเครือข่ายผู้ที่เคยร่วมงานการเมืองกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวตั้งต้น
ทั้งนายบรรหาร ศิลปอาชา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายอุทัย พิมพ์ใจชน และนายอุกฤษ มงคลนาวิน ถูกบรรจุอยู่ในวาระแรกของอีเวนต์ปฏิรูปประเทศไทย
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (ขวา)
ระหว่างนั้น มีนักการเมืองในพรรคเพื่อไทย ร่วมขบวนเดินสายล็อบบี้ฝ่ายต่าง ๆ เพื่อส่งตัวแทน หรือเอกสาร เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมให้มากที่สุด
มีการแบ่งบทการเดินสายบนดิน ให้กับรัฐมนตรี 2 เทพ สำหรับเจรจากับนักการเมืองสายเก่า คู่ขนานกับนักการเมืองที่เคยปฏิบัติการใต้ดินเรื่องกฏหมายปรองดองในรอบแรก
ชื่อของนายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ถูกเปิดออกมา ในทำนองว่า เป็นคนกลางในการเชื่อมพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารในปี 2549 ให้เข้าไปอยู่ในระบบโควตาของรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่ชื่ออยู่ในสังกัดพรรคฝ่ายค้าน
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน (ขวา)
ระหว่างที่เกมปฏิรูปประเทศไทยเดินหน้า เกมในสภาผู้แทนก็เดินตาม
เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติมีการพิจารณากฏหมายปรองดองฉบับที่เสนอโดยนายวรชัย เหมมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ผ่านวาระแรก ชื่อของ พล.อ.สนธิ จึงอยู่ในคณะกรรมาธิการ ในฝ่ายรัฐบาลแบบเต็มตัว
ขณะเดียวกับกับการขับเคลื่อนเกมของฝ่ายรัฐบาล ที่ออกเทียบเชิญนักการเมืองผู้เข้าร่วมเวทีปฏิรูปได้ถึง 69 คน ประกอบด้วย อดีตพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคไทยรักไทย นักการเมืองที่เคยถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปีรอบที่หนึ่งจำนวน 111 คน นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ 5 ปีรอบที่สอง จำนวน 139 คน
ในส่วนนี้ มีผู้ถูกเชิญบนดิน แล้วปฏิเสธแบบสุภาพ 2 ราย อาทิ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส
ไม่นับรวมบุคคลที่ฝ่ายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยากให้นายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นคนเสนอชื่อ อย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่ฝ่ายรัฐบาลปรารถนา จะส่งเทียบเชิญ
ทั้งนี้บุคคลที่ที่รัฐบาลส่งหนังสือเชิญ และได้ตอบปฏิเสธชัดเจนคือ กลุ่ม 40ส.ว. กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพรรคประชาธิปัตย์
แหล่งข่าวจากแกนนำพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า ในเวลานี้ แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะมีเสียงข้างมาก แต่การเดินหน้าบริหารประเทศ และการออกกฏหมาย เป็นไปด้วยความลำบาก ทุกวาระถูกสกัดผ่านองค์กรอิสระทุกกลุ่ม จนถึงขณะนี้รัฐบาลขึ้นปีที่ 3 แต่นโยบายสำคัญ หลายเรื่องยังไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท โครงการรับจำนำข้าว และกฏหมายเกือบทุกฉบับถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
“ดังนั้นเพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารงานได้ โดยทุกฝ่ายไม่คัดค้าน จึงต้องหาทางออกด้วยการตั้งองค์คณะสภาปฏิรูปขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักการ ผู้ชนะการประมูล ต้องไม่ได้รับเหมางานคนเดียว ต้องแบ่งอำนาจให้รายอื่นบ้าง” แหล่งข่าวกล่าวถึงเบื้องหลังการจัดเวทีปฏิรูประเทศไทย
แกนนำพรรคเพื่อไทย ยังได้นำชุดความคิดแบบสำเร็จรูป นำเสนอ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึงผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการตั้งองค์คณะปฏิรูปประเทศไทย ที่จะเกิดขึ้น 8 ประการ ดังนี้
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ (ขวา)
1.จะเป็นการฝ่าวงล้อมองค์กรอิสระ เพราะองค์กรอิสระเป็นอุปสรรคทำให้รัฐบาลทำงานไม่ได้ เพราะในขณะนี้ไม่มีเรื่องไหนที่รัฐบาลไม่ถูกยื่นร้องเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ
2.จะเป็นการตัดวงจร ระหว่างตัวแทนภาคประชาชน เอ็นจีโอ กับองค์กรอิสระ ในการยื่นเรื่องร้องเรียน คัดค้านโครงการต่าง ๆ ด้วยการดึงภาคประชาชนเข้ามาเป็นฝ่ายเดียวกับฝ่ายรัฐบาล ให้ร่วมเป็นกรรมการสภาปฏิรูปประเทศไทย
3.จะเป็นการคืนฝ่ายกองทัพ ทหาร องค์กรอิสระให้กับกลุ่มอำมาตย์ ให้ทหารจัดแถวกันเอง โดยรัฐบาลไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องทางอ้อมและทางตรง
4.หลังจากการแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่มาของ ส.ว.ผ่าน 3 วาระ และมีผลให้ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะหมดวาระเดือนมีนาคม 2557 จะได้แนวร่วมใหม่ให้พรรคเพื่อไทยในฝ่ายนิติบัญญัติประมาณ 60 กว่าคน และจะมีการเพิ่มสัดส่วน ส.ว.มาจากการสรรหาด้วย
5.จะมีการเพิ่มสัดส่วนคณะรัฐมนตรีจาก 35 คนเป็น 40 คน โดยจะมีการตั้งตัวแทนจากฝ่ายที่ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาลเข้ามาเป็นคณะรัฐมนตรี หรือคณะผู้ร่วมบริหารประเทศด้วย โดยอาจจะเลือกหรือนำเสนอจากเวทีปฏิรูปประเทศไทย
6.กรณีตัวแทนจากพรรคฝ่ายค้าน จะมีการดึงคนที่มีบุคลิกเป็นฝ่ายเดียวกับพรรคเพื่อไทยได้ เข้ามาเป็นแนวร่วม และเจรจากับแกนนำบางรายในกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยมีการเจรจาลับเรื่อง “คดี” เป็นการแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ในระหว่างนี้มีแกนนนำพันธมิตรบางรายได้ส่งอีเมลล์แนวทางปฏิรูปให้กับแกนนำพรรคเพื่อไทย ได้พิจารณาแล้ว
7.หลังจากเพิ่มสัดส่วนฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ให้ฝ่ายศาลฝ่ายตุลาการอยู่ในที่ตั้ง แม้บางเรื่องอาจเกี่ยวพันกับฝ่ายนิติบัญญัติก็จะประนีประนอมให้
8.หากปฏิรูปประเทศไทย ตามแนวทางที่เซ็ตขึ้นใหม่โดยบุคคลที่เข้าร่วมประมาณ 70 คนสำเร็จ นำเสนอแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ก็จะทำให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านได้อย่างราบรื่น
อาจเป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์ประเมินแล้วว่า ผลของข้อที่ 8 จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทางอ้อม ฝ่ายประชาธิปัตย์ จึงยอมโดดเดี่ยว ในเวลาที่การตะโกนเรื่องปฏิรูปจากฝ่ายเพื่อไทย กำลังกึกก้อง
สำหรับรายชื่อรัฐบาลออกหนังสือเชิญเข้าร่วมเวทีปฏิรูปประเทศไทย ประกอบด้วย 69 ราย ได้แก่
1.นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร
2.นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา
3.นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา
4.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี
5.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย
6.นายกระมล ทองธรรมชาติ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ
7.นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา และอดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
8.นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์
9.นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์
นายพิชัย รัตตกุล (ซ้าย)
10.นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
11.พล.อ.สนธิ บุญรัตยกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ อดีตหัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)
12.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทะ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และแกนนำกลุ่มวาดะห์
13.นายุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา
14.นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา
15.นายธีระ วงศ์สมุทร รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา
16.นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล
17.นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนา
18.นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
19.นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล
20.หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
(อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ในการเชิญตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์นั้น ได้ระบุเพียง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ระบุชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่อย่างใด)
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
21.นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี
22.พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ ส.ว.อ่างทอง
23.นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร
24.นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา
25.นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา
26.นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา
27.พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว.สรรหา
28.นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์
29.นายประวัติ ทองสมบูรณ์
30.อธิการบดีมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
31.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
32.มหาวิทยาลัยรามคำแหง
33. มหาวิทยาลัยศรีปทุม
34.นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
35.นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
36.นายอนุสรณ์ ธรรมใจ
37. นายลิขิต ธีรเวคิน
38. นายสถิตย์ ไพเราะ
39.นายสะสม สิริเจริญสุข
40.นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานคณะกรรมการอิสระและตรวจสอบเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
41.นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี
42. นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์
43.นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.)
44.นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)
45.นายอิสระ ว่องกุศลกิจ
46.นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
47.นายชาติสิริ โสภณพนิช ประธานสมาคมธนาคารไทย
48.นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
49.นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย
50.น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
51.นายอุกฤษณ์ กาญจนเกตุ ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย
52.นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย
53.นายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
54.นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ
55.นางสุพัฒนา อาทรไผท ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์
56.นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
57.นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ
58.นางมุกดา อินต๊ะสาร
59.นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
60.นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
61.นายธนภน กิจกาญจน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
62.นายวิชัย บรรดาศักดิ์ นายกสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย
63.นายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมการบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย
64.นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย
65.นายสุพัฒน์ อาษาศรี เลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
66.นายฐากูร บุนปาน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)
67.นายสุทธิชัย หยุ่น ประธานกรรมการ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
68.นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
69.นายสมชาย กรุสวนสมบัติ
ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก ไทยรัฐ เดลินิวส์ The Nation Google
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ