‘อ้อย’นางเอก6พืชนำร่อง‘เกษตรโซนนิ่ง’ บริษัทยักษ์ดันขอพื้นที่ปลูก‘มันฝรั่ง’เพิ่ม

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 28 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 6542 ครั้ง

สำหรับการปลูกพืชนำร่อง 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ให้เกษตรกรที่เคยปลูกพืชชนิดเดิม ๆ หันมาให้ความสนใจกับการปลูกพืชชนิดใหม่ที่ระบุว่า จะสามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกร หากดำเนินการตามแผนอย่างจริงจัง

เลือกให้เกษตรกรปลูก “อ้อย” แทน “ข้าว” ตามใจผู้ประกอบการ

ล่าสุดในการประชุมเชิงปฏิบัติการ การบูรณาการขับเคลื่อนการจัดทำโซนนิ่งภาคเกษตร โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการสรุปแนวทางตามแผนการโซนนิ่งเกษตรกรรม โดยเฉพาะการเห็นชอบให้มีการส่งเสริมการปลูกอ้อยแทนการปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยเห็นว่า ปัจจุบันอ้อยเป็นพืชที่มีราคาดี แต่ยังมีปริมาณไม่เพียงพอ ในขณะที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซนต์ทุกปี ทั้งใช้ในการผลิตน้ำตาล เอทานอล และใช้ในการบริโภค ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตน้ำตาล และสามารถขยายตลาดไปในแถบตลาดเอเชียได้ด้วย ดังนั้นเป้าหมายคือการส่งเสริมให้มีการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นอีก 7.5 ล้านตัน จากปัจจุบันที่ผลิตอยู่ที่ 89 ล้านตัน หรือจะต้องมีการเพิ่มพื้นที่การปลูกอ้อยอีก 750,000 ไร่

สำหรับนโยบายการส่งเสริมปลูกอ้อยแทนข้าว นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า  มีการคัดเลือกพืชนำร่องในนโยบายเกษตรโซนนิ่งไว้ 3 ชนิดคือ ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง ขณะที่สมาคมผู้ประกอบการ มีความต้องการที่จะได้ผลผลิตอ้อยเพิ่มอีก 100 ล้าน จากการตรวจสอบสภาพพื้นที่แล้วพบว่า ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมที่จะปลูกข้าว หรือเหมาะสมน้อย แต่สามารถที่จะปลูกอ้อยได้มีอยู่ประมาณ 8-10 ล้านไร่ นายกรัฐมนตรีจึงให้ใช้อ้อยเป็นโมเดลพืชนำร่อง ในการทำโซนนิ่งการเกษตร เพื่อนำผลผลิตป้อนโรงงานน้ำตาลมีอยู่ 51 โรงงานทั่วประเทศ ตั้งอยู่ใน 45 จังหวัด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าไปตรวจสอบและพูดคุยกับตัวเกษตรกรโดยตรง พร้อมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำความเข้าใจกับตัวเกษตรกรโดยตรง ไปดูจุดเปลี่ยนว่าเกษตรกรจะยอมรับในระบบโซนนิ่งได้มากน้อยแค่ไหน

            “ตอนนี้พื้นที่เดิมที่มีการปลูกข้าวอยู่ เราก็ต้องไปดูว่า ในฤดูกาลต่อไป จะดำเนินการปรับเปลี่ยนได้อย่างไร อ้อยอาจใช้ระยะเวลาประมาณปีครึ่ง ตั้งแต่การเตรียมดิน ปลูก จนถึงเก็บเกี่ยวและปลูกครั้งเดียวอยู่ได้ 3 ปี โดยไม่ต้องไปทำอะไร แค่ดูแลเรื่องการใส่ปุ๋ยอย่างเดียว ก็จะสามารถทำได้ต่อเนื่อง แต่ข้าวจะต้องปลูกในทุกๆ 4 เดือน การจำนำข้าวของเกษตรกรเมื่อเปรียบเทียบกับราคาของอ้อย อ้อยก็ได้ราคาที่ดีกว่า เมื่อเทียบต่อไร่ ในตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกษตรกรต้องคิดว่า จะต้องเลือกทางเดินอย่างไร ถ้ายังคงปลูกพืชในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เกษตรกรลงทุนไปก็ไม่คุ้ม” นายยุคลกล่าว

ปัจจุบันบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก มียอดส่งน้ำตาลอยู่ที่ 24 ล้านตัน มีส่วนแบ่งตลาดที่ 44 เปอร์เซนต์ ขณะที่ประเทศไทยส่งออกน้ำตาลรวม 7.54 ล้านตัน มีส่วนแบ่งตลาดอยู่เพียงร้อยละ 26 และในการส่งเสริมการปลูกอ้อยแทนข้าวของรัฐบาล มีเป้าหมายต้องการจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดน้ำตาลให้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 28 ในปี 2564 การส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยจึงจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่ขณะนี้

สังคมวิพากษ์ตั้งใจแก้จริงหรือแค่พลิกเกมแก้ข้าวล้นสต๊อก

ก่อนหน้านี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เคยออกมาให้ข้อมูลถึงแนวคิดการปลูกอ้อยแทนข้าวว่า เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรมีรายได้จากการทำนาในพื้นที่ดอนเฉลี่ยเดือนละ 1,000 บาทต่อไร่  แต่หากปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อยแทน จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 7,000 บาทต่อไร่  เพราะมีโรงงานผลิตน้ำตาลที่มีกว่า 40 แห่งเป็นตลาด พร้อมรองรับผลผลิตอ้อยอยู่แล้ว แต่ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า การจัดอ้อยไว้ในพืชตามนโยบายเกษตรโซนนิ่ง จะให้ประโยชน์กับเกษตรกรจริงหรือเป็นการพลิกเกมเพื่อแก้ปัญหาลดปริมาณข้าวที่จะเข้าสู่โครงการลดจำนำข้าวเท่านั้น เพราะเป็นที่ทราบกันว่า ก่อนหน้านี้เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องออกมาร้องเรียนราคาอ้อยที่ตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเตรียมประกาศราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 56/57 ที่จะประกาศในช่วงเดือนตุลาคมนี้ จะมีราคาเฉลี่ยเพียงตันละ 820-830 บาทเท่านั้น

สนอ.ยันราคาอ้อยขาขึ้นแน่หลัง โกดังบราซิลไฟไหม้

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ข่าว TCIJ สอบถามข้อมูลไปยังนายสามารถ น้อยวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการและสารสนเทศ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักนโนบายอ้อยและนำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ถึงศักยภาพในการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชจากข้าวมาเป็นอ้อย สามารถทำได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร นายสามารถให้ข้อมูลว่า ในการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกข้าวมาเป็นอ้อย หากดำเนินการในพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น มีลักษณะดิน ปุ๋ย ในพื้นที่ และมีโรงงานอยู่ใกล้ ๆ ก็จะทำให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนการปลูกพืชได้ ปัจจุบันแม้จะพบว่า ราคาอ้อยตกต่ำลง ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ขณะนี้พบว่าแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกกำลังจะปรับเข้าสู่ขาขึ้นอีกครั้ง

ซึ่งหากพิจารณาจากราคาน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซนต์ แล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นอีกเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บน้ำตาลของบริษัท Copersucar ในบราซิล ซึ่งเป็นประเทศส่งออกน้ำตาลอันดับหนึ่งของโลก นอกจากจะเกิดปัญหาไฟไหม้โกดังน้ำตาล ทำให้ความสามารถในการส่งออก 10 ล้านตัน ต้องหยุดชะงักเป็นเวลา 6 เดือนหรือนานกว่านั้นแล้ว บราซิลยังต้องเผชิญปัญหาฝนตกหนัก ส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยอีกด้วย และเชื่อว่าแนวโน้มขาขึ้นของราคาน้ำตาลในรอบหนึ่ง ก็จะอยู่ไปอีก 4-5 ปี ไม่ใช่รอบสั้นๆ ดังนั้นหากเกษตรกรที่สนใจปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อย ก็จะน่าจะสามารถเพิ่มรายได้ในอนาคตได้อย่างดี

อย่างไรก็ตามในการกำหนดพื้นที่โซนนิ่งนำร่องที่เหมาะสม เช่น ในพื้นที่จ.กำแพงเพชร ที่มีการทดลองอยู่พบว่าเป็นไปด้วยดี เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าเกษตรกรที่เคยปลูกข้าว จะเปลี่ยนมาปลูกอ้อย จำเป็นที่จะต้องให้ความรู้ ความเข้าใจ แต่หากพื้นที่เหล่านั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีโรงงานน้ำตาลก็ไม่น่าจะมีปัญหา แม้ว่าในปีแรก ๆ การปลูกอ้อยจะต้องลงทุนมาก แต่ในปีที่สองก็จะสามารถคืนทุนได้

            “สิ่งที่เกษตรกรจะต้องปรับตัวก็คือ เรื่องการดำรงชีวิต วิถีชีวิต เพราะการปลูกข้าว จะมีเวลาในการพัก แต่สำหรับการปลูกอ้อยจะต้องดูแลระยะยาวว่า แต่ก็คือว่าคุ้ม” นายสามารถกล่าว

นายกฯสั่งลุยจัดโซนตั้งแต่ปลายปี2555

สำหรับนโยบายเกษตรโซนนิ่งของรัฐบาล ถูกประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2555 โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระบุว่า ขณะนี้จำนวนผลผลิตการเกษตรต่อไร่ลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นข้าว หรือผลิตผลทางการเกษตรอื่น ๆ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สาคัญ เนื่องจากสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันการทำวิจัยพันธุ์พืชให้ดีขึ้น เพื่อรองรับสภาวะภูมิอากาศ ที่เปลี่ยนแปลงยังขาดความต่อเนื่อง ดังนั้นจึงควรบูรณาการในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร ซึ่งนโยบายสำคัญของภาครัฐคือ การโซนนิ่งภาคเกษตร เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ในประเทศไทยว่า พื้นที่บริเวณใดเหมาะสมที่จะส่งเสริมปลูกพืชอะไร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

            “การโซนนิ่งภาคเกษตร ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นการจำกัดสิทธิ์ของประชาชนในการปลูกพืช แต่หากส่งเสริมอย่างถูกทางจะทำให้ผลผลิตดีขึ้น และหากเกษตรกรประสงค์จะปลูกพืชอื่น ๆ ก็ยังสามารถปลูกผสมได้ ซึ่งรัฐบาลได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติ โดยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถปรับวิถีชีวิตของตัวเองให้อยู่ได้ และเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร ซึ่งไม่ใช่การเกษตรอย่างเดียว แต่รวมถึงการทำประมงและอื่น ๆ ด้วย โดยอาจต้องปรับวิถีชีวิตบ้าง เช่น พื้นที่ต้นน้ำสามารถทำการเกษตรได้ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มอาจปลูกพืชได้ในบางช่วง หากช่วงไหนมีปริมาณน้ำมาก ก็อาจจะปรับมาทำการประมง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สำหรับพืชเศรษฐกิจที่จะใช้ในการนำร่องตามนโยบายเกษตรโซนนิ่งมี 6 ชนิด ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 54.7 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และมีพื้นที่เพาะปลูกถึง 137 ล้านไร่ ได้แก่ ข้าวมีพื้นที่ปลูกจริง 84.5 ล้านไร่ อยู่ในพื้นที่เหมาะสม 53.8 ล้านไร่ และพื้นที่ไม่เหมาะสม 30.7 ล้านไร่ มันสำปะหลัง มีพื้นที่ปลูกจริง 10 ล้านไร่ อยู่ในพื้นที่เหมาะสม 3.2 ล้านไร่ ไม่เหมาะสม 6.8 ล้านไร่ อ้อยโรงงานมีพื้นที่ปลูก 6.7 ล้านไร่ อยู่ในพื้นที่เหมาะสม 4.4 ล้านไร่ ไม่เหมาะสม 2.3 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีพื้นที่เพาะปลูก 7.9 ล้านไร่ พื้นที่เหมาะสม 2.1 ล้านไร่ ไม่เหมาะสม 5.8 ล้านไร่ ยางพารามีพื้นที่ปลูก 24 ล้านไร่ มีพื้นที่เหมาะสม 11 ล้านไร่ ไม่เหมาะสม 13 ล้านไร่ ปาล์มน้ำมันมีพื้นที่ปลูก 3.8 ล้านไร่ เหมาะสม 2.2 ล้านไร่ ไม่เหมาะสม 1.6 ล้านไร่

ทั้งนี้พบว่า ปัจจุบันมีการปลูกข้าวในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากที่สุดในประเทศอยู่เพียง 2.48 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง เช่น สระบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท และลพบุรี และในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เช่น พัทลุง และนครศรีธรรมราช เป็นต้น ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวของไทยส่วนใหญ่อยู่ในประเภทเหมาะสมปานกลาง โดยมีอยู่ประมาณ 55.6 ล้านไร่ ซึ่งกระจายอยู่ในภาคเหนือตอนล่าง เช่น นครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย ชัยนาท และสุพรรณบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน เช่น ศรีสะเกษ และยโสธร เป็นต้น

สำหรับพื้นที่ที่มีความเหมาะสมน้อย ปัจจุบันมีการปลูกข้าวอยู่ 19.27 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลางตอนบนและตอนกลาง เช่น พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครนายก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี นครพนม และหนองคาย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานไปจัดทำแผน และแนวทางการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนดังกล่าว พร้อมมีการประชุมเป็นระยะ พร้อมกับให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดส่งข้อมูลโครงสร้างเศรษฐกิจและแนวทางการพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด และสานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จัดส่งข้อมูลศักยภาพและตาแหน่งจุดยืนทางยุทธศาสตร์ของจังหวัด/กลุ่มจังหวัดให้กระทรวงต่าง ๆ เพื่อแปลงนโยบายของหน่วยงานในสังกัดที่จะลงไปดำเนินการในพื้นที่ และให้กระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้กำกับดูแลจังหวัดต่าง ๆ แจ้งให้จังหวัดนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการปรับยุทธศาสตร์และจัดทำข้อเสนอโครงการของจังหวัด/กลุ่มจังหวัดด้วย

3 บริษัทใหญ่ใช้เกษตรพันธสัญญาดันปลูก ‘มันฝรั่ง’

อย่างไรก็ตาม นอกจากการดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเดินเข้าสู่ระบบเกษตรโซนนิ่งแล้ว ล่าสุดวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมนโยบายการจัดทำเขตความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช หรือเกษตรโซนนิ่ง ซึ่งที่ประชุมได้อนุมัติงบประมาณ 11.64  ล้านบาท  เพื่อดำเนินโครงการโซนนิ่งมันฝรั่ง เพื่อป้อนอุตสาหกรรมมันฝรั่งแปรรูป ซึ่งในปี 2557 มีความต้องการ มากถึง 170,000 ตัน ขณะที่ไทยสามารถผลิตได้ประมาณ 123,224 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีผลผลิต 102,380 ตัน ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศและส่งออก 3 บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ คือ  บริษัท เป๊ปซี่โคล่า(ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอรฟู้ด จำกัด และบริษัท ยูนิแชมป์ จำกัด ที่ต้องนำเข้ามันฝรั่ง จากประเทศออสเตรเลีย สก๊อตแลนด์ แคนนาดา เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา

เนื่องจากตลอดเวลา 15 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันฝรั่งแปรรูป มีมูลค่าถึงปีละมากกว่า 9,000 ล้านบาท ขณะที่มันฝรั่งทำรายได้ให้แก่เกษตรกรกว่า 10,000 ครัวเรือน โดยมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเกษตรกรปีละมากกว่า 1,270 ล้านบาท การปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบบสัญญาข้อตกลงการผลิตประมาณ 90 เปอร์เซนต์ จึงมีการประกันราคารับซื้อที่แน่นอน

ระบุลดนำเข้า ให้เกษตรฯชงครม.ขยายปลูก 17 จังหวัด

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.เกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า 3 บริษัทเอกชนที่ต้องการมันฝรั่งเพื่อป้อนโรงงานทำขนมจำนวนมาก แต่ผลผลิตไม่เพียงพอ จึงเข้ามาหารือกับกระทรวงเกษตรฯ แสดงความต้องการมันฝรั่งสดมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดย 5 ปีในปี 2551-2555 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นปีละ 10.32 เปอร์เซนต์ ปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 9.08 เปอร์เซนต์ หากรวมผลิตภัณฑ์แปรรูปเกี่ยวกับมันฝรั่ง มีมูลค่าการเติบโต 18.16 เปอร์เซนต์ และปริมาณเพิ่มขึ้น 11.10 เปอร์เซนต์ ซึ่งเอกชนเสนอสำรองจ่ายเงินทดรองจ่ายให้กับเกษตรกร 171 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย พื้นที่เป้าหมายของโครงการ 12,500 ไร่ หรือไร่ละ 13,750 บาท

อย่างไรก็ตามจะต้องเสนอโครงการเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ก่อนดำเนินโครงการภายในปี 2557 โดยเป้าหมายโซนนิ่งมันฝรั่งมีระบบสัญญาข้อตกลงกับเอกชน เป็นพื้นที่ปลูกขยายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน ตาก เพชรบูรณ์ สกลนคร นครพนม อุดรธานีหนองคาย ยโสธร ศรีสะเกษ ชัยภูมิ และบุรีรัมย์

ประกาศเขตโซนนิ่ง 6 พืชนำร่อง

ผลการประชุมครั้งนั้น ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศพื้นที่เกษตรโซนนิ่งพืช 6 ชนิดได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยวิเคราะห์ความเหมาะสมของที่ดินกับปัจจัยความต้องการของพืชแต่ละชนิด ตามสภาพที่มีการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิดในปัจจุบันร่วมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น เขตป่าไม้ตามกฎหมาย เขตพื้นที่โครงการชลประทาน เป็นต้น  โดยจัดโซนนิ่งออกเป็นพื้นที่ดังนี้

เขตเหมาะสมต่อการปลูกข้าว 75 จังหวัด 793 อำเภอ 5,669 ตำบล แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 18 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด

เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อยโรงงาน 51 จังหวัด 432 อำเภอ 2,369 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 11 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ภาคเหนือ 14 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด

เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 42 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ภาคกลาง 7 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด

พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกยางพารา 68 จังหวัด  499 อำเภอ 2,251 จังหวัด  แบ่งเป็น ภาคกลาง 8 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด

เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกมันสำปะหลัง 49 จังหวัด 478 อำเภอ 2,314 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ภาคเหนือ 14 จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด 

เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกปาล์มน้ำมัน 26 จังหวัด 185 อำเภอ 856 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 5 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: