นักวิชาการแนะทางออกให้ลง'ประชามติ' แก้รัฐธรรมนูญ-เตือนทักษิณอย่าเติมเชื้อ

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 28 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1695 ครั้ง

สุเทพประกาศเป้าหมาย 6 แนวทางปฏิรูปประเทศ

หลังนำผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล เดินทางกดดันรัฐบาลด้วยการเข้ายึดสถานที่ราชการหลายจุด นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำผู้ชุมนุมขจัดระบอบทักษิณ ก็ปราศัยประกาศเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศ 6 ข้อหลังขจัดระบอบทักษิณ ประกอบด้วย

1.ทำการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมเพราะรากเหง้าของปัญหาในขณะนี้มา จากกระบวนการเลือกตั้งที่เป็นอยู่ เพราะมีการเปิดโอกาสซื้อสิทธิขายเสียงจึงทำให้คนจำนวนหนึ่งชนะการเลือกตั้งเข้าไปในสภา ซึ่งไม่ใช่ผู้แทนที่แท้จริง เพราะไม่ได้ใจประชาชน แต่เป็นการซื้อเสียงมา เป็นระบบทุนสามานย์

2.ปราบคอร์รัปชั่น โดยยกเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อออกกฎหมายปราบคอร์รัปชั่นเด็ดขาดให้ได้

3.ให้อำนาจประชาชนในการเมืองการปกครอง เช่น สามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส.ได้ ต้องมีกระบวนการที่รับรองอำนาจของประชาชนถอดถอนในเวลาที่ไม่ยืดยาวเห็นผลภายใน 5-6 เดือน พร้อมกระจายอำนาจในการปกครองออกไปยังท้องถิ่น สามารถเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดได้เอง เพื่อไม่ให้เกิดการซื้อตำแหน่ง

4.ปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ ให้ประชาชนเป็นผู้ให้ความดีความชอบแก่ตำรวจ ตำรวจจะได้ดีต้องได้ดี เพราะประชาชนเห็นคุณความดี รวมทั้งกองบัญชาการตำรวจนครบาล ต้องอยู่ภายใต้ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ไม่ใช่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในต่างจังหวัดตำรวจต้องอยู่ภายใต้ผู้ว่าราชการจังหวัด

5.ต้องออกแบบระบบกฎหมายให้ข้าราชการอยู่ในระบบคุณธรรม ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ซื้อขายตำแหน่ง เล่นพรรคพวก

6.แก้ไขปัญหาพื้นฐานด้านการศึกษา สังคม คมนาคม ขนส่ง สาธารณสุข โดยยกเป็นวาระแห่งชาติ เน้นแก้ปัญหาคนจน โดยไม่ใช้นโยบายประชานิยม ไม่ผูกขาดธุรกิจ แต่ต้องส่งสเริมให้แข่งขันกับต่างชาติได้ รวมทั้ง รัฐบาลต้องไม่มีการออกกฎหมายยุบยิบให้ต้องขออนุญาตทุกเรื่องเพื่อเป็นเครื่องมือหากินของเจ้าหน้าที่

โดยทั้งหมดจะดำเนินการโดยการจัดตั้งสภาประชาชนขึ้นมาในการสร้างรัฐบาลใหม่บริหารบ้านเมืองต่อไป

นักวิชาการตั้งคำถาม “สภาประชาชน” ทับซ้อน “สภาผู้แทนฯ”

ทั้งนี้เนื้อหาประกาศแนวทางปฏิรูปทั้ง 6 ข้อ ที่ผ่านการปราศัยของนายสุเทพดังกล่าว นักวิชาการได้ออกมาแสดงความคิดเห็นโดยส่วนหนึ่งมองว่า แนวทางทั้ง 6 ดูเหมือนจะเป็นนามธรรมและไม่มีอะไรใหม่ ดังนั้นหากจะให้เห็นความชัดเจนต่อแนวทางการเคลื่อนไหวของการชุมนุมจริง ๆ ควรจะมีการประกาศวิธีอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า

รศ.ดร.โคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงความคิดเห็นในรายงาน “สรยุทธ์ เจาะข่าวเด่น” โดยเห็นว่า 6 ข้อ ที่นายสุเทพเสนอนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่พูดคุยเจรจากันได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจ และเป็นข้อสงสัยคือประเด็นการตั้ง “สภาประชาชน” ขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะวิธีการดำเนินการนั้นจะทำอย่างไร เพราะปัจจุบัน มีสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาจากการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้แบบนั้น ดังนั้นจึงต้องบอกว่า ขณะนี้มีสภาประชาชนอยู่แล้ว เพราะส.ส.ก็มาจากการเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ แต่สิ่งที่ต้องคิดคือ จะแบ่งอย่างไรว่า ใครเป็นนักการเมืองดี หรือนักการเมืองที่ต้องแช่แข็ง นั่นคือคำถาม

ดร.โคทม อารียา

ประการที่สองคือ การได้มาของอำนาจการปกครอง ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และให้อำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นจึงสงสัยว่า นายสุเทพเสนออะไรกันแน่ อยู่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรืออยู่นอกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้หากบอกว่าจะใช้การปฏิวัติประชาชน นั่นหมายถึงว่า ออกนอกกรอบรัฐธรรมนูญไปแล้ว จะไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว แต่จะกลับไปเอาธรรมนูญที่ตั้งขึ้นมาโดยประชาชน หรืออย่างไรก็คือคำถาม

นายโคทมกล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่ากังวลคือขณะนี้นายสุเทพอาจจะกำลังเดินออกนอกกรอบรัฐธรรมนูญ ในแง่ ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะมีคำสั่งให้ยุติการกระทำได้ เพราะในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่า ใครที่ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ก็สามารถที่จะสั่งให้ยุติการดำเนินการได้ เพราะถึงแม้ว่านายสุเทพจะออกมาประกาศว่า ไม่ได้ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่การประกาศว่าใครเป็นนายกฯ ไม่สำคัญ เท่ากับการประกาศว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ซึ่งขณะนี้ประชาชนแสดงออกโดยการเลือกตั้ง หากไม่สุจริต ก็ทำให้สุจริตเสีย แต่ถ้าบอกว่าประชาชนเลือกผู้ใดแล้ว เป็นฝ่ายที่ควรแช่แข็งหรือไม่  ก็เลยสงสัยว่า ใช้อำนาจอะไรที่จะดำเนินการในสิ่งเหล่านี้

นิธิสงสัย “วิธีการ” ที่ยังไม่พูดถึง

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ให้สัมภาษณ์ผ่าน Voice TV  ว่า จากแนวทาง 6 ข้อของนายสุเทพ เหมือนกับการประกาศเป้าหมาย หรือนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหลายรัฐบาลก็ประกาศเช่นนี้มาแล้ว เพราะไม่ได้มีการบอกวิธีการว่า จะเดินไปถึงเป้าหมายนั้นอย่างไร เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย หลายเรื่องเป็นปัญหาที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ เช่น การบอกว่าจะให้กระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ทำให้ระบบราชการมีอิสระอย่างสุดโต่ง โดยการเมืองไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเลย ก็จะกลายเป็นรัฐราชการไป เหมือนมีการเมืองเป็นเพียงผักชีเท่านั้น ก็ไม่ได้ ซึ่งเรื่องเป้าหมายว่าจะไปอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่พูดได้ แต่การจะทำอย่างไรนั้นต่างหากคือสิ่งสำคัญ  หรือการตั้งสภาประชาชน จะทำอย่างไร ตอนนี้มองว่า นายสุเทพนำเรื่องของความต้องการปฏิรูปของประชาชนมาใช้ในการปลุกเร้า แต่ไม่มีเป้าหมายมากไปกว่าการกลับไปเป็นรัฐบาลเท่านั้น

ขณะที่ รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง แสดงความคิดเห็นในรายการเดียวกัน โดยเห็นว่า สิ่งที่นายสุเทพประกาศ 6 ข้อ ไม่มีอะไรใหม่ เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายพยายามทำกันมาตลอด เช่นการระบุว่าการเลือกต้องมีความยุติธรรม ต่อมาก็มีการตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง มี กกต.  หรือการจะบอกว่า อยากมีรัฐบาลในฝัน หรือรัฐมนตรีในฝัน ไม่โกงกิน เป็นสิ่งที่ใครก็พูดได้ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดสิ่งเหล่านี้ นั่นคือคำถาม

ดร.สุขุม นวลสกุล

นักวิชาการชี้ ทางออกเดียวคือ “เจรจา” ลดความบอบช้ำ

สำหรับคำถามในการหาทางออกทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ หลังจากที่ล่าสุดนายสุเทพ ระบุว่า แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศยุบสภาฯ  หรือนายกรัฐมนตรีลาออกก็จะยังไม่หยุดการเคลื่อนไหว ทั้งนี้หลายฝ่ายได้มีความพยายามในการเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นโดยนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ไปในหลายเวที โดยส่วนใหญ่มีข้อเสนอไปในทิศทางเดียวกันคือการใช้การเจรจา หันหน้าพูดคุยกันเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นว่า จะสามารถยอมรับกันได้ในข้อใดบ้าง โดยให้นึกถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก แม้ว่าการเจรจาพูดคุยจะเป็นเรื่องที่ยากมากในระหว่างนี้ก็ตาม

เช่น ศ.ดร.ลิขิต ธีระเวคิน อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ กล่าวในเวทีเสวนา “ฝ่าความขัดแย้งในวิถีประชาธิปไตยแบบไทยๆ”  ระบุว่า การหันหน้ามาพูดคุยกันของทั้งสองฝ่ายที่เห็นต่างกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด หาจุดที่สามารถยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย หรือถอยกลับไปคนละก้าว ที่สำคัญคืออย่าให้เกิดความรุนแรง กระทบกระทั่งกัน แต่ต้องใช้ระบบประชาธิปไตยในการแก้ปัญหา ทั้งนี้จะต้องยอมรับถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยยึดหลักกฎหมาย ถึงแม้จะเป็นเรื่องยากแต่ก็ต้องหาแนวทางให้ได้ เพราะถือว่าเป็นแนวทางเดียวที่จำไม่ทำให้ประเทศล้าหลังไปกว่านี้

รศ.ยุทธพร อิสระชัย

ด้าน รศ.ยุทธพร อิสระชัย คณบดีสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เห็นว่า ทุกฝ่ายต้องหันหาคุยกัน แม้ว่าทางปฏิบัติอาจยาก แต่โดยหลักสากลที่ใช้สันติวิธีทางประชาธิปไตยก็คือ การพูดคุย ซึ่งคิดว่าจะมีการดึงให้ยืดเยื้อกันไป โดยในทางการการชุมนุมมีความพยายามที่จะดึงให้การชุมนุมอยู่ต่อไป ดังนั้นคือการพยายามที่จะยื้อกันต่อไป เพื่อช่วงชิงความชอบธรรม ซึ่งหากยืดเยื้อต่อไป และสถานการณ์เปลี่ยนแปลงก็อาจจะทำให้เกิดการเจรจากันได้ แม้จะเป็นเรื่องยากแต่ก็ยังเชื่อว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

โคทมให้หาคนกลางตั้ง “อนุญาโตตุลาการ” เป็นกาวใจ

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ ดร.โคทม อารียา ที่ระบุว่า แม้การเจรจาพูดคุยกันเพื่อแก้ปัญหาของทั้งฝ่ายจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ต้องหาทางทำให้ได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการหยุดการเคลื่อนไหวที่มีอยู่นี้ ทุกฝ่ายควรกลับไปตั้งสติ และใช้ช่วงเวลานี้ในการพูดคุยเจรจา ซึ่งตนเสนอว่า หากพูดคุยกันเองไม่ได้ก็ควรมีการจัดตั้งคนกลางขึ้นมา เป็นลักษณะอนุญาโตตุลาการ ในการที่จะเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างสองฝ่ายว่ายอมรับหรือไม่ยอมรับอะไรได้ เพราะต้องยอมรับว่า ไม่ว่าความขัดแย้งอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ไหน ๆ จะไม่มีการตัดสินโดยฝ่ายเดียวได้ โดยไปกดทับอีกฝ่ายหนึ่ง เพราถึงแม้จะชนะตอนนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ฝ่ายที่ถูกกดทับก็จะกลับมาใหม่

            “ดังนั้นเมื่อเห็นว่าตอนนี้เราอยู่บนขอบที่จะตกไปยังความรุนแรง ก็ให้ใช้เวลาที่มีถอยกลับเข้ามา แล้วพูดคุยกัน การพูดคุยกันทันทีอาจจะเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการมีคนกลาง คอยวิ่งไปวิ่งมาว่าทำอะไรได้กันบ้าง อะไรแก้ไขก็ค่อย ๆ ขยับน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะตอนนี้เราบอบช้ำมามากแล้ว” นายโคทม กล่าว

นักวิชาการแนะนายกฯ ยุบสภาฯ

ล่าสุด บ่ายวันที่ 28 พฤศจิกายน กลุ่มนักวิชาการ ประกอบด้วย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ ดร.สมฤทธิ์ ลือชัย ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ประจักษ์ ก้องกีรติ สมชาย ปรีชาศิลปกุล ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อัครพงษ์ ค่ำคูน และ ทวีศิลป์ สืบวัฒนา ออกแถลงการณ์เสนอทางออกจากสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 2 ข้อ ระบุว่า 1.เพื่อแก้ไขวิกฤตที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ต้องจัดการลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2.หลังจากนั้น รัฐบาลต้องประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พร้อมระบุว่า ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องคืนอำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองให้กับประชาชน และยืนยันในความสำคัญของรักษาประชาธิปไตยตามวิถีทางรัฐสภา

ทั้งนี้ การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในภาวะวิกฤตเช่นนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องคืนอำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองให้กับประชาชน และยืนยันในความสำคัญของรักษาประชาธิปไตยตามวิถีทางรัฐสภา

‘นิธิ’ระบุยึดสถานที่ราชการไม่กระทบรัฐบาลยุคดิจิตัล

อย่างไรก็ตาม ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ยังให้สัมภาษณ์ประชาไท ระบุถึงกรณีที่ผู้ชุมนุมยึดกระทรวงทบวงกรมว่าจะส่งผลขัดขวางการทำงานของรัฐจริงหรือไม่ ว่า หัวใจของการทำงานในระบบราชการแบบใหม่ โดยเฉพาะหลังยุคดิจิตัลแล้ว บางที มันไม่ได้อยู่ที่ตัวกระทรวงทบวงกรม จะบอกว่ารัฐบาล ทำงานได้เหมือนเก่านั้นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะมันลดลง แต่หัวใจสำคัญอาจจะอยู่ที่ข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ซึ่งรวมศูนย์ แต่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ในเมืองไทยยังไม่ได้รวมศูนย์ เพราะจะกระจายไปตามกรมกองต่าง ๆ แต่บางรัฐบาลที่ใช้ระบบดิจิตัลมาก จะรวมศูนย์ข้อมูลไว้กับตัวเอง

            “ตอนนี้รัฐบาลมีความเดือดร้อนแน่นอน แต่ไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนการรัฐประหารคือการยึดพระราชวัง ก็จบเพราะทุกอย่างอยู่ที่ราชบัลลังก์ แต่ปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะเมื่อเราใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น รัฐบาลยังสามารถทำงานต่อไปได้ในระดับหนึ่ง เช่น เป็นต้นว่า จ่ายเงินเดือนข้าราชการ เพราะว่าเงินไม่ได้อยู่ที่คลัง สมัยหนึ่งเงินอยู่ที่คลัง สมัยนี้เงินที่คลังมีแต่ตัวเลข แล้วธนาคารต่าง ๆ ตกลงกับรัฐบาลเป็นปีอยู่แล้วว่าคุณจะต้องจ่ายเงินเดือน ใครเท่าไหร่ เขาก็จะออกเช็คตามนั้นเป๊ะๆ มันก็ Run (ยังดำเนินไปได้) อยู่ ฉะนั้น รัฐบาลปัจจุบัน ในแง่หนึ่งมันกระจายการบริหารซะจนยึดยากชิบเป๋ง แต่ก็ยึดได้นะ ไม่ใช่ว่ายึดไม่ได้เลย” ดร.นิธิกล่าวและว่า ฉะนั้น โดยสรุปก็คือ เวลาคุณจะยึดรัฐ คุณต้องยึดตัว “อาญาสิทธิ์” หรือ อำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น อย่างเวลาที่เขาทำรัฐประหาร ก็คือ เขาไล่รัฐบาลเก่าออก แล้วสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นอาญาสิทธิ์ แต่ตราบเท่าที่คุณยังไม่สามารถสถาปนาตัวเองเป็นอาญาสิทธิ์ คุณยังยึดไม่ได้

หัวใจของการยึดอำนาจรัฐ คือการสถาปนาอาญาสิทธิ์ใหม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า หมายความว่า การยึดสถานที่ราชการจะไม่ทำให้ผู้ชุมนุมบรรลุผลที่ต้องการ ดร.นิธิแสดงความเห็นว่า จะบรรลุผลหรือไม่ ตนไม่ทราบ เพราะจนถึงที่สุดจริง ๆ จะมีอำนาจอื่นเข้ามาทำให้เกิดอาญาสิทธิ์ขึ้นหรือไม่ อาจจะมีหรือไม่มีผมไม่ทราบ แต่ถามว่าจะนำไปสู่การปฏิวัติแบบรัสเซียไหม ผมว่าไม่มีทางเป็นไปได้

เมื่อถามว่า เหตุการณ์ตอนนี้ เทียบกับประวัติศาสตร์ตอนไหนได้บ้าง แนวโน้มจะจบอย่างไร ดร.นิธิกล่าวว่า มันเทียบไม่ได้เลย อย่างที่บอกรัฐมันเปลี่ยนไปแล้ว คุณไม่มีศูนย์กลางให้ยึดอีกแล้ว

เมื่อถามต่อว่า ต่อให้ประชาชนยึดส่วนราชการได้ก็ยึดอำนาจรัฐไม่ได้ ดร.นิธิกล่าวว่า คืออย่างนี้ หัวใจสำคัญของการยึดอำนาจรัฐ คือการสถาปนาอาญาสิทธิ์ใหม่ และถามว่า การเคลื่อนไหวของคุณสุเทพ เวลานี้ เข้าใกล้การสถาปนา อาญาสิทธิ์ใหม่ไหม ผมว่าไม่

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ถ้าไม่ใช่แล้วเป็นอะไร ดร.นิธิกล่าวว่า เป็นการจลาจล คือ อย่างการปฏิวัติรัสเซีย เริ่มต้นที่การจลาจล แต่ในขณะเดียวกันมันมีอีกกลุ่มหนึ่ง ที่พร้อมจะเข้าไปสถาปนาอาญาสิทธิ์ใหม่ คือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งโซเวียต แล้วก็ทันทีที่รัฐบาลประชาธิปไตยของบอลเชวิคล้มลง เขาก็สถาปนาตัวเองเป็นอาญาสิทธิ์

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

เลือกตั้งใหม่ประชาชนก็ยังเลือก ‘ยิ่งลักษณ์’

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางออกรัฐบาลควรยุบสภา หรือม็อบควรหยุดยึดสถานที่ราชการ ดร.นิธิกล่าวว่า “คืออย่างนี้ ยุบสภาจะได้ประโยชน์อะไร คำตอบคือ สร้างความชอบธรรมอันใหม่ เพราะ คุณถูกเลือกตั้งมาใหม่ ประชาชนก็ยืนยันจะเอาคุณยิ่งลักษณ์กลับมา แล้วคุณจะเอาอะไรอีก คำถามคือการเลือกตั้งปัจจุบันในประเทศไทย ยังเป็นความชอบธรรมอยู่หรือไม่ ผมคิดว่า คุณสนธิ คุณสุเทพ ได้กระทืบการเลือกตั้งให้มันเละไปหมดแล้ว มันไม่เป็นที่มาแห่งความชอบธรรมสักเท่าไหร่ ไม่ใช่ไม่เป็นเลยนะ คือ ไม่เป็นอย่างแต่ก่อนแล้ว แล้วด้วยเหตุดังนั้น คุณสุเทพ พูดเองว่า ยุบสภาก็ไม่เลิก เพราะการเลือกตั้งถูกทำลายความชอบธรรมไปมากแล้ว ส่วนจะได้ผลไหม ผมทำนายไม่ถูก”

เมื่อถามว่า อาจารย์อยากให้จบอย่างไร ดร.นิธิกล่าวว่า “ผมยังคิดว่าคุณไปทำร้ายเขาไม่ได้ ผมก็อยากให้ จบโดยที่คนจำนวนมากที่อยู่กับคุณสุเทพเวลานี้ เริ่มพบว่า เฮ้ย มันเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่ประเทศไทยไม่ควรเปลี่ยนนะ คือควรเปลี่ยน แต่เปลี่ยนด้วยวิธีนี้ไม่ได้”

เตือนทักษิณอย่าเติมเชื้อไฟให้ม็อบ

เมื่อถามว่า อาจารย์อยากให้ประชาธิปัตย์ใจเย็น รอการเลือกตั้งครั้งใหม่หรือไม่ ดร.นิธิกล่าวว่า “ผมไม่ไปขอร้องใคร นอกจากเพียงหวังว่า หลังจากรัฐบาลยืนอยู่กับที่อย่างนี้ ได้อีกสักเดือนหนึ่ง ผมก็หวังว่า ผู้ชุมนุมจะลดลง คือจริง ๆ ม็อบทั้งหลายในโลกนี้ มันไม่อยู่ถาวรนะ ยกเว้นคุณไปทำให้มันถาวรขึ้นเอง เช่นเป็นต้นว่า เมื่อปี 2548 ม็อบของคุณสนธิ เริ่มจางลงเมื่อต้นปี 2549 แล้วคุณทักษิณก็กรุณาทำให้ม็อบแข็งแรงขึ้นด้วยการขายหุ้น คือขายหุ้นจะถูกหรือผิด ผมไม่พูดถึง แต่มันเป็นเหตุเพียงพอที่จะทำให้คนเข้ามา ครั้งนี้ คุณทักษิณก็ให้ความกรุณาอีก โดยการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม (เหมาเข่ง) คือ ขึ้นชื่อว่าม็อบ ผมยังเชื่อว่า ไม่อยู่ได้ถาวร

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า อาจารย์พอใจบทบาทคุณยิ่งลักษณ์ ในสภาล่าสุดหรือไม่ ดร.นิธิกล่าวว่า พอใจ คือ ตนไม่คิดว่าคุณยิ่งลักษณ์ ควรทำอะไรมากไปกว่านี้ คือในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ คุณหวังจะให้คุณยิ่งลักษณ์ทำอะไร ถ้าคุณยิ่งลักษณ์ขึ้นมาพูดฉาดฉานแบบเดียวกับคุณอภิสิทธิ์ ผมคิดว่าภาพของคุณยิ่งลักษณ์ ที่คนรู้สึกว่า “เฮ้ย แกก็เป็นอย่างนี้แหละ” ภาพก็จะเสียไปเปล่าๆ ก็ดีแล้วก็ตอบแค่นั้นแหละ

เมื่อถามว่า อาจารย์มองว่าให้รัฐบาลตรึงสภาวะแบบนี้ ทนกับม็อบต่อไป ดร.นิธิกล่าวว่า “ใช่ ผมเชื่อว่าไม่มีม็อบไหนอยู่ได้ คือ อย่าไปโหมไฟต่อนะ ผมว่าไม่มีม็อบไหนอยู่ได้ เช่น คุณทักษิณ ไม่ควรโฟนอิน คุณทักษิณไม่รู้จะเข็ดหรือยัง แต่อย่าทำอะไรให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นอีก  จริงๆ คุณยิ่งลักษณ์ ควรจะออกมาขอโทษ ตั้งแต่ตอนที่ รู้ว่าตัวเองต้องถอยแล้วว่าโอเคอันนี้ผิด

ไม่เชื่อยุบสภา-เลือกตั้งใหม่จะเกิดความชอบธรรมขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ตอนนี้มีข้อเรียกร้องให้ยุบสภา เพราะรัฐบาลควรจะรับผิดชอบตั้งแต่ผลักดันแต่นิรโทษกรรมเหมาเข่งแล้ว ดร.นิธิกล่าวว่า ยุบก็ดี ตนไม่ปฏิเสธ ว่าไม่ควรยุบนะ แต่ยังสงสัยว่า ยุบแล้ว หลังคุณได้รับการเลือกกลับมาใหม่ ยังเกิดความชอบธรรมมากขึ้นไหม ตนไม่ค่อยแน่ใจ เพราะ เราได้ช่วยกันกระทืบระบบเลือกตั้ง จนหมดความชอบธรรมไปแล้ว

เมื่อถามว่า ขณะเดียวกันคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยไม่น้อยยังเชื่อในระบบการเลือกตั้ง ดร.นิธิกล่าวว่า “แต่เลือกตั้งแล้วจะหยุดสิ่งนี้ไหม ผมก็ไม่แน่ใจ เพราะม็อบคุณสุเทพ ก็บอกแล้วว่า ถึงยุบสภาไปก็ยังไม่เลิก แล้วอย่างที่ผมบอก ระบบการเลือกตั้ง ไม่ใช่ความชอบธรรม (ที่มาอำนาจรัฐ) แก่คนจำนวนหนึ่งเสียแล้ว แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ต่อข้อถามที่ว่าอาจารย์ไม่เห็นด้วยที่เป็นแบบนี้ ดร.นิธิกล่าวว่า แน่นอน

 

ขอบคุณข่าวนักวิชาการแถลงและบทสัมภาษณ์ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากประชาไท และมติชนออนไลน์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: