‘ทิสโก้’ชี้แจงกับผู้ถือหุ้น ปล่อยกู้ผุด‘ไซยะบุรี’ไม่ผิด

29 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1751 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 25 เมษายน การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของธนาคาร ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ณ อาคารทิสโก้ทาวเวอร์ ผู้ถือหุ้นรายย่อยตั้งคำถามต่อคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับการลงทุนให้เงินกู้แก่โครงการเขื่อนไซยะบุรี ขนาดกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ บนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง ซึ่งกำลังเป็นประเด็นความขัดแย้งในภูมิภาค เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับผลเสียหายต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงอย่างมหาศาล และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชากรกว่า 60 ล้านคน ที่พึ่งพาอาศัยแม่น้ำสายนี้ในการดำรงชีวิต

 

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา การประชุมประจำปีผู้ถือหุ้นของธนาคาร เช่น  ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงไทย บทบาทของธนาคารที่ให้กู้แก่โครงการเขื่อนไซยะบุรี ต่างเป็นประเด็นร้อนที่ถูกตั้งคำถามจากผู้ถือหุ้น 

 

นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ ตอบคำถามผู้ถือหุ้นโดยยืนยันว่า ทิสโก้ได้ลงทุนสนับสนุนเงินกู้จริง เป็นจำนวนกว่า 3,000 ล้านบาท สัญญามีระยะเวลา 14 ปี ทั้งยังกล่าวว่าทิสโก้ได้ประเมินแล้วว่า โครงการนี้ไม่ใช่โครงการที่ผิดศีลธรรมอันดี แต่เป็นโครงการที่จัดหาพลังงานเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย อีกทั้งโครงการก็มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ครบถ้วนตามที่กำหนด

 

นางอรนุชอธิบายเพิ่มเติมว่า เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนน้ำไหล ไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จึงไม่มีผลกระทบมากในเรื่องตะกอนแม่น้ำ และมีทางปลาผ่าน สำหรับประเด็นผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โครงการนี้ได้ใช้บริษัทที่ปรึกษาโครงการทั้งสิ้น 6 แห่ง และมีงานศึกษาออกมาหลายฉบับ

 

 

            “ทิสโก้ไม่ใช่ผู้ชำนาญ จึงรับฟังและพิจารณาจากงานศึกษาเหล่านั้น ซึ่งระบุว่าเขื่อนนี้จะส่งผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีนัยยะน้อยมาก ๆ และน้อยกว่าเขื่อนจีนในตอนต้นแม่น้ำโขง ทิสโก้จึงสบายใจที่จะเข้าร่วมลงทุน”

 

 

นางอรนุชกล่าวว่า กลุ่มของธนาคารที่ให้กู้เองยังได้ว่าจ้างที่ปรึกษาให้ตรวจสอบและศึกษาผลกระทบจากโครงการนี้อีกครั้งหนึ่ง และผู้เชี่ยวชาญก็ยืนยันว่า รายงานผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของโครงการนั้นเชื่อถือได้

 

ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายย่อย ชี้แจงกรรมการและผู้ถือหุ้นอื่นว่า เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนประเภท Run-of-River ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ของไทย เพราะเขื่อนปากมูนก็คือเขื่อนประเภทเดียวกัน และที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เขื่อนปากมูนได้ทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำมูนตอนล่างทั้งระบบ รวมถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่พึ่งพาแม่น้ำมูนมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเขื่อนไซยะบุรีจะมีโครงการสร้างเขื่อนและทางปลาผ่านที่ไม่ต่างจากเขื่อนปากมูนมากนัก

 

ผู้ถือหุ้นกล่าวเพิ่มเติมในประเด็นเขื่อนจีนทางตอนต้นแม่น้ำโขงว่า ช่วงของแม่น้ำโขงที่มีผู้คนพึ่งพามากที่สุดนั้นไม่ใช่ตอนบน แต่เป็นตอนล่าง ที่แม่น้ำไหลผ่านประเทศลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งมีประชาชนพึ่งพามากกว่า 60 ล้านคน อีกทั้งปลาแม่น้ำโขงส่วนใหญ่เป็นปลาอพยพ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประสบการณ์จากเขื่อนปากมูน และงานศึกษาวิชาการระดับชาติและนานาชาติหลายชิ้น ระบุชัดเจนว่าปลาน้ำโขงเกือบทั้งหมดไม่ใช่ปลา ชนิดพันธุ์ที่สามารถอพยพข้ามทางปลาผ่านได้ ทางปลาผ่านใช้ไม่ได้จริงในภูมิภาคนี้ และไม่เคยมีงานศึกษาใดเลยที่ชี้ว่า ทางปลาผ่านของเขื่อนไซยะบุรีนั้น มีประสิทธิภาพเพียงพอ เห็นชัดว่าโครงการนี้กำลังจะใช้แม่น้ำโขงตอนล่างทั้งสายเป็นสนามทดสอบความมีประสิทธิภาพของทางปลาผ่านแบบใหม่

 

นอกจากนี้งานศึกษาผลกระทบที่จัดทำโดยบริษัทสัญชาติฟินแลนด์ Pöyry Energy AG ซึ่งถูกว่าจ้างโดยรัฐบาลลาว และเชื่อว่าทิสโก้ได้ใช้รายงานฉบับนี้เป็นหลักในการพิจารณาลงทุนนั้น หากทิสโก้ค้นคว้าเพิ่มเติมจะพบว่า ขณะนี้งานศึกษาดังกล่าวถูกวิจารณ์อย่างหนักจากหลายองค์กรทั่วโลก ว่าเป็นรายงานที่ต่ำกว่าระดับมาตรฐาน และบริษัทนี้ก็กำลังถูกรัฐบาลฟินแลนด์ตั้งกรรมการตรวจสอบในเรื่องการละเมิดหลักความรับผิดชอบ และความไร้มาตรฐานในการดำเนินธุรกิจในกรณีเขื่อนไซยะบุรี

 

ท้ายที่สุด ผู้ถือหุ้นรายดังกล่าวเรียกร้องให้ธนาคารต้องพิจารณาการลงทุนในอนาคตให้ถี่ถ้วนมากกว่านี้ อีกทั้งต้องตระหนักถึงความเสี่ยง ผลกระทบ และผลเสียระยะยาวที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนทั่วไปอีกหลายชั่วอายุคน

 

ก่อนจบการประชุม มีผู้ถือหุ้นอีกรายหนึ่งขอให้ทิสโก้ชี้แจงและเปิดเผยงานวิจัยที่ทิสโก้อ้างว่า ธนาคารต่าง ๆ ได้ร่วมกันว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญให้จัดทำขึ้นเอง ซึ่งนางอรนุชตอบว่า เรื่องนี้เป็นความลับของลูกค้า อาจจะต้องมีการหารือกันก่อนให้คำตอบในภายหลัง

 

ทั้งนี้ คำตอบของธนาคารทิสโก้มีความคล้ายคลึงเป็นอย่างมากกับคำตอบของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งนายอานันท์ ปันยารชุน นายกกรรมการ และนายวิชิต สุรพงษ์ชัย และประธานกรรมการบริหารของธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ตอบคำถามหลักแก่ผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา

 

นอกจากนั้น ธนาคารกรุงไทยยืนยันในที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรีมีธนาคารทั้งหมด 6 แห่งเป็นผู้ให้กู้ คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ  ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทิสโก้ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

 

ด้าน นายแคล้ว มนตรีศรี เจ้าหน้าที่สภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) ประชาชนในพี้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี กล่าวว่า คำตอบของธนาคารทั้ง 4 ธนาคารในการประชุมประจำปีผู้ถือหุ้นที่ผ่านมา แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ธนาคารคำนึงถึงแต่ผลกำไร ดีแต่พูดโฆษณากล่าวอ้างและแก้ตัว แต่ไม่เคยสนใจใยดีต่อความเสียหายของสิ่งแวดล้อม และความล่มสลายของสังคมเกษตรชนบทของประชาชนตามริมแม่น้ำโขงจำนวนหลายล้านคน

 

 

            “เขื่อนจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทุกวัน ชาวบ้านจะพึ่งพาหากินได้ยากลำบากขึ้น ถือเป็นการทำลายรากฐานชีวิตและเบียดขับชาวบ้านออกจากถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อไปหางานทำในต่างเมือง ความล่มสลายของระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของประชาชน ที่เกิดขึ้นจากเขื่อนไซยะบุรีนี้ มีธนาคาร 6 แห่งเป็นตัวการสำคัญ” นายแคล้วกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: