แฉขาย'อัลปราโซแรม'เกลื่อนเว็บ อย.ห้ามขาย‘ยาเสียตัว’หลัง17มิย. ชี้เป็นต้นตอก่อเหตุร้ายกว่า500คดี

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 29 พ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 22661 ครั้ง

ปัญหาการใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ของกลุ่มวัยรุ่นไทยยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการตั้งใจเพื่อก่อกิจกรรมในทางที่ผิด ซึ่งที่ผ่านมาการสำรวจข้อมูลจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขพบว่า วัยรุ่นไทยมีความพยายามในการนำยาชนิดต่าง ๆ ที่มีผลข้างเคียง ที่สามารถนำไปดัดแปลงใช้เป็นยาเสพติด หรือก่ออันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินทั้งกับตนเองและผู้อื่นเพิ่มมากขึ้น

 

 

อย.สั่งเก็บ ‘ยาเสียสาว’ ห้ามขายในร้านขายยา

 

 

ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศปรับประเภทยาอันตรายชนิดหนึ่ง จาก “วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 4” ขึ้นเป็น “ประเภทที่ 2” ที่จะสามารถอนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะในสถานพยาบาลของรัฐบาลและเอกชนเท่านั้น เนื่องจากพบว่า ยาชนิดนี้ได้ถูกนำไปใช้ในการก่อคดีอาชญากรรมมากขึ้น มีสถิติสูงถึง 400-500 คดีในระหว่างปี 2554-2555 ที่ผ่านมา โดยจะเริ่มให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 17 มิถุนายน 2556 ที่จะถึงนี้ นั่นหมายความว่า หากยังคงมีการขายยาชนิดนี้ในร้านขายยาทั่วไปจะถือว่าผู้ซื้อและผู้ขายมีความผิดทันที

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สำหรับยาอันตรายดังกล่าว คือ ยานอนหลับอัลปราโซแลม (Alprazolam) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ยาเสียสาว” ที่เคยระบาดอย่างหนักในแวดวงวัยรุ่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีชื่อทางการค้าที่แตกต่างกัน ได้แก่ Alcelam,  Alinax,  Alprax,  Anpress,  Anzion, Diazolam,  Atlantic, Marzolam, Pharnax, Siampraxol,  Xanacine,  Xanax, Xiemed เป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท หากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการติดยาทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งหากหยุดยาทันทีจะเกิดอาการขาดยาหรือถอนยา เช่น คลื่นไส้ นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว ซึมเศร้า เป็นโรคจิต หรืออาจถึงกับชักได้ หากต้องรับประทานกับยาตัวอื่น เช่น ยากดหรือกระตุ้นประสาท หรือยาคุมกำเนิด ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากมียาหลายชนิดที่มีปฏิกิริยาต่อระดับ Alprazolam ในกระแสเลือดจนทำให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงได้ และหากรับประทานยาดังกล่าวพร้อมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้กดประสาทมากขึ้น และอาจกดการหายใจส่งผลให้เสียชีวิตได้

 

 

วัยรุ่นใช้ผสมนำอัดลม เสพให้เคลิบเคลิ้ม

 

 

ทั้งนี้จากข้อมูลทางเภสัชกรรม ระบุว่า ยาอัลปราโซแลมที่ใช้ในการแพทย์มีอยู่ด้วยกัน 3 ขนาด คือ ขนาด 0.25 มิลลิกรัม ขนาด 0.5 มิลลิกรัม และขนาด 1.0 มิลลิกรัม โดยขนาดในการใช้ขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกขนาดยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป เช่น ในผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับเนื่องจากเครียด แพทย์อาจจะให้ยาอัลปราโซแลม ขนาด 0.25 มิลลิกรัม หรือในผู้ป่วยที่เลิกยาเสพติดแพทย์อาจจะต้องให้ยาอัลปราโซแลม ขนาด 0.5 มิลลิกรัม หรือ 1.0 มิลลิกรัม เป็นต้น ยาตัวนี้เป็นยาออกฤทธิ์เร็ว รับประทานไปประมาณ 20 นาทีก็จะออกฤทธิ์ แต่ฤทธิ์จะคงอยู่ไม่เกิน 1 วัน และหากดื่มน้ำมาก ๆยาก็จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ จนกระทั่งหมดไปในที่สุด

 

โดยปกติหากแพทย์นำยาอัลปราโซแลมไปใช้รักษาคนไข้ทั่วไป จะกำหนดเพียง 0.5 มิลลิกรัม ต่อครั้ง แต่เมื่อนำมาใช้ในทางที่ผิด ผู้เสพใช้ครั้งหนึ่ง 2-3 เม็ด เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการติดยาทั้งร่างกายและจิตใจ หากหยุดทันทีจะเกิดอาการขาดยาและถอนยาเช่น คลื่นไส้ นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว ซึมเศร้า เป็นโรคจิต มีอาการชัก ถ้าใช้ร่วมกับแอลกอฮอลล์จะไปเสริมฤทธิ์กดประสาท อาจกดการหายใจทำให้เสียชีวิตได้

 

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ในช่วงพ.ศ.2550-2552 อัลปราโซแลม แพร่ระบาดหนักในกลุ่มวัยรุ่นภาคใต้ รู้จักในชื่อ อัลปราโซแลม  ซาแนก หรือ ยาเสียสาว กลุ่มวัยรุ่นลักลอบมาใช้ในทางที่ผิดโดยผสมน้ำอัดลมดื่ม ด้วยข้ออ้างว่าคลายเครียด ทำให้เคลิบเคลิ้ม คึกคัก รู้สึกไม่มีตัวตน พ้นจากความทุกข์ความเจ็บปวด นำมามอมเพื่อนหญิงเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ บางกลุ่มก็ออกไปปล้นจี้เพราะฤทธิ์ยาทำให้เกิดความฮึกเหิม โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มวัยรุ่นนิยมใช้เพราะร่ำลือถึงผลว่าหายตัวได้ ใครจะยิงจะแทงก็มองไม่เห็นตัว

 

และด้วยฤทธิ์ของยาที่ส่งผลต่อจิตประสาทนี่เอง ทำให้ที่ผ่านมายาชนิดนี้ได้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดกลายเป็นคดีทางอาชญากรรมจำนวนมาก จนเป็นเหตุให้กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องประกาศเรียกคืนยาชนิดนี้ พร้อมกับปรับประเภทให้เป็นยาที่ควบคุมการใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พบยังประกาศขายในเว็บไซต์เกลื่อน

 

 

ก่อนหน้านี้ น.พ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมอาหารและยา กล่าวว่า การเรียกเก็บยาอัลปราโซแลม จะมีการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2556 โดยทำหนังสือเวียนแจ้งให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สถานพยาบาล ร้านขายยา และบริษัทยาผู้ผลิต หากร้านค้าขายยาต้องการจำหน่ายยาต่อต้องมีใบอนุญาตเท่านั้น และประกาศดังกล่าวส่งผลให้ไม่สามารถผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก ยกเว้น สธ. หรือผู้ได้รับมอบหมายจาก สธ. หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุก 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท สำหรับการมีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จะต้องขอรับ “ใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์” หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าการประกาศปรับประเภทยาของกระทรวงสาธารณสุข จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ แต่ล่าสุดมีข้อมูลพบว่า ยังคงมีการขายยาชนิดนี้ให้กับวัยรุ่นและผู้สนใจอยู่โดยไม่สนใจประกาศดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศขายออนไลน์ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ  โดยอาศัยช่วงเวลาของการเก็บคืนยาชนิดนี้ ทำให้เกิดการขาดแคลน ผู้ที่ต้องการใช้ยาไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ทำให้การขายยาออนไลน์เพิ่มปริมาณการขายมากขึ้น บางรายมีการสั่งซื้อจำนวนมาก ในลักษณะการเก็บตุน เพราะหลังจากวันที่ 17 มิถุนายน 2556 อาจจะหาซื้อได้ยากขึ้น โดยใช้วิธีการหลบซ่อนในลักษณะของการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความเสียหายจากการใช้ยาชนิดนี้ หรือบางแห่งใช้วิธีการหลบเลี่ยงโดยการนำข้อมูลทางเภสัชกรรมของยามาโพสต์รายละเอียด แต่มีการสอดแทรกเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ เพื่อการขายยาชนิดนี้ไว้ด้วย หากผู้อ่านไม่สังเกตหรือเป็นกลุ่มที่ต้องการหาซื้อจริง ๆ ก็จะไม่ทราบว่าการโพสต์ถึงคุณสมบัติยา พร้อมทั้งคำเตือนต่างๆ นั้นเป็นเพียงการตบตาผู้ที่เข้ามาอ่าน แต่ในอีกทางหนึ่งกลับใช้เป็นช่องทางในการค้าขายยาชนิดนี้นั่นเอง โดยวิธีการซื้อขายนั้น เมื่อตกลงการจำนวนและวิธีการซื้อขายกันทางโทรศัพท์เรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการส่งทางไปรษณีย หรือ นัดรับของกันตามสถานที่ต่าง ๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อย.ชี้เร่งประสานไอซีทีปิดเว็บ แต่ตรวจสอบยาก

 

 

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงประเด็นที่ยังคงมีการซื้อขายยาอัลปราโซแลม ทางสื่อออนไลน์ว่า เนื่องจากขณะนี้แม้ว่าจะมีการประกาศปรับประเภทยาอัลปราโซแลม จากยาวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิต และประสาทประเภท 4 ขึ้นเป็นประเภทที่ 2 แล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วการบังคับใช้จะมีผลในวันที่ 17 มิถุนายน 2556 จึงทำให้ขณะนี้ยังพบว่า มีการขายยาชนิดนี้อยู่ทั้งในร้านขายยาบางแห่ง และเว็บไซต์ออนไลน์ต่าง ๆ รวมถึงในรายการโทรทัศน์ด้วย ทั้งนี้ทางอย.จะได้ติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามและดำเนินการทางกฎหมาย

 

ทั้งนี้ในส่วนของการขายยาประเภทต่าง ๆ ในสื่อออนไลน์นั้น พบว่ามีจำนวนมาก และทางอย.เองก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบได้หมด นอกจากจะได้รับแจ้งจากประชาชนที่พบเห็นเท่านั้น ซึ่งหากพบว่าเป็นการดำเนินการของเว็บไซต์ใด อย.จะได้ประสานงานไปยังกระทรวงไอซีที เพื่อให้ดำเนินการเปิดเว็บไซต์นั้นทันที ส่วนในกรณีของการโฆษณาซื้อขายในรายการโทรทัศน์ก็จะแจ้งไปยัง กสทช.ในการดำเนินการบังคับใช้ให้เป็นไปตามกฎหมายเช่นเดียวกัน

 

ผอ.กองคุมวัตถุเสพติดกล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น ยอมรับว่าที่ผ่านมาอย.ไม่มีหน่วยงานในส่วนภูมิภาค ที่จะคอยดูแล จึงจำเป็นต้องอาศัยการทำงานของสาธารณสุขจังหวัดช่วยตรวจสอบดูแลให้ แต่ก็อาจจะไม่ทั่วถึง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการได้รับความร่วมมือจากประชาชน ผู้บริโภค ในการช่วยสอดส่องเมื่อพบว่า มีการซื้อขาย หรือลักลอบนำยาไปใช้ในทางที่ผิดควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป ขณะเดียวกันอยากขอความร่วมมือในการเลิกซื้อยาจากแผงลอย บาทวิถี ซื้อออนไลน์ หรือซื้อจากการขายตรงเซลต่าง ๆ เพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้

 

 

วัยรุ่นหัวใสสร้างนวกรรมใหม่ใช้ยาผิด จนท.ตามไม่ทัน

 

 

สำหรับยาอัลปราโซแลม ที่จะมีผลบังคับทางกฎหมายให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 4 ในวันที่ 17 มิถุนายน 2556 ที่หากจะซื้อขายผู้ซื้อจะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ และใช้ในโรงพยาบาลของรัฐ และเอกชนเท่านั้น นายประพนธ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาในแต่ละปี อย.จะได้รับส่งมอบของกลาง จากการที่ยาชนิดนี้ถูกนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมเฉลี่ยปีละ 200-300 กรณี ซึ่งทำให้เชื่อว่ามีแนวโน้มว่ายาอัลปราโซแลมจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์มากขึ้น และระยะหลัง ๆ ก็พบว่ามีการคิดค้นนวตกรรมใหม่ ๆ ในการนำยาไปดัดแปลงใช้ในกิจกรรมไม่พึงประสงค์ และยากต่อการตรวจสอบ ซึ่งหากปล่อยให้มีการซื้อขายโดยขาดการควบคุมต่อไป ก็อาจจะสร้างผลเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมากขึ้น

 

 

            “ยาอัลปราโซแลม เป็นยาหากใช้อย่างถูกต้องโดยแพทย์แล้ว จะเป็นยาที่มีประโยชน์ ใช้ในการคลายความวิตกกังวล คลายเครียด ถือว่าเป็นยาที่แพทย์จะให้กับผู้ที่เริ่มมีอาการเครียด เป็นยาที่ไม่ออกฤทธิ์รุนแรงเท่ากับยาชนิดอื่น แต่เมื่อถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ก็กลายเป็นสิ่งที่อันตรายขึ้นมา ซึ่งหลังวันที่ 17 มิถุนายนนี้ อย.จะได้มีการออกตรวจสอบร้านขายยาทั่วประเทศด้วย” นายประพนธ์กล่าว

 

 

แจงคุณสมบัติ 3 ตัวยาอันตราย

 

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมาพบว่า มีกลุ่มวัยรุ่นบางกลุ่ม ได้พยายามนำยารักษาโรคบางชนิดมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดอาการมึนเบลอ ทำให้เกิดอาการตื่นตัว คักคัก หรือไม่ง่วงนอน โดยดัดแปลงใช้ในวิธีการต่าง ๆ เช่น การนำยาแก้ไอเด็กซ์โต (dexto) ผสมน้ำอัดลม หรือน้ำร้อนครั้งละ 5-10 เม็ด ซึ่งจะทำให้ไม่ง่วง แต่มึนเบลอ นอกจากนั้นยังพบว่ามีกลุ่มวัยรุ่นบางกลุ่ม นิยมนำเด็กซ์โตกินผสมกับยาแก้แพ้ยี่ห้อโพโคดิล ซึ่งมีรสหวานคล้ายๆ ยาแก้ไอ บรรจุขวดขนาด 100 ซีซี ราคา 80 บาท ซึ่งมีราคาถูกกว่ายาแก้ไอผสมโคเคอีน และ พบว่ามีการใช้ยา 2 ตัวนี้ กินพร้อมกับยาอัลปราโซแรม (xoram) หรือยาคลายเครียด ด้วย

ทั้งนี้กองควบคุมวัตถุเสพติด ได้ชี้แจงข้อเท็จจริง เกี่ยวกับยาทั้ง 3 ตัว ดังนี้

1ยาเด็กซ์โต (dexto) มีชื่อสามัญทางยาว่า dextromethorphan เป็นยาลดอาการไอที่แพทย์นิยมสั่งให้ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด และมีอาการไอร่วมด้วย dextromethorphan ในปริมาณที่แพทย์สั่งจ่าย จัดเป็นยาที่มีความปลอดภัย สามารถกดอาการไออย่างได้ผล และมีผลข้างเคียงน้อย แต่ถ้าได้รับยาในปริมาณสูง สามารถก่อให้เกิดอาการเคลิ้มเป็นสุขได้ (euphoric effects) อันตรายจากการใช้ยา

โดยปกติ dextromethorphan เป็นยาที่ปลอดภัยในขนาดที่ให้ใช้คือ 15-30 มิลลิกรัม แต่ผู้ที่ใช้ในทางที่ผิด มักใช้ในปริมาณที่สูง โดยมักใช้มากกว่า 360 มิลลิกรัม ซึ่งจะทำให้เกิดอาการประสาทหลอน และมีอาการเหมือนได้รับ phencyclidine หรือ ketamine และยาจะมีฤทธิ์อยู่ประมาณ 6 ชั่วโมง ผู้ใช้ยาอาจทำอันตรายแก่ตนเองและผู้อื่นได้ เนื่องจากผลของยาที่ทำให้เกิดภาพหรือการรับรู้หลอน

พิษเฉียบพลันจากการได้รับ dextromethorphan เกินขนาด ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ง่วงงุน กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน พูดไม่ชัด ม่านตาขยาย เคลิบเคลิ้ม หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะไม่ออก มึนงง ประสาทหลอน กระวนกระวาย สั่น ชัก ปวดศีรษะ เซลสมองถูกทำลายถาวร หมดสติ และอาจถึงแก่ชีวิตได้จัดเป็นยาอันตราย ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

2.ยาแก้แพ้ยี่ห้อโพโคดิล (procodyl® syrup) ประกอบด้วยตัวยาสำคัญคือ promethazine hydrochloride มีข้อบ่งใช้คือ บรรเทาอาการแพ้ ป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ promethazine เป็น h1- antihistamine เป็นสารเคมีพวก amine อยู่ในกลุ่ม phenothiazines มีฤทธิ์ทำให้ง่วงมาก จึงอาจนำมาใช้ช่วยให้นอนหลับ ใช้ป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน ( เนื่องจากการ เปลี่ยนแปลงความเร็วและสถานที่ได้ผลดีมาก เช่นเดียวกับ dimenhydrinate ) และมีฤทธิ์คล้าย atropine ยาในกลุ่มนี้อาจกดการหายใจ และทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวลดลง (agranulocytosis)

 

 

3.ยาโซแรม (xoram) หรือ alprazolam เป็นยากลุ่ม benzodiazepine ที่ออกฤทธิ์สั้น หรือนานปานกลาง เช่นเดียวกับ lorazepam มีชื่อทางการค้า เช่น zolam® , xanax® เป็นต้น ใช้สำหรับ รักษาอาการวิตกกังวล มีการดูดซึมยา ( t max) ภายใน 1-2 ชั่วโมง จับกับโปรตีนในพลาสมาได้ 67-72 เปอร์เซนต์ มีค่า ครึ่งชีวิต 11.1 – 19 ชั่วโมง  การใช้ยา benzodiazepines ในขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการติดยาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งถ้าหยุดยาทันทีจะเกิดอาการขาดยาหรือถอนยา เช่น คลื่นไส้ นอนไม่หลับ มือสั่น หัวใจเต้นเร็ว ซึมเศร้า เป็นโรคจิต หรืออาจถึงกับชักได้ นอกจากจะเป็นยาที่ทำให้เกิดการเมาแทนการดื่มอแลกอฮอล์แล้ว ยังเป็นยาที่นับว่าอันตรายสำหรับผู้หญิงเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อกินเข้าไปแล้วจะเกิดอาการง่วงซึม มึนงง ซึ่งผู้ที่นำมาให้ดื่มอาจมีเจตนาที่ไม่ดีก็เป็นได้

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: