แฉกรมชลฯมุบมิบ-จ่อผุด‘เขื่อนแม่แจ่ม’ โผล่ในงบกู้3.5แสนล.-อ้างมั่วกันน้ำท่วม

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 29 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1814 ครั้ง

ค้านแผนน้ำ 3.5 แสนล้าน ชาวแม่แจ่มชี้ไม่เอาเขื่อน

ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำในโครงการยักษ์ของรัฐบาลภายใต้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ยังคงสร้างความกังวลใจให้กับชาวบ้านหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว  โดยพบว่า ขณะนี้มีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นกับนโยบายนี้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับภาคเหนือ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่ถูกจัดอยู่ในแผนการบริการจัดการน้ำ ซึ่งถูกระบุว่าจะเป็นพื้นที่ที่จะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำหลายแห่งด้วยกัน โดยสำหรับบริเวณลุ่มน้ำปิง มีแผนการสร้างอ่างเก็บน้ำด้วย 2  แห่ง คือ 1.อ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม  มีความจุ 134.694 ล้าน ลบ.ม. ตั้งอยู่ที่ ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ในแผนระบุว่า หากสร้างเสร็จ นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังช่วยเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมชลประทาน ประมาณ 71,836 ไร่ และยังช่วยเป็นแหล่งประมง แหล่งท่องเที่ยว แหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ แหล่งเติมน้ำบาดาลธรรมชาติ และรักษาความสมดุลของระบบนิเวศอีกด้วย

2.อ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำคลองวังเจ้า คลองสวนหมาก และคลองขลุง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง มีความจุ 39 ล้าน ลบ.ม.ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำคลองวังเจ้า คลองสวนหมาก และคลองขลุง เมื่อสร้างแล้วระบุว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ช่วยเพิ่มพื้นที่เกษตรชลประทาน ประมาณ 15,518 ไร่ และยังช่วยเป็นแหล่งประมง แหล่งท่องเที่ยว แหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ แหล่งเติมน้ำบาดาลธรรมชาติ และรักษาความสมดุลระบบนิเวศด้วย

อย่างไรก็ตามแม้ภาครัฐจะระบุถึงเหตุผลของการสร้างเขื่อนในพื้นที่ต่าง ๆ แต่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ ยังคงยืนยันการเดินหน้าคัดค้านอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดชาวบ้านจาก 4 หมู่บ้าน ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม ได้ร่วมกันจัดเวทีเรียนรู้ และแสดงเจตนารมณ์ประชาคม ผู้ได้รับผลกระทบบจากโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม เพื่อคัดค้านแผนการสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือ เขื่อนแม่แจ่ม ตามแผนงานของรัฐบาล เพราะเชื่อว่าหากมีการสร้างเขื่อนขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่อย่างแน่นอน

ชี้กรมชลฯ แอบศึกษาไม่เปิดเผยชาวบ้าน

หลังจาก “เขื่อนแม่แจ่ม” ถูกประกาศให้เป็นหนึ่งในแผนงานบริหารจัดการน้ำในโครงการ 3.5 แสนล้านของรัฐบาล สร้างความตกใจให้กับชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกระเหรี่ยงเป็นอย่างมาก เพราะเกือบทั้งหมดไม่เคยระแคะระคายมาก่อนเลยว่าพื้นที่บ้านที่อยู่อาศัยของเขากำลังจะถูกนำไปใช้ในการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และที่น่าตกใจไปกว่านั้น  เมื่อเริ่มมีการศึกษาข้อมูลรายละเอียดย้อนกลับไป ก็พบว่า เขื่อนแม่แจ่ม ไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ หากแต่ได้เคยมีการศึกษาแนวทางการสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 โดยกรมชลประทานได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ภายใต้ชื่อ “รายงานการประเมินผลกระทบเบื้องต้นต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรณีที่มีโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่แจ่มโดยการสร้างเขื่อน”

จากเอกสารข้อมูลหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่แจ่ม (ผาวิ่งจู้) 56 จัดทำโดย สถาบันอ้อผะหญา ระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเขื่อนแห่งนี้ไว้ว่า แม้ว่าจะมีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นดังกล่าวแล้ว แต่กลับปรากฎว่าไม่ได้ถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ กระทั่งวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2550 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ชงแผนพัฒนาการชลประทาน กรอบน้ำ 60 ล้านไร่ (สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี) เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานและปริมาณน้ำทั่วทุกภูมิภาคให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และอนุมัติในหลักการให้ดำเนินการตามแผนได้

ต่อมาพ.ศ.2553 จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจังหวัดเชียงใหม่ โดยให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ามาศึกษาจัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนในแผนพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำอำเภอแม่แจ่ม ประกอบด้วยแผนพัฒนาระดับชุมชน และแผนพัฒนาระดับลุ่มนํ้า ในแผนพัฒนาระดับชุมชนซึ่งเสนอโดยท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็ก ที่ใช้บรรเทา-แก้ไขปัญหาระดับหมู่บ้านหรือตำบลเท่านั้น เช่น อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและสร้างฝายในลำน้ำสาขา ฯลฯ ขณะที่แผนพัฒนาระดับลุ่มนํ้ากลับเป็นของหน่วยงานราชการตามภารกิจในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งมีทั้งโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า โดยที่คนแม่แจ่มไม่รู้มาก่อนและมีส่วนร่วมใดๆ ในแผนพัฒนาระดับลุ่มน้ำดังกล่าว

สุดท้ายโผล่โมดูล เอ1 ในแผน 3.5 แสนล้าน

              “จู่ๆ โครงการเขื่อนแม่แจ่มกลับมาโผล่อยู่ในแผนพัฒนาการชลประทานระดับลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบในกรอบน้ำ 60 ล้านไร่ ดังปรากฏในรายงานสรุปโครงการจัดทำแผนพัฒนาการชลประทานระดับลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ (กรอบน้ำ 60 ล้านไร่) ในเดือนตุลาคม 2553 ทั้ง ๆ ที่แผนดังกล่าวยังไม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (FS) และไม่ได้ศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) แต่อย่างใด ต่อเมื่อเกิดอุทกภัยปลายปี พ.ศ.2554 โครงการที่กรมชลประทานบรรจุไว้ในแผนพัฒนาการชลประทาน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (FS) และไม่ได้ศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ถูกดึงมารวมอยู่ใน “โครงการที่จะต้องทำตามยุทธศาสตร์การบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแบบบูรณาการและยั่งยืน (ระยะยาว)” (-กยน.) ทันที ดังที่ปรากฏในโมดูล เอ 1 ของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) สำนักนายกรัฐมนตรี โดยที่ยังไม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (FS) และไม่ได้ศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) อีกเช่นกัน” เอกสารดังกล่าวระบุ

หลังจากทราบว่าโครงการเขื่อนแม่แจ่ม ถูกบรรจุอยู่ในแผนการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน โมดูล เอ 1  การเคลื่อนไหวในพื้นที่จึงเกิดขึ้น การเคลื่อนไหวของชาวบ้านจึงเริ่มขึ้น โดยมีองค์กรสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ เป็นผู้สนับสนุนด้านข้อมูล โดยร่วมกันศึกษาเอกสารต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการสร้างเขื่อนแห่งนี้ ซึ่งหมู่บ้านที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่แจ่ม มี 4 หมู่บ้าน คือ บ้านแม่เอาะใต้ หมู่ 10 บ้านสบขอ หมู่ 11 บ้านแม่ซา หมู่ 2 และบ้านแม่หอย หมู่ 12 พบว่า ชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้านไม่รู้มาก่อนว่าจะมีการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม และไม่รู้ว่าน้ำจะท่วมมาถึงหมู่บ้านของตน ขณะที่ผู้นำชุมชนบางคนพอรู้ระแคะระคายอยู่บ้าง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีการสร้างจริงหรือไม่

4 หมู่บ้านกระเหรี่ยงยันไม่เอาเขื่อนแม่แจ่ม

เมื่อเป็นที่แน่ชัดว่าเขื่อนแม่แจ่ม ถูกบรรจุอยู่ในแผนงานของรัฐบาล ชาวบ้านร่วมกับองค์กรสาธารณประโยชน์ รวมทั้งเครือข่าย กลุ่ม/องค์กรภายนอกอ.แม่แจ่ม ได้พยายามเคลื่อนไหวในเวทีต่างๆ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพมหานคร รวมถึงร่วมออกแถลงการณ์กรณีโครงการ 3.5 แสนล้านมาเป็นระยะ และยื่นหนังสือถึงบริษัทเค-วอเตอร์ จำกัด ผ่านสถานทูตเกาหลีใต้ ให้ทบทวนการเข้าร่วมประมูลโครงการ และในส่วนของพื้นที่ ผู้นำชุมชนและชาวบ้านร่วมกันทำประชาคมในแต่ละหมู่บ้าน ไม่ต้องการให้มีการสร้างเขื่อน พร้อมกันนั้นทั้ง 4 หมู่บ้าน ตั้งตัวแทนขึ้นมาหมู่บ้านละ 5-7 คน เข้ามาเป็นคณะกรรมการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่แจ่มด้วย

สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ปัจจุบัน ท่ามกลางความวิตกกังวล ว่าจะสามารถต้านทานอำนาจรัฐได้หรือไม่ แต่ชาวบ้านยังคงต่อสู้คัดค้านต่อไป โดยมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ตลอดแนวถนนเข้าหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านได้นำป้ายต่อต้านการสร้างเขื่อนมาติดไว้ตลอดเส้นทาง ตามบ้านเรือนแทบทุกหลัง ต่างก็ติดป้ายไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน หลายบ้านเขียนข้อความยอมสู้ตายแต่ไม่ยอมย้ายไปอยู่พื้นที่อื่น

นายทนงศักดิ์ ม่อนดอก ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแม่แจ่ม-ผาวิ่งจู้ กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะมาสร้างเขื่อนครั้งนี้ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเหมือนตัวเองทำผิดมหันต์ และรัฐบาลลงโทษด้วยการสร้างเขื่อน ทำให้ไม่สามารถมีชีวิตต่อไปได้ ที่ผ่านมาชาวบ้านค่อนข้างโดดเดี่ยว แต่ตอนหลังเริ่มอุ่นใจเมื่อมีคนภายนอกเข้ามาให้กำลังใจมากขึ้น ชาวบ้านจึงขอประกาศว่า จะต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำแม่แจ่มให้ถึงที่สุด

ระบุถ้าเขื่อนสร้างจะฆ่าตัวตายพร้อมกัน

สำหรับความคิดเห็นของชาวบ้านดูจะไม่แตกต่างกัน เมื่อพบว่าบ้านกำลังจะต้องจมน้ำจากการสร้างเขื่อนทุกคนรู้สึกกังวลใจต่ออนาคตของตัวเอง จนกลายเป็นแรงผลักให้ทุกคนร่วมกันลุกขึ้นสู้ โดยมีชีวิตเป็นเดิมพัน

นายหม่อสะแง คะโควิทยา แกนนำชุมชนบ้านสบขอ กล่าวว่า บ้านสบขอมีชาวบ้าน 230 คนและเป็นบ้านแรกที่จะถูกน้ำท่วม หากมีการสร้างเขื่อน ในการประชุมหมู่บ้านครั้งล่าสุด ชาวบ้านได้ปรึกษากันถึงทางออก ปรากฏว่า กลุ่มสตรีและเยาวชนต่างยืนยังว่า หากวันใดที่มีการสร้างเขื่อนจริง ก็พร้อมฆ่าตัวตายพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะกินยาตายหรือผูกคอตาย ส่วนพวกผู้ชายก็จะต่อสู้ถึงที่สุดก่อนและยินดีตายด้วยกัน

            “ตอนแรกผมคิดว่าเขาพูดเล่น แต่พอถามว่าเอาจริงหรือ เขาบอกว่าเอาจริง เพราะหากสร้างเขื่อนจริงก็ต้องตายเหมือนกัน แถมตายอย่างช้า ๆ และทรมานด้วย” นายหม่อสะแงกล่าว

ขณะที่นางอาพรณ์ พัฒนพงษ์อรัญ แกนนำกลุ่มสตรีบ้านสบขอ กล่าวว่า พวกตนเป็นคนไทยเหมือนกัน และรักแผ่นดินไม่น้อยกว่าใคร กลุ่มสตรีจึงมีความเห็นร่วมกันว่า หากมีการสร้างเขื่อนจริง พวกตนจะขอฆ่าตัวตายก่อน เพราะไม่ต้องการย้ายไปอยู่ที่อื่น เนื่องจากรักบ้านเกิดที่ปู่ย่าตายายอุตส่าห์ร่วมกันสร้างมานับร้อยปีแล้ว ทุกวันนี้พวกตนอยู่กันอย่างมั่นคง แต่รัฐบาลกลับจะมาทำให้น้ำท่วมดังนั้น จึงขอตายดีกว่า

ทางด้าน นายอุทัย พายัพทนากร  ผู้ใหญ่บ้านแม่ขอกล่าวว่า การที่รัฐบาลจะมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้ชาวบ้านกระทันหันเป็นเรื่องที่ชาวบ้านรับไม่ได้ ตนเคยเดินทางไปดูงานที่ผาช่อ จ.ลำปาง ซึ่งรัฐบาลย้ายชาวบ้านจากบนดอยลงมา แต่ไม่จัดพื้นที่รองรับให้เพียงพอ สุดท้ายชาวบ้านต้องไปขายตัวอยู่ในเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากและไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นที่นี่

นายอุทิศ สมบัติ กรรมการมูลนิธิฮักเมืองแจ่ม กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ไม่เคยนึกฝันว่าจะมีโครงการสร้างเขื่อนเหมือนกับรัฐบาลโยนขนมมาก้อนหนึ่ง ชาวบ้านจะกินหรือไม่ก็ช่าง ดังนั้นหากชาวบ้านไม่เอาเขื่อนก็เป็นสิทธิของแต่ละคนเพราะต่างเป็นคนไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีสิทธิเท่ากับคนกรุงเทพฯ หากเราลืมจุดยืนตรงนี้ก็เท่ากับดูถูกตัวเอง และการต่อสู้ครั้งนี้ของชาวบ้านเพิ่งเริ่มต้น ทุกวันนี้ชาวบ้านอยู่กันมีความสุขดีแล้วมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย หากเกิดเขื่อนก็ต้องแยกย้ายกันไป

การจัดเวทีในครั้งนี้จึงเป็นการแสดงเจตนารมย์ของชาวบ้าน ที่ยังคงยืนยันเช่นเดิม และดูเหมือนจะเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิมเมื่อไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ จากรัฐบาลนอกจากความพยายามในการผลักดันโครงการมูลค่ามหาศาลนี้

ส.ว.เตรียมนำข้อมูลเข้าพิจารณาในกมธ.น้ำ

นายสุรจิต ชิรเวทย์ สมาชิกวุฒิสภาจ.สมุทรสงครามและประธานอนุกรรมาธิการน้ำ วุฒิสภา กล่าวแสดงความคิดเห็นระหว่างการลงพื้นที่ร่วมกับสื่อมวลชนว่า แม้ว่าสถานการณ์ของชุมชนที่ได้รับผลกระทบในแม่แจ่มครั้งนี้จะเป็นภาพย่อย แต่ช่วยสะท้อนภาพใหญ่ในแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลซึ่งขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาพประชาชน และเป็นแผนงานที่รัฐบาลประเมินผิดมาตั้งแต่ต้นเพราะใช้เกณฑ์ในปีที่น้ำมากที่สุดเป็นตัวตั้ง และรัฐบาลกลายเป็นผู้ละเมิดกฎหมายเสียเอง อย่างไรก็ตามจะนำข้อมูลที่ได้รับจากชาวบ้านเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯต่อไป

เรียกร้องยกเลิกโครงการ-อย่าเอาเงินเป็นตัวตั้ง

ทั้งนี้ภายหลังการประชุม ชาวบ้านในนามคณะกรรมการคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม และเครือข่ายภาคประชาชน ออกแถลงการณ์ระบุว่า โครงการเขื่อนแม่แจ่ม อยู่ในโมดูล เอ 1 ของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน เป็นโครงการที่กรมชลประทานและคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ดำเนินการสวนทางกับความต้องการของคนแม่แจ่ม ที่รู้และเข้าใจภูมินิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำแม่แจ่มเป็นอย่างดี การดำเนินโครงการที่เอาปริมาณพื้นที่ชลประทาน เอาปริมาณน้ำ และเอาเงินเป็นตัวตั้ง ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องปกาเกอะญอ ที่อาศัยอยู่หน้าเขื่อน 3,584 คน จนเกิดความเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ ที่จะต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ พื้นที่ทำกินถูกน้ำท่วม และถนนตัดขาดสัญจรไป-มาไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องปกาเกอะญอบ้านสบขอ บ้านแม่เอาะใต้ และบ้านแม่ซา รวม 281 ครัวเรือน ที่ต้องโยกย้ายกันทั้งหมู่บ้าน

               “พี่น้องปกาเกอะญอที่ถูกละเมิดสิทธิบุคคลและชุมชน เนื่องมาจากโครงการเขื่อนแม่แจ่ม มีความจำเป็นต้องออกมาปกป้อง คุ้มครอง รักษาสิทธิของตนและชุมชนไว้ มีมติร่วมกันคัดค้านโครงการเขื่อนแม่แจ่มอย่างถึงที่สุด และทุกวิถีทางด้วยชีวิต” ในแถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ขอเรียกร้องให้กรมชลประทาน กบอ. และนายกรัฐมนตรี พิจารณายกเลิกโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่มและเขื่อนอื่น ๆ ในทุกแผนงาน โดยหันมาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่สอดคล้องกับภูมินิเวศวัฒนธรรมแต่ละลุ่มน้ำ ที่ไม่กระทบกับสิทธิบุคคลและชุมชน และไม่ทำลายผืนป่าอันอุดมที่ให้น้ำให้อาหารชั่วชีวิตจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: