สถิติเด็กผิดคดี'ยาเสพติด'มากสุด กรมพินิจฯเร่งปรับแผน-แยกกลุ่ม ฟื้นคืนสังคม-หวังลดกระทำผิดซ้ำ

ชุลีพร บุตรโคตร ชนากานต์ อาทรประชาชิต ศูนย์ข่าว TCIJ 30 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 8653 ครั้ง

 

คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันปัญหาการกระทำผิดของเด็ก เยาวชน ในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะปัญหาการกระทำผิดในระดับคดีอาญาที่จากสถิติขอกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่า จำนวนเด็กและเยาวชนที่เดินทางเข้าสู่การดูแลของสถานพินิจฯ ยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมา

 

ประเด็นสำคัญที่จะต้องมองต่อไปนอกจากการกระทำผิดที่เกิดขึ้นของเด็กแล้ว กระบวนการขั้นตอนของการดำเนินการต่อในระหว่างและหลังจากการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะที่ผ่านมาเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า สังคมมักไม่ให้ความไว้วางใจกับการกลับคืนสู่สังคม ของกลุ่มผู้กระทำผิดเหล่านี้เท่าใดนัก แม้จะเป็นกลุ่มเด็กหรือเยาวชน จนอาจเป็นเหตุสำคัญที่เด็ก ๆ ที่เคยต้องโทษหันกลับไปกระทำผิดเช่นเดิม กลายเป็นการกระทำผิดซ้ำ ที่หาทางแก้ไขยากยิ่งขึ้น

 

 

 

 

เด็กทำผิดคดียาเสพติดมากสุด

 

 

นายฐานิส  ศรียะพันธ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ โดยระบุว่า จากข้อมูลสถิติการกระทำผิดของเด็กทั้งหมด ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พบว่าคดีเกี่ยวกับยาเสพติดยังคงเป็นการกระทำผิดที่เกิดขึ้นกับเด็กไทยทั้งหญิงและชายมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีคดีการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามมาเป็นอันดับสอง และคดีเกี่ยวกับยาเสพติดยังเป็นคดีที่กระทำผิดซ้ำมากที่สุดอีกด้วย ทั้งนี้จากการใช้เครื่องมือจำแนกการกระทำผิด พบว่า โดยพื้นฐานจริง ๆ แล้ว การกระทำผิดอื่น ๆ มักเกิดจากยาเสพติดเป็นหลัก และทำให้เกิดการกระทำผิดต่อเนื่องไปยังการกระทำผิดอื่น ๆ  ในกลุ่มนี้ จึงจำเป็นจะต้องมีการรักษาบำบัดคู่กันไปด้วย ซึ่งปัญหายาเสพติดนี้เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เด็กกระทำผิดซ้ำมากที่สุดนั่นเอง

 

ทั้งนี้จากสถิติของกรมพินิจฯ พบว่า ในปี 2554 มีคดีเด็กกระทำผิดทั้งหมด 35,049 คดี เป็นคดีฐานความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษสูงถึง 13,845 คดี หรือร้อยละ 39.50 รองลงมาเป็นการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 7,078 คดี หรือร้อยละ 20.19 นอกจากนี้เป็นการกระทำผิดในฐานอื่น ๆ ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย,ความผิดเกี่ยวกับอาวุธและวัตถุระเบิด,ความผิดเกี่ยวกับเพศ และ ความผิดอื่น ๆ ซึ่งในปี 2555 ที่ผ่านมาแม้จะการสรุปสถิติคดียังไม่เสร็จสิ้นแต่ก็เชื่อว่าตัวเลขจะไม่หนีไปจากเดิม

 

 

30,000 คดี ผู้กระทำผิด 9,000 คน

 

 

อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดของเด็กอยู่ ประมาณ 30,000 คดี  โดยกรมพินิจฯ จะต้องดูแลเด็กที่อยู่ในกระบวนการทั้งสิ้นประมาณ 8,000-9,000 คน ทั้งกลุ่มที่ที่พิพากษาแล้วและหลังพิพากษา ซึ่งจะต้องมีกระบวนการการดูแลตามขั้นตอน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ก่อนคำพิพากษา หรือกลุ่มที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา โดยเด็กหรือเยาวชนกลุ่มนี้ จะต้องเข้าสู่สถานพินิจแรกรับ หรืออาจจะไม่มีการแรกรับ เรียกง่าย ๆ ว่า รอการประกันตัว แต่หากศาลไม่ให้ประกันตัว จะต้องถูกส่งตัวไปยังสถานพินิจที่มีส่วนแรกรับ เพื่อจัดการดูแล แก้ไข บำบัด ทั้งในเรื่องของพื้นฐานชีวิต และยาเสพติด หรือเสริมเสริมทักษะชีวิต ให้ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด ก่อนจะมีการพิพากษา ถ้าหลังมีการพิพากษาแล้ว ศาลจะให้ไปบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู ที่ศูนย์ฝึกฯ ซึ่งปัจจุบัน ทั้งประเทศมีอยู่ 18 แห่ง  ที่จะมีการจัดทำแผนฝึกอบรมเป็นรายบุคคล จัดการศึกษา ให้การศึกษาวิชาชีพ เชื่อมโยงครอบครัวชุมชนเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการแก้ไข จนกระทั่งมีเตรียมการปลดปล่อย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ในส่วนของกลุ่มเด็กที่เปราะบาง เช่น เด็กพิการ เด็กที่ป่วยทางจิต ทางกรมพินิจฯ จะทำการสืบเสาะข้อเท็จจริง เก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเสนอศาล  โดยศาลอาจจะให้ประกันตัวหรือไปบำบัดฟื้นฟูที่สถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทั้งเรื่องจิต เรื่องกายให้ได้รับการดูแล ในขณะที่กลุ่มเปราะบางอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เด็กและเยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องนี้เป็นนโยบายของกรมพินิจฯ ที่จะให้การดูแล เพราะว่าวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม แตกต่างกัน เด็กและเยาวชนในแถบนั้นวิถีชีวิตเริ่มต้นด้วยศาสนา ผูกพันกับพระเจ้า ฉะนั้นกรมพินิจโดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรมจึงมีนโยบายสร้างศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเป็นการเฉพาะที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อที่จะดูแลจัดการกับเด็กที่เข้าสู่กระบวนการของกรมพินิจ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ประเพณี ศาสนา อัตลักษณ์ท้องถิ่น

 

 

กรมพินิจฯ ยึด 5 นโยบาย แก้เด็กคืนสังคม

 

 

อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าวว่า ปัจจุบัน กรมพินิจฯ ได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการทำงานของกรม ไว้ 5 ข้อด้วยกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเด็ก และเยาวชนที่กระทำผิดและต้องเข้ามาอยู่ในสถานพินิจ โดย นโยบายข้อที่ 1 คือ ลดจำนวนเด็กที่อยู่ในสถานพินิจหรือศูนย์ฝึกลง เพราะตามหลักจิตวิทยา เด็กและเยาวชนควรอยู่กับพ่อแม่เป็นดีที่สุด ทั้งก่อนและหลังคำพิพากษา ข้อที่ 2 คือ การจำแนก หรือคัดกรองเด็ก แม้แต่โรงพยาบาลเองก็มีโรงพยาบาลหู โรงพยาบาลตา โรงพยาบาลทรวงอก โรงพยาบาลมะเร็ง เหมือนกับเด็กที่เข้าสถานพินิจย่อมมีข้อจำกัดหรือป่วยไม่เหมือนกัน ฉะนั้นมองว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องทำงานเฉพาะโรค เพราะจะเพิ่มสมรรถนะของการทำงาน ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากกว่า

 

 

 

              “เราจะใช้หลักพระพุทธเจ้า พูดง่าย ๆ ก็คือจะแบ่งคนเป็น 4 กลุ่ม เครื่องมือจำแนกแบบนี้ใช้มา 3 ปีแล้ว  โดยผู้บริหารท่านก่อน ๆ ทำออกมาแล้วก็คัดกรอง คือสามารถแปลงเป็นค่าทางวิทยาศาสตร์ พอลงสัมภาษณ์ซึ่งได้ทำวิจัยกันมาเยอะแล้ว ก็ได้ค่าคะแนน โดยจะแบ่งเป็น กลุ่มฮาร์ดคอร์ พวกนี้เป็นมืออาชีพ เป็นกลุ่มรุนแรงที่กระทำผิดซ้ำ อย่างนี้ต้องแยก ต่อมาเป็นกลุ่มที่พอแก้ไขได้ ตามด้วย กลุ่มที่แก้ไขได้ และกลุ่มที่ 4 ไม่ต้องแก้ไข ซึ่งการแยกแบบนี้ ทำให้ง่ายต่อการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนเป็นการเฉพาะ เจ้าหน้าที่ที่ฝึกจะมีความเชี่ยวชาญ มีทักษะ มีความชำนาญ ในเรื่องนั้น ๆ” นายฐานิสกล่าว

 

 

สำหรับนโยบายข้อที่ 3 นั้น อธิบดีกรมพินิจฯกล่าวว่า เป็นเรื่องของการจัดระบบหรือโซนนิ่ง เมื่อได้จำแนกมาแล้ว ก็ต้องจัดโซนนิ่งว่า ศูนย์ฝึกฯ ไหนสำหรับกลุ่มฮาร์ดคอร์ ศูนย์ฝึกฯไหนสำหรับกลุ่มเด็กที่พอแก้ไขได้ ศูนย์ฝึกฯไหนสำหรับเด็กที่แก้ไขได้ เช่นกลุ่ม 4 หากจำแนกมาแล้ว เห็นว่าไม่ต้องแก้ไข ก็ควรให้อยู่กับพ่อแม่ สังคมต้องมีส่วนร่วม  ส่วนนโยบายข้อที่ 4 คือ การพัฒนาโปรแกรมในการแก้ไข เพราะแต่ละกลุ่มได้รับการปฏิบัติย่อมแตกต่างกันแน่นอน เช่นเดียวกับการที่คนป่วยเป็นไข้หวัด หรือเป็นไข้ หากแพทย์ให้ยาแก้ปวดแก้ไข อาการก็จะหายไข้ แต่หากไม่ให้ยาแก้อักเสบให้หายขาดก็อาจจะกลับมาเป็นอีก เป็นต้น

 

 

ยอมรับมีปัญหา แต่แก้ได้น่าพอใจ

 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงประเด็นปัญหาที่ของกรมพินิจฯ ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่าไม่มีคุณภาพนั้น นายฐานิส กล่าวว่า หากถามเรื่องปัญหา ตนคงต้องตอบว่ามีปัญหาอยู่แล้วเป็นเรื่องธรรมดา ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลกรมพินิจซึ่งต้องเข้ามาทำหน้าที่ด้านการพัฒนาก็ต้องดำเนินการ ซึ่งทางรัฐบาลจะเข้ามาดูแลส่วนหนึ่งแล้ว แต่รัฐบาลเองก็มีภาระหน้าที่หลายหน่วยงาน ซึ่งจริง ๆ แล้วเด็กที่อยู่ในกรมพินิจหรือผลสัมฤทธิ์ของงาน ตามที่ตนได้สำรวจดูหลังเข้ามารับหน้าที่ก็พบว่า มีเด็กที่ประสบความสำเร็จในชีวิตหลายคน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ทั้งเป็นเถ้าแก่ เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นทหารอยู่เมืองนอก ก็มี แต่ก็ไม่ได้มีการเปิดเผยออกมา ซึ่งนี่ถือว่าเป็นผลผลิตของกรมพินิจฯ แต่ก็มีจำนวนหนึ่งที่เปิดเผยอดีตของตัวเอง เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี แต่ขณะเดียวกันงบประมาณ ข้อจำกัดต่าง ๆ ยอมรับว่าไม่เพียงพอ ที่ผ่านมาสังคมให้ความสนใจมาก  ซึ่งสุดท้ายแล้วตนคิดว่าต้องแก้ด้วยความรัก

 

 

 

             “มีคำพูดว่า “พินิจด้วยรัก พิทักษ์ด้วยใจ” ตอนนี้ก็มีหลายงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนเรื่องงบประมาณ ทรัพยากรต่าง ๆ ตอนนี้ยิ่งดีใหญ่คือเรื่องประมวลกฎหมายรัษฎากร เรื่องภาษี จ่ายหนึ่งได้สอง จ่าย 100 บาท ได้ลดภาษีถึง 200 บาท ก็ฝากเรียนพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่ใจบุญใจกุศลที่อยากมีส่วนช่วยเยาวชน ท่านดูแลลูกหลานในส่วนนี้ย่อมไม่ผิดหวังหรอกครับ ถ้าเราปฏิบัติต่อเขาดี ปฏิบัติด้วยความเป็นธรรม ปลูกฝังทักษะชีวิตต่างๆ เขาก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและไม่ทำลายสังคม อันนี้ได้บุญมาก ก็ขอฝากพ่อแม่พี่น้องได้มีส่วนร่วมกับกรมพินิจด้วย ขอกราบขอบพระคุณล่วงหน้า” อธิบดีกรมพินิจ กล่าว

 

 

ยูนิเซฟแฉคดีเด็กไทยพุ่งสูงขณะมาตรฐานดูแลเด็กต่ำ

 

 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ องค์การยูนิเซฟ ได้นำเสนอข้อมูลวิพากษ์วิจารณ์การทำงานด้านการกระทำผิดของเด็กในประเทศไทย ออกเผยแพร่โดยระบุว่า สำหรับประเทศไทย ประเด็นเรื่องการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน กำลังกลายมาเป็นปัญหาที่น่ากังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ คดีการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในรอบสิบปีที่ผ่านมา จาก 37,388 คดี ในปี 2542 มาเป็น 44,424 คดีในปี 2553 ประเด็นหลักที่สำคัญคือ

 

• อายุขั้นต่ำของการรับผิดทางอาญาของประเทศไทยคือ 10 ขวบ ซึ่งต่ำกว่าที่กำหนดในระดับสากลคือ 12 ขวบ นั่นหมายความว่าเด็กที่อายุเพียงเพียง 10 ขวบ สามารถตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาได้ และสามารถถูกพิพากษาให้คุมขังในสถานควบคุม


• ไม่ค่อยมีทางเลือกอื่นให้เด็กนอกเหนือจากการคุมขัง


• ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน มีสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด ยกตัวอย่างเช่นในเดือนพฤษภาคม 2554 มีจำนวนเด็กเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 3,600 คน ที่ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และอีก 6,900 คน อยู่ในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน นอกเหนือจากนี้ไม่มีการควบคุมตัวเด็กแยกออกจากกันโดยใช้เกณฑ์อายุ หรือความรุนแรงของคดี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


• ขาดสถานที่และอุปกรณ์ การให้บริการและกิจกรรมในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนที่ตอบสนองความจำเป็นของเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดโดยเฉพาะในการช่วยส่งเสริมพัฒนาการและช่วยให้พวกเขาเรียนรู้และสามารถกลับสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ


• ขาดการติดตามและช่วยเหลือเด็กและครอบครัวอย่างเป็นระบบภายหลังจากที่เด็กถูกปล่อยตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้เด็กและเยาวชนการกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ ด้วยเหตุนี้เยาวชนที่กระทำผิดหลายคนจึงกระทำผิดซ้ำอีก


• สังคมมีทัศนคติในทางลบต่อเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด อันเป็นสาเหตุทำให้คนส่วนใหญ่เห็นชอบกับการใช้มาตรการลงโทษที่รุนแรงต่อเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ซึ่งถือเป็นมาตรการที่ไม่มีประสิทธิภาพในการลดการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน


• ทัศนคติเชิงลบและการขาดความเข้าใจของสังคม ยังทำให้เด็กและเยาวชนที่กระทำผิด ขาดโอกาสกลับตัวเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคมหลังถูกปล่อยตัว เช่น การสมัครงาน หรือการศึกษาต่อ โดยมักถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็นคน “ไม่ดี”

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถิติเด็กและเยาวชนกระทำความผิด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: