ตะลึงธุรกิจ‘เรือยอช์ท'ภูเก็ตเฟื่อง ภาคบริการ-เงินสะพัดนับหมื่นล้าน แนะเปิดท่าปลอดภาษีสู้'มาเลเซีย'

พรรณษา กาเหว่า 30 มี.ค. 2556 | อ่านแล้ว 9330 ครั้ง

 

เรือยอช์ทนับเป็นอุปกรณ์การท่องเที่ยวสันทนาการและกีฬา ที่เรียกได้ว่า เป็นของเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้สูง หรือคนรวยเท่านั้น เพราะนอกจากมูลค่าเรือที่แพงลิบแล้ว ในการเดินทางหรือใช้เรือแต่ละครั้ง ก็นับว่ามหาศาลอยู่ทีเดียว ทั้งค่าน้ำมันเรือ ค่าอุปกรณ์ประกอบ ค่าประกันภัย ค่าบำรุงรักษา ค่าสึกหรอ ค่าที่จอด ค่าทำความสะอาดเรือ ฯลฯ แต่เจ้าของก็ยังมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุ้มค่า เพราะการเดินทางแต่ละครั้งคือการผจญภัย ที่จะได้สัมผัสกับความตื่นเต้นและใกล้ชิดธรรมชาติ และได้ใช้ความสามารถในการเดินเรือ ซึ่งถือเป็นกีฬาอย่างหนึ่งด้วย

 

สำหรับในประเทศไทย การท่องเที่ยวด้วยเรือยอช์ท เป็นกิจกรรมที่มีการเจริญเติบโตทางฝั่งทะเลอันดามันมากกว่าในฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งความนิยมในการท่องเที่ยวทางทะเลด้วยเรือยอช์ท เห็นได้จากท่าเทียบเรือยอช์ท ที่มีเป็นจำนวนมากในฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะจ.ภูเก็ต เนื่องจากเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อ ในเส้นทางการเดินระหว่างยุโรปและเอเชีย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปัจจุบันท่าเรือยอช์ทหรือท่าเรือมารีนาใน จ.ภูเก็ต มีทั้งหมด 5 แห่ง เป็นท่าเทียบเรือเอกชน 4 แห่ง คือ ท่าเทียบเรือยอร์ท ฮาเวน มารีน่า (Yacht Heaven Marina) ท่าเทียบเรือรอยัลภูเก็ต มารีน่า (Royal Phuket Marina) ท่าเทียบเรือภูเก็ตโบ๊ท ลากูน (Phuket Boat lagoon) ท่าเทียบเรืออ่าวปอ แกรนด์ มารีน่า และท่าเทียบเรือรัฐบาล 1 คือ ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง

 

เรือยอช์ทเป็นพาหนะในการเดินทาง เป็นอุปกรณ์กีฬา เป็นอุปกรณ์สันทนาการ แล้วแต่จะเรียก มีราคาต่อลำสูงมาก การสั่งซื้อเรือยอช์ท หากไม่ใช่การซื้อมือสองหรือซื้อต่อมาจากคนอื่น ก็จะต้องสั่งต่อขึ้นเท่านั้น เป็นการประกอบชิ้นต่อชิ้น ราคาจะคำนวณเป็นฟุต ฟุตละ 1 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าตกแต่ง ค่าเฟอร์นิเจอร์ และค่าบริการอื่น ๆ ซึ่งก่อนที่ลูกค้าจะซื้อเรือแต่ละลำ บริษัทจะต้องตรวจสอบข้อมูลลูกค้าด้วยว่า มีฐานะทางการเงินพอที่จะซื้อหาได้จริงหรือไม่ เนื่องเพราะเรือยอช์ทเป็นพาหนะที่ไม่มีการขายระบบผ่อนชำระหรือจัดไฟแนนซ์ แต่ผู้ซื้อต้องแสดงสถานะความเป็นคนรวยตั้งแต่เริ่มต้นเป็นเจ้าของ

 

นอกจากราคาค่างวดที่แพงแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายตามมาในส่วนของค่าบริการบำรุงรักษา ต่อปีคิดเป็น 10 เปอร์เซนต์ ของค่าเรือที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทเจ้าของเรือ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในเรือยอช์ทมีอะไรบ้าง ?

 

เรือยอช์ทเปรียบเสมือนบ้านหรูลอยน้ำ มีทุกอย่างเหมือนบ้านทั้งห้องนอน ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องอเนกประสงค์อื่น ๆ อีกทั้งอุปกรณ์นำร่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะแล่นด้วยเรือใบหรือเครื่องยนต์ ขนาดที่เหมาะสมที่จะรองรับห้องต่าง ๆ และสิ่งอำนวยความสะดวก ควรจะมีขนาดตั้งแต่ 30 ฟุตขึ้นไป และต้องมีความสามารถในการผจญภัยในทะเล และสามารถลอยน้ำได้ เป็นเรือของคนที่รักสันโดษรักธรรมชาติที่เดินทางท่องเที่ยวและค้างแรมเสมือนบ้านพัก จึงต้องแบ่งห้องอย่างเป็นสัดส่วน สำหรับท่าเทียบหรือที่จอดเรือก็มีลักษณะเฉพาะเรียกว่า มารีนา

 

มารีนาเป็นท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยว ตั้งอยู่ตามฝั่งทะเลหรือแม่น้ำ การเข้าเทียบหรือการเข้าจอดของเรือมีค่าใช้จ่ายทุกครั้ง ซึ่งอัตราค่าจอดจะมีทั้งแบบรายวัน รายเดือน หรือรายปี ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจอดมักจะจอดเป็นรายเดือนหรือรายปี โดยจอดเพื่อการซ่อมบำรุง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเรือและเพื่อท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต นอกจากนี้มารีนายังมีการบริการในส่วนของท่าเทียบเรือส่วนตัว (VIP) จะเป็นบริการจอดเรือในที่ร่ม มีกล้องวงจรปิดและการเฝ้ายามตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นจากค่าจอดเรือปกติประมาณ 20 เปอร์เซนต์

 

 

ภายในมารีนาจะมีสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งการเติมน้ำมัน, เติมน้ำจืด, การชาร์ตไฟฟ้า, เติมเสบียงอาหาร อู่ซ่อมบำรุง ทั้งการทำสี ไฟเบอร์ ทำไม้ มีอุปกรณ์เครนสำหรับยกเรือยอช์ทขึ้นบกหรือลงน้ำ, ระบบการติดต่อสื่อสารชายฝั่งที่ทันสมัย, ล้างและเคลือบเงาป้องกันตะกอน, บริการระบบไฟฟ้าทุกประเภท, เช่าล็อกเกอร์, ขายอุปกรณ์เรือ ซึ่งอุปกรณ์ทุกชิ้นนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดคือ ค่าใช้จ่าย ที่เป็นเงินจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ยังมี ร้านอาหาร ตลาดและห้างสรรพสินค้า บริการเช่ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ บริการจองตั๋วเครื่องบิน ฯลฯ

 

นักท่องเที่ยวที่แล่นเรือมาจากต่างประเทศทั้ง สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อังกฤษ ญี่ปุ่น ฯลฯ เข้ามาจอดแวะพักเรือและท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต สูงถึงปีละประมาณ 1,000 กว่าเที่ยว จากสถิติการแจ้งเข้า-ออกที่สำนักงานขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ภาค 5 จ.ภูเก็ต ระหว่างปี 2004-2009 พบว่า มีเรือยอช์ทเข้ามาที่ จ.ภูเก็ต ถึงปีละ 1,200-1,400  ลำ โดยเข้ามาพักเฉลี่ยครั้งละ 60 วัน

 

 

แต่ละวันนักท่องเที่ยวจะใช้จ่ายเงินเป็นค่าค่าต่าง ๆ เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อคน ทั้งเป็นค่าที่พักบนฝั่งเมื่อนอนในเรือนานเกินไป ค่าอาหาร ปาร์ตี้ สถานที่ออกกำลังกาย สปา นวดร่างกาย ช้อปปิ้ง ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอนุรักษ์ ฯลฯ แต่ขณะนี้ท่าเทียบเรือยอช์ทยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ไม่อาจรองรับเรือยอช์ทที่จองคิวเข้ามาขอจอดได้ทั้งหมด ถึงแม้จะไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยว หรือ Low Season คือระหว่างเดือนเมษายน-ตุลาคมของทุกปี นักท่องเที่ยวด้วยเรือยอช์ทที่ต้องการจอดเรือกับทางมารีนาทุกแห่งในภูเก็ต จะต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 เดือน

 

หากคำนวณด้วยตัวเลขที่ระบุมาข้างต้น มีนักท่องเที่ยวที่เล่นเรือยอช์ท เข้ามาปีละเฉลี่ยอย่างต่ำ 1,200 ลำ แต่ละลำมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาด้วยอย่างน้อย 3 คน (1,200 X 3 = 3,600) รวมนักท่องเที่ยวประมาณ 3,600 คน พักอยู่ที่ จ.ภูเก็ต คนละ 60 วัน โดยในแต่ละวันใช้จ่ายเงินประมาณ 100,000 บาท (3,600 X 100,000 X 60= 21,600,000,000) นั่นเท่ากับว่า ในแต่ละปี จ.ภูเก็ต มีรายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มากถึง 21,600,000,000 บาท

 

และด้วยเพราะประเทศไทยมีมารีนาที่มีศักยภาพดี มีการบริการเป็นเลิศ สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย อาหารอร่อย และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ส่งผลให้มารีนาในภูเก็ต ได้รับรางวัล Best Asian Maritime Capital หรือ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางเรือที่ดีที่สุดในเอเชีย จากการประกวด  Asia Boating  Award 2010  โดยการโหวตของผู้ประกอบการซื้อขายเรือยอช์ท 3,000 ราย ที่เข้าร่วมงาน Hong Kong Gold Coast Boat Show ประเทศฮ่องกง

 

 

นอกจากนี้ เมื่อมีท่าเทียบเรือหรือมารีนา และมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจอดเรือเพิ่มมากขึ้น เป็นความต้องการของนักท่องเที่ยวทางเรือที่ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ นอกเหนือจากโรงแรมที่นักท่องเที่ยวต้องการขึ้นมาพักบนบกและท่องเที่ยว ยังมีการขยายตัวของธุรกิจในลักษณะ Real Estate แบบคอนโดมีเนียมหรือห้องชุด พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก การจัดสรรที่ดินเพื่อขายให้เจ้าของเรือยอช์ททั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สำหรับสร้างบ้านตามความต้องการ พร้อมที่จอดเรือยอช์ทในลักษณะของชุมชนเรือยอช์ทด้วย

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสภาพของธุรกิจเรือยอช์ทของ จ.ภูเก็ต กำลังเฟื่องฟูอยู่ก็ตาม แต่ก็นิ่งนอนใจไม่ได้ ผู้ประกอบธุรกิจต่อเนื่องจากเรือยอช์ททั้งหลาย จะต้องรักษาคุณภาพของบริการไว้ให้ดีอยู่เสมอ เพื่อรักษาฐานลูกค้าและชื่อเสียงที่มีอยู่ต่อไป เนื่องจากปัจจุบัน มาเลเซียกำลังเร่งพัฒนามารีนาให้มีความครบวงจร และอยู่ในระดับโลก ซึ่งมาเลเซียใช้จุดเด่นในเรื่องของเมืองปลอดภาษีมาดึงดูดนักท่องเที่ยว

 

หากมีการปรับเปลี่ยนให้ภูเก็ตกลายเป็นเมืองท่าปลอดภาษี จะทำให้การท่องเที่ยวด้วยเรือยอช์ทขยายตัวไปได้อย่างรวดเร็ว และสามารถแข่งขันทางด้านราคากับประเทศสิงค์โปร์และมาเลเซีย ที่เป็นเมืองท่าปลอดภาษีได้ และนำไปสู่การเป็นท่าเทียบเรือที่ดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: