เปิดหัวใจของ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ ทั่วโลกร่วมสร้างสู้ฮั้วจัดซื้อจัดจ้าง มาตรการใหม่แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 30 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2078 ครั้ง

 

 

การเมือง-นายทุนจุดเริ่มต้นคอร์รัปชั่น

 

 

หากนับย้อนถึงจุดเริ่มต้นของการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทย ต้องกลับไปถึงช่วง หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ซึ่งเกิดชนชั้นใหม่ขึ้นหลายกลุ่มในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงอำนาจรัฐ และใช้อำนาจที่อ้างว่าได้รับความชอบธรรมจากคนไทย มาเป็นเครื่องมือ อุ้มชู จัดสรร ถ่ายเท ยักยอก ผลประโยชน์มหาศาลของส่วนรวมไปสู่วงศาคณาญาติตนเอง รวมถึงแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการที่สมรู้ร่วมคิดในกระบวนทุจริต ซึ่งคนกลุ่มนี้อาศัยกลไกอำนาจรัฐเพื่อเรียกรับผลประโยชน์ จากภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม

 

บทบาทที่ว่านี้ในการทุจริตคอร์รัปชั่น ถือว่ามีบทบาทในฐานะ “ผู้เรียกรับสินบน” ขณะที่กลุ่มนายทุน ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นับว่าเป็นฝ่ายที่มีบทบาทในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ในฐานะที่เป็น “ผู้ให้สินบน” คอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มทั้งสองนี้ ได้อาศัยการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ขยายขนาดของการคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้น เสมือนเป็นเงาตามตัว ผลงานของคอร์รัปชั่นที่ทำให้โครงการพัฒนาหลายต่อหลายแห่งกลายเป็นอนุสรณ์เตือนใจและเป็นบทเรียนให้แก่สังคม เช่น โครงการรถไฟฟ้าโฮปเวล โรงบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เป็นต้น

 

ขณะเดียวกันภาพสะท้อนจากองค์กรระหว่างประเทศ ที่จัดทำดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น 2554 โดยองค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International: TI) ซึ่งจัดทำดรรชนีดังกล่าวเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ พ.ศ.2538 ในปี 2554 ที่ผ่านมาประเทศไทยได้อันดับที่ 80 มีคะแนน 3.4 จากคะแนนเต็ม 10 (ตัวเลขยิ่งน้อยแสดงว่าประเทศนั้นมีเรื่องคอร์รัปชั่นมาก) ซึ่งเทียบจากปี 2553 คะแนนของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง และถ้าดูสถิติอันดับความโปร่งใสของประเทศย้อนหลังไป ตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มจัดอันดับ (2538) จากอันดับที่ 61 ในปัจจุบันตกมาอยู่อันที่ 88 (2555)

 

 

 

ถ้ายังใช้ประชานิยมคอร์รัปชั่นอาจจะพุ่ง

 

 

ยิ่งไปกว่านั้น มีการประเมินสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยในปัจจุบันเข้าขั้น “วิกฤติ” เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนเงิน “ใต้โต๊ะ” ที่สูงถึง 20-30 เปอร์เซนต์ ของวงเงินงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ (บางแห่งประเมินว่าอาจจะถึง 50 เปอร์เซนต์) คำนวณออกมาเป็นตัวเงิน คร่าว ๆ ประมาณปีละ 300,000 ล้านบาทต่อปี และยังมีการคาดการณ์กันว่า หากรัฐบาลยังใช้นโยบายประชานิยมต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้า ยอดเงินคอร์รัปชั่นอาจจะพุ่งขึ้นสูงถึง 500,000 ล้านบาทต่อปีได้ ด้วยที่นโยบายประชานิยม และโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของภาครัฐมีช่องโหว่ และกฎระเบียบที่ขาดความชัดเจน ประกอบกับขาดกลไกตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ

 

 

‘คอร์รัปชั่น’เป็นมายาคติเห็นผิดเป็นชอบ

 

 

ในส่วนของทัศนคติของคนในสังคมไทยส่วนใหญ่ กลับยอมรับและเห็นว่า การทุจริต “เป็นเรื่องธรรมดาที่ใคร ๆ เขาก็ทำกัน”, “โกงไม่ว่าขอให้มีผลงาน” ฯ ทัศนคติเหล่านี้ เป็นมายาคติทางความคิดเห็นผิดเป็นชอบ และเป็นวิธีคิดที่มองเพียงแต่ผลประโยชน์ระยะสั้น ขาดการคิดคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาว ซึ่งหากปล่อยให้คนในสังคมมองเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นเช่นนี้ต่อไป การพัฒนาที่ยั่งยืนคงไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริงในเมืองไทย

 

ด้วยมายาคติการมองคอร์รัปชั่นอย่างเห็นกงจักรเป็นดอกบัวนี่เอง จึงไม่เป็นเรื่องที่แปลกใจแต่อย่างใดเลยที่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ ที่จัดทำโดยองค์กรต่าง ๆ พากันสะท้อนตัวเลขชี้วัดให้เห็นว่า ค่านิยมของคนส่วนใหญ่ที่ยอมรับการทุจริตได้หากบุคคลผู้นั้นมีผลงาน  มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้อาจจะมีผลการสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย ประจำเดือนธันวาคม 2554 โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 61 ไม่เห็นด้วยกับ “การที่รัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่น แต่มีผลงาน และทำประโยชน์ให้สังคมเป็นเรื่องที่รับได้” แต่ก็ยังไม่มีสิ่งใดมาปรับเปลี่ยนหรือทำลายมายาคติของคนไทยบางกลุ่มลงได้ มายาคติที่หลงผิดเช่นนี้ จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสะท้อนให้เห็นว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นของไทยเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

 

 

 

นอกจากนี้ภาคประชาสังคม นักวิชาการ สื่อสารมวลชน ต่างจับจ้องและติดตามเรื่องราวการเอาผิดคนโกงที่เกิดขึ้นหลาย ๆ คดี ก็ยังไม่สามารถนำคนผิดที่เป็นระดับหัวหน้ามาลงโทษได้ มีเพียงการดำเนินคดีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยิ่งพิจารณาให้ลึกลงไปกว่านั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการปราบปรามทุจริตโดยตรงนั้น กลับมีคดีให้พิจารณาเพียงปีละ 3,000 กว่าคดี ทั้งๆที่ในความเป็นจริงมีคดีอีกมากมายที่ยังตกสำรวจไม่ได้รับการเข้าไปแก้ไขจัดการอย่างเป็นระบบ และมีการฟ้องเอาผิดได้สำเร็จมีไม่ถึง 100 คดี และกว่าครึ่งเป็นคดีที่เอาผิดเพราะทำผิดกฎระเบียบ ในขณะที่งบประมาณของรัฐที่ใช้ไปเพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยเหล่านี้มีไม่ต่ำกว่าปีละ 2,000 ล้านบาท

 

ข้อมูลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ยิ่งตอกย้ำให้คนไทยเห็นว่า การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทยที่ผ่านมายังล้มเหลว และขาดประสิทธิภาพ

 

 

แนวทางการต่อต้านคอร์รัปชั่นระดับสากล

 

 

 

จากการติดตามบทเรียนและการศึกษาแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของแต่ละประเทศพบว่า มียุทธศาสตร์และมาตรการที่หลายประเทศใช้แก้ไขคอร์รัปชั่นได้สำเร็จ มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันคือ

 

1.เอาผิดกับคนใหญ่คนโตของบ้านเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อทำลายความเชื่อของสังคมที่ว่า กฎหมายไม่เอาจริงกับคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะไม่เอาจริงกับบุคคลที่มีอิทธิพล หรือมีอำนาจทางการเมือง หรือมีตำแหน่งหน้าที่สูงในสังคม ในต่างประเทศในเกือบทุกประเทศที่การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นทำได้สำเร็จ จุดเปลี่ยนสำคัญจะเริ่มจากการทำลายความเชื่อดังกล่าว ด้วยการเอาผิดและดำเนินคดีกับข้าราชการประจำ หรือนักการเมืองระดับสูงที่ทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น กรณีของอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจของฮ่องกง กรณีของอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และบุคคลระดับนำของพรรคการเมืองใหญ่ของอินโดนีเซีย

 

2.นโยบายเศรษฐกิจของประเทศจะต้องให้ความสำคัญกับการใช้กลไกตลาด และการแข่งขันที่เสมอภาคเป็นเครื่องมือจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ สิ่งนี้คือหัวใจของการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น เพราะประเทศที่การทำธุรกิจไม่มีการแข่งขันที่เสมอภาค และไม่มีความโปร่งใส ประเทศนั้นจะล่อแหลมต่อการเกิดคอร์รัปชั่น

 

 

 

3.การทำธุรกิจระหว่างภาคราชการกับเอกชน ต้องมีวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส เป็นระบบ และสามารถตรวจสอบได้โดยบุคคลภายนอก เพราะในประเทศที่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐไม่มีระบบแน่นอน เลือกปฏิบัติ ไม่โปร่งใส และไม่มีการตรวจสอบจากภายนอก แรงจูงใจที่ทำให้เกิดคอร์รัปชั่นจะสูงมาก

 

4.ในประเทศที่แก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้สำเร็จ บริษัทเอกชนจะร่วมมือกันเป็นแนวร่วมที่พร้อมใจกันทำธุรกิจอย่างโปร่งใส มีการแข่งขันที่เสมอภาค ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น และมีจรรยาบรรณการทำธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลที่ดี ทั้งการทำธุรกิจระหว่างกัน และกับภาครัฐ บริษัทที่พร้อมจะคอร์รัปชั่น มักจะมองการเป็นแนวร่วมปฏิบัติที่ปฏิเสธคอร์รัปชั่น ว่าเป็นเรื่องเสียเปรียบ แต่ในมุมมองของบริษัทที่ตรงไปตรงมา ความเสียเปรียบเป็นเรื่องชั่วคราว แต่ในระยะยาวบริษัทจะได้ประโยชน์มหาศาลจากความยั่งยืนของธุรกิจ และภาพลักษณ์ที่ดีที่จะมีต่อองค์กร และพนักงาน

 

5.มีเครือข่ายภาคประชาชนที่พร้อมจะร่วมเปลี่ยนทัศนคติสังคม และเยาวชนที่ปลูกฝังทัศนคติไม่ยอมรับการถูกโกงถูกเอาเปรียบจากการทุจริตคอร์รัปชั่น พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการตรวจสอบ ให้เบาะแส เปิดโปงพฤติกรรมนักการเมือง ข้าราชการประจำ และธุรกิจเอกชนที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ปัจจุบันการเปิดโปงพฤติกรรมคอร์รัปชั่นทำได้ง่ายและเร็ว ผ่านสื่อทางสังคม หรือ Social media เช่นในกรณีของอินเดียที่สร้าง เว็บไซต์ http://www.ipaidabribe.com/

 

นี่คือยุทธศาสตร์ 5 ด้านที่หลายประเทศใช้และประสบความสำเร็จ แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดจริง ๆ ที่จะจุดชนวนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นก็คือ การเอาจริงของผู้นำประเทศที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ที่ผ่านมาที่ปัญหาคอร์รัปชั่นในบ้านเรารุนแรงขึ้นมาก ก็เพราะผู้นำไม่เอาจริงกับการแก้ไขปัญหา ดังนั้นรัฐบาล โดยเฉพาะผู้นำประเทศ จะเป็นความหวังเดียวที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง

 

 

 

 

รัฐบาลไทยทำอะไรอยู่ ?

 

 

 

รัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้ประกาศนโยบายจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น” หากแต่ยังไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์ทำงานที่ชัดเจนออกมา รวมถึงการใช้ความกล้าบังคับใช้กฎหมายตรงไปตรงมาอันเป็นหัวใจสำคัญของการลงโทษเอาผิดผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ศูนย์ที่ว่านี้ก็อาจจะกลายเป็นเพียงแค่เสือกระดาษตัวใหม่ ที่หลายคนปรามาสเอาไว้

 

ขณะเดียวกันความพยายามของรัฐบาลหลาย ๆ ชุด ก็มักจะมีนโยบายปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ไม่เคยมีใครเห็นผลงานที่ว่าอย่างชัดเจนแต่อย่างใด ซ้ำร้าย CPI ของประเทศไทยก็ทรุดลงทุกปี

จนภาคเอกชนไทยและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ จัดตั้ง “คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (Anti-Corruption cooperation Committee)” โดยมีตัวแทนจากทั้งหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนเข้ามาร่วมกันเป็นคณะกรรมการ เพื่อพิจารณา การกำหนดยุทธศาสตร์และวางนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

 

คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีคำสั่งแต่งตั้งมาจากรมว.คลัง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 และเพิ่งจะประชุมกันไปเพียงสองครั้งๆ ล่าสุดช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งหน้าที่สำคัญของคณะกรรมการชุดดังกล่าว อยู่ที่การพิจารณานำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) มาใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษร กำหนดให้ส่วนราชการเจ้าของโครงการจัดซื้อจัดจ้าง และผู้เสนอราคา ต้องลงนามในข้อตกลงร่วมกัน ที่จะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม โดยมีบุคคลภายนอกร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์

 

แนวคิดของข้อตกลงคุณธรรมที่ว่านี้ เป็นสิ่งที่มีการคิดและนำไปปฏิบัติกันแล้ว โดยรัฐบาลหลายประเทศ ๆทั่วโลก เช่น เยอรมนีกับการสร้างสนามบินแห่งใหม่ โคลัมเบียกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโทรคมนาคม รวมถึงประเทศอย่างปากีสถาน ก็เริ่มนำไปข้อตกลงที่ว่านี้ ไปใช้ในงานของบางหน่วยงาน ฯลฯ

 

 

ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) คืออะไร

 

 

เป็นแนวคิดที่เริ่มต้นในช่วง ทศวรรษ 90 โดยมีองค์กรโปร่งใสสากล เป็นผู้ดำเนินการรวบรวมและจัดทำเอกสารเผยแพร่ รวมทั้งเก็บรวบรวมกรณีศึกษาจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อนำมาพัฒนาการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง ข้อตกลงคุณธรรมนี้ จึงเป็น “เครื่องมือ” ที่สำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยให้บรรดาองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน หรือ องค์กรอิสระ/NGOs นำไปใช้เป็นคู่มือประกอบการต่อสู้กับคอร์รัปชั่น ซึ่งอยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะที่นี้คือเค้กก้อนใหญ่ที่ทุกคนหมายปอง

 

ปัญหาก็คือ เราจะทำอย่างไรเพื่อปกป้องเค้กก้อนใหญ่ที่ว่านี้ คำตอบคือ หัวใจ 4 ห้องของข้อตกลงคุณธรรม ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเข้าใจก่อนนำไปปฏิบัติ

 

ประการแรกคือ การสร้าง “หลักประกันความเชื่อมั่น” ระหว่างภาคเอกชน (ในฐานะผู้เข้าร่วมเสนอราคา/ประมูลงาน) กับภาครัฐบาล (ในฐานะของผู้ว่าจ้าง/ผู้ทำสัญญา) ว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนี้จะเป็นไปด้วยความโปร่งใส ปราศจากความพยายามทุจริตติดสินบน หรือพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงนำไปสู่การโกงทุกรูปแบบ ซึ่งแน่นอนว่าการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ ยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและคะแนนนิยมให้แก่รัฐบาลที่สามารถทำได้สำเร็จ

 

ประการที่สอง ข้อตกลงคุณธรรมนั้นจะเป็น “เกราะคุ้มภัย” มิให้เกิดการกระทำใด ๆ ที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิ และการแข่งขันอย่างเสรีด้วยคุณภาพ และความสามารถของผู้เข้าร่วมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง อันนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล และประชาชนจะได้รับโครงการที่มีประโยชน์และมีคุณภาพ

 

 

เมื่อพิจารณาให้ละเอียดลงไปก็จะพบว่า ข้อตกลงคุณธรรม นั้น มีลักษณะเป็น “สัญญา” หรือเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างสองฝ่าย ที่จะไม่ทำการใด ๆ ทั้งการรับหรือให้สินบนหรือผลประโยชน์อื่นใด ที่นำไปสู่การใช้อำนาจหรือการกระทำที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ใดผู้หนึ่งเป็นการเฉพาะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประการที่สาม หากกรณีเกิดการฝ่าฝืนละเมิดข้อตกลงคุณธรรมนั้น ก็จะต้องมี “บทลงโทษ (Sanction)” โดยอาจจะยกเลิกสัญญาได้ทันที โดยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย การเรียกเก็บค่าปรับหรือค่าเสียหายจากบริษัทที่ฉ้อฉลใช้กลโกงเพื่อให้ได้งาน โดยบรรดาบริษัทที่เข้าร่วมประมูลงาน และหน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการสามารถจะฟ้องร้อง และเรียกร้องให้มีการจ่ายค่าเสียหายได้ หรือจะเป็นการขึ้นบัญชีดำห้ามเข้ามาเกี่ยวข้องกับการประมูลงานของรัฐอีกต่อไป

 

หรือจะเป็นการลงโทษกรณีที่ตรวจพบว่า มีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นภายหลังโครงการเสร็จสิ้น และหากการฝ่าฝืนข้อตกลงคุณธรรมนี้ไปเกี่ยวข้องในหลักกฎหมายใดก็ตาม ก็ให้ดำเนินการตามที่กฎหมายนั้น ๆกำหนดไว้อีกด้วย จะเห็นได้ว่า ข้อตกลงคุณธรรมสามารถระบุบทลงโทษไว้ ในข้อกำหนดร่วมกันได้ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งนี้ บทลงโทษในข้อตกลงคุณธรรม มิได้เป็นการสร้างอำนาจอื่นใดนอกเหนือกฎหมาย หากแต่เป็นการรวบรวมเอาสาระสำคัญที่ผู้ปฏิบัติจะต้องกระทำตามอยู่แล้วมารวบรวมเขียนไว้ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ข้อตกลงคุณธรรมจึงเป็นส่วนเสริมเติมเต็มช่องโหว่ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันให้เป็นเนื้อเดียวกันมายิ่งขึ้น

 

ส่วนใครจะเป็นผู้ตัดสินใจใช้อำนาจที่ว่านี้จริง ๆ เมื่อเกิดกรณีฝ่าฝืนข้อตกลงคุณธรรมเกิดขึ้น

 

คำตอบอยู่ที่หัวใจห้องที่ 4 ข้อตกลงคุณธรรม จะต้องให้จัดให้มีและให้อำนาจการตรวจสอบ แก่กลุ่มบุคคลที่สามหรือที่เรียกว่า “คณะผู้ตรวจสอบ (Monitoring Group)” ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบกระบวนการทั้งหมด ด้วยความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในวิชาชีพเฉพาะด้าน เช่น ผู้แทนจากวิชาชีพวิศวกรรมที่ชำนาญการก่อสร้าง, นักตรวจสอบบัญชีที่มีมาตรฐานการทำงานในระดับสากล, นักกฎหมายที่เข้าใจกระบวนการและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง, หรือจะเป็นนักการเงินที่จะมาช่วยตรวจสอบเส้นทางการไหลเวียนของเม็ดเงินที่จ่ายเข้า-ออกในบัญชีของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ ฯลฯ

 

 

ซึ่งการตั้งคณะตรวจสอบนี้ ไม่ใช่การสร้างกลุ่มคนอาสาเข้ามาทำงานแบบขอไปที หากแต่เป็นการตกลงร่วมกันระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้เสนอราคายินยอมพร้อมใจ สร้างกลไกที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายปลอดจากความเสี่ยงเรื่องคอร์รัปชั่น

 

อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดเรื่องข้อตกลงคุณธรรมนี้ จะเป็นเรื่องที่ดูแล้วน่าจะทำได้ และน่าจะให้ผลที่คุ้มค่า หากแต่ต้องยอมรับว่า ผู้ที่หากินกับการซื้อความได้เปรียบในโครงการใหญ่ ๆ ของรัฐ ได้วิวัฒนาการรูปแบบการโกงที่เรียกว่า “แบ่งเค้กลงตัว” เป็นทักษะขั้นสูงของการฮั้ว เพราะสามารถรวมตัวผู้เข้าร่วมประมูลที่มีสิทธิจะได้โครงการมาแบ่งสันปันส่วนไปตามขนาด และความสามารถของแต่ละกิจการ เรียกว่า อยากได้งานยังไงก็ต้องจ่าย

 

“ข้อตกลงคุณธรรม” ในท้ายที่สุดเมื่อนำไปปฏิบัติจริงแล้ว อาจจะไม่สามารถสร้างหลักประกันความเชื่อมั่นอะไรเลยก็เป็นได้ ดังนั้นจึงอย่าคาดหวังผลตอบแทนที่ได้ไว้สูงนัก ขอแค่เพียงมองว่านี่คือจุดเริ่มต้น คือก้าวที่หนึ่งของการส่งเสียงว่า “ไม่ขอทนกับการคอร์รัปชั่นอีกต่อไป”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: