ภาคปชช.เดินหน้าถกร่างพรบ.น้ำ เน้นสิทธิการใช้-ฟังเสียงกก.ลุ่มน้ำ เร่งทำให้ครบก่อนชงสู้กับอีก3ร่าง

วรลักษณ์ ศรีใย 30 พ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1973 ครั้ง

น้ำเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญยิ่งในปัจจุบัน แผนพัฒนาประเทศที่เต็มไปด้วยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ขณะที่แนวทางการบริหารจัดการน้ำยังขาดความเหมาะสม ทั้งภาครัฐและเอกชนมีความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการสูญเสียความสมดุลของน้ำ ในระบบนิเวศทั้งแหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดิน ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาน้ำขาดแคลน มลพิษทางน้ำ ความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำและการแย่งชิงน้ำ  ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับพยายามแก้ไขปัญหา แต่การดำเนินการแก้ไขยังขาดความเป็นเอกภาพ และการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ที่สำคัญโครงการเพื่อแก้ไขปัญหายังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และบางครั้งส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อวิถีชีวิตคนในท้องถิ่น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รัฐ-เอ็นจีโอ ส่งร่างกฎหมาย 4 ฉบับเข้าประกวด

 

 

ทั้งนี้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพยากรน้ำ เล็งเห็นถึงความสำคัญของกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องน้ำ จึงมีร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ หลายฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างพระราชบัญญัติน้ำ ฉบับที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อ พ.ศ.2550 2.คณะทำงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 3.กรมทรัพยากรน้ำ โดยว่าจ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 4.ฉบับภาคประชาชน โดย สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกับคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านทรัพยากรน้ำ ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ซึ่งสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมฯ และคปก. ได้เปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชน เพื่อปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคประชาชน ซึ่งผ่านมาแล้ว 2 ครั้ง ภาคเหนือที่ จ.พะเยา และภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี

 

 

คปก. สมัชชาองค์กรเอกชน เปิดรับฟังความเห็นภาคประชาชน

 

 

สำหรับร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับประชาชนเข้าชื่อ ซึ่งหมายถึงฉบับของสมัชชาองค์กรเอกชนฯ และ คปก. เป็นกฎหมายแม่บทที่กำหนดกรอบกติกาในการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้เกิดการบูรณาการและความเป็นเอกภาพ โดยการมีส่วนร่วมของภาคีและภาคส่วนต่าง ๆ โดยกำหนดให้การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีที่มีกฎหมายใด กำหนดเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ หรือการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ และมีหลักเกณฑ์ที่มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ ก็ให้ดำเนินการไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น สาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญคือ สิทธิในน้ำ องค์กรบริหารจัดการน้ำ การจัดสรรน้ำ การป้องกันและแก้ไขวิกฤตน้ำ มาตรการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรน้ำ การควบคุมและตรวจแหล่งน้ำสาธารณะ  ความรับผิดทางแพ่งกองทุนทรัพยากรน้ำแห่งชาติ บทลงโทษ และบทเฉพาะกาล

 

เนื้อหาสำคัญคือ รับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ในการเข้าถึงและการจัดการน้ำ วางกรอบหลักเกณฑ์และมาตรการในการควบคุมการใช้น้ำ การบริหารจัดการน้ำ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การพัฒนา การคุ้มครอง ฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งน้ำให้เกิดความสมดุล และความยั่งยืนของสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ และการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤตของน้ำ รวมถึงการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในลุ่มน้ำ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ร่างฉบับประชาชน รับรองสิทธิการใช้น้ำภาคประชาชน

 

 

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ  ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และในฐานะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า รายละเอียดสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ได้กำหนดหลักการพื้นฐาน ว่าด้วยเรื่องสิทธิในทรัพยากรน้ำ และรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงน้ำของประชาชน โดยกำหนดให้น้ำเป็นของส่วนรวม ประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้าถึง และใช้ประโยชน์แทนการกำหนดให้น้ำเป็นของรัฐ รวมถึงกำหนดให้การใช้น้ำเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์รายย่อย การใช้น้ำตามจารีตประเพณี และน้ำเพื่อระบบนิเวศ ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งรัฐมีหน้าที่จะต้องจัดให้เป็นอันดับแรก

 

นอกจากนี้การใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ รวมทั้งเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดิน ซึ่งมีน้ำพุเกิดขึ้นหรือมีน้ำไหลผ่านตามธรรมชาติ ไม่ว่าบนดินหรือใต้ดิน สามารถใช้น้ำหรือกักเก็บน้ำได้เท่าที่จำเป็น โดยไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความเสียหายแก่บุคลอื่น

 

ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ฉบับภาคประชาชน ยังให้ความสำคัญกับบทบาทของคณะกรรมการลุ่มน้ำและคณะกรรมการลุ่มน้ำย่อย โดยคำนึงถึงศักยภาพ ความสมดุลและยั่งยืนของลุ่มน้ำ และดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการจัดการทรัพยากรน้ำ

 

 

                 “คณะกรรมการลุ่มน้ำย่อย จะมีความสำคัญมากในพื้นที่ เพราะจะรู้สภาพพื้นที่ และสภาพปัญหาได้ดี ซึ่งหน้าที่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำย่อย จะเสนอแผนจากพื้นที่ขึ้นมาให้คณะกรรมการลุ่มน้ำพิจารณาแผน เข้าสู่แผนบริการจัดการน้ำระดับชาติต่อไป คิดว่าแนวทางนี้จะเป็นการมีส่วนร่วมจากพื้นที่จริง ๆ” นายหาญณรงค์กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ระบุการใช้น้ำในกิจการขนาดใหญ่ ต้องขออนุญาต

 

 

ประธานสมัชชาฯกล่าวอีกด้วยว่า เนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ที่สำคัญคือมีการแบ่งประเภทการจัดสรรน้ำ ออกเป็น 5 ประเภท ประกอบด้วย 1.การใช้น้ำเพื่อการดำรงชีพ อุปโภคบริโภคในครัวเรือน  2.การใช้น้ำเพื่อการเกษตรรายย่อยการอุตสาหกรรมในครัวเรือน 3.การใช้น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 4.การใช้น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง  และ 5.การใช้น้ำเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำหรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง

 

โดยกำหนดให้การใช้น้ำประเภทที่ 4  และ 5 ต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการลุ่มน้ำสาขา คณะกรรมการลุ่มน้ำ และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติตามลำดับ โดยในการพิจารณาอนุญาตการใช้น้ำให้มีการวิเคราะห์สมดุลน้ำในลุ่มน้ำและลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้องและจะอนุญาตได้เมื่อมีน้ำเพียงพอ

 

 

               “ร่างพ.ร.บ.นี้จะให้อำนาจคณะกรรมการลุ่มน้ำ สามารถกำหนดเขตวิกฤตของน้ำ และกำหนดการแบ่งปันน้ำ กำหนดการใช้น้ำของกิจการใด ๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และผู้ใช้น้ำต้องเสียหายน้อยที่สุด”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เอ็นจีโอระบุภาคประชาชนมีข้อจำกัดในการเสนอกฎหมาย

 

 

ในการเปิดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นจากภาคประชาชน ในพื้นที่ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายกำราบ พานทอง ภาคประชาชน ผู้เข้าร่วมรับฟังร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า รายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่นคำว่า “ทรัพยากรน้ำ” ยังมีข้อจำกัด ซึ่งควรจะให้ความสำคัญกับคำนิยามต่างๆ เช่น คำว่าองค์กรผู้ใช้น้ำ ลุ่มน้ำ

 

 

                   “ในกฎหมายควรจะเพิ่มบทบาทสภาลุ่มน้ำ และให้มีการจัดทำแผนแม่บทการจัดการลุ่มน้ำของภาคประชาชน รวมถึงการเชื่อมองค์กรกลไกของชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ที่สำคัญคปก.ควรจะมีคณะกรรมการลุ่มน้ำมีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย”

 

 

ด้านนายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ตั้งข้อสังเกตว่า การร่างกฎหมายต่าง ๆ มีข้อจำกัดมากที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึง นอกจากนี้บรรดาคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ไม่เข้าใจเนื้อหาในกฎหมายที่เข้าสู่การพิจารณา และที่สำคัญไม่เคยสนใจภาคประชาชน

 

 

                “การร่างกฎหมายเหมือนชวนชาวบ้านเล่นฟุตบอลที่มีกติกามากมาย แต่ชาวบ้านไม่รู้กติกาเลย เล่นยังไงก็ไม่ชนะ กฎหมายเหมือนฉีดยาชาตอนถอนฟัน ชาวบ้านจะเจ็บปวดเมื่อถอนฟันเสร็จแล้ว”

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยังต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนทั้งภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียกับร่างดังกล่าว รายละเอียดต่าง ๆ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หลังจากนั้นถึงจะเปิดให้ประชาชนเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: