‘วิเชษฐ์’หวังแก้รีสอร์ทรุก2อุทยานฯดัง ผงะรื้อเจอคดีเก่ากว่า400แต่จบแค่8คดี

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 30 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1974 ครั้ง

 

ปรับเก้าอี้รมว.ทส.ตัดตอนสายเชียงราย

ได้เห็นโฉมหน้าครม.ยิ่งลักษณ์ 5 กันแล้ว ซึ่งการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดนี้ เรียกว่าเป็นการปรับครั้งใหญ่ที่สุดในวาระครบรอบ 2 ปีรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสมือนเป็นการจัดกระบวนทัพใหม่ในช่วงครึ่งเทอมแรก ซึ่งประจวบเหมาะกับภาวะที่รัฐบาลกำลังประสบกับมรสุมทางการเมืองรอบด้าน โดยเฉพาะกรณีความไม่โปร่งใสในโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งเบรคโครงการ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อนเริ่มดำเนินการ และที่สำคัญคือโครงการรับจำนำข้าวที่ทำภาพลักษณ์รัฐบาลดูย่ำแย่ลงไปหลายขุม การปรับครม.ครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์การทำงานของรัฐบาลโดยเน้นในกระทรวงด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

อีกหนึ่งกระทรวงที่ถึงคราวต้องปรับเปลี่ยนเจ้ากระทรวงด้วย นั่นคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี สายตรงนายใหญ่-นายหญิงแห่งบ้านจันทร์ส่องหล้า เป็นตาอยู่หยิบชิ้นปลามัน มานั่งเก้าอี้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ คนใหม่แทน นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ที่ผลงานไม่เป็นที่ประจักษ์ และครบวาระการครองเก้าอี้ไปตามระเบียบ ซึ่งดูเหมือนตำแหน่งนี้ จะผิดฝาผิดตัวอยู่ไม่น้อย เพราะคนที่หมายมั่นปั้นมือจะมานั่งเก้าอี้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติมาตลอดคือ วิสาร เตชะธีราวัฒน์ สายตรง นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย เจ้าของโควต้าเดิม ที่ถูกหักจากคนแดนไกลอีกครั้ง โดยมอบเก้าอี้ รมช.มหาดไทย หรือมท. 3 ให้ปลอบใจแทน พร้อมกับเหตุผลว่า นายวิสารยังไม่เคยนั่งเก้าอี้ รมช.มาก่อน จึงให้ไปทดลองงานในตำแหน่ง มท.3 ก่อนจะมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีต่อไปในโอกาสหน้า

อย่างไรก็ตามเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้โฉมหน้าเจ้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กลายเป็นนายวิเชษฐ์ก็คือ แกนนำพรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่พอใจบทบาทการทำงานของนายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ที่มีความใกล้ชิดกับนายยงยุทธ โดยเฉพาะในเรื่องการเข้ารื้อถอนรีสอร์ท บ้านพัก ตากอากาศที่บุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และอ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเจ้าของรีสอร์ทใหญ่ ที่ถูกรื้อถอนเมื่อปีปลายเดือนกรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนในรัฐบาล หากสายเชียงรายกลับมามีบทบาทในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ก็เท่ากับนายดำรงค์ต้องกลับมามีบทบาทด้วย

หวังทำงานเชิงรุก ‘แก้กฎหมาย-จัดระเบียบรีสอร์ทรุกป่า’

หากกล่าวถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ แล้ว ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาคงไม่มีเรื่องใดจะถูกกล่าวถึงเท่ากับกรณีการแก้ปัญหารีสอร์ท บ้านพักตากอากาศบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ โดยเฉพาะในพื้นที่ทับลาน-วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่ปัญหายังคาราคาซังมาจนถึงทุกวันนี้

ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายวิเชษฐ์เริ่มปฎิบัติหน้าที่ในฐานะรมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ  โดยได้ให้สัมภาษณ์ว่า การทำงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จะเน้นภาพรวมทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยการทำงานเชิงรุก สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการคือ การสร้างความสมัครสมานสามัคคีให้เกิดขึ้นในกระทรวงให้ได้ รวมทั้งจะมีการแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังและเป็นอุปสรรคต่อการการทำงาน ที่สำคัญกฎหมายต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ กฎหมายใดที่โบราณล้าหลัง ต้องได้รับการปรับแก้ ส่วนเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่กระทรวงทรัพยากรฯ มีปัญหาเรื่องซื้อขายตำแหน่งมาโดยตลอด ยืนยันว่าในยุคนี้ต้องไม่มีเรื่องนี้ ซึ่งจะใช้ระบบคุณธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตเป็นหลักในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย จากนี้ข้าราชการจะต้องปรับตัว ทำงานหนัก สนองความต้องการและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนให้ได้ ที่สำคัญข้าราชการจะต้องรับฟังตนคนเดียว จากนี้จะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในกระทรวงทรัพยากรฯ แน่นอน

สำหรับการรื้อถอนรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศที่บุกรุกอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง นายวิเชษฐ์ระบุว่า ทุกอย่างต้องดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตามจะขอดูข้อมูล รวมทั้งลงพื้นที่ที่มีปัญหาด้วยตัวเองก่อน เพื่อดูสภาพข้อเท็จจริง  ส่วนกรณีจะให้รื้อถอนออกไปหรือให้เช่าตามที่มีการพูดถึงกันอยู่ในเวลานี้ จะต้องพิจารณาดูหลักกฎหมาย ยึดความถูกต้องเป็นหลัก สิ่งใดกฎหมายว่าไว้ก็ต้องปฏิบัติตาม แต่หากกฎหมายเป็นอุปสรรคก็ต้องแก้ไข ขณะนี้ตนกำลังให้ทีมงานศึกษาข้อกฎหมายอยู่ และคงต้องตอบสนองประชาชนได้

ตั้งกรรมการแก้ปัญหารีสอร์ทรุกป่า

นับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม เป็นต้นมา นายวิเชษฐ์เริ่มเดินสายมอบนโบยายให้กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยเริ่มจากระดับผู้บริหารและอธิบดีทุกกรมในสังกัดกระทรวงฯ  ก่อนจะเดินทางไปมอบนโยบายในระดับกรมและหน่วยงานในสังกัดตลอดทั้งเดือนนี้  โดยเริ่มที่กรมหลักคือกรมป่าไม้เป็นลำดับแรก ตามด้วยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  ซึ่งทั้ง 2 กรมนี้มีประเด็นที่สังคมจับตามองในเรื่องการทำงาน โดยเฉพาะในประเด็นการดำเนินการกับรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติทั้งในพื้นที่วังน้ำเขียว และพื้นที่ทั่วประเทศที่ดูเหมือนจะหยุดชะงักไปในระยะหลัง

วาระสำคัญอยู่ที่การมอบนโยบายให้กับผู้บริหารกรมอุทยานฯ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งนายวิเชษฐ์ประกาศว่า การแก้ปัญหาการบุกรุกอุทยานฯ ได้สั่งการให้ใช้มาตรการทางกฎหมาย กับผู้ที่บุกรุกพื้นที่เพื่อประกอบธุรกิจ หรือสร้างบ้านพักตากอากาศตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ  พ.ศ.2507 มาตรา 25 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 22 ที่สำคัญจะตั้งคณะกรรมการดำเนินการต่อผู้บุกรุก มีรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นประธาน เพื่อแทนดำเนินการต่อผู้บุกรุกทั้งที่กระทำผิดแต่ไม่แสดงตน  และผู้กระทำผิดที่ศาลตัดสินแล้ว แต่ไม่ยอมรื้อถอน โดยกรรมการฯ จะมีผู้แทนที่มีอำนาจตามกฎหมาย เช่น อัยการสูงสุด ทหาร ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผู้แทนภาคสังคม (เอ็นจีโอ) ผู้แทนจากมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เป็นต้น โดยมีอำนาจหน้าที่กลั่นกรอง เร่งรัดการดำเนินคดีตามกฎหมาย ศึกษาและปรับปรุงมาตรการและแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริง ๆ และมาตรการทางสังคมแก่ผู้กระทำผิด ให้สอดคล้องกับปัญหาปัจจุบัน ภูมิสังคม และสร้างความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักและยอมรับการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ รวมถึงกำหนดมาตรการและแนวทางในการแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่า

ต่อมานายวิเชษฐ์ได้แต่งตั้งให้นายวิจารณ์ สิมาฉายา รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นประธานคณะกรรมการกลั่นกรองและเร่งรัดการดำเนินคดีและการใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ มีกรรมการประกอบด้วย อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมอุทยานฯ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานด้านกฎหมายของรัฐ และตัวแทนภาคประชาชนคือ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ด้วย

นายศศิน เปิดเผยว่า ได้เข้าพบนายวิเชษฐ์ เพื่อหารือถึงแนวทางการทำงานที่มูลนิธิสืบฯ ได้ดำเนินการอยู่ คือในเรื่องโครงการจอมป่า ในพื้นที่ป่าตะวันตกเพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้  แต่ไม่ได้หมายถึงทุกพื้นที่จะสามารถดำเนินการในลักษณะนี้ได้ ซึ่งนายวิเชษฐ์ก็เห็นด้วย ส่วนการร่วมเป็นกรรมการกลั่นกรองฯ เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นการช่วยดูในเรื่องการรื้อถอนรีสอร์ท บ้านพักที่บุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์  ซึ่งในพื้นที่อุทยานฯ หลักการนั้นต้องดำเนินการตามข้อกฎหมายคือต้องรื้อถอนออกจากพื้นที่โดยเด็ดขาดไม่สามารถดำเนินการเป็นอย่างอื่นไปได้ ส่วนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของกรมป่าไม้ กฎหมายยังมีการอนุโลมให้เช่าพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องจับตาว่าจะมีการดำเนินการในลักษณะใด

จากนั้นคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้ประชุมนัดแรก เพื่อกำหนดกรอบแนวทางการทำงาน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งกรมอุทยานฯ มอบหมายให้อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา-ปราจีนบุรีและอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง  จัดทำข้อมูลรีสอร์ท และบ้านพักตากอากาศที่บุกรุกพื้นที่ เพื่อเสนอเข้าสู่คณะกรรมการฯ  โดยมีโจทย์สำคัญคือ ต้องเป็นกรณีการบุกรุกที่คดีสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรมในทุกศาล โดยเฉพาะการพิจารณาของศาลปกครอง ทั้ง ๆ ที่การดำเนินการตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.อุทยานฯ 2504  ที่ให้อำนาจหัวหน้าอุทยานฯ ดำเนินการเพื่อให้พื้นที่ที่ถูกบุกรุกกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ทันที

อุทยานฯเสนอรื้อแค่ 8 ราย ที่จบคดีในชั้นศาลแล้ว

สำหรับพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน มีการดำเนินคดีกับรีสอร์ทและบ้านพักที่บุกรุกอุทยานฯ ทั้งสิ้นจำนวน 434 คดี  เมื่อใช้หลักเกณฑ์ว่าต้องเป็นคดีที่สิ้นสุดกระบวนการทางกฎหมายแล้ว จึงเสนอรายชื่อมาได้เพียง 8 แห่ง คือ 1.บ้านพักของนายประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ 2. คลองกระทิงคันทรีวิว ของนายธิติ ศิลาศรี 3.ไร่กุลละวณิชย์ ของนายภักดีกุละวณิชย์ 4.สวนยางพารา ของนายเกิด เพชรเลิศ 5.ไร่รวยริน ของนายบุญธรรม คูณสว่าง  6. ทะเลหมอกรีสอร์ท ของนางวไลลักษณ์ วิชชาญาบุญศิริ 7.สวนยางพาราของ นายเกิด  เพชรเลิศ และ8.บ้านพักของนายสมจิตร นิลสุวรรณ  ซึ่งรายชื่อเหล่านี้เคยมีการรื้อถอนแล้วเกือบทั้งหมด ทั้งเจ้าของยินยอมรื้อถอนออกไปเอง และทางกรมอุทยานฯ ได้เข้าไปรื้อถอนในยุคของนายดำรงค์ แต่ยังรื้อถอนไม่แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตามยังมีบางแห่งที่คดียังอยู่ในชั้นศาลปกครอง  เช่น บ้านทะเลหมอกรีสอร์ท แต่ทางอุทยานฯ ทับลานเห็นว่าได้ดำเนินการรื้อถอนมาแล้ว และควรดำเนินการให้จบ ขณะที่ในส่วนของอุทยานฯ เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ได้นำเสนอ 3 รีสอร์ทใหญ่ คือ อันซีน พลอยเสม็ด และมุกเสม็ด ที่สิ้นสุดกระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรมแล้ว แต่ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองเช่นเดียวกัน

 

ระบุหลายแห่งคดีสิ้นสุดแต่ยังติดศาลปกครอง

อย่างไรก็ตามที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ นัดแรกยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องการจะเข้าไปดำเนินการรื้อถอนรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ ที่บุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ทั้ง 2 แห่งหรือไม่  โดยนายวิจารณ์ กล่าวว่า  ที่ประชุมมีการประชุมเป็นนัดแรก เพื่อพิจารณาการดำเนินการที่คั่งค้างในพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน และอุทยานเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ซึ่งรีสอร์ท หลายแห่งแม้จะมีคำพิพากษาสิ้นสุดแล้ว แต่ผู้ประกอบการได้ยื่นร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอทุเลาและยกเลิกคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่  ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไปหารือกันในเรื่องข้อกฎหมายทั้งในส่วนของอุทยานฯ และป่าสงวนฯ เพื่อจัดทำคู่มือระเบียบแนวทางปฏิบัติ ให้แก่เจ้าหน้าที่ในเรื่องการเข้ารื้อถอนรีสอร์ท และบ้านพัก ที่บุกรุกพื้นที่อุทยานฯ เพื่อไม่ให้มีปัญหาการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานตามมาภายหลัง และให้นำไปใช้เป็นหลักปฎิบัติในพื้นที่อื่นต่อไปในอนาคตได้

โดยในวันที่ 14 สิงหาคม จะมีการจัดประชุมกันอีกครั้ง จะพยายามให้เกิดข้อสรุปในเรื่องนี้โดยเร็ว และจะเข้าดำเนินการให้ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ สำหรับการรื้อถอนนั้นมีบางคดีที่ต้องรอการพิจารณาของศาลปกครอง แต่บางคดีก็สามารถดำเนินการได้เลย ซึ่งคณะกรรมการกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่จะทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติงานได้โดยไม่มีความขัดแย้งและการฟ้องร้องตามมาซึ่งต้องมีแนวทางปฏิบัติที่รอบคอบที่สุด  ทั้งนี้จะใช้แนวทางให้ผู้ประกอบการรื้อถอนเองก่อนที่กรมจะเข้าไปดำเนินการ

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก  ไทยรัฐ และเดลินิวส์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: