1ตุลาจัดทัพข้าราชการใหม่132ตำแหน่ง เพื่อไทยลุ้นเปลี่ยนอรหันต์3องค์กรอิสระ

30 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2888 ครั้ง

ประกอบกับในเวลานั้น มีการปฏิรูประบบราชการ มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และขึ้นเค้าโครงเศรษฐกิจใหม่ ตามแนวทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่อเนื่อง 2 ฉบับ ยิ่งทำให้นโยบาย “ทักษิโณมิกส์” แทรกซึมไปทุกอณู ทุกกระทรวง

ทั้งหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ที่กระทรวงการคลัง หน่วยงานด้านการค้ากับต่างประเทศ องค์กรการจัดงบประมาณ องค์กรด้านการวางแผน และธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกจัดกำลังคน ขึ้นต้นใหม่ ตามสไตล์ของกลุ่ม “ชินคอร์ป” ในเวลานั้น

เช่นเดียวกับในเวลานี้ ตุลาคม 2556 เป็นปีที่ 3 ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

กว่าจะกำจัดกำลังคน ปรับ ปลด ลดย้าย โยก โอน ข้าราชการ เปลี่ยนถ่ายเลือดจากระบบ “คมช.” และทีมของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ออกทั้งหมด ก็ใช้เวลาไปครึ่งเทอมของรัฐบาล

จากนี้ไปรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะได้ขึ้นเค้าโครง การขับเคลื่อนประเทศใหม่...อีกครั้ง ด้วยการจัดกำลังคน กำลังงบประมาณมากกว่า 4 ล้านล้านบาท แก้ไขกฏระเบียบกระทรวงการคลัง การโหวตแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อจัดแถว เพิ่มมือ ในฝ่ายนิติบัญญัติ

บทเรียนของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่พ่ายแพ้เกมเสี่ยงจากองค์กรอิสระ ทำให้ยิ่งลักษณ์บวกกับทักษิโณมิกส์ ขับเคลื่อนใหม่อีกครั้ง...ด้วย 4  พลัง คือ ข้าราชการพลเรือน จำนวนงบประมาณ การจัดการบัญชีนายพลในกองทัพ และพยายามจัดการองค์กรอิสระ

5 สัปดาห์จัดเก้าอี้ราชการ 132 ตำแหน่ง

1 ตุลาคม 2556 นอกจากจะเป็นวันเปลี่ยนผ่านอำนาจ ผลัดใบ ทั้งในฝ่ายข้าราชการประจำ แล้วยังมีการเตรียมปรับเก้าอี้บรรดาอรหันต์ใน 3 องค์กรอิสระ ด้วย

ในฝ่ายข้าราชการประจำ ตั้งแต่ระดับ ซี 10 ขึ้นไป มีการจัดการตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2556 ตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารกระทรวง นักปกครอง ถูกบรรจุในแฟ้ม “ลับ” วาระ “จร” ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2556 จนถึง 24 กันยายน 2556

เกือบทุกตำแหน่ง ต้องผ่านสายตา ผ่านความเห็นชอบจากสำนักยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ก่อนส่งตรงไปที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

ประเดิมตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติกับอีก 25 ตำแหน่ง

เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556 แต่งตั้ง โยกย้าย เพิ่มเติม ทั้งสิ้น 25 ตำแหน่ง และมีการมอบหมายให้ นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ เพื่อจัดกำลังคนให้สอดคลัองกับภารกิจของรัฐบาลเพื่อไทย อีกแรง

พร้อมกันนี้ มีการจัดแถว องค์การเศรษฐกิจ ที่เป็นหัวใจของระบบการเงินของประเทศ ด้วยการแต่งตั้งให้ นายอำพน กิตติอำพน ให้ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย สืบแทน นายวีรพงษ์ รามางกูร ซึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์

วางกำลังคนในเขตปริมณฑล และจัดกำลังผู้ว่าราชการในจังหวัดที่ยังเพลี่ยงพล้ำ และอาจมีลุ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า ด้วยการอนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ และจังหวัดนนทบุรี คือให้ 1.นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ 2.นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี

พร้อมกับจัดแถวนักปกครองในกระทรวงมหาดไทย ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง และจัดบัญชีผู้ว่าราชการจังหวัด 17 ราย  เช่น 1.นายภาณุ อุทัยรัตน์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง  2.นายศิริพงษ์ ห่านตระกูล ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครอง 3.นายพินิจ หาญพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน 4.นายกำธร ถาวรสถิตย์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท 5.นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  6.ว่าที่ร้อยตำรวจโท อาทิตย์ บุญญโสภัต ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร 7.นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี 8. นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสำนักงานปลัดกระทรวง

9.นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล จากผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ลาออกหลังครม.มีมติ)10.นายวิศว ศะศิสมิต ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง 11.นางสุมิตรา ศรีสมบัติ ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง 12.นายจักริน เปลี่ยน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย 13.นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร 14.นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง 15.นายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา 16.นายระพี ผ่องบุพกิจ ตำแหน่งผู้ว่าราชการพิษณุโลก 17.นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง

นายวิทยา พานิชพงศ์

นอกจากนี้ยังมีการการโอนข้าราชการในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 1 ตำแหน่ง คือ  โอนนายวิทยา พานิชพงศ์ รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

ในการนี้ได้ จัดกำลังข้าราชการเกษียณ เพื่อรอการขยับเป็น “นักการเมืองเต็มตัว” ด้วยการแต่งตั้ง นายดำรงค์ พิเดช เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

นายดำรงค์ พิเดช

ที่กระทรวงศึกษาธิการ มีการจัดแถวใหม่ ตามวาระรัฐมนตรีว่าการคนใหม่ อาทิ 1.นายอภิชาติ จีระวุฒิ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  2.นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา 3.นางสุทธศรี วงษ์สมาน ขึ้นเป็นปลัดกระทรวง

จัดแถวทูต-สำนักงบ-คลัง-เกษตร อีก 37 ตำแหน่ง

วันที่ 27 สิงหาคม แต่งตั้ง โอน โยกย้ายอีก 37 ตำแหน่ง ที่สำคัญอาทิ ต่ออายุการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ ต่อไปอีก 1 ปี ต่อเวลาการดำรงตำแหน่งเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน (ราชบัณฑิตยสถาน) น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ อีก 1 ปี แต่งตั้งนายขจร วีระใจ ขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวฯ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย 1.พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2. พ.ต.ท.พงษ์ธร ธัญญสิริ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

กระทรวงการต่างประเทศ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต 1.นายพิศาล ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา 2.นายทอมวิชย์ ชาญสรรค์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน สำนักงาน 3. นายมานพชัย วงศ์ภักดี ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา 4.นายทรงศัก สายเชื้อ อัครราชทูต ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

ตำแหน่งการจัด “งบประมาณ” มีการขึ้นแถวใหม่ ด้วยการการเลื่อนและแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ แต่งตั้งนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กระทรวงพลังงาน แต่งตั้งนายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง

นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดกำลังใหม่อีก 7 ตำแหน่ง 1.นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี  กรมประมง 2.นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดี ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง 3.นางจิราวรรณ แย้มประยูร ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง 4.นายอนันต์ ลิลา ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 5. นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน 6. นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมหม่อนไหม 7.นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี กรมตรวจบัญชีสหกรณ์

การแต่งตั้งคณะกรรมการค่าจ้าง ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารค่าแรง 300 บาท  14 คน กระทรวงการคลัง 1.นายราฆพ ศรีศุภอรรถ ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร 2.นายสุทธิชัย สังขมณี ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร 3.นายสาธิต รังคสิริ ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ

แต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ให้นายนายทวีศักดิ์ กออนันตกูล เป็นวาระที่สอง  และแต่งตั้งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม นายสุวัช เซียศิริวัฒนา

โค้งสุดท้ายต่ออายุDSI-ผู้ว่าทั่วประเทศ รวม 71 ตำแหน่ง

ในเดือนกันยายน มีแฟ้มโยกย้าย 3 สัปดาห์  รวม 71 ตำแหน่ง เฉพาะวาระคณะรัฐมนตรี 10 กันยายน มีการแต่งตั้ง 7 ตำแหน่ง มีทีเด็ด 1 ตำแหน่ง ถึงคิวการต่ออายุ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ต่อไปอีก 1 ปี

นายธาริต เพ็งดิษฐ์

และอนุมัติแต่งตั้งตามปกติที่สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอ  2 ตำแหน่ง และสำนักงาน ก.พ.ร.อีก 1 ตำแหน่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 3 ราย

อีกสัปดาห์ถัดมาวันที่ 17 กันยายน กระทรวงของพรรคร่วมรัฐบาลขอปรับรวมกับที่ทำเนียบบางตำแหน่งรวม 6 ตำแหน่ง เฉพาะตำแหน่งที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีทั้งสิ้น 3 ตำแหน่ง  ที่ก.พ. อีก 2 ตำแหน่ง ต่อเวลาการดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ต่อไปอีก 1 ปี  

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี 

สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก่อนขึ้นปีปฏิทินงบประมาณใหม่ วันที่ 24 กันยายน จึงมีการอนุมัติจัดหนัก ตำแหน่งใหญ่ หลายกระทรวง รวม 58 ตำแหน่ง เริ่มจากสำนักนายกรัฐมนตรี 2 ตำแหน่ง คือ นางพัชราภรณ์ อินทรียงค์ ดำรงตำแหน่งรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายระพีพันธุ์ สริวัฒน์ รองปลัดสำนัก ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 2 ตำแหน่ง

กระทรวงมหาดไทย 31 ตำแหน่ง ทั้งประเภทบริหาร ระดับสูง รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ

แต่งตั้งผู้บริหาร กระทรวงพลังงานอีก  3 ตำแหน่ง กระทรวงการต่างประเทศ นักการทูตและข้าราชการระดับสูงอีก 8 ตำแหน่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่งตั้ง 2 ตำแหน่ง

ที่ถูกจับตาอีกแห่งคือ กระทรวงพาณิชย์ จัดกำลังสำคัญใหม่ 9 ตำแหน่ง เช่น 1.นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ 2.นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 3.นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ 4.น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ณ นครเจนีวา 5.นายสมชาติ สร้อยทอง ที่ปรึกษาการพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการค้าภายใน

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ

6.นายวุฒิชัย ดวงรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ 7.นางอุรวี เงารุ่งเรือง ที่ปรึกษากฎหมาย ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ 8.นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 9.น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ ที่ปรึกษาการพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 ตำแหน่ง 1.นายโอฬาร พิทักษ์ รองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมส่งเสริมการเกษตร 2.นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3. นายชาญพิทยา ฉิมพาลี ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการข้าว

ลุ้นปรับอรหันต์ 3 องค์กรอิสระ

ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงวาระต้องผลัดใบ เปลี่ยนคน

ซึ่งฝ่ายเพื่อไทยคาดหวังว่าจะทำให้สัดส่วน การลงมติ ตัดสิน วินิจฉัยคดีที่ส่งไปจากฝ่ายตรงข้าม ได้ “เป็นคุณ” กับฝ่ายเพื่อไทย มากขึ้น

ศาลรัฐธรรมนูญมีชื่อที่ผ่านคณะกรรมการสรรหา 5 คน มีมติด้วยเสียง 4 : 1 ไปแล้วเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2556 โดยลงมติให้ “ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าประจำการ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แทน “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” อดีตประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ลาออกจากตำแหน่ง

ที่สำนักงานป.ป.ช.หลัง  “กล้านรงค์ จันทิก” กรรมการ ป.ป.ช. พ้นวาระการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 18 กันยายน 2556  นับแต่วันที่ 19 กันยายน 2556 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะต้องนัดหมายประชุมกรรมการสรรหา ที่ประกอบด้วย 1.ประธานศาลฎีกา 2.ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 3.ประธานศาลปกครองสูงสุด 4.ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ 5.ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร มาเลือกกรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่แทน

ชื่อที่บรรดาข้าราชการโจษจันกันทั่วว่า อาจลงสมัครเป็นคณะกรรมการป.ป.ช. คือ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล หากเป็นคนนี้ ย่อมคาดหมายได้ว่า ตรงข้ามรัฐบาลเพื่อไทย อาจฝ่าด่านลำบากตั้งแต่ต้น

น.ส.สุภา ปิยะจิตติ

ส่วน “กกต.รัฐประหาร” ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี ในวันที่ 19 กันยายน 2556 ทั้ง 5 คน คือ 1.อภิชาต สุขัคคานนท์ 2.นายสมชัย จึงประเสริฐ 3.นายประพันธ์ นัยโกวิท 4.นางสดศรี สัตยธรรม 5.นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น

โดยทั้ง 5 อรหันต์ใหม่ ต้องเข้ามาเพื่อปฏิบัติภารกิจ จัดการเลือกตั้ง ส.ว.ทั่วประเทศ 200 คน ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะหมดวาระในเดือนมีนาคม 2557 จากนั้นหากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อยุ่ครบวาระ จะมีการจัดการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ 500 คน ในช่วงกลางปี 2558

ทั้งนี้ รายชื่ออดีตข้าราชการ ที่สนใจเข้าสู่วงการนักจัดการเลือกตั้ง เช่น  “พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี” อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม และอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่เกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 กันยายน 2556 และ “นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา” ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี 

ต้องจับตาการแทรกซึม ของเครือข่ายฝ่ายเพื่อไทย ว่าจะจัดการเพิ่มสัดส่วนในองค์กรอิสระได้มากน้อยเพียงใด และการจัดคน จัดเงิน ในฝ่ายราชการประจำ ทั้ง 132 ตำแหน่ง จะได้ผลเพียงใด

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: