ศูนย์ข่าว TCIJ เคยเสนอข่าวเด็ก 3 ล้านคนหายไปจากระบบการศึกษา (http://www.tcijthai.com/tcijthai/view.php?ids=2982) โดยข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สลค.) ระบุว่า มีเด็กพิการที่ขาดโอกาสทางการศึกษา 100,000 คน ขณะที่ตัวเลขจากนายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) ระบุว่า มีคนพิการในไทยประมาณ 1.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 60 หรือประมาณ 800,000 คนเป็นเด็กพิการ
ความไม่ต้องตรงกันของตัวเลขดูเหมือนจะเป็นสภาพที่พบเห็นได้เสมอ นับตั้งแต่กรณีเด็กหายจากระบบการศึกษาที่ตัวเลขไม่นิ่ง
อย่างไรก็ตาม เรื่องเด็กพิการกับโอกาสทางการศึกษามีประเด็นที่ซับซ้อนพอสมควร นายชูศักดิ์กล่าวว่า การเข้าถึงสิทธิ จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากแพทย์ ว่าเป็นเด็กพิการ แต่ก็มีกรณีที่พ่อแม่และแพทย์ไม่แน่ใจว่าเด็กมีความพิการหรือไม่ หรืออาจจะไม่ถึงกับพิการ แต่มีความต้องการพิเศษด้านการศึกษา ซึ่งยังไม่มีการสำรวจตัวเลขที่ชัดเจน แต่นายชูศักดิ์ประมาณว่า น่าจะอยู่ในหลักล้านคน โดยเฉพาะเด็กที่มีความบกพร่องทางอารมณ์และสมาธิสั้น หากรวมตัวเลขของเด็กกลุ่มนี้เข้าไปด้วย ตัวเลขเด็กพิการจะสูงกว่า 8 แสนคน อย่างมีนัยสำคัญ
เด็กพิการเกินครึ่งเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา
ปัจจุบัน กระทรวงศึกษาแบ่งเด็กพิการออกเป็น 9 ประเภท ได้แก่ เด็กพิการที่มีความบกพร่องทางการเห็น, ทางการได้ยิน, ทางสติปัญญา, ทางร่างกาย, ทางการเรียนรู้, ทางการพูดและภาษา, ทางพฤติกรรม, ออทิสติก และพิการซ้อน แต่กว่าที่จะมีการยอมรับว่าเด็กพิการ ต้องได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับเด็กทั่วไปก็ต้องอาศัยเวลา
เพราะในปี 2478 ที่รัฐบาลออก พ.ร.บ.ประถมศึกษาภาคบังคับ ปรากฏว่ามีการประกาศยกเว้นให้เด็กพิการไม่ต้องเข้าเรียน ซึ่งสะท้อนทัศนคติของรัฐที่มีต่อเด็กพิการได้ดีพอสมควร และกว่าจะมีโรงเรียนสอนคนตาบอดขึ้นในประเทศไทย ก็ภายหลังกฎหมายดังกล่าวถึง 5 ปี เมื่อเจนีวีฟ คอลฟิลด์ หญิงตาบอดชาวอเมริกันเข้ามาก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพมหานคร และร่วมจัดตั้งมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ขึ้น
การพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการดำเนินเรื่อยมา กระทั่งมีการออก พ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551 โดยเนื้อหาระบุให้คนพิการมีสิทธิ์ได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกเกิด หรือเมื่อพบความพิการจนตลอดชีวิต รวมถึงการได้รับเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อบริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา และรัฐต้องจัดเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมิได้หมายความว่า เนื้อหาในกฎหมายจะได้รับนำมาปฏิบัติจริงอย่างครบถ้วนรอบด้าน สถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2550 พบว่า มีเด็กพิการในวัยเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาสูงถึงร้อยละ 81.7
ส่วนตัวเลขของกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ปี 2554 หน่วยงาน 5 องค์กรหลักที่รับผิดชอบด้านการจัดการศึกษาคือ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สามารถให้บริการการศึกษาแก่คนพิการในทุกระบบ และทุกระดับจำนวนทั้งสิ้น 341,947 คน
แม้ในเชิงสถิติตัวเลขจะไม่ตรงกัน แต่เมื่อนำตัวเลขของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดของจำนวนเด็กพิการที่ได้รับการศึกษา กับตัวเลขของนายชูศักดิ์มาเทียบกันก็ยังพบว่า เด็กพิการที่เข้าถึงระบบการศึกษามีไม่ถึงครึ่ง ทั้งนี้ยังไม่นับรวมเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ตามที่นายชูศักดิ์อธิบายและเด็กพิการที่ตกหล่นไปจากการสำรวจ
กฎหมายและนโยบายดี แต่การปฏิบัติสอบตก
นายวัฒนา นราพล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ กล่าวว่า ในเชิงกฎหมายและนโยบายถือว่าดี แต่ในภาคปฏิบัติกลับไม่สามารถจัดการได้จริง ประเด็นที่ 1 คือความพร้อมของบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากมีแต่โครงสร้างและระบบ แต่ไม่มีบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะครูการศึกษาพิเศษ
ประเด็นที่ 2 ศูนย์การศึกษาพิเศษยังไม่มีความชำนาญเพียงพอในการจัดการศึกษาแก่เด็กพิการแต่ละประเภท
ประเด็นที่ 3 เนื้อหา หลักสูตร และการจัดการเรียนการสอน ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ยังไม่มีนักการศึกษาคนไหนสามารถกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนเฉพาะความพิการได้อย่างชัดเจน มีแต่จะผลักเด็กพิการเข้าสู่การเรียนร่วมกับเด็กปกติ ขณะที่เด็กพิการมีข้อจำกัดด้านพัฒนาการทางสมองหรือร่างกาย
“อีกเรื่องที่สำคัญคือ ทัศนคติของผู้ปกครองของเด็กพิการ ซึ่งมีความเชื่อว่าลูกหลานของตนไม่สามารถเรียนได้ แต่ระยะหลังเริ่มเปลี่ยนไป คนพิการสามารถพัฒนาได้ แต่ในมุมของผู้ปกครองเองยังไม่มีความเข้าใจเรื่องนี้ ไม่รู้ว่าลูกหลานของตนเองจะเรียนไปทำอะไร เรียนเพื่ออะไร จึงเก็บตัวไว้ที่บ้าน”
ประเด็นถัดมาคือเรื่องสังคม นายวัฒนายกตัวอย่างสังคมในโรงเรียน ที่แม้กระทั่งทัศนคติของครูและนักเรียนก็ยังไม่เข้าใจเด็กพิการ เมื่อเด็กพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียนยังถูกตราหน้า ล้อเลียน ทำให้เด็กไม่อยากไปเรียนหนังสือ
“ผมมองว่าประเทศไทยยังไม่จริงจังกับการแก้ปัญหาความพิการ รัฐบาลแทบจะไม่พูดถึงการศึกษาสำหรับเด็กพิการ พูดถึงแต่เรื่องแท็บเล็ต แล้วเด็กพิการจะใช้อย่างไร เขามองไม่รอบด้าน การดำเนินการศึกษาควรเป็นการศึกษาเพื่อคนทุกกลุ่มต้องเข้าถึงระบบการศึกษา คนคิดเชิงนโยบายต้องคิดให้กว้าง ไม่เช่นนั้นจะเป็นอุปสรรคแก่คนพิการ”
ห้องเรียนร่วมยังขาดระบบสนับสนุน
คำถามคือจะทำให้เด็กพิการที่เหลืออีกเป็นจำนวนมาก เข้าสู่ระบบและเข้าอย่างทันท่วงทีได้อย่างไร เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้ยิ่งโตก็ยิ่งเข้าสู่ระบบยากขึ้น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ระบุว่า เด็กพิการและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ต้องได้รับการศึกษาตั้งแต่แรกเกิดหรือแรกพบ จึงมีการตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษ 77 จังหวัด เมื่อ 10 กว่าปีก่อน โดยทำหน้าที่เตรียมความพร้อมเด็ก
นายชูศักดิ์กล่าวว่า แต่ที่ผ่านมาในแต่ละศูนย์รับเด็กได้ 40-80 คน ทั่วประเทศรับได้ประมาณ 5,600 คน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีทั้งที่ไปเรียนร่วมกับเพื่อนได้และไม่ได้
“กลุ่มที่เรียนร่วมได้ก็ไปทำแกนนำจัดการเรียนร่วม ปัจจุบันนี้มีประมาณหมื่นโรงเรียน ดูมาก แต่หนึ่งโรงเรียนรับเด็กได้น้อย เหตุผลที่รับได้น้อยเพราะไม่มีครู เมื่อเด็กพิการต้องไปเรียนร่วม เช่น เด็กออทิสติก 1 คนไปใส่ในห้องเรียน ครู 1 คน ต้องดูเด็ก 40 คน แต่พฤติกรรมของเด็กออทิสติกรบกวนเพื่อน ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง หากไม่มีระบบสนับสนุน”
ระบบสนับสนุน เช่น การสอนเสริม ระบบครูเดินสอน มีนักจิตวิทยาพัฒนาการทำงานร่วมกัน แต่ระบบนี้ยังไม่เกิดในประเทศไทย ถ้าเกิดจะกระตุ้นให้โรงเรียนรับเด็กได้มากขึ้น
ปัญหาอีกประการคือ แม้ว่าขณะนี้โรงเรียนประถมศึกษา มักไม่ปฏิเสธการรับเด็กพิการ เพราะกฎหมายบังคับ แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กเรียนไประยะหนึ่ง แล้วต้องเรียนวิชายาก ๆ จะทำให้เรียนได้ช้ากว่า ต้องเรียนซ้ำ ทำให้อายุมากกว่าคนอื่น เมื่อขึ้นถึงชั้นมัธยมศึกษาก็พบว่า หลักสูตรไม่เอื้อต่อเด็กอีก เด็กพิการจำนวนมากจึงต้องหลุดออกจากระบบ นายชูศักดิ์คาดคะเนว่า เด็กพิการที่อยู่ในระบส่วนใหญ่ขณะนี้อยู่ในระดับประถมศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ส่วนระดับมัธยมศึกษามีเพียงหลักพันหรือเกือบๆ หมื่นเท่านั้น
แฉโรงเรียนรับเด็กพิการหวังงบฯรายหัว แต่ไม่จัดการศึกษาให้
ระบบห้องเรียนร่วม คือเด็กพิการเรียนร่วมกับเด็กทั่วไป พบว่า ปีการศึกษา 2555 มีเด็กพิการทุกประเภทเรียนร่วม 66,330 คน ซึ่งนายชูศักดิ์เห็นว่า แม้เป็นแนวทางที่ดี แต่ระบบเรียนร่วมของไทยยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร เหตุผลหนึ่งคือการขาดระบบสนับสนุนดังที่กล่าวข้างต้น
ขณะที่นายวัฒนาเห็นว่า สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ระบบการเรียนร่วมขาดประสิทธิภาพ เป็นเพราะโรงเรียนต่างก็ต้องการงบประมาณค่าหัวเหมือนกัน โดยเน้นรับเด็กพิการจำนวนมาก แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้นำงบประมาณไปใช้สำหรับเด็กพิการ ซ้ำยังไม่มีระบบกำกับตรวจสอบการนำงบประมาณไปใช้
“เราต้องการระบบการเรียนร่วม ที่คนทั่วไปกับคนพิการอยู่ร่วมกัน เพราะโรงเรียนถือเป็นสังคมหนึ่งของเด็ก การทำให้เด็กได้อยู่ร่วมกัน เขาจะได้เรียนรู้ร่วมกัน ได้รู้ว่าในสังคมไทยมีเด็กพิการอยู่ เราไม่ได้ปฏิเสธโรงเรียนเฉพาะสำหรับเด็กพิการ แต่แนวคิดนี้มันเป็นการแยกส่วนเด็กออกจากสังคม ซึ่งทำให้เด็กมีปัญหาการปรับตัวเข้ากับสังคมในอนาคต” นายวัฒนากล่าว
ขาดคน-งบ-ระบบการจัดการ ทำการศึกษาคนพิการไม่ไปไหน
อีกหนึ่งปัญหาที่มักได้ยินเสมอคือบุคลากรหรือครู ซึ่งนายชูศักดิ์มีมุมมองแตกต่างกับนายวัฒนาเล็กน้อย โดยนายชูศักดิ์มองว่า ปัญหาบุคลากรขาดแคลน แม้จะมีอยู่ แต่ยังไม่ถือเป็นปัญหาใหญ่ แต่เป็นเรื่ององค์ความรู้ที่จะต้องเติมเต็ม บวกกับระบบการจัดการที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ
ยกตัวอย่างกรณีครูที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว 1 ปี เมื่อครูเหล่านี้หมดสัญญาจ้างก็ต้องออกไป ทางโรงเรียนต้องจ้างครูคนใหม่เข้ามา แต่การจัดการเรียนการสอนแก่เด็กพิการนั้น กว่าครูคนหนึ่งจะรู้จักเด็กพิการต้องอาศัยเวลาพอสมควร หมายความว่า หากมีการเปลี่ยนครูบ่อย ครูคนใหม่จะต้องเสียเวลาเรียนรู้เด็กซ้ำอีก ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาเด็กให้เกิดความต่อเนื่อง
อีกประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมาก คือการกระจายอำนาจ ซึ่งนายชูศักดิ์แสดงทัศนะว่า การกระจายอำนาจเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่มีผลต่อการจัดการศึกษาของเด็กพิการมากนัก ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ระบุ ไว้แล้วว่า เขตพื้นที่การศึกษามีหน้าที่อะไรบ้าง หากไม่ปฏิบัติตามถือว่าผิดกฎหมาย
“แต่การกระจายคนกับทรัพยากรสำคัญกว่า อำนาจในการจัดการเป็นตัวช่วยบางส่วน แต่เขตไม่มีเงิน ไม่มีคน ถ้าไม่กระจายสองอย่างนี้ การจัดการศึกษาแก่เด็กพิการก็ล้มเหลว งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการปีหนึ่ง 5-6 แสนล้านบาท ของเด็กพิการใช้เพียงร้อยละ 0.5 หรือไม่ถึง 8,000 ล้านบาท แต่ส่วนใหญ่ไปลงในสิ่งปลูกสร้าง เหลือให้โรงเรียนที่จัดเรียนร่วมไม่มาก อำนาจจึงไม่ใช่สิ่งที่เด็กพิการต้องการ เพราะกฎหมายให้อำนาจไปแล้ว”
เมื่อเห็นปัญหาดังนี้แล้ว คงต้องติดตามต่อไปว่า แผนพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2555-2559) ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่วางยุทธศาสตร์ไว้ 7 ประการ ได้แก่ เพิ่มโอกาสให้คนพิการได้รับบริการทางการศึกษา, วิจัยและพัฒนาหลักสูตรกระบวนการจัดการเรียนรู้ การวัด และประเมินผลให้เหมาะสมสำหรับคนพิการ, พัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ, พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้สำหรับคนพิการ, ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ, พัฒนาระบบการบริหารและกลไกในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ และระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วนเพื่อการศึกษาสำหรับคนพิการ จะเกิดผลในทางปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใดในยุคของจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ขอบคุณภาพประกอบจาก Google
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ