ญี่ปุ่นรื้อพิมพ์เขียวทวาย พับถนนกาญจน์-น้ำพุร้อน

30 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2019 ครั้ง

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยถึงแผนการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกและอุตสาหกรรมทวายว่า จะมีความชัดเจนภายในปี 2557 หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นได้ทำการทบทวนผลศึกษาและความเป็นไปได้โครงการที่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ทำการศึกษาไว้แต่แรก จากเหตุผลประเทศเมียนมาร์และประเทศญี่ปุ่นเกิดความไม่แน่ใจในแนวทางการพัฒนารูปแบบเดิมของบริษัทอิตาเลียนไทยฯ จะสามารถดำเนินการได้เสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนดหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการมีความล่าช้าจากกำหนดการเดิมไปมาก

            “ทางญี่ปุ่นระบุว่า หากจะเข้ามาลงทุนก็ขอรีวิวแผนพัฒนา กรอบวงเงินลงทุน และกรอบเวลาดำเนินการในโครงการทวายใหม่ทั้งหมด เพื่อให้แผนการพัฒนาตั้งอยู่ในโลกของความเป็นจริงมากที่สุดเพราะ โครงการพัฒนาตามแนวคิดบริษัทอิตาเลียนไทยที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าจะประสบความสำเร็จได้ยาก เนื่องจากขนาดของโครงการใหญ่มาก ครอบคลุมพื้นที่ถึง 205 ตารางกิโลเมตร หรือ 127,500 ไร่ ต้องใช้เงินลงทุนมาก ทั้งถนนมอเตอร์เวย์ ท่าเรือ จนเร็วเกินไปที่จะดำเนินโครงการใหญ่ขนาดนี้ให้สำเร็จภายใน 5 ปี อีกทั้งเร็วเกินไปที่จะพัฒนาเสร็จใน 5 ปี ญี่ปุ่นเห็นว่าต้องค่อย ๆ พัฒนาจึงต้องปรับเวลาให้เหมาะสมและให้โครงการมีกรอบการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ตามผลการศึกษาของบริษัทอิตาเลียนไทยฯระบุโครงการเฟสแรกจะประกอบไปด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมหนักอื่น ๆ ใช้เงินลงทุนประมาณ 150,000 ล้านบาท ในการก่อสร้างท่าเรือ ถนน นิคม ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตามกรอบเวลาจะก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานให้แล้วเสร็จในปี 2558 เงินลงทุนประมาณ 103,300 ล้านบาท

ท่าเรือน้ำลึกระยะที่ 1 วงเงิน 45,000 ล้านบาท, ถนนมอเตอร์เวย์ 4 ช่องจราจร จากทวาย-บ้านพุน้ำร้อน ชายแดนประเทศไทยระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงิน 35,000 ล้านบาท, ระบบโทรคมนาคมและสื่อสารเชื่อมต่อประเทศไทยด้วยโครงข่ายใยแก้วนำแสง 2,500 ล้านบาท, แหล่งเก็บน้ำ 8,500 ล้านบาท, ระบบน้ำประปา 1 ล้านลบ.ม. วงเงิน 12,600 ล้านบาท

ส่วนเฟสที่ 2 จะพัฒนาต่อเนื่องจากระยะที่ 1 มีการลงทุนสร้างระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานวงเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จในปี 2563 ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกระยะสุดท้าย 32,500 ล้านบาท, การขยายมอเตอร์เวย์เป็น 8 ช่องจราจร, การสร้างรถไฟทางคู่ (ทวาย-บ้านพุน้ำร้อน) ระยะทาง 141 กิโลเมตร วงเงิน 65,000 ล้านบาท เป็นต้น

ส่วนนิคมอุตสาหกรรมจะประกอบด้วย 7 พื้นที่รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ได้แก่ Zone A โรงงานไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมหนัก Zone B กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มีโรงกลั่นน้ำมัน โรงผลิตและแยกก๊าซธรรมชาติ Zone C อุตสาหกรรมปิโตรเคมี Zone D จะเป็นพื้นที่ของอุตสาหกรรมขนาดกลาง มีโรงงานผลิตยางรถยนต์ โรงงานผลิตกระดาษ โรงงานผลิตยิปซัม โรงงานยาง โรงงานประกอบรถยนต์ โรงขึ้นรูปเหล็ก และ Zone E อุตสาหกรรมขนาดเบา มีสิ่งทอ เครื่องสำอาง ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอาหาร Zone F พื้นที่เมือง ประกอบด้วยอาคารสำนักงาน ที่พักอาอาศัย พาณิชยกรรมและบริการสาธารณะ

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวมาจากฝ่ายรัฐบาลญี่ปุ่น โดยองค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่นหรือไจก้า และสถานทูตญี่ปุ่นจะเชิญนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนภายในต้นปี 2557 โดยจะมีความชัดเจนว่า ภาคเอกชนสามารถเข้ามาร่วมดำเนินการพัฒนารูปแบบไหน หลังจากที่รัฐบาลเมียนมาร์มีความคาดหวังให้ประเทศญี่ปุ่นเสนอลงทุนในโครงการทวายทั้งแพ็จเกจ (นักลงทุนและแหล่งเงินกู้) เพื่อให้โครงการพัฒนาได้รวดเร็วขึ้น

ขั้นตอนจากนี้จะเป็นการทำกรอบความร่วมมือโครงการพัฒนาทวายระหว่าง 3 ประเทศร่วมกันคือ ประเทศไทย เมียนมาร์ และญี่ปุ่น ในส่วนของบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ก็จะถูกลดบทบาทจากผู้รับสัมปทานการพัฒนาโครงการเป็นเพียงแค่ผู้ร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ จำนวน 7 สาขา

            “ความกังวลตอนนี้ก็คือ วงเงินที่บริษัทอิตาเลียนไทยฯ ลงทุนไปแล้วนั้น มีมูลค่าเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมามีแต่ฝ่ายอิตาเลียนไทยฯ พูดอยู่ฝ่ายเดียว ว่ามีการลงทุนไปแล้ว 6,000 ล้านบาท ดังนั้นในที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมไทย-พม่า หรือ JCC เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จึงให้หาคนกลางมาประเมินมูลค่าก่อสร้างที่แท้จริง เพื่อจะได้ง่ายต่อการส่งมอบให้กับรายใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนด้วยและให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สำหรับผู้บริหารโครงการทวายรายใหม่น่าจะได้ตัวในเดือนพฤษภาคม 2557” แหล่งข่าวกล่าว

ผู้สื่อข่าวสอบถามนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ถึงแผนการพัฒนาโครงการทวายมีการเปลี่ยนแปลงผู้พัฒนาโครงการใหม่ กรณีความจำเป็นจะสร้างมอเตอร์เวย์จากกาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อนอีกหรือไม่

นายชัชชาติกล่าวว่า กรมทางหลวงกำลังศึกษารายละเอียดโครงการมีระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร ถ้าหากปริมาณการจราจรไม่มากก็อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะก่อสร้าง เนื่องจากมีถนนเดิมรองรับอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม โครงการช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรีจะยังคงเดินหน้าต่อไป คาดว่าจะได้เงินมาจ่ายค่าเวนคืนจากพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในปี 2557 เพราะโครงการมีความจำเป็นในการเดินทางและขนส่งไปยังพื้นที่ภาคใต้

ด้านนายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า มอเตอร์เวย์สายกาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อนที่คาดว่าจะใช้เงินก่อสร้าง 14,100 ล้านบาทนั้น มีเป้าหมายโครงการเพื่อรองรับกับโครงการทวาย แต่หากโครงการทวายไม่ประสบความสำเร็จอาจจะไม่ก่อสร้าง เนื่องจากกำลังปรับปรุงถนนเดิมช่วงกาญจนบุรี ชายแดนไทย-เมียนมาร์หรือบ้านพุน้ำร้อน ระยะทาง 78 กิโลเมตรเป็นถนนชั้น 1 กว้าง 12 เมตร ลาดยางขนาด 2 ช่องจราจรให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 เพื่อใช้เป็นเส้นทางชั่วคราวระหว่างรอโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ในฝั่งไทยแล้วเสร็จ

 

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: