นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศของรัฐบาล แม้จะเป็นนโยบายที่ดี แต่ในแง่การจัดการและการวางมาตรการรองรับต้องถือว่าสอบตก เพราะทั้งนักธุรกิจและนักวิชาการต่างเห็นพ้องกันว่า รัฐบาลยังไม่ให้ความสำคัญมากนัก ทั้งที่เป็นหัวใจสำคัญของการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทย ไปสู่การใช้ทุนมากกว่าแรงงานราคาถูก
โดยเฉพาะการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ของแรงงานตามระดับของค่าแรง ซึ่งทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์ตรงกันว่า หากไม่ต้องการให้อัตราการขยายตัวของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ หรือจีดีพี ต้องติดลบ จากผลกระทบการขึ้นค่าแรง 300 บาท ผลิตภาพแรงงานของไทย จะต้องเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่ 4 เปอร์เซ็นต์ เป็นการเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ซึ่งเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายเลย แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเท่าที่ควร ดูได้จากการที่ยังไม่มีแผนการเพิ่มผลิตภาพแรงงานที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมระยะยาวออกมา
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย (ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ) ฝ่ายการวิจัยแผนงานเศรษฐกิจรายสาขา ได้เผยให้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจว่า แม้การเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย จะเป็นเรื่องจำเป็น แต่สิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กันหรืออาจสำคัญกว่าคือ รัฐบาลต้องรู้ด้วยว่า ภาคส่วนใดของระบบเศรษฐกิจไทย ที่จะต้องเร่งเพิ่มผลิตภาพอย่างเร่งด่วน ซึ่งคำเฉลยก็คือ ภาคบริการ
ดร.เดือนเด่น ยังฟันธงด้วยว่า ประเทศไทยจะไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ได้ดังที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วาดหวัง หากไม่ทำการปฏิรูปภาคบริการของประเทศ
ภาคบริการแหล่งจ้างงาน-จีดีพีกว่าครึ่ง แต่ผลิตภาพต่ำมาก
ทำไมภาคบริการจึงมีความสำคัญถึงเพียงนี้ ดร.เดือนเด่นอธิบายว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมดอยู่ในภาคบริการ แต่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคการผลิตเพียงประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพี ก็มาจากภาคบริการ ขณะที่จีดีพีจากภาคอุตสาหกรรมเท่ากับ 40 เปอร์เซ็นต์
แต่ผลิตภาพของแรงงานในภาคบริการ กลับสวนทางกับความสำคัญในระบบเศรษฐกิจ ปี 2541 ผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ประมาณ 230,000 บาทต่อปี ณ ราคาปี พ.ศ.2531 และเพิ่มเป็นประมาณ 360,000 บาท ในปี 2554 ขณะที่ผลิตภาพปี 2541 ในภาคบริการอยู่ที่ประมาณ 130,000 บาทต่อปี ณ ราคาปี พ.ศ.2531 เพิ่มเป็น 140,000 บาท ในปี 2554 ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรม
และเมื่อแยกตามรายสาขาของภาคบริการ พบว่า ผลิตภาพในทุกสาขาต่ำหมด ยกเว้นภาคอสังหาริมทรัพย์และการเช่าที่พักอาศัย บางสาขาผลิตภาพติดลบ ได้แก่ สาขาขายส่ง-ขายปลีก สาขาบริหารราชการ สาขาการศึกษา และสาขาบริการรับใช้ภายในบ้าน
“จะเห็นว่าผลิตภาพแรงงานของภาคบริการ แทบจะไม่กระเตื้องเลย เวลาที่เราพูดถึงผลิตภาพแรงงานไทยที่ 4 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงทั้ง 3 ภาครวมกัน เฉพาะภาคอุตสาหกรรมแค่ 14 เปอร์เซ็นต์ของแรงงาน แต่อีก 86 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่ในภาคบริการและภาคเกษตร เราละเลย จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะยกระดับผลิตภาพเฉพาะภาคอุตสาหกรรม แล้วหวังว่าจะยกผลิตภาพทั้งระบบของประเทศ ถ้าภาคบริการเป็นเช่นนี้ ประเทศก็จะติดกับดักอยู่เช่นนี้ ทำให้ไม่สามารถก้าวไปได้”
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผลิตภาพในภาคบริการต่ำ และมีการขยายตัวช้ากว่าภาคการอุตสาหกรรม ดร.เดือนเด่น อธิบายว่า เป็นเพราะภาคบริการของไทยปิดกั้นเงินทุน และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ที่จำกัดการถือหุ้นของคนต่างชาติไว้ที่ 49 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับสามารถถือหุ้นได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็มในภาคอุตสาหกรรม ผลที่ติดตามมาจึงทำให้รายได้ของแรงงานในภาคบริการ ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แต่ต้นทุนกลับสูงเกินควรและคุณภาพการบริการต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต เพราะต้องไม่ลืมว่าภาคอุตสาหกรรมก็ต้องพึ่งพาภาคบริการ เช่น การขนส่ง การสื่อสาร สุดท้ายแล้ว ภาคบริการจะกลายเป็นตัวถ่วงภาคอุตสาหกรรม
หวั่นไทยเสียโอกาส เป็นแค่แหล่งรับเงินลงทุนมือสองจากสิงคโปร์
นอกจากนี้ หากมองในระยะยาวเชื่อมโยงกับการเปิดรเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี (Asean Economic Community) การที่ไทยไม่ให้ความสำคัญต่อภาคบริการจะส่งผลให้ไทยเสียโอกาสด้านการลงทุนที่จะมาพร้อมกับการเปิดเออีซี
เมื่อสำรวจตัวเลขเงินลงทุนในภาคบริการของไทย จากรายงานการลงทุนอาเซียนปี 2554 เงินลงทุนในภาคบริการของไทยเท่ากับ 41.17 เปอร์เซ็นต์ ในภาคอุตสาหกรรม 58.73 เปอร์เซ็นต์ แต่จีดีพีในภาคบริการกลับสูงถึง 50.53 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภาคอุตสาหกรรมเท่ากับ 41.17 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขนี้จึงทำให้เห็นความสำคัญของภาคบริการได้เป็นอย่างดี
เมื่อดูในระดับอาเซียนพบว่า ตั้งแต่ปี 2549-2553 จีดีพีของไทยคิดเป็น 19.39 เปอร์เซ็นต์ของอาเซียน ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย แต่ในแง่ของเงินลงทุนกลับเป็นว่า เงินลงทุนเกือบ 43 เปอร์เซ็นต์ที่ลงทุนในอาเซียนกลับไหลไปที่สิงคโปร์ ทั้งเงินลงทุนจากไทยที่ไหลไปลงทุนในประเทศอาเซียนในช่วงปี 2543-2552 ก็ต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์มากเช่นกัน
ตัวเลขเหล่านี้กำลังบอกอะไร ในปี 2554 ขนาดเศรษฐกิจอาเซียนใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก และสัดส่วนการลงทุนก็กำลังมุ่งสู่ภูมิภาคอาเซียนอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2554 มีสัดส่วนการลงทุนในอาเซียนสูง 7.64 เปอร์เซ็นต์ของการลงทุนทั้งหมดในโลก ซึ่งเงินลงทุนกว่าครึ่งในอาเซียนมุ่งไปสู่ภาคบริการ โดยในปี 2553 เงินลงทุนในอาเซียนถึง 65.7 เปอร์เซ็นต์เป็นการลงทุนในภาคบริการ
เห็นได้ว่าการลงทุนสู่อาเซียน มีแนวโน้มมุ่งไปสู่ภาคบริการมากขึ้น แต่ประเทศไทยกลับมุ่งแต่จะดึงดูดเงินลงทุนเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ซึ่งไม่สอดคล้องกับโครงสร้างการลงทุนของโลกและโครงสร้างการลงทุนภายในประเทศ ความสอดคล้องเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจเมื่อมีการเปิดเออีซี
“เงินทุนจะไหลเข้าไปที่สิงคโปร์ก่อนจะไหลไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เมื่อข้อตกลงเออีซีทำให้เราต้องให้สิทธิพิเศษแก่สิงคโปร์ โดยถ้าเป็นนักลงทุนจากสิงคโปร์จะสามารถถือหุ้นได้ 70 เปอร์เซ็นต์ในภาคบริการ เมื่อถึงจุดนั้น เงินจะยิ่งพุ่งเข้าไปที่สิงคโปร์ เพื่อฟอกเงินให้เป็นเงินอาเซียน แล้วจึงกระจายไปยังประเทศต่าง ๆ เมื่อถึงตอนนั้น ประเทศไทยจะเป็นเพียงแหล่งรองรับเงินทุนมือสองผ่านสิงคโปร์เท่านั้น” ดร.เดือนเด่น อธิบาย
เร่งปฏิรูปกฎระเบียบ ลดการผูกขาด ดึงต่างชาติลงทุนภาคบริการ
ดร.เดือนเด่นกล่าวว่า ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพของภาคบริการ โดยการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางเทคโนโลยี แต่ไม่จำเป็นต้องเปิดทุกสาขา ผ่านการปฏิรูปกฎกติกาการกำกับดูแลธุรกิจบริการ รวมถึงกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ
ดร.เดือนเด่นเสนอว่า รัฐบาลจำเป็นต้องจัดทำโรดแมป (Roadmap) การเปิดเสรีภาคบริการว่าจะเปิดอย่างไร สาขาใด มีลำดับความสำคัญอย่างไร และควรแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างดาว พ.ศ.2542 เพื่อเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน เพราะในอาเซียน ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่ไม่รับการลงทุนของต่างประเทศในทุกสาขาของภาคบริการ
“สาขาที่ต้องเปิดเสรีอย่างยิ่งคือ สาขาที่สนับสนุนภาคธุรกิจ เพราะเป็นตัวที่ทำให้เกิดการพัฒนาขีดการแข่งขันของธุรกิจ ได้แก่ การเงิน ประกันภัย ขนส่ง สื่อสาร และพลังงาน”
รวมถึงเปิดเสรีในสาขาบริการที่มีลักษณะกึ่งผูกขาดหรือผูกขาด โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดไม่กี่ราย เช่น พลังงานที่ถูกผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ธุรกิจดาวเทียม เป็นต้น
“ถามว่าเมื่อเปิดเสรีแล้ว นักลงทุนต่างประเทศจะกรูกันเข้ามาหรือไม่ คงไม่ใช่ เพราะยังมีอุปสรรคอีกมาก อย่างเช่น สาขาโทรคมนาคม ถามว่าทำไมไม่มีใครมาประมูล 3 จี ส่วนหนึ่งเป็นข้อจำกัดการถือหุ้นได้ไม่เกิน 49 เปอร์เซ็นต์ แต่ต่อให้ถือได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เขาก็ไม่มา เพราะติดกฎเกณฑ์ในการเชื่อมต่อโครงข่ายที่ต้องสร้างเครือข่ายเองทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถใช้โครงข่ายที่มีอยู่ได้ ดังนั้นกฎกติกาในประเทศ จึงเป็นอุปสรรคกีดกันการแข่งขัน” ดร.เดือนเด่น กล่าว
สุดท้าย ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจของสิงคโปร์และมาเลเซียมีผลิตภาพภาคบริการ สูงกว่าหรือใกล้เคียงกับภาคอุตสาหกรรม ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจของไทย กลับเหมือนกับประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า คือฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่มีผลิตภาพในภาคบริการต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นประเทศไทยจะไม่มีวันหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ ถ้าไม่เร่งปฏิรูปภาคบริการ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ