ศาลปกครองสั่งยกฟ้อง คดี'โรงไฟฟ้าหนองแซง'

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 31 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2822 ครั้ง

เมื่อวันที่ 31 มกราคม ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง ในคดีหมายเลขดำที่ 1454/2553 คดีหมายเลขแดงที่ 126/2556 ที่เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม ฟ้องขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าหนองแซง ของ บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ในพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการโรงงาน ตามร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี

 

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2553 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 61 คน นำโดย นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี ยื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จำเลยที่ 1 และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (คชก.) จำเลยที่ 2 และบริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด จำเลยที่ 3 ต่อศาลปกครองกลาง ในคดีเจ้าหน้าที่รัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ของบริษัทดังกล่าว

 

ศาลปกครองพิจารณาว่า กระบวนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ของ กกพ.เป็นไปตามกฎหมาย โดยที่ตั้งไม่ขัดต่อกฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2553 และร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี พ.ศ. ... ยังไม่ประกาศบังคับใช้ การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวของและบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต 1,600 เมกกะวัตต์ จึงไม่ใช่โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง จึงไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบ (EHIA) เพิ่มเติม ตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ

 

 

 

ศาลปกครองระบุด้วยว่า การพิจารณาให้ใบอนุญาตนั้น นอกจากต้องคำนึงถึงสิทธิผู้ฟ้องคดีทั้ง 61 คนที่จะอนุรักษ์ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ แล้วยังต้องคำนึงถึงสิทธิของบริษัทเอกชนผู้ดำเนินโครงการ รวมทั้งต้องคำนึงถึงการมีส่วนได้ส่วนเสียของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ที่จะได้จากการมีเสถียรภาพทางพลังงานไฟฟ้าสำรอง สำหรับความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นด้วย จึงไม่สามารถจำกัดสิทธิไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้าได้

 

ส่วนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นนั้น มีการระบุปัญหาไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่แล้ว ซึ่งผู้ประกอบกิจการต้องถือปฏิบัติในการป้องกันผลกระทบ โดยชุมชนสามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งทุกจุดได้ตลอดเวลา ส่วนเรื่องการเลี้ยงไก่ก็มีการระบุให้ชดเชยความเสียหายตามความเป็นจริง และเรื่องการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ก็มีการระบุให้สร้างบ่อเก็บน้ำสำรอง และถ้าน้ำไม่เพียงพอรัฐก็มีอำนาจสั่งให้บริษัทผู้ประกอบกิจการหยุดสูบน้ำได้ทันที และชุมชนมีสิทธิตรวจสอบได้อยู่แล้ว

 

อีกทั้งตามอำนาจคณะกรรมการผังเมือง ถ้าคณะกรรมการผังเมืองเห็นว่าขัดต่อนโยบายผังเมืองรวมในสาระสำคัญก็สามารถกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ หรือสั่งให้ระงับการประกอบกิจการได้ ตามมาตรา 27 วรรคสอง

 

 

 

นอกจากนั้นการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าดังกล่าว เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งในประเทศไทยมีการก่อสร้างมาแล้วหลายแห่ง เช่น โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น โรงไฟฟ้าราชบุรี และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ไม่ปรากฏว่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรือประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้

 

ทั้งนี้ศาลวินิจฉัยว่า มติของคชก.ที่ให้ความเห็นชอบ EIA โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง และคำสั่งของ กกพ.ที่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการฯ นั้นชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการพิพากษาคดี กลุ่มชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมกว่า 40 คน ที่มาร่วมฟังการพิจารณาคดี ได้มีการพูดคุยกันถึงผลที่ออกมา และได้ตกลงที่จะยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้ต่อไปภายใน 30 วันตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะมีการกลับไปจัดเตรียมข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อสู้คดี

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: