แฉปมปลดฟ้าผ่าผอ.องค์การเภสัช สธ.ไล่บี้สปสช.หวังขอเงิน75ล้าน สตง.ให้ทำโครงการขอใช้ฟรีไม่ได้

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 31 พ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2422 ครั้ง

คำสั่งปลดฟ้าผ่า น.พ.วิทิต อรรถเวชกุล จากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (ผอ.อภ.) กำลังถูกขยายผลและขยายแนวร่วม เมื่อถูกผูกโยงกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทำให้สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ขยับตัวและผนึกกันต่อต้านการกระทำของ น.พ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เพราะมองว่า เหตุการณ์ปลด น.พ.วิทิตคือชนวนเหตุแรกที่จะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

 

เหตุผลที่ใช้ปลดน.พ.วิทิต ตามที่เป็นข่าวคือกรณียาพาราเซตามอลและโรงงานวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ซึ่งทั้งสองกรณีทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม ได้จัดพิมพ์หนังสือชี้แจงออกมาแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม สาเหตุเบื้องหลังที่ น.พ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ออกมาเปิดเผยคือกรณีที่น.พ.วิทิต ขวางการโอนเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ให้แก่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขัดกับข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ พ.ศ.2546 และหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ กรณีนี้ต่างหากที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ น.พ.วิทิต ถูกปลด

 

 

หลักเกณฑ์ระบุชัดต้องทำโครงการเสนออภ.ก่อนรับเงินสนับสนุน

 

 

สำหรับข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ พ.ศ.2546  ระบุใน ข้อ 6 ว่าการจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ให้พิจารณาจ่ายเพื่อกิจกรรมดังต่อไปนี้ คือ 6.1 เพื่อให้การสนับสนุนและส่งเสริมทางด้านการบริหาร วิชาการ การวิจัย การพัฒนา การอบรม และการดูงานสำหรับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ 6.2 เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้น ๆ

 

ส่วนข้อ 7  ระบุว่า การจ่ายเงินเพื่อการสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐตามข้อ 6 ให้จ่ายแก่ผู้ซื้อผลิตภัณฑ์และ/หรือหน่วยงานต้นสังกัดได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของยอดเงินที่ชำระแล้วในแต่ละปี (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามหลักเกณฑ์ที่แนบท้ายข้อบังคับนี้

 

หลักเกณฑ์ที่ว่าคือหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนในข้อ 5 ว่า ภาครัฐที่มีสิทธิจะได้รับเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ จะต้องจัดทำโครงการเสนอให้องค์การเภสัชกรรมพิจารณา

 

 

สปสช.อ้างความเห็นสตง.ขอส่งเงิน 75 ล้านให้สำนักปลัดฯ

 

 

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถือเป็นลูกค้ารายสำคัญขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้แจ้งยอดเงินสนับสนุนกิจการภาครัฐแก่ สปสช. ในวงเงิน 91,289,000 บาท โดยในหนังสือที่ สปสช. 403/209 ลงนามโดย น.พ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปชส. ได้ยกข้อเสนอแนะของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ได้รายงานการตรวจสอบประเมินผล สปสช. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2554 ว่า

 

 

            “เพื่อให้การบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการ สปสช. พิจารณาดำเนินการ กำหนดหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินสนับสนุนกิจการภาครัฐที่ได้รับจากองค์การเภสัชกรรม ให้เป็นการนำไปใช้ประโยชน์โดยตรงต่อหน่วยบริการ”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หนังสือของสปสช. ดังกล่าวยังระบุอีกว่า

 

‘เพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของ สตง. ทางสปสช.จึงพิจารณาเห็นควรให้จัดสรรเงินสนับสนุนกิจการภาครัฐที่จะได้รับจากองค์การเภสัชกรรม ให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและสนับสนุนหน่วยบริการในวงเงินจำนวน 75,000,000 บาท (เจ็ดสิบห้าล้านบาทถ้วน) เพื่อสนับสนุนการดำเนินการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการทั่วทั้งประเทศ โดยในส่วนของ สปสช. จะได้จัดทำโครงการเสนอขอการสนับสนุนจากองค์การเภสัชกรรมต่อไป ทั้งนี้ตามข้อบังคับขององค์การเภสัชกรรมว่าด้วยการสนับสนุนกิจการภาครัฐ

 

‘อนึ่ง เพื่อให้ สปสช. มีข้อมูลประกอบการดำเนินงานต่อไปในอนาคต จึงขอให้องค์การเภสัชกรรมรายงานผลการสนับสนุนกิจการภาครัฐตามวงเงินข้างต้นให้ สปสช. ทราบทุก 3 เดือน’

 

 

เปิดหนังสืออภ.ย้ำสำนักปลัดฯต้องทำโครงการผ่านสปสช.เท่านั้น

 

 

หนังสือที่ สปสช. ส่งถึง อภ. ก่อให้เกิดการปรึกษากันภายในว่า สามารถทำได้หรือไม่ หนังสือไม่เป็นทางการฉบับหนึ่งที่ลงนามโดยนายสุขุม วิรัตติพงษ์ รองผู้อำนวยการ อภ. ระบุว่า

 

‘ตามที่ สปสช. แจ้งความประสงค์ให้ อภ. จัดสรรเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ในส่วนของ สปสช. ให้แก่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นเงิน 75 ล้านบาท จากวงเงินรวมที่ สปสช. ได้รับแจ้งจาก อภ. 91.289 ล้านบาท

 

‘จากการหารือกับ รองฯ พิศมร (พิศมร กลิ่นสุวรรณ รองผู้อำนวยการ อภ. ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการ อภ.) เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2556 รองฯ พิศมรให้ความเห็นว่า ตามข้อบังคับ อภ. ว่าด้วยเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ พ.ศ.2546 กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ข้อ 5 ระบุว่า “ภาครัฐที่มีสิทธิจะได้รับเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ จะต้องจัดทำโครงการเสนอให้ อภ.พิจารณา” จึงควรให้สำนักงานปลัดฯ ซึ่งเป็นผู้รับเงิน จัดทำโครงการผ่าน สปสช. เพื่อให้สปสช.พิจารณาก่อนว่า โครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์โดยตรงต่อหน่วยบริการ แล้วสปสช.จึงส่งโครงการดังกล่าวให้ อภ. พิจารณาจ่ายเงินแก่สำนักงานปลัดฯ ต่อไป

 

            “จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา สั่งการให้ฝ่ายบัญชีและการเงินดำเนินการจ่ายเงินสนับสนุนกิจการภาครัฐให้แก่ สปสช. วงเงินรวม 91.289 ล้านบาท โดยแบ่งจัดสรรให้แก่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 75 ล้านบาท ตามหนังสือที่ สปสช. แจ้งความประสงค์ข้างต้น จะเป็นพระคุณ”

 

เนื้อหาในหนังสือดังกล่าว แปรเป็นหนังสือที่ สธ 5102/ตร. 302/56 ที่ อภ. ส่งถึงเลขาธิการ สปสช. และลงนามโดย น.พ.วิทิต อรรถเวชกุล

 

 

 

สปสช.บี้อภ.ให้รีบส่งเงินสำนักปลัดฯ คาดถูกบีบและกลัวปัญหาตามมา

 

 

เมื่อได้รับการตอบกลับเช่นนี้ ทางสปสช. จึงทำหนังสือที่ สปสช. 950/00102 วันที่ 23 เมษายน 2556 ส่งถึง อภ. อีกครั้ง โดยส่วนหนึ่งระบุว่า

 

            “ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดการสนับสนุนหน่วยบริการของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว จึงขอมอบอำนาจการเห็นชอบในโครงการที่ขอจัดสรรเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากองค์การเภสัชกรรม ให้กับปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตามวงเงิน 75,000,000 บาท (เจ็ดสิบห้าล้านบาทถ้วน)”

 

จากหนังสือโต้ตอบดังกล่าว ทำให้เกิดข้อสันนิษฐาน 2 ประการคือ ทาง สปสช. ถูกบีบจากกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ต้องการตัดปัญหาที่อาจตามมาในอนาคต จึงโยนอำนาจการเห็นชอบโครงการไปให้แก่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขแทน

 

 

สตง. ตอบชัด ให้อำนาจปลัด สธ. พิจารณาโครงการ ขัดหลักการบริหารจัดการที่ดี

 

 

แหล่งข่าวภายใน สตง.ระบุว่า เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคม น.พ.วิทิต ได้นำเรื่องนี้หารือกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ใน 2 ประเด็น

 

1.การที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดสรรวงเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ที่จะได้รับจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ให้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และมอบอำนาจการเห็นชอบโครงการให้แก่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตามวงเงิน 75 ล้านบาท เป็นไปตามเจตจำนงของ สตง. ที่ให้ข้อเสนอแนะแก่ สปสช. ตามที่อ้างถึงหรือไม่

 

2.อภ. จะสามารถจ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ให้แก่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตามโครงการที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบนั้น จะถูกต้องตามข้อบังคับ อภ. ว่าด้วยเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ พ.ศ.2546 หรือไม่ อย่างไร เนื่องจากตามข้อบังคับดังกล่าว อภ. ต้องจ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ให้แก่ผู้ซื้อผลิตภัณฑ์และ/หรือหน่วยงานต้นสังกัดเท่านั้น

 

 

 

>ทาง สตง.ได้ตอบกลับมาว่า

 “การที่ สปสช. จัดสรรวงเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐที่จะได้รับจาก อภ. ให้กับสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข และมอบอำนาจการเห็นชอบโครงการให้แก่ปลัดกระทรวงตามวงเงิน 75 ล้านบาท น่าจะเป็นการปฏิบัติไม่ตรงประเด็นที่ สตง. เสนอแนะไว้ โดยสตง.มีความประสงค์ให้ สปสช. นำเงินสนับสนุนที่ได้รับจาก อภ. ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานหรือกิจกรรมของ สปสช. เอง ซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่ สปสช. มี และต้องมีการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินอย่างรัดกุมและโปร่งใส มิใช่นำเงินไปเป็นประโยชน์ต่อสำนักปลัดฯ เนื่องจากสำนักปลัดฯ มีการตั้งและจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการต่าง ๆ อยู่แล้ว หากได้รับเงินสนับสนุนดังกล่าว ก็จะเป็นวงเงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสำนักปลัดฯ ควรจะต้องลดวงเงินงบประมาณของหน่วยงานลง 75 ล้านบาท”

 

อย่างไรก็ตาม การที่สปสช.มอบอำนาจการเห็นชอบโครงการให้แก่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แม้จะไม่เป็นความผิดทางแพ่ง แต่อาจไม่เหมาะสมและไม่เป็นไปตามหลักการบริหารจัดการที่ดี

 

ดังนั้น สตง. เห็นว่า สปสช.ต้องเป็นผู้รับผิดเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจาก อภ. ตามโครงการของหน่วยบริการที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว แล้วนำไปบริหารจัดการ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสปสช. และให้ อภ.จ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐให้แก่ สปสช. ตามนัยแห่งข้อ 7 ของข้อบังคับของ อภ. ว่าด้วยเงิน สนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ พ.ศ.2546

 

 

 

ปัจจุบัน เงินก้อนดังกล่าวยังไม่มีการโอนแต่อย่างใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ น.พ.วิทิต ถูกปลดจากตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งน.พ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งเคยกล่าวขู่ น.พ.วิทิตว่า หากไม่จ่ายเงิน 75 ล้านบาท ก็ไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้

 

มีการพูดเช่นนี้จริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยาก แต่จากหนังสือโต้ตอบกันไปมาระหว่าง อภ. และ สปสช. รวมถึงความเห็นของ สตง. เป็นที่ชัดเจนว่า มีความพยายามของ ‘ใคร’ บางคนต้องการให้ อภ. ส่งเงินก้อนนี้ตรงไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่ต้องผ่าน สปสช. และไม่ต้องเสนอโครงการตามหลักเกณฑ์ของ อภ. ทั้งที่ความเห็นของ สตง. ระบุชัดว่าไม่ควรกระทำ

 

ส่วนคำตอบว่า ใครคือคนคนนั้นและต้องการนำเงิน 75 ล้านบาทไปเพื่ออะไร คงมีแต่ น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ น.พ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่จะไขข้อสงสัยของสังคมได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: