กพย.หวั่นอภ.ถูกแทรก หนุนผลิตยาให้โปร่งใส

31 พ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 925 ครั้ง

จากกรณีการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป รอบแรกที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยมได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกของการเจรจาที่หัวข้อทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยาและเวชภัณฑ์ได้ถูกฝ่ายอียูหยิบยกขึ้นหารือทันที

 

ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระยยา (กพย.) กล่าวว่า น่าจะเป็นเพราะทั้งสองฝ่ายต้องการเร่งการเจรจาให้จบเร็วที่สุด เพราะปกติแล้ว การเจรจาหัวข้อที่ซับซ้อนเช่นนี้ ประเทศใหญ่อย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ จะหยิบขึ้นมาช่วงกลางของการเจรจา อย่างไรก็ตามประเด็นในเอฟทีเอที่เกี่ยวกับยาและเวชภัณฑ์นั้น ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในบททรัพย์สินทางปัญญา แต่เท่าที่ทราบมา สหภาพยุโรปต้องการสอดแทรกเรื่องนี้ในการเจรจาหัวข้อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement) ด้วย

 

 

                “อียูจะอ้างเรื่องความโปร่งใส และลดกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ภาครัฐเคยดูแลผลิตและจัดหายา และเวชภัณฑ์บางส่วนว่า ต้องให้เอกชนเข้ามาแข่งขันทั้งหมด แต่เรื่องยาไม่เหมือนกับสินค้าทั่วไป ที่ใครใคร่ซื้อซื้อ ใครใคร่ขายขาย เพราะเมื่อเวลาขาดแคลนหรือเมื่อจำเป็นที่ต้องขึ้นมาจะทำอย่างไร เอกชนก็ต้องมุ่งหวังกำไร  ถึงแม้จะมีกฏระเบียบอยู่ แต่บางอย่างหากไม่มีกำไรเอกชนก็ไม่ทำ ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือยากำพร้า ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีที่ใช้และเราไม่อยากใช้มากด้วยนั้น ก็ยังจำเป็นต้องมี เพราะจะมีผู้ป่วย เช่น เกษตรกรที่ได้รับสารพิษและเกิดอาการเป็นพิษขึ้นมา ยาไม่แพงแต่ไม่มีคนผลิต อย่างนี้รัฐต้องเข้ามาแทรกแทรก จึงเป็นหน้าที่ของรัฐส่วนหนึ่งที่จะต้องคงไว้ซึ่งการมียา การพึ่งตนเองเมื่อยามขาดแคลน รวมทั้งจัดหาเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงยาอย่างครบถ้วน เป็นเรื่องสำคัญมาก”

 

 

ผู้จัดการแผนงาน กพย. ระบุว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยาข้ามชาติและรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วพยายามที่จะผลักดันเรื่อง Government procurement เข้าไปอยู่ตลอดเวลาที่มีการเจรจาการค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์การการค้าโลก (WTO) ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นเรื่องสำคัญของรัฐบาลที่ต้องทำหน้าที่ดูแลประชาชนที่ประเทศที่กำลังพัฒนาจำเป็นต้องทำ จึงมีความพยายามมาเจรจาในระดับทวิภาคี นี่คือการแทรกแซงการจัดหายาและเวชภัณฑ์ของประเทศ ทำให้ระบบการจัดหายาโดยภาครัฐนั้นด้อยคุณค่าลง หรือ ในหลายประเทศเปลี่ยนไปแล้วเป็นแปรรูปให้เอกชนจัดการ อย่างที่เกิดขึ้นในมาเลเซีย

 

 

             “เดิมมาเลเซียใช้วิธีการควบคุมโดยรัฐ และพยายามทำระบบหลักประกันสุขภาพต่าง ๆ ซึ่งในการจัดหายานั้นแต่เดิมก็จัดการโดยรัฐ  แต่ก็มีการเริ่มแปรรูปให้เอกชนจัดการ (Privatization)ไป มีงานวิจัยออกมาพบว่าราคายาหลังการแปรรูปแล้วนั้น มีราคาสูงขึ้นมหาศาล ซึ่งเกิดจากการที่รัฐไม่ได้เข้าไปจัดการ ปล่อยให้เอกชนจัดการซึ่งเขาจะทำอย่างไรก็ได้ กลับมาที่ประเทศไทย มีข่าวเรื่องความพยายามจะแปรรูป อภ.ซึ่งไปสอดคล้องกับความต้องการของอียู ประเด็นคือ ถ้าเราไม่มีรัฐเข้าไปควบคุมในส่วนนี้ จะเป็นความสุ่มเสี่ยงที่ใหญ่มาก ผู้เจรจาฯควรตระหนักถึงผลกระทบ”

 

 

ทั้งนี้นักวิชาการด้านระบบยากล่าวว่า การจัดหายาโดยภาครัฐมีความจำเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมา องค์การเภสัชกรรมเป็นกำลังสำคัญในการทำหน้าที่นี้ แม้ในกฎหมายระบุเพียงว่า ผลิตยาและเวชภัณฑ์ ส่งเสริมวิจัยและพัฒนา ควบคุมคุณภาพ และเขียนชัดไว้ว่า ซื้อขาย ให้ดำเนินธุรกิจได้ด้วย แต่หน้าที่ที่สำคัญและเป็นหน้าที่ที่กระทรวงสาธารณสุขระบุมาคือ 1.รักษาระดับของราคายาไม่ให้เพิ่ม 2.รักษาคุณภาพมาตรฐานของยา 3.จัดหาและสนองเวชภัณฑ์ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข 4.สำรองยาและเวชภัณฑ์ตามแผนสำรองยาของชาติ 5.จัดส่งยาและเวชภัณฑ์แก้สาธารณสุขมูลฐานต่างๆ และ 6.สนับสนุนนโยบายด้านยาต่าง ๆ

 

 

                “หน้าที่ตรงนี้ถ้าไม่ทำโดยภาครัฐแล้วใครจะทำ เมื่อถึงเวลาที่มีเหตุฉุกเฉิน เมื่อเหตุภัยภิบัติ หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นด้านความมั่นคง  และเมื่อเข้าไปดูในตลาดยาแล้ว ยาที่สำคัญและจำเป็นต้องใช้คือยาในบัญชียาหลัก ซึ่งภาคเอกชนเองเราก็ไปสั่งเขาไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าผิดกฏหมายด้วยหรือไม่นะ ที่ไปสั่งเขาให้ทำโน่นนี้ แล้วใครจะเป็นคนผลิตยาในบัญชียาหลักเพื่อใช้ในระบบประกันฯ  อีกประการที่สำคัญคือยาตามรายการยาที่ประกาศบังคับใช้สิทธิ (CL) ไปแล้วใครจะเป็นคนมาจัดการ ซึ่งต้องมีการนำเข้าและผลิตด้วย ในเรื่องการวิจัยพัฒนาเองก็สำคัญ ถ้าเราไปดูการวิจัยพัฒนายาชื่อสามัญของเอกชนจะพบว่า อยู่ในขั้นกำลังเริ่ม หลายโรงงานเริ่มแล้ว ปัจจุบันยาที่ใช้ในประเทศไทยนำเข้ากว่า 70 เปอร์เซนต์ แล้ว ถ้าเราไม่มีองค์กรภาครัฐอย่าง อภ.มายันหรือเทียบเคียงราคา จะน่าเป็นห่วงมาก”

 

 

ทั้งนี้ ผศ.ดร.นิยดามองว่า นอกเหนือจากความพยายามป้องกันไม่ให้การเมืองและอุตสาหกรรมยาข้ามชาติทำลายและแทรกแซง อภ.แล้ว ควรจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาองค์การเภสัชกรรม เพราะที่จริง อภ.มีศักยภาพอีกมาก

 

 

                 “อภ.สามารถผลิตยาชื่อสามัญได้มากกว่านี้ ทำวิจัยได้มากกว่านี้ ทำเรื่องยากำพร้าให้มากกว่านี้ก็ได้ และสิ่งที่เราพบว่าน่าเป็นห่วงคือ นโยบายกระทรวงซึ่งมีอยู่ข้อหนึ่งว่าองค์การเภสัชกรรมต้องทำเงินส่งให้กระทรวงเป็นประจำเท่านั้นเท่านี้  ในฐานะประชาชนที่คุณนำภาษีของเราไปใช้ทำประโยชน์นี่ไม่ใช่หน้าที่หลักที่จะต้องไปผลิตเงินมหาศาลให้กับรัฐบาล แต่ควรให้องค์การเภสัชกรรมร่วมพัฒนาระบบยาในประเทศ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งได้”

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

ยา  

Like this article:
Social share: