‘ดร.ธรณ์’ชี้น้ำมันกระทบระบบนิเวศหนัก ต้องฟื้นฟูเป็นเดือน-อย่าพูดว่าจบใน3วัน

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ ภาพโดย ปองพล สารสมัคร หนังสือพิมพ์ The Nation 31 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 7973 ครั้ง

เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลจากท่อส่งน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กลางทะเลอ่าวไทย ที่จ.ระยอง ซึ่งตอนแรกดูไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ หลังเกิดเหตุเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา แต่ปรากฎว่า หลังจากนั้นไม่นานกลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ที่ไม่อาจประเมินมูลค่าความเสียหายได้ เมื่อน้ำมันจำนวนมากกลับไม่ได้อยู่ตามการควบคุม แต่แพร่กระจายเข้าสู่พื้นที่ทางธรรมชาติ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับโลกอย่างเกาะเสม็ด และกำลังเป็นห่วงว่าอาจจะเข้าสู่พื้นที่ชุมชนใน อ.บ้านเพ จ.ระยอง จนหลายฝ่ายต้องระดมกันเข้าไปหาทางแก้ไขด่วน

 

จุดเริ่มวิกฤติน้ำมันทะลักออกจากท่อส่ง

ย้อนกลับไปในช่วงเช้าวันที่ 27 กรกฏาคม 2556 เกิดอุบัติเหตุน้ำมันรั่วไหลลงในทะเลอ่าวไทย บริเวณ จ.ระยอง ซึ่งน้ำมันทั้งหมดรั่วไหลออกจากท่อส่งน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้ว กลางทะเล ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ห่างจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ประมาณ 10 ไมล์ทะเล หรือ 18 กิโลเมตร ทำให้น้ำมันดิบไหลทะลักออกสู่ทะเลประมาณ 50-70 ตัน  ลอยกระจายอยู่บนผิวน้ำทะเลกระจายเป็นวงกว้างเป็นระยะทางยาวประมาณ 1.5 ไมล์ทะเล ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงที่มีสภาพอากาศไม่ดี  มีคลื่นลมแรง ทำให้คราบน้ำมันกระจายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามหลังเกิดเหตุ ทัพเรือภาคที่ 1 ส่งเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจ และส่งเรือรบเข้าช่วยเหลือ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของบริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)  โดยใช้วิธีการวางทุ่นกักน้ำมัน ล้อมคราบน้ำมัน และฉีดน้ำยาคุมเพื่อสลายคราบน้ำมัน ไม่ให้กระจายตัวเข้าสู่ชายฝั่ง เบื้องต้นมีการรายงานว่า เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมการรั่วไหลของน้ำมันดิบได้เรียบร้อยแล้ว พร้อมเตรียมสกัดกั้นคราบน้ำมันที่กระจายอยู่ในทะเลอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้คราบทั้งหมดลอยเข้ามายังชายฝั่งจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

หลังเกิดเหตุ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)  หรือ PTTGC ออกแถลงการณ์ฉบับแรก ชี้แจงรายละเอียดระบุว่า เมื่อเวลาประมาณ 06.50 น. วันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ขณะที่เรือบรรทุกน้ำมันกำลังขนถ่ายน้ำมันดิบผ่านทุ่นรับน้ำมันดิบมายังโรงกลั่นน้ำมันของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง ได้เกิดอุบัติเหตุท่อรับน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้ว รั่วที่บริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบ (Single Point Mooring ) STP ที่อยู่ห่างจากฝั่งท่าเรือนิคมอุตาสาหกรรมมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร

ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้บริหารทุ่นรับน้ำมันดิบ (SPM) ได้ปิดวาล์วหยุดการส่งน้ำมันและควบคุมสถานการณ์ทันที เพื่อไม่ให้มีน้ำมันรั่วไหลเพิ่มอีก พร้อมนำทุ่นกักน้ำมัน (Boom) กักคราบน้ำมันไว้และใช้เครื่องมือเก็บคราบน้ำมัน Oil Skimmer เก็บคราบน้ำมันขึ้นไปเก็บในภาชนะบนเรือ สำหรับจำนวนน้ำมันที่รั่วไหลอยู่ระหว่างการตรวจสอบจำนวนที่แน่ชัด หลังจากทราบเหตุทางบริษัทฯ ได้แจ้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทันที คือ ทัพเรือภาคที่ 1 กรมเจ้าท่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้ทราบเบื้องต้นพร้อมเข้าร่วมในการปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมัน

 

เข้าอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ทะเลเป็นสีดำ

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเหตุการณ์กลับไม่ได้เป็นไปตามความคาดการณ์ในเบื้องต้น เพราะพบว่า น้ำมันดิบจำนวนมากได้กระจายตัวตามแรงคลื่นลม เข้าไปยังบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเกาะ คราบน้ำมันที่ทะลักเข้าอ่าวพร้าว ทำให้ทะเลดำเป็นสีดำทั้งหาด ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว นักท่องเที่ยวพากันออกจากรีสอร์ทหลายแห่ง ที่ตั้งอยู่บนหาดแห่งนี้จำต้องปิดให้บริการทันที

นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผวจ.ระยอง เปิดเผยว่า คลื่นลมแรงทำให้คราบน้ำมันซัดข้ามทุ่นที่ล้อมรอบเกาะเสม็ดไว้ โดยทิศทางลมพัดเข้ามาทางเกาะเสม็ด และอ่าวบ้านเพ ก้อนน้ำมันหลุดเข้ามายังบริเวณอ่าวพร้าว อย่างรวดเร็วเป็นคราบหนา จึงประกาศเตือนเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ โดยทางปตท.และทางจังหวัดได้ส่งเจ้าหน้าที่มาเฝ้าสังเกตการณ์ ในขณะที่การฉีดพ่นสารเคมีเพื่อสลายคราบน้ำมัน สามารถกำจัดได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ได้เร่งให้ทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไปมากกว่านี้  ขณะที่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้เตรียมถังพลาสติกความจุถังละ 1 พันลิตร จำนวน 20 ถัง และปั๊มดูดอีกหลายตัวเร่งดูดคราบน้ำมันใส่ถัง

ส่วนคราบบนทรายชายหาดใช้กระดาษฟิล์มซับน้ำมันและพลั่วตักออก กรณีที่น้ำมันเข้ามาสู่ชายหาดเร็ว เกิดจากคราบน้ำมันลอดออกมาทางใต้ทุ่นกักน้ำมัน ที่ล้อมไว้ถึง 2 ชั้น คราบทะลุขึ้นด้านบน โดยคราบน้ำมันดิบเข้ามาหาฝั่งประมาณ 5,000 ลิตร ส่วนที่เหลือจากการเร่งฉีดสารสกัดตั้งแต่เกิดเหตุ พร้อมกับให้ความมั่นใจกับชาวประมงว่า คราบน้ำมันจะไม่กระจายออกไปสู่อ่าวเพ หมู่บ้านชาวประมง เพราะระดมกำลังเข้าดูแลทุกพื้นที่ชายฝั่งต.เพแล้ว และส่งทีมซีเอสอาร์เข้าทำความเข้าใจกับกลุ่มชาวประมง และดูแลแน่นอนแล้ว โดยจะสามารถจะเคลียร์คราบน้ำมันออกจากชายหาดได้แล้วเสร็จ

 

 

รมว.พลังงานสั่งกำจัดภายใน 3 วัน – กระทบท่องเที่ยวแน่ถ้าฟื้นไม่ได้

ต่อมานายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาระบุว่า ได้มอบหมายให้ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่เกิดขึ้นว่ามาจากสาเหตุอะไร และเกิดขึ้นจากจุดไหน เป็นความผิดพลาดที่ตัวบุคคลหรืออุปกรณ์ และมีการป้องกันสถานการณ์ล่าช้าหรือไม่ เพราะกรณีดังกล่าวทราบว่า เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แต่ครั้งนี้มีปริมาณการรั่วไหลมากกว่าที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ยังมอบอำนาจให้นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้สั่งการบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินการต่างๆ ด้วย พร้อมกันนี้ยัง ได้เร่งรัดให้บริษัท ควบคุมสถานการณ์ช่วยเหลือ ดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลโดยเร็ว และต้องควบคุมสถานการณ์การรั่วไหล โดยเร่งกำจัดการปนเปื้อนให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นมีการรายงานว่า สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ตั้งแต่เวลา 22.00 น. วันที่ 28 กรกฎาคม แต่ปรากฏว่าในช่วงเที่ยงคืนมีกลุ่มน้ำมันปนเปื้อนบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด

ขณะที่ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้คาดคิด จะหาสาเหตุ โดยจะรายงานผลให้รมว.พลังงานทราบภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติของท่ออ่อนที่แตกระหว่างขนย้ายน้ำมันนั้นต่ำกว่ามาตรฐานหรือไม่ จะต้องใช้เวลาพิจารณาอีกระยะ ความเสียหายและวงเงินที่จะใช้เยียวยายังไม่สามารถประเมินได้ในขณะนี้ โดยบริษัททำประกันภัยไว้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งขั้นตอนเอาเงินประกันคงจะต้องไปสอบถามฝ่ายบริหาร ว่ามีรายละเอียดครอบคลุมอย่างไรบ้าง ส่วนน้ำมันดิบที่กระจายอยู่ในทะเล มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ และฉีดสารเคมีเพื่อควบคุมไม่มีการปนเปื้อนในทะเลได้ 100 เปอร์เซนต์ ภายใน 3 วัน

อย่างไรก็ตาม นายวิโรจน์ รมเยศ รองประธานหอการค้าระยอง เปิดเผยถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี และถือเป็นครั้งแรกที่น้ำมันรั่วไหลใน จ.ระยอง และกระจายเข้ามายังหาดพร้าว เกาะเสม็ด คาดว่าทำให้พื้นที่ชายหาดได้รับความเสียหาย 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ชายหาดทั้งหมด โดยบริเวณที่คราบน้ำมันถูกคลื่นชัดเข้าชายหาดนั้น เป็นโซนที่มีการประกอบของธุรกิจด้านโรงแรม และรีสอร์ท และคาดว่าปัญหาที่เกิดขึ้น จะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว หากหน่วยงานที่เกี่ยวไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ

 

 

พีทีทีจีซีออกแถลงการณ์ 5 ฉบับ

นอกจากนี้ นับตั้งแต่หลังเกิดเหตุการณ์เป็นต้นมา บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล ได้ออกแถลงการณ์มาแล้ว 5 ฉบับ โดยแต่ฉบับสรุปสถานการณ์ และความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา ซึ่งฉบับที่ 2 วันที่ 27 กรกฏาคม ระบุว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หยุดส่งน้ำมันและควบคุมสถานการณ์ด้วยการปิดวาล์วทันทีเพื่อไม่ให้มีการรั่วเพิ่มแล้ว บริษัทได้ใช้เรือฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน 4 ลำพร้อมน้ำยาขจัดคราบน้ำมันจำนวน 35,000 ลิตร

นอกจากนี้ ยังใช้เรือสนับสนุน 3 ลำ วิ่งวนให้น้ำมันทำปฏิกริยากับน้ำยาขจัดคราบน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ทุ่นกั้นความยาว 200 เมตร เพื่อจำกัดวงการแพร่กระจายของคราบน้ำมัน เพื่อให้ง่ายต่อการขจัดคราบน้ำมัน ในส่วนของทัพเรือภาคที่ 1 ได้สนับสนุนด้วยการใช้เครื่องบินกองทัพเรือบินลาดตระเวนดูทิศทางคราบน้ำมันด้วย ขณะเดียวกันได้ประสานขอคำแนะนำจากหน่วยงานขจัดคราบน้ำมันสากล (Oil Spill Response) ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งขณะนี้กำลังส่งผู้เชี่ยวชาญเดินทางมาให้คำแนะนำโดยทันที

จากปฎิบัติการขจัดคราบน้ำมันที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ และที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งจำนวนเรือและน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน คาดว่าจะสามารถขจัดและเก็บคราบน้ำมันได้ทั้งหมดและยังจัดส่งทีมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำทะเลเพื่อให้มั่นใจว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่มีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง

 

ระบุขจัดได้ 70 เปอร์เซนต์ เหลือในทะเล 5,000 ลิตร

สำหรับแถลงการณ์ฉบับที่ 3 วันที่ 28 กรกฏาคม 2556 ระบุว่า เรือฉีดน้ำยาสลายคราบน้ำมันที่ดำเนินการอยู่ 7 ลำ สามารถขจัดคราบน้ำมันไปได้ 70เปอร์เซนต์ ของจำนวนน้ำมันที่รั่วไหลประมาณ 50 ตัน หรือ 50,000 ลิตร คาดว่า เหลืออีกไม่เกิน 20,000 ลิตร แต่เพื่อให้การขจัดคราบน้ำมันที่เหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นใจว่า จะสามารถขจัดคราบน้ำมันได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกันนี้ได้สั่งให้เครื่องบินขจัดคราบน้ำมันของ บริษัท ออยล์ สปิล เรสปอนส์ จำกัด เดินทางมาจากสิงคโปร์ เพื่อพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมันในเช้าวันที่่ 28 กรกฎาคม 2556 ควบคู่ไปกับการใช้เรือพ่นน้ำยา

วันเดียวกัน ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 4 ระบุว่า เครื่องบินของกองทัพเรือได้บินลาดตระเวณบริเวณที่เกิดเหตุในช่วงเวลาประมาณ 07.35 น. เช้าวันที่ 28 ก.ค.2556 พบว่า ปริมาณคราบน้ำมันมีขนาดเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนของน้ำมันดิบได้ถูกสลายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยส่วนที่เหลือส่วนใหญ่เป็นฟิล์มน้ำมันบาง ๆ เท่านั้น และขณะนี้บริษัทฯ สามารถจำกัดบริเวณให้อยู่ในจุดที่สามารถควบคุมได้ ในขณะที่เรือพ่นน้ำยาสลายคราบน้ำมันยังคงทำการพ่นน้ำยาสลายคราบน้ำมันบนผิวน้ำต่อไป โดยมีเรือของบริษัทฯ ดำเนินการอยู่ 5 ลำ และได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกองทัพเรือ กรมเจ้าท่า บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) อีก 5 ลำ และบริษัท ออยล์ สปิลเรสปอนส์ จำกัด ส่งเครื่องบินพร้อมผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ฉีดน้ำยาสลายคราบน้ำมันเดินทางมาจากประเทศสิงคโปร์ เพื่อประชุมสรุปสถานการณ์ และหากมีความจำเป็นจะดำเนินการฉีดพ่นน้ำยาสลายคราบน้ำมันให้หมด

 

 

ล่าสุดวันที่ 29 กรกฎาคม แถลงการณ์ฉบับที่ 5 ระบุว่า จากการติดตามสถานการณ์และการฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน พบว่า ปริมาณคราบน้ำมันมีปริมาณน้อยลงแล้ว ส่วนน้ำมันดิบได้ถูกสลายอย่างมีประสิทธิภาพเหลืออยู่ประมาณ 5,000 ลิตร ขณะที่เรือพ่นน้ำยาสลายคราบน้ำมันยังทำการพ่นน้ำยาสลายคราบน้ำมันบนผิวน้ำต่อเนื่อง ประกอบด้วย เรือของกองทัพเรือ กรมเจ้าท่า บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ที่ได้ส่งมาช่วยเหลือและทำงานร่วมกับเรือของบริษัทฯ โดยเมื่อเวลา 15.00 น. เครื่องบิน C-130 ของ บริษัท ออยล์ สปิล เรสปอนส์ จำกัด ได้ขึ้นบินจากสนามบินอู่ตะเภา เพื่อทำการฉีดพ่นน้ำยาสลายคราบน้ำมัน

จากนั้น บริษัทฯ จะส่งเรือและเจ้าหน้าที่ไปทำการวางทุ่นดักน้ำมันความยาว 1,200 เมตร ห่างจากชายฝั่งของเกาะเสม็ดประมาณ 1,000 เมตร เพื่อป้องกันกรณีอาจมีคราบน้ำมันหลุดรอดเข้าไปใกล้ชายฝั่งอีกชั้นด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้เครื่องบินของ บริษัท ออยล์ สปิล เรสปอนส์ จำกัด ยังบินวนสำรวจในทะเลเพิ่มเติม หากพบคราบน้ำมันหลงเหลือ จะฉีดพ่นน้ำยาสลายคราบน้ำมันอีก 1 รอบ ขณะที่หน่วย PTT SEAL Group ได้ใช้เครื่องร่อนขนาดเบาบินตามชายฝั่ง เพื่อถ่ายวิดีโอและภาพนิ่งบริเวณเขาแหลมหญ้าและเกาะเสม็ด พร้อมทั้ง ส่งเรือเร็วตรวจการณ์ ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานได้ถ่ายภาพในทะเล แต่ไม่พบคราบน้ำมันตามบริเวณใกล้ชายฝั่งแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้จัดเตรียมบุคลากรกว่า 100 คน เพื่อติดตามและสำรวจตามชายฝั่งบริเวณเขาแหลมหญ้าและเกาะเสม็ด ขณะเดียวกันจะตรวจสอบวิเคราะห์น้ำทะเล และเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำต่าง ๆ มาตรวจสอบต่อไป สร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าการขจัดคราบน้ำมันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลตามที่หลายฝ่ายแสดงความกังวล

 

 

โซเชียลมีเดียซัดผู้บริหารพูดวิธีแก้ปัญหาเหมือนง่าย

อย่างไรก็ตามแม้ว่า บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) จะออกมาแถลงข่าวเป็นขั้นเป็นตอน แต่ทว่าผู้บริหารของบริษัท ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่าง ๆ จนกลายเป็นประเด็นในโซเชียลมีเดีย เช่น กรณี นายพรเทพ บุตรนิพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ วันที่ 29 กรกฎาคม 2556 เวลา 14.00 น. ระบุว่า ขณะนี้ได้ดูดคราบน้ำมันมาใส่ถังและจะนำไปเข้าขบวนการแยกน้ำออกและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ส่วนคราบน้ำมันที่อยู่บริเวณชายหาดจะใช้พลั่วตักขึ้นมาและไล่เก็บไปเรื่อย ๆ จะใช้ผ้าซับน้ำมันแล้วดูดน้ำมันขึ้นมา จะเห็นได้ว่าน้ำมันจะเริ่มจางลงเรื่อย ๆ จากเมื่อเช้าที่ผ่านมามีสีดำเข้ม ส่วนน้ำมันดิบนั้นเป็นสารธรรมชาติ เกิดจากสิ่งที่มีชีวิตหมักหมมเป็นเวลานานแรมปีทำให้โมเลกุลเกาะกันแน่นเกิดการเหนียว พอใส่สารเคมีลงไปจะเกิดการแตกตัวสลายโดยธรรมชาติได้ ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจอะไร

เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยถ้าปล่อยทิ้งไว้ลักษณะแบบนี้จะค่อย ๆ สลายโดยธรรมชาติ แต่ต้องใช้เวลานาน และจะดูไม่สวยงาม ถ้าเรากำจัดโดยรวดเร็วหาดทรายจะกลับคืนสภาพปกติ ผลกระทบจะไม่มี เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติ ส่วนใหญ่คราบน้ำมันจะมารวมกันที่อ่าวพร้าว เพราะเป็นเวิ้ง ส่วนที่จะมีน้ำมันเล็ดลอดไปนั้นเป็นคราบฟิล์มบางๆ เราจะใช้เรือพ่นสารเคมีให้จมลงไปใต้ทะเลแต่น้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่น้ำมันจะอยู่ที่บริเวณอ่าวพร้าว จะให้เจ้าหน้าที่นำบล็อกไม่ให้กลับคืนสู่กลางทะเล ขณะนี้ได้รีบเร่งกำจัดคราบน้ำมันให้โดยเร็ววัน ซึ่งได้รับความร่วมมือมาจากทหารจากกองทัพเรือ 300-600 คนเข้าช่วยกำจัดคราบน้ำมัน จากวันแรกที่รั่วมาประมาณ 50 ตัน เราจัดเก็บไป 70 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 30 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้เรือพ่นสารเคมี และใช้เครื่องบินเพื่อให้ขจัดคราบน้ำมันให้หมดไปโดยเร็ววัน พอเรากำจัดคราบน้ำมันหมดแล้วจะเก็บตัวอย่างของน้ำ ทราย ไปวิเคราะห์ตรวจว่า มีผลกระทบต่อสัตว์น้ำอย่างไร แต่คาดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบเพราะน้ำมันเป็นสิ่งธรรมชาติสามารถย่อยสลายได้แต่ต้องใช้เวลานานเท่านั้นเอง

นอกจากนี้ นายพรเทพ ยังให้สัมภาษณ์อีกครั้งในเนชั่น แชนแนล เวลา 10.05 น. วันที่ 30 กรกฎาคม ระบุว่า สิ่งที่เราเห็นเป็นแผ่นฟิล์มคราบน้ำมัน โดยธรรมชาติเมื่อโดนแสงแดดก็จะระเหยไป ไม่เป็นประเด็น แต่ประเด็นของเราคือคราบน้ำมันดำ จริง ๆ ไม่อันตรายเพียงแต่จะย่อยสลายช้า เราจึงต้องช่วย และคราบนี้่เรากำลังจัดเก็บ ทั้งนี้ที่อ่าวพร้าวฟองคลื่นน้ำทะเลที่เข้ามาวันนี้เป็นฟองขาวหมดแล้ว อีกนิดเดียวก็จะดูดคราบน้ำมันหมด

ส่วนที่ถูกกล่าวหาว่า ปตท. ปกปิดข้อมูลนั้น นายพรเทพยืนยันว่า ไม่มี โดยเฉพาะเรื่องปริมาณน้ำมันที่รั่วออกมา นั้นเราคำนวณจาก ท่อส่งขนาด 16 นิ้ว ที่ยาว 100 เมตร เวลาท่อแตกปั๊มจะหยุดอัตโนมัติ ส่วนที่ลงคือส่วนที่ค้างท่อ เราก็คำนวณปริมาณจากตรงนั้น คือประมาณ 50,000 ลิตร หรือรถขนน้ำมันคันใหญ่ ๆ

 

 

GISTDA เผยภาพถ่ายดาวเทียมน้ำมันกระจายเป็นหย่อมๆ

ขณะที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า จากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วประมาณ 50,000 ลิตร ในทะเล ห่างจากท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 20 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 GISTDA ได้ถ่ายภาพการเคลื่อนที่ของน้ำมัน ด้วยดาวเทียม COSMO-SkyMed-1 เมื่อเวลา 18.23 น. ของวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 เพื่อติดตามสถานการณ์ดังกล่าว จากภาพแสดงให้เห็นถึงคราบน้ำมันที่ผิวหน้าทะเล มีขนาดพื้นที่ประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร ห่างชายฝั่งทะเลประมาณ 1.6 กิโลเมตร โดยคราบน้ำมันที่พบเป็นบริเวณกว้างจะอยู่ทางตอนเหนือของเกาะเสม็ด (วงสีเขียว) และมีทิศทางเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าหาฝั่ง แต่มีลักษณะเป็นเพียงแผ่นฟิล์มบาง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะสลายตัวด้วยกระบวนการธรรมชาติ เช่น แบคทีเรียและแสงอาทิตย์ต่อไป

จากการใช้ข้อมูลภาพดาวเทียมและข้อมูลกระแสน้ำจากสถานีเรดาร์ตรวจวัดคลื่นและกระแสน้ำของ GISTDA คาดว่า วันที่ 30 กรกฎาคม 2556 ในช่วงเช้า ฟิล์มน้ำมันเหล่านี้อาจจะเริ่มเข้าสู่ชายฝั่งในเขตอ.แกลง ประชาชน ผู้ประกอบการ ตลอดจนสถานเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าว จึงควรเตรียมการรับมือโดยงดเล่นน้ำทะเล งดการใช้น้ำทะเลเพื่อการเพาะเลี้ยงและขนย้ายสิ่งของ ที่อาจได้รับความเสียหายจากคราบน้ำมัน รวมทั้งให้ความร่วมมือแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและขจัดคราบน้ำมัน

สำหรับพื้นที่ที่คราบน้ำมันยังมีความหนาแน่นจะเป็นหย่อม ๆ ในอ่าวที่มีลักษณะปิดทางฝั่งตะวันตกของเกาะเสม็ด โดยเฉพาะอ่าวพร้าว (วงสีแดง) ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการขจัดอยู่อย่างรีบด่วน

ทั้งนี้การใช้ดาวเทียมระบบเรดาร์ตรวจวัดคราบน้ำมันนั้น เป็นการวัดความราบเรียบของผิวหน้าทะเลอันเนื่องมาจากแรงตึงผิวที่ลดลงของน้ำทะเล เนื่องมาจากฟิล์มน้ำมัน ดังนั้นแม้จะเป็นเพียงฟิล์มบาง ๆ ดาวเทียมก็สามารถตรวจวัดได้ ซึ่งฟิล์มน้ำมันบาง ๆ นั้นถึงแม้อาจจะไม่ทำให้เกิดอันตรายโดยเฉียบพลันเหมือนคราบน้ำมันที่มีความหนามากๆ แต่ในระยะยาวอาจจะมีผลต่อระบบนิเวศน์ รวมทั้งจะเกิดการสะสมและแปรสภาพเป็นก้อนน้ำมันดิน (Tar Ball) บนหาดในระยะยาวต่อไป

 

 

‘ดร.ธรณ์’ชี้ระบบนิเวศโดนเต็มๆ

ขณะที่หลายฝ่ายแสดงความห่วงใยเรื่องผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ในเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า

            “ดูจากปริมาณน้ำมันดิบที่เข้าหาดตามภาพข่าวแล้ว เยอะนะเนี่ย คำถามที่หลายคนสงสัย ขอตอบตามที่เข้าใจดังนี้ครับ ระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนในตอนนี้ ได้แก่ ระบบนิเวศหาดทรายของอ่าวพร้าว ยาว 600 เมตร คราบน้ำมันจะจับตามตัวสัตว์ทะเลขนาดเล็ก เช่น ปูลม หอย ยังทำให้สัตว์ทะเลที่ฝังอยู่ในทราย ไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ ง่าย ๆ คือหายใจไม่ออก

            ระบบนิเวศที่ได้รับผลต่อไป คือแนวปะการังและหาดหินที่อยู่รอบบริเวณนี้ จะรุนแรงแค่ไหน ดูจากสภาพแล้ว สัตว์ที่เกาะอยู่ตามหิน ไม่สามารถหนีได้ ก็โดนเต็มๆ หรือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตน้ำขึ้นน้ำลง ก็โดนเต็มๆ อีกเช่นกัน ตอนนี้ยังทำความสะอาดเฉพาะหาดทราย จะไปถึงหาดหินหรือเมื่อไหร่ เรื่องนั้นต้องว่ากันต่อแนวปะการังบริเวณนี้จะเป็นอย่างไร แถวนี้เป็นแนวปะการังน้ำตื้น เมื่อน้ำลง อาจเกิดผลกระทบจากน้ำมัน เช่น น้ำมันลงมาโดนปะการัง หายใจไม่ออก ฯลฯ สัตว์เกาะติดพวกนี้จะโดนเหมือนกันหมด”

สัตว์บางประเภทที่สามารถว่ายน้ำหนีได้ เช่น ปลา จะขึ้นกับว่าปลาพวกไหน ปลาการ์ตูนอยู่คู่กับดอกไม้ทะเล ดอกไม้ทะเลหนีไม่ได้ ปลาการ์ตูนก็ไม่ไป แต่ถ้าเป็นปลากระบอกก็อาจว่ายหนีไปที่อื่นได้ ปลาในทะเลจึงขึ้นอยู่กับพฤติกรรม บางชนิดอยู่เฉพาะถิ่นก็อยู่ตรงนั้น ตายตรงนั้นครับ

 

 

ไม่มั่นใจระบบนิเวศฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน

นอกจากนี้ดร.ธรณ์ ยังแสดงความเป็นห่วงต่อการฟื้นตัวของระบบนิเวศว่า ผลกระทบไล่กันมา ตามลำดับของการฟื้นตัว ดังนี้

1.คราบน้ำมันบนหาดทราย คงหมดไปภายในไม่กี่วัน ขึ้นกับว่าเขาช่วยกันตักช่วยกันซับขนาดไหน

2.ระบบนิเวศหาดทราย สัตว์ทั้งหลายที่ตายไปจะฟื้นตัวเมื่อไหร่ แน่นอนว่า นานกว่าการทำความสะอาดหาดเป็นแน่

3.ระบบนิเวศหาดหิน ยังไม่ค่อยมีคนสนใจ การทำความสะอาดจะนานแค่ไหน ก็ต้องตามต่ออีกเช่นกัน ระบบนิเวศพวกนี้อาจฟื้นตัวไล่หลัง หรือพร้อมกับหาดทราย

4.แนวปะการัง แน่นอนว่าถ้าโดนเข้าไป คงฟื้นตัวช้าที่สุด อาจไม่ใช้คำว่าเดือน หน่วยต้องเป็นปีครับ กี่ปีว่ากันไป ต้องดูสภาพและติดตามไปเรื่อย ๆ

5.อย่าลืมระบบนิเวศพื้นท้องทะเลที่น้ำมันลอยผ่านและใช้สารเคมีให้จมตัวลง จะมีมากน้อยอย่างไร ต้องเก็บตัวอย่างน้ำ ตัวอย่างตะกอนดิน แพลงก์ตอน สัตว์หน้าดิน วัดธาตุอาหาร วัดสารปนเปื้อน โอ้...เฉพาะเก็บข้อมูลพวกนี้ทั้งหมดก็ว่ากันเป็นเดือนแล้ว ถึงจะตอบได้ว่าโดนแค่ไหนและจะฟื้นบ้างไหม คงไม่สามารถตอบได้ใน 3 วัน 5 วันหรอกครับ (ตอบเร็วแล้วเป็นไง คงเข้าใจกันอยู่แล้ว)

เพราะฉะนั้น ปัญหาครั้งนี้ หากเอาแค่หายไปจากสายตา คงใช้เวลาไม่กี่วัน แต่ถ้าทำให้ระบบนิเวศทั้งหมดกลับมาอยู่ในสภาพเดิม คงไม่ใช้เวลาเร็วขนาดนั้น และจำเป็นต้องมีข้อมูลประกอบในหลายด้าน ซึ่งตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ทางทะเล มีแนวทางชัดเจนอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำไหมและจะทำแค่ไหน งานนี้ยังรวมถึงการขอข้อมูลจากชาวบ้านเพื่อนำมาประกอบและใช้ประเมินความเสียหาย

            “บทเรียนเป็นคำที่เราเบื่อมาก เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราจะเรียนจบสักที แต่ก็คงบอกได้แค่นี้ ขอให้ถือเป็นบทเรียน และทำทุกอย่างให้ชัดเจน โปร่งใส และตอบคำถามได้อย่างมั่นใจ ด้วยหลักการและข้อมูลสนับสนุนที่เพียงพอครับ” ดร.ธรณ์ ระบุในเฟซบุ๊ค

 

 

คราบน้ำมันกระทบทั้งสิ่งแวดล้อม-ประมง-ท่องเที่ยว

จากฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล เรื่องน้ำมันรั่วไหล (Oil Spill) ของสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่า การรั่วไหลของน้ำมันสามารถเกิดได้ทั้งตามธรรมชาติ เช่น รั่วจากแหล่งน้ำมันใต้ดิน หรือจากการกระทำของมนุษย์ เช่น อุบัติเหตุจากเรือ การขุดเจาะน้ำมัน หรือการลักลอบปล่อยทิ้งสู่แหล่งน้ำ การรั่วไหลส่วนมากมักมีที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์

สำหรับผลกระทบพบว่า น้ำมันที่รั่วไหลสู่แหล่งน้ำจะเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพ ทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ เริ่มจากน้ำมันบางส่วนระเหยไป น้ำมันที่เหลือจะเปลี่ยนสภาพไปตามคุณสมบัติเฉพาะของชนิดน้ำมันนั้น ๆ และปัจจัยต่าง ๆ เช่น แสงแดด กระแสน้ำ อุณหภูมิ ฯลฯ

คราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง และปิดกั้นการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช สาหร่าย และพืชน้ำต่างๆ เปลี่ยนแปลงสภาวะการย่อยสลายของแบคทีเรียในน้ำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดล้วนส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น (ปลา สัตว์หน้าดิน ปะการัง ฯลฯ) รวมถึงนกน้ำด้วย เกิดการสะสมสารพิษในห่วงโซ่อาหารที่เริ่มตั้งแต่ผู้ผลิต (แพลงก์ตอนพืช) ผู้บริโภคขั้นต้น (แพลงก์ตอนสัตว์/ปลา) จนถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้ายซึ่งก็คือมนุษย์

คราบน้ำมันยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประมงและการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง เช่น สัตว์น้ำตายจากคราบน้ำมัน ขาดออกซิเจน ชายหาดสกปรกจากคราบน้ำมัน ทำลายทัศนียภาพ มีกลิ่นเหม็น ไม่เหมาะกับการท่องเที่ยวและพักผ่อน ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจในชุมชนท้องถิ่นและระดับประเทศ  ความรุนแรงของผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหล ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งชนิดของน้ำมัน ปริมาณที่รั่วไหล สภาพภูมิศาสตร์ของบริเวณที่เกิดรั่วไหล กระแสน้ำ กระแสลม การขึ้น-ลงของน้ำทะเล ตลอดจนความหลากหลายและความสมบูรณ์ของทรัพยากรรอบๆบริเวณนั้น

 

 

น้ำมันรั่วไหลเมืองไทยเคยเกิดมาแล้ว 124 ครั้ง

ด้านเหตุการณ์การเกิดน้ำมันรั่วไหลในทะเลไทยที่ผ่านมานั้น กรมควบคุมมลพิษ รายงานว่าในระหว่างปี พ.ศ. 2519 – 2553 เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลที่ได้ดำเนินการตรวจสอบและจัดการแก้ไขร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง 124 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่เป็นการรั่วไหลในปริมาณเล็กน้อย สาเหตุของการรั่วไหลที่พบมากที่สุดคือ

1.อุปกรณ์ที่ใช้ในการเดินเรือ เก็บกัก หรือสูบถ่ายน้ำมันชำรุด

2.รั่วไหลระหว่างการสูบถ่ายน้ำมันกลางทะเลจากเรือขนาดใหญ่ลงสู่เรือขนาดเล็ก หรือระหว่างเรือกับท่าเทียบเรือ

3.การลักลอบทิ้ง เช่น ปล่อยทิ้งน้ำมันชนิดเดิมก่อนบรรทุกน้ำมันชนิดใหม่ หรือลักลอบถ่ายน้ำอับเฉา

4.เรืออับปาง เนื่องจากเรือโดนกัน ชนหินโสโครก/หินฉลาม หรือไฟไหม้

5.สาเหตุอื่นๆ เช่น รั่วไหลจากแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมในทะเล น้ำทิ้งจากฝั่ง หรือรั่วไหลตามธรรมชาติ

โดยในแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ จำแนกปริมาณน้ำมันรั่วไหลเป็น 3 ระดับ (Tier) ได้แก่

1.ระดับที่ 1 (Tier I)   ปริมาณรั่วไหลไม่เกิน 20 ตันลิตร ส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างขนถ่ายน้ำมัน ผู้ที่ทำให้เกิดน้ำมันรั่วไหลต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการขจัดคราบน้ำมัน และ/หรือได้รับความช่วยเหลือจาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต้องแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบก่อน

2.ระดับที่ 2 (Tier II)   รั่วไหลมากกว่า 20 - 1,000 ตันลิตร อาจเกิดจากเรือโดนกัน การขจัดคราบน้ำมันต้องร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ และต้องแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบก่อน หากเกินขีดความสามารถของทรัพยากรที่มี อาจต้องขอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศ

3.ระดับที่ 3 (Tier III)  ปริมาณรั่วไหลมากกว่า 1,000 ตันลิตร อาจเกิดจากอุบัติเหตุที่รุนแรง การขจัดคราบน้ำมันในระดับนี้ต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆในประเทศ และต้องอาศัยความช่วยเหลือระดับนานาชาติ

 

รั่วมากกว่า 20,000 ลิตร มาแล้ว 9 ครั้ง

ขณะเดียวกันจากสถิติกรมเจ้าท่า ระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2553 พบการรั่วไหลของน้ำมันในปริมาณมาก (20,000 ลิตรขึ้นไป) ทั้งสิ้น 9 ครั้ง พบเกิดในทะเลและชายฝั่งท่าเทียบเรือ ส่วนมากพบการรั่วไหลบริเวณท่าเทียบเรือจากอุบัติเหตุระหว่างการขนถ่ายน้ำมัน และจากอุบัติเหตุต่างๆ ดังแสดงในตารางที่ 1

 

 

น่านน้ำไทยเขตเสี่ยงน้ำมันรั่วไหล

ส่วนแหล่งน้ำทะเล สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ ได้จำแนกเขตความเสี่ยงต่อน้ำมันรั่วไหลในน่านน้ำทะเลไทย ตามระดับความเสี่ยงและความรุนแรงต่อการได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหล ออกเป็น 4 เขต ดังนี้ เขตที่ 1 มีความเสี่ยงสูงมาก ได้แก่ บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม มีกิจกรรมการขนถ่ายน้ำมันบริเวณท่าเทียบเรือและกลางทะเล มีการจราจรทางน้ำหนาแน่น

เขตที่ 2 มีความเสียงสูง ได้แก่ บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงท่าเรือคลองเตย เป็นเส้นทางหลักของเรือบรรทุกน้ำมัน เรือสินค้า และเรือโดยสาร อีกทั้งเป็นที่ตั้งคลังน้ำมันหลายแห่งริมฝั่งแม่น้ำ เขตที่ 3 มีความเสี่ยงสูงปานกลาง ฝั่งทะเลอ่าวไทย ได้แก่ อ่าวไทยด้านตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พัทลุง และสงขลา และฝั่งทะเลอันดามัน ครอบคลุมพื้นที่จ.ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล น้ำมันรั่วไหลอาจเกิดจากเรือบรรทุกน้ำมันที่เดินทางเข้าออกช่องแคบมะละกา การขนถ่ายน้ำมัน ท่าเรือน้ำลึก และท่าเรือโดยสาร ฯลฯ เขตที่ 4 มีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ พื้นที่บริเวณฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันนอกเหนือจากที่ระบุไว้ใน 3 เขตข้างต้น

ตารางที่ 2 ระดับความเสี่ยงของพื้นที่ 21 จังหวัดชายฝั่งทะเล ต่อผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหล (สังเคราะห์จากแผนที่เขตความเสี่ยงต่อน้ำมันรั่วไหล)

 

 

โดยรวมแล้วพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำมันรั่วไหลสัมพันธ์กับกิจกรรมทางทะเลในบริเวณนั้นๆ ได้แก่ ท่าเทียบเรือ จำนวนเรือ ชนิดและประเภทของเรือ แหล่งหรือเขตอุตสาหกรรม เส้นทางการสัญจรทางน้ำ และกิจกรรมการขนส่งหรือขนถ่ายสินค้าในทะเล 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา รวมถึงบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมและท่าเทียบเรือจำนวนมาก มีปริมาณการสัญจรทางน้ำ โดยเฉพาะเรือบรรทุกน้ำมันมาก ปัจจัยดังกล่าวทำให้มีความเสี่ยงการเกิดน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล สูงกว่าในบริเวณจังหวัดชายทะเลอื่น ดังตารางที่ 2

บริเวณแหล่งท่องเที่ยวและชุมชม มีความเสี่ยงต่อน้ำมันรั่วไหลลงทะเลลดหลั่นลงไป จากกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล ดำน้ำ เรือสำราญ หรือกิจกรรมการประมงชายฝั่งที่ต้องออกเรือไปทำการประมง และน้ำทิ้งจากบ้านเรือนริมชายฝั่งทะเลที่มีน้ำมันปนเปื้อนอยู่ ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นแหล่งรั่วไหลของน้ำมันลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติทั้งสิ้น

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก ปองพล สารสมัคร หนังสือพิมพ์ The Nation

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: