เวทีน้ำเชียงใหม่เมินฟังเสียง'คนแม่แจ่ม' บีบให้พูดแค่45นาที-ฝ่ายหนุนเขื่อนพรึบ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 31 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1918 ครั้ง

วันที่ 30 ตุลาคม ที่บริเวณศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ในโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยครั้งล่าสุด หลังจากที่ กบอ.ได้ดำเนินการมาแล้วที่ จ.ลำพูน  โดยในการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ยังคงเป็นที่สนใจของประชาชนในพื้นที่เดินทางเข้าร่วมฟังจำนวนมาก ทำให้บรรยากาศโดยทั่วไปเป็นไปอย่างคึกคัก  รายงานข่าวระบุว่า ในการเดินทางเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้  ผู้ที่เข้าร่วมจะต้องลงทะเบียนล่วงหน้ามาก่อน โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก

ปลอดประสพร่วมเวทีประชาพิจารณ์น้ำเชียงใหม่

สำหรับขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นเวที ที่ จ.เชียงใหม่นี้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธาน กบอ.เดินทางมาร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้ขั้นตอนการดำเนินการเป็นไปตามกำหนด คือหลังพิธีเปิดการประชุม ที่ประชุมมีการชี้แจงแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในส่วนของภาพรวมของโครงการ และโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งในจ.เชียงใหม่ ตามแผนงาน Module A1 ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่ขาน และอ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะชี้แจงแนวทางการรับฟังความคิดเห็น สำหรับการประชุมในกลุ่มย่อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครั้งนี้ มีกลุ่มชาวบ้านทั้งที่เห็นด้วย กับการจัดทำโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาเป็นคณะ โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ดำเนินการ จัดการลงทะเบียนล่วงหน้าให้ พร้อมจัดรถรับส่งถึงสถานที่ และกลุ่มที่คัดค้านทั้งชาวบ้านในพื้นที่ กลุ่มองค์กรภาคประชาชน และนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย เดินทางมาร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในระหว่างการเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นพูดในที่ประชุม ต่อแนวทางการสร้างอ่างเก็บน้ำสำคัญ 2 แห่ง คือ  โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขาน และ อ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม

‘ปลอดประสพ’ปิดปาก แต่ยังบอกว่าทั้งหมดคิดมาดีที่สุด

นายปลอดประสพกล่าวว่า ตนคงจะไม่แสดงความคิดเห็นอะไร เพราะพูดเรื่องนี้มาตลอดเป็นปี วันนี้จึงอยากจะมาฟังเพียงอย่างเดียว เพื่อจะนำไปปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสม เรื่องการเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ตนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ยืนยันว่าสิ่งที่กบอ.ได้นำเสนอเป็นฐานตรงกันนั้น มีการศึกษาอย่างรอบด้านแล้ว และเป็นความคิดที่ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องมาประท้วงต่อต้าน หรือมาสนับสนุนเพียงแค่แสดงความคิดเห็นก็ยินดีรับฟังและเปิดกว้าง เพื่อนำไปสู่แนวทางที่เหมาะสมต่อไป

หนุน-ค้าน ผลัดกันแสดงความคิดเห็น

สำหรับประเด็นของการแสดงความคิดเห็นนั้น ในกลุ่มที่สนับสนุนโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ ส่วนใหญ่เห็นว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรมในพื้นที่มากขึ้น ถือว่าจะทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในการทำการเกษตรโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ในขณะที่ฟากของกลุ่มคัดค้านเห็นว่า แม้ว่าการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมกว่านี้ เพราะในการสร้างอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่ง จะสร้างผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างรุนแรง ควรจะมีการศึกษาพื้นที่อื่นที่สามารถรองรับน้ำจากลำน้ำสาขาได้มากกว่า โดยเฉพาะเขื่อนแม่แจ่ม ที่หากก่อสร้างขึ้นจริงจะต้องเกิดปัญหาผลกระทบขึ้นมากมาย ซึ่งมีชาวบ้านกว่า 3,000 คนจะได้รับความเดือดร้อน

            “ที่ผ่านมาไม่เคยมีตัวแทนจากภาครัฐมาชี้แจงเรื่องการสร้างเขื่อนนี้เลย จู่ๆ ก็กำหนดพื้นที่สร้างเขื่อน ซึ่งไม่เพียงกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้ แต่ยังมีโบราณสถานหลายแห่ง ถ้าสร้างเขื่อนจะทำให้น้ำท่วมพื้นที่ 1.2 หมื่นไร่ ส่วนค่าชดเชย หากรัฐบาลจะมีการจ่าย ชาวบ้านไม่ขอรับ” นายอุทัย พายัพธนากร สมาชิก อบต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กล่าวในระหว่างการประชุม

นักศึกษาถูกห้ามร่วมประชุม แต่คนที่มากับผญบ.เข้าได้

อย่างไรก็ตามสำหรับเวทีการรับฟังความคิดเห็น จ.เชียงใหม่ ในครั้งนี้ นับว่าเป็นเวทีหนึ่งที่มีความคึกคักเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกลุ่มคัดค้านที่นอกจากจะเป็นกลุ่มประชาชนในพื้นที่อ.แม่แจ่ม อ.สะเมิง อ.เชียงดาว ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทั้งสองแห่งแล้ว ยังมีกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาใน จ.เชียงใหม่ อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเชียงใหม่ ประมาณ 300 คน ร่วมกันเดินเท้าจากองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมชุมนุม เพื่อรณรงค์ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม ในโครงการของรัฐบาลครั้งนี้ด้วย โดยการรวมตัวจัดกิจกรรมของกลุ่มคัดค้าน ได้เริ่มดำเนินการมาก่อนหน้าการจัดเวทีในวันที่ 30 ต.ค. โดยเมื่อทั้งหมดเดินทางมาถึงสถานที่จัดงาน เจ้าหน้ารักษาความปลอดภัยไม่อนุญาตให้คณะทั้งหมดเข้าไปในที่ประชุม แต่ให้เปลี่ยนเส้นทางไปเข้าอีกประตูหนึ่ง ในขณะที่กลุ่มผู้คัดค้านเห็นว่า เหตุใดกลุ่มชาวบ้านซึ่งเดินทางมาพร้อมกับผู้นำท้องถิ่น กลับได้รับการอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ จึงทำให้หลายคนแสดงความสงสัยในเรื่องนี้

นายเจนภพ ชัยคำ นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เชียงใหม่ กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าคำสั่งดังกล่าวมาจากใคร แต่การเดินเท้ามาอย่างสงบในครั้งนี้ กลับถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ ในขณะที่กลุ่มชาวบ้านที่มาพร้อมกับนักการเมืองท้องถิ่น กลับได้รับการอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี จึงเป็นที่สงสัยว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ อย่างไรก็ตามชาวบ้านที่มากับเรา ต่างก็เข้าใจในเรื่องที่เกิดขึ้น และตั้งใจจะเข้าร่วมรับฟังข้อมูลจากรัฐบาล พร้อมเสนอข้อคัดค้านและข้อคิดเห็นอย่างเต็มที่ พวกเรานักศึกษาจะผลัดกันเข้าไปเป็นกำลังใจให้ชาวบ้าน โดยใครมีเรียนก็เลื่อนเวลาไปก่อน คือ เรียนบ่ายเข้าเช้า เรียนเช้าก็เข้าร่วมกับชาวบ้านภาคบ่าย เพราะที่นี่มีการประชุมตลอดวัน

ขณะที่นายจิรายุ คงแดง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตนและเพื่อนนักศึกษาคิดไว้แล้วว่า จะต้องเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันนี้ คือคนที่มาสนับสนุนจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี แต่ถ้าใครจะมาค้านหรือไม่เห็นด้วยจะถูกกีดกัน แต่ยังหวังเสมอว่า รัฐบาลจะมีแนวทางให้ชาวบ้าน ได้ร่วมเสนอข้อคิดเห็นของตนเองได้ ซึ่งมั่นใจว่าตัวแทนนักศึกษาที่เข้าร่วมจะสามารถอธิบายถึงเหตุผลในการคัดค้านเขื่อนและร่วมรับฟังข้อมูลจากที่ประชุมเพื่อเผยแพร่สู่กลุ่มอื่นๆ ได้

ระบุ 45 นาทีไม่พอต่อการแสดงความคิดเห็น

นางดารนี ชัยเทศน์  ชาวบ้านแม่ซา ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม เปิดเผยผู้สื่อข่าวก่อนเข้าห้องประชุมว่า ชาวบ้านปกาเกอะญอ ส่วนหนึ่งประมาณ 70 คน รู้ล่วงหน้าว่า เวทีจะมีการจำกัดจำนวนคนฟัง จึงได้เตรียมกลุ่มเข้ามาลงทะเบียนเข้าร่วมก่อน แต่เงื่อนไขการรับฟังยังไม่น่าเชื่อถือ คือที่ประชุมกำหนดว่า ให้แต่ละอำเภอนำเสนอความคิดเห็นเพียง 45 นาที โดยตัวแทนบ้านแม่ซา จะนำเสนอเรื่องของผลกระทบด้านป่าไม้ และการป้องกันน้ำท่วมที่ไม่ได้ผลของเขื่อนแม่แจ่ม ตลอดจนเสนอแผนพัฒนาชุมชนด้วยศักยภาพท้องถิ่น และเรียกร้องให้รัฐบาลเคารพสิทธิชุมชน ทั้งนี้ในการเดินทางจากหมู่บ้านมายัง ที่ประชุม ชาวบ้านออกค่าใช้จ่ายเอง โดยร่วมออกเงินคนละ 100-200 บาท เป็นค่ารถและค่าอาหาร เข้ามาร่วมรับฟังทั้ง ๆ ที่รู้ว่า เนื้อหาการประชุมคงเป็นไปในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการเดินทางของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ก็ลำบากมาก ทั้งฝนตก รถติดโคลน อีกทั้งทางก็ไกล ไม่สามารถเดินทางมาได้ทุกครัวเรือน

            “เราคิดว่าการเข้ามาเวทีนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะ 45 นาที ให้คนทั้งอำเภอพูด จะเป็นไปได้ยังไง ไม่มีทางที่ข้อมูลเรื่องผลกระทบจากเขื่อน จะพูดแค่ 45 นาที ทั้งอำเภอ เราบอกเลยว่าเข้าไปก็ทำได้แค่ฟังอย่างเดียว ตัวแทนที่นำเสนอข้อมูลมีแค่เอกสาร กับคำอธิบายนิดเดียว ถึงอย่างไรก็ไม่ยุติธรรมสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ” นางดารนีกล่าว

ยื่นแถลงการณ์คัดค้านให้ผู้ว่าฯเชียงใหม่

ทั้งนี้ในช่วงเช้าเครือข่ายนักศึกษา จ.เชียงใหม่ ได้นำแถลงการณ์ การเปิดเผยข้อเท็จจริงและผลกระทบที่จะได้รับจากการปฏิบัติตาม “โครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” ยื่นให้กับนายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า

ตามที่รัฐบาลได้จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งจัดทำ “โครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย” ทางคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้มีกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบรวมทั้งกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนซึ่งคณะอนุกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (อรป.) ได้จัด “เวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน” ครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 ณ โรงเรียนจักรคำคณาทร จ.ลำพูน โดยการประชุมดังกล่าวทางอรป. ได้มีการนำเสนอข้อมูลในส่วนรายละเอียดโครงการ 9 โมดูล ที่ผ่านการประมูลเรียบร้อยแล้ว เข้าสู่กระบวนการเท่านั้น โดยยังมิได้บอกผลประโยชน์ และผลกระทบต่อประชาชน ในพื้นที่ดำเนินโครงการ

ทางกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาในจ.เชียงใหม่ มีความเห็นว่า ข้อมูลดังกล่าวที่ทางคณะอนุกรรมการฯได้นำเสนอต่อประชาชนนั้น ไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนที่เกี่ยวข้อง กับการจัดทำโครงการสามารถทำความเข้าใจ และยอมรับกับการจัดทำโครงการได้ และด้วยความไม่เข้าใจเช่นว่านี้ อาจส่งผลกระทบที่ร้ายแรงตามมา ทั้งทางด้านภาครัฐและภาคประชาชน

ด้วยเหตุนี้ ทางกลุ่มเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงเรียกร้องให้ทางคณะอนุกรรมการฯ เปิดเผยข้อมูลการจัดทำโครงการเพิ่มเติม ในส่วนต่อไปนี้

เรียกร้องกบอ.จัดทำข้อมูลเพิ่มเติม

1.รายละเอียดในการดำเนินการและพื้นที่ในการจัดทำโครงการฯ ทางคณะกรรมการควรมีข้อมูลที่สามารถระบุพิกัดพื้นที่ในการดำเนินโครงการให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับตน ตลอดจนการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ และการระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการโครงการฯดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนสามารถทราบถึงหน่วยงานที่ควรติดต่อ และรับคำปรึกษาเมื่อเกิดปัญหาหรือผลกระทบจากการดำเนินโครงการฯ

2.ผลกระทบต่อประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำโครงการ มิใช่เพียงบอกเพียงผลประโยชน์ในการจัดการน้ำที่ประชาชนนอกพื้นที่จะได้รับ แต่ควรระบุถึงผลประโยชน์และผลกระทบ ที่ประชาชนในพื้นที่การดำเนินโครงการจะได้รับ ตลอดจนแผนรองรับและการเยียวยาความเสียหายจากการดำเนินโครงการ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการยอมรับการดำเนินโครงการและหาทางแก้ไขปัญหา ที่อาจจะเกิดขึ้น

3.การให้ข้อมูลเอกสารรายละเอียดของโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ควรเป็นภาษาท้องถิ่น เนื่องจากให้หลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ในการดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำเป็นกลุ่มชาติพันธ็ รัฐบาลควรที่จะให้ข้อมูลรายละเอียดเป็นภาษาท้องถิ่นและควรมีการกล่าวรายละเอียดในประเด็นสำคัญเป็นภาษาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในผลกระทบอย่างชัดเจนและทั่วถึงเพื่อประกอบการตัดสินใจ

4.การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งโครงการต่าง ๆ นั้นรัฐบาลควรลงพื้นที่สำรวจ ตรวจสอบบริบทอย่างต่อเนื่อง และมีการทำแบบสอบถาม และการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม รวมทั้งแบบประเมินทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่มีความเป็นธรรม และเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถตอบสนองความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนอย่างสูงสุด

ในนามของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเคารพในระบอบประชาธิปไตย อันประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมและความเสมอภาคในการเข้าถึงข้อมูลและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น แม้ประชาธิปไตยจะยอมรับในความคิดเห็นเสียงส่วนใหญ่ แต่ก็มิควรเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของเสียงส่วนน้อยเช่นกัน

กลุ่มหนุนเขื่อนทนไม่ได้เจอกลุ่มคัดค้านมาร่วมเวที

สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นในช่วงบ่ายมีการแบ่งเวทีกลุ่มย่อย  โดยด้านนอกศูนย์ประชุมฯ มีกลุ่มชาวบ้านจาก อ.แม่แจ่ม แต่งกายด้วยชุดชนเผ่า และเครือข่ายนักศึกษาใน จ.เชียงใหม่ มาคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่แจ่ม สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มชาวบ้านที่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อน โดยมีการปะทะคารมการกันเล็กน้อยระหว่าง 2 กลุ่ม ท่ามกลางการอารักขาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงไม่มีเหตุการณ์บานปลายเกิดขึ้น ทั้งนี้กลุ่มที่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนนั้นมีจำนวนมาก โดยเป็นประชาชนผู้ใช้น้ำที่อยู่นอกเหนือพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนทั้ง 2 แห่ง

นอกจากนี้ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย ของกลุ่มนักอนุรักษ์ โดยต่างพากันตั้งข้อสังเกตการดำเนินการของ กบอ.และวิพากษ์วิจารณ์ถึงการดำเนินการว่าเป็นอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ เช่น  ขั้นตอนการลงทะเบียนผู้เข้าร่วมประชุมล่วงหน้า ซึ่งพบว่ามีการอำนวยความสะดวก โดยมีนักการเมืองท้องถิ่น และบรรดาหัวคะแนนพรรคการเมือง เป็นผู้ดำเนินการให้ทั้งหมด พร้อมจัดรถรับส่ง, รายชื่อผู้เข้าร่วมที่มีจำนวนมาก และการลงชื่อรับค่าพาหนะ ต่างๆ  รวมถึงการจัดให้มีการลุกแสดงความคิดเห็น ที่อาจจะทำให้เกิดการเผชิญหน้าจนกลายเป็นความแตกแยก เป็นต้น

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: