เชื่อพันธุ์ข้าวพื้นบ้านแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารได้ จี้บริษัทยักษ์เลิกผูกขาดเมล็ดพันธุ์

1 พ.ค. 2557


เมื่อวันที่ 28-29 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ยโสธร ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) มูลนิธิชีววิถี องค์กรภาคีจังหวัดยโสธร และโครงการขับเคลื่อนจังหวัดยโสธรสู่จังหวัดน่าอยู่ที่สุด จัดงาน ‘มหกรรมข้าวพื้นบ้าน : ความหลากหลายทางชีวภาพกับความมั่นคงทางอาหาร’ ณ โรงแรมเจ.พี. เอ็มเมอรัลด์ จ.ยโสธร 

ภายในงาน มีการเสวนาวิชาการด้านการเกษตร โดยเฉพาะในประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ที่น่าสนใจ โดยหนึ่งในเวทีเสวนาดังกล่าว มีการร่วมพูดคุยเรื่อง ‘ข้าวพื้นบ้านกับความมั่นคงทางอาหาร มีผู้ร่วมเสวนาหลายท่าน จากหลายสถาบัน ประกอบด้วย รศ.ดร.รัชนี คงคาฉุยฉาย หัวหน้าทีมวิจัยการตรวจโภชนาการข้าว สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล นายดาวเรือง พืชผล เกษตรกรผู้สั่งสมองค์ความรู้และภูมิปัญญาของข้าวพื้นบ้านมานาน ดร.บุญรัตน์ จงดี นักวิชาการอิสระ นายสุบิน ฤทธิ์เย็น จากเครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม และ ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ อาจารย์ อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย เกียรติศักดิ์ ยั่งยืน จากมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)

รศ.ดร.รัชนี คงคาฉุยฉาย ได้กล่าวถึงประเด็นพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องความมั่งคงทางอาหารว่า “ความมั่นคงทางอาหาร หมายถึง การเข้าถึงอาหารที่มีอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภคของประชาชนในประเทศ อาหารมีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมตามความต้องการตามวัยเพื่อมีสุขภาวะที่ดี ฯลฯ” สิ่งที่ ดร.รัชนี ได้มุ่งเน้นเป็นอย่างมากก็คือ ประเด็นเรื่องข้าวปลอดภัย ต่อคำถามที่ว่า ‘ทำไมต้องเป็นข้าว’ ดร.รัชนี กล่าวว่า ‘ประชากรชาวโลกกินข้าวเป็นอาหารหลักมากกว่า 50% สิ่งที่ผู้บริโภคข้าวต้องการก็คือ การได้กินข้าวที่ปลอดภัย แต่ในปัจจุบันนั้น ข้าวที่เรากินค่อนข้างมีคุณค่าทางโภชนาการน้อย ผู้บริโภคส่วนมากเป็นโรคภัยไข้เจ็บอันเกิดจากการบริโภคที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้น สิ่งที่น่าเป็นความท้าทายของผู้ผลิตข้าวก็คือ ทำอย่างไรให้การกินข้าวคือการกินยาป้องกันโรค ประเด็นก็คือ เราจะพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพได้อย่างไรเพื่อให้ตอบสนองต่อผู้บริโภคได้มากที่สุด’

ขณะที่นายดาวเรือง พืชผล ได้กล่าวถึงความสำคัญของ “พันธุกรรมข้าวพื้นบ้านที่ยึดโยงกับความมั่นคงทางอาหาร” ว่า “นิยามของความมั่นคงทางอาหาร คือ สามารถผลิต แลกเปลี่ยน  เข้าถึงทรัพยากรเองได้ มีความอิสระที่จะผลิตและรักษาพันธุ์ได้เองโดยเฉพาะ พันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน” ซึ่งเมื่อถามว่า ทำไมต้องข้าวพื้นบ้าน ดาวเรืองได้ให้ความเห็นว่า เหตุที่ต้องให้ความสำคัญกับพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านก็คือ เนื่องจากข้าวพื้นบ้านมีลักษณะเด่นในด้านต่างๆ 4 ประการหลักๆ คือ

1.       ข้าวพื้นบ้านมีความหลากหลายในเรื่องช่วงอายุ คือ มีระยะเวลาเจริญเติบโตที่ต่างกัน เจริญเติบโตได้ในลักษณะหรือนิเวศน์ที่หลากหลาย เช่น พื้นที่ลุ่ม พื้นที่โคก พื้นที่ทามน้ำท่วม ก็จะเหมาะกับการปลูกข้าวในสายพันธุ์ที่แตกต่างกันไป  

2.       ข้าวพื้นบ้านมีคุณสมบัติด้านคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคตามความชอบของตนเองได้ตามแต่ความชอบ ส่วนผู้ผลิต(ผู้ปลูกหรือเกษตรกร)ก็สามารถเลือกปลูกเพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคที่หลากหลายได้

3.       ในปัจจุบันความแปรปรวนของสภาวะอากาศที่เกิดขึ้นจริง และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกรที่ปลูกข้าวพื้นบ้านหลากหลายสายพันธุ์ จะทำให้เกษตรกรลดความเสี่ยงต่อผลิตได้เป็นอย่างดี

4.       ประการที่ 4 จะเกี่ยวข้องกับการรักษาฐานทางพันธุกรรม เพื่อคัดเลือก ปรับปรุงและผสมพันธุ์ข้าวใหม่เพื่อที่จะรับมือกับสภาวะอากาศที่อาจเปลี่ยนแปลงซึ่งเกษตรกรไม่สามารถคาดเดาได้ เช่น ในอนาคตข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะไม่เหมาะกับสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น การรักษาความหลากหลายของพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านจะทำให้ลดความเสี่ยงต่อความไม่ยั่งยืนทางอาหาร

ด้านนายสุบิน ฤทธิ์เย็น ได้ให้ความเห็นว่าว่า “เมล็ดพันธุ์ คือสิทธิเบื้องต้นของเกษตรกรที่จะเข้าถึง ครอบครอง และปรับปรุงพันธุ์ แต่ถ้าถูกจำกัดหรือฤทธิ์รอนสิทธิในเรื่องดังกล่าวนี้แล้ว ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ การผูกขาดทางพันธุกรรมพืชและสัตว์ เกษตรกรจะเก็บรักษาและขยายพันธุ์ได้น้อยลงเรื่อยๆ ราคาพันธุ์พืชและสัตว์จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้บริโภคจะถูกกำหนดทิศทางการบริโภคตามที่บริษัทขนาดใหญ่ชักจูง”

ซึ่งนอกจากการเสวนาดังกล่าวแล้ว ยังมีการนำเสนอข้อมูลน่าสนใจอื่นๆ อีก อาทิ ประเด็นด้านโภชนาการ ความมั่นคงด้านอาหาร ความสามารถในการปรับตัวต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของอากาศ  ตลาดข้าวทางเลือกของเกษตรกร รวมทั้งการนำเสนออัตลักษณ์และความโดดเด่นของพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน ตลอดจนพันธุกรรมสัตว์และพืชพื้นบ้านชนิดอื่นๆ ผ่านมิติทางวัฒนธรรมและนวัตกรรมใหม่ๆ อีกด้วย ทั้งนี้การจัดการดังกล่าวมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นการสร้างองค์ความรู้ด้านการทำเกษตรกรรมยั่งยืนให้กับผู้เข้าร่วมงาน ให้เห็นความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางอาหารในอนาคตด้วย 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: