โกเมศร์ ทองบุญชู: ผู้ประสบภัยคือผู้รับมือภัยพิบัติที่ดีที่สุด

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 1 ก.ค. 2557


ยามเกิดภัยพิบัติ คุณคิดว่าใครจะเป็นผู้ที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ดีที่สุด โกเมศร์ ทองบุญชู ผู้ประสานงานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติพื้นที่ภาคใต้ ให้คำตอบว่า “คือตัวผู้ประสบภัย”

นับตั้งแต่สึนามิปลายปี 2547 ประเทศไทยเผชิญพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ต่อเนื่องหลายครั้ง โกเมศร์และเครือข่ายค่อยๆ เพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์การรับมือ จนถึงกับสร้างองค์ความรู้การรับมือภัยพิบัติในพื้นที่ภาคใต้โดยการแบ่งภูมินิเวศเป็น 6 ภูมินิเวศตามบริบทของภัยพิบัติในพื้นที่

บทสนทนานี้เกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย ภายหลังเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทิ้งเศษซากความเสียหายในพื้นที่และในใจผู้คน โกเมศร์และเพื่อนพ้องที่เรียกว่าชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว 5 คน จึงเดินทางยังเชียงรายเพื่อใช้ความรู้-ประสบการณ์ที่มีเยียวยาความเสียหาย การสร้างบ้านเป็นคำตอบเบื้องต้น แต่สอดแทรกการสร้างคนในระยะยาว พร้อมกันนั้นมันคือการกระบวนการเก็บเกี่ยวเรียนรู้การรับมือแผ่นดินไหว ภัยธรรมชาติที่สังคมไทยยังรู้จักมันไม่มากพอ

ร่วมค้นหาตะกอนความคิดและประสบการณ์การรับมือภัยพิบัติของคนอาสาฯ เหล่านี้

TCIJ: ทำไมพวกคุณต้องมาไกลถึงเชียงราย

โกเมศร์: วันที่ 5 พฤษภาคมผมประชุมอยู่ ผมไม่ได้ดูข่าวและก็ปิดมือถือ ประชุมเสร็จก็มีคนแจ้งว่ามีแผ่นดินไหวที่เชียงราย หลังจากทราบข่าว ผมแจ้งกับศูนย์ว่า เช้ามืดวันที่ 6 จะไปเชียงราย ถามว่าเรามาทำไม เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นในประเทศไทยเราก็ไปกันทุกที่

เราได้อะไรบ้าง เราได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามศักยภาพที่เรามี ส่วนที่สอง เราต้องการสร้างกระบวนการการเรียนรู้ ซึ่งแผ่นดินไหวก็เป็นเรื่องใหม่ที่เราต้องเรียนรู้ เราเป็นเครือข่ายจัดการภัยพิบัติ แต่เราไม่เคยเจอแผ่นดินไหว ดังนั้น การขึ้นมาเราต้องเกิดกระบวนการเรียนรู้ การจัดการ เราต้องลงพื้นที่ แล้วเราก็ต้องศึกษามากพอสมควรเพื่อจะได้ชุดความรู้หนึ่งที่จะไปคุยกันในวงและพัฒนาศักยภาพคนของเรา สรุปคือได้สองทาง

TCIJ: สิ่งแรกที่คุณทำเมื่อมาถึงเชียงราย

โกเมศร์: พวกเรานั่งรถกันมา 18 ชั่วโมงถึงวัดร่องขุ่น เราใช้เวลา 8 ชั่วโมงในการสำรวจไปทั่ว สำรวจแบบค่อนข้างที่จะไม่มีเป้าหมายชัดเจน เพราะเราไม่ใช่คนพื้นที่ อีกทั้งสถานการณ์ในพื้นที่ยังสับสนวุ่นวาย อาฟเตอร์ช็อกก็ยังมีอยู่ เราสำรวจดูสองเรื่องคือดูอาคารที่ได้รับผลกระทบและพี่น้องที่ประสบภัย สิ่งที่เราค้นพบคือภาพของพี่น้องไม่แตกต่างอะไรเลยกับสึนามิ บางคนร้องไห้ บางคนเหม่อลอย หารอยยิ้มและการพูดคุยยากมาก บางคนมีญาติ แต่ญาติมาเยี่ยมเจอเจ้าของบ้านร้องไห้อยู่ก็ร้องไห้ด้วย พวกเรามาไกลก็อึดอัดใจมาก ไม่รู้จะทำยังไง

ผมก็พยายามประสานเพราะเราเคยอยู่กับภาวะภัยพิบัติ เรารู้ดีว่าสภาพจิตใจสำคัญที่สุด ต้องมีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเรื่องนี้ เราประสานไปทางโรงพยาบาลต่างๆ เขาก็ไม่มีคน เราจึงประสานไปทางมหาวิทยาลัยที่น่าจะมีนักศึกษาบ้างให้ลงพื้นที่ แต่เราก็สับสนเพราะไม่ใช่พื้นที่เรา สรุปคือไม่ได้สักอย่าง มีคนเสนอให้ไปที่ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) และใช้ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุข) แต่ อสม. ก็นั่งร้องไห้อยู่ ไม่รู้จะเอายังไง

เราในฐานะคนที่จะมาช่วยเขา แต่ไม่รู้จะช่วยยังไง เราจึงคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคนที่กำลังเครียดหนัก ชีวิตสับสนมาก มันต้องสร้างกิจกรรมให้เขาทำ แล้วสภาพตอนนั้นเขาก็ไม่มีที่อยู่ ทุกคนหนีออกจากบ้าน เราจึงใช้แนวคิดตอนเกิดสึนามิคือสร้างศูนย์ก่อน ผมจึงหารือกับทีม 5 คนว่า ออกแบบเลย พรุ่งนี้เราจะนำชาวบ้านสร้างบ้านชั่วคราวให้เขาอยู่ก่อน พอคิดเสร็จ ผมอยู่ที่ตำบลทรายขาว เราก็เอาเรื่องทั้งหมดนี้ไปคุยกับพ่อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้าน พ่อหลวงบอกว่าเอาเลยๆ พ่อหลวงนัดผู้ประสบภัยมานั่งคุยกัน ใช้เวลา 1 ชั่วโมงสำหรับการวางแผน ว่าเดี๋ยวเราจะต้องสร้างบ้าน ดึงคนออกจากบ้าน ดึงคนออกจากความเครียด มาแบ่งภาระกิจกัน แบ่งกันทำงาน ทำโรงครัวก่อน คนนี้หาไม้ คนนี้ผูกคา ใช้เวลา 3 วัน สร้างเสร็จ 3 หลัง พี่น้องมากันเต็มเลยร้อยคน เราก็เริ่มได้ยินเสียงหัวเราะบ้างแล้ว เราใช้ประสบการณ์ของทุกคนที่มาสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชาวบ้าน แล้วเราก็เห็นว่าได้ผล แต่ผมก็ต้องกลับไปเมื่อวันที่ 10 เพราะผมมีภาระกิจและบอกกับพี่น้องว่าเราจะกลับมาอีก

พอกลับมาครั้งนี้ เราได้ยินเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม มีร้องไห้ด้วย เพราะคิดว่าผมไม่มาแล้ว เราก็ค้นพบว่าที่ดงมะดะยังมีบ้านผู้เดือดร้อนอยู่ ผมก็เข้ามาสร้างบ้านและเริ่มคุยเรื่องกระบวนการ คุยเรื่องที่เราจะอยู่กันต่อไปอย่างไร เรื่องการสร้างเครือข่าย การรับมือ การอยู่ให้รอดกับภัยพิบัติ

TCIJ: พวกคุณเป็นคนใต้ การทำงานในพื้นที่ภาคเหนือแบบนี้มีช่องว่างวัฒนธรรม ทางภาษา หรืออย่างอื่นหรือเปล่า?

โกเมศร์: ไม่มีเลยครับ มีแต่เสียงนกเสียงกาที่เข้ามาในเฟซผมถามว่าเชียงรายไปช่วยเขาทำไม นี่ระดับด็อกเตอร์นะ ผมก็เลยอัดไปหนักๆ ว่า วิธีคิดแบบนี้แย่มาก คือในองค์กรผมมีทั้ง นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) มีทั้ง กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) วิธีคิดผมไม่เกี่ยว เป็นเรื่องบุคคล เพราะหน้าที่บทบาทของเราคือการจัดการภัยพิบัติ การเรียนรู้ แล้วก็ปฏิบัติ คุณมาที่นี่ คุณจะใส่ธงชาติมา บอกไม่ได้ ความเชื่อเป็นของแต่ละบุคคล แต่เป้าหมายต้องเหนือสิ่งอื่นใด ไม่อย่างนั้น เราก็อยู่ในเครือข่ายไม่ได้

TCIJ: คุณมารับบทบาทด้านการจัดการภัยพิบัติได้อย่างไร

โกเมศร์: เมื่อก่อนผมเป็นคณะกรรมการศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ ศตจ. ที่มีบิ๊กจิ๋ว (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) เป็นประธาน ผมถูกกำหนดให้ดูยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาความยากจนชาติ ทำงานร่วมกับที่สภาพัฒน์ฯ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) ผมก็เป็นภาคชาวบ้าน วันที่เกิดสึนามิ ผมประชุมอยู่ที่รีสอร์ทที่นครนายก ปกติตอนประชุมผมจะปิดเครื่อง แม่บ้านผมอยู่หาดใหญ่โทรมาบอกว่าโรงแรมที่อยู่มันสั่น ผมไม่ได้คิดว่าแผ่นดินไหวหรืออะไร คิดแค่โครงสร้างมันไม่ดี ผมบอกให้วิ่งหนีสุดกู่ไปเลย เขาโทรมาบอกอีกว่าคลื่นข้ามสะพานสารสิน ผมก็เลยปิดโทรศัพท์เลย กำลังประชุมยุ่งอยู่ แบบนี้โกหกแน่ แต่แล้วคุณสมสุข บุญญะปัญญา ผู้อำนวยการ พอช. ตอนนั้น โทรศัพท์ถึงทุกคนบอกให้กลับกรุงเทพฯ ด่วน เกิดสึนามิที่ภูเก็ต

คุณสมสุขบอกว่าผมต้องไปภูเก็ต ไปถึงก็มีคำสั่งให้ผมเป็นผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่บางม่วง เหตุผลเพราะผมเป็นกรรมการ ศตจ. อยู่ตอนนั้น แล้วผมก็ใช้เครือข่ายชาวบ้านที่ทำงานอยู่ 1,800 กว่าชีวิตมาช่วยกัน ทำศูนย์บางม่วงผมอยู่ตลอด สร้างบ้านชั่วคราวที่บางม่วงเป็นชุดบุกเบิก ถามว่าทำไมผมต้องไปที่นั่น ก็เพราะบทบาทหน้าที่ที่เขาสั่งไป กับสองเครือข่ายชาวบ้านที่ทำงานด้วยกันเสียชีวิต 8 คน บ้านก็หายไปเลย ซึ่งเขาเป็นเพื่อนผม เป็นเครือข่ายผม เราทำงานแผนชุมชนกันมาด้วยกัน แล้วผมก็ใช้เวลาอยู่ที่นั่น 1 ปี

TCIJ: หลังจากนั้นคุณจึงเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดตั้งเครือข่ายฯ?

โกเมศร์: เราจัดตั้งเครือข่ายศูนย์จัดการภัยพิบัติพื้นที่ภาคใต้ เป็นเครือข่ายที่ชาวบ้านหลากหลายอาชีพมารวมตัวกัน ผลจากสึนามิปี 2547 เราค้นพบว่าเวลาเกิดภัยพิบัติ คนที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ดีที่สุดคือตัวผู้ประสบภัยเอง ผมเองก็เคยเป็นผู้ประสบภัยมาก่อน สำคัญที่สุดเมื่อเกิดภัยพิบัติ หนึ่งคือต้องสติเราให้มั่นและหาทางออก จะให้คนอื่นมาช่วยเป็นไปไม่ได้ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ นะ เราจะรอนายก อบต. เหรอ ทั้งตำบลมีอยู่คนเดียว รอนายอำเภอ ทั้งอำเภอมีอยู่คนเดียว แบบนี้แล้วเราจะรอใคร ดังนั้น สิ่งสำคัญคือตัวผู้ประสบภัยต้องจัดการตนเอง สอง-ชุมชนต้องรวมตัวกัน เพราะคนเดียวช่วยไม่ได้ ต้องร่วมกัน นี่คือหัวใจ วันนี้ แค่คนเดียวก็ไม่สามารถสร้างบ้านหลังนี้ได้ แต่คนในชุมชนทั้งผู้ประสบภัยและผู้ที่ไม่ประสบภัยใช้วิถีดั้งเดิมที่พึ่งพากัน มาช่วยกัน สามวันก็เสร็จ

ตอนนั้นพวกผมก็เลยชวนเพื่อนที่มีจิตใจคล้ายๆ กันประมาณ 5 คน แต่ใน 5 คน เรากระจายอยู่ทั่วพื้นที่ภาคใต้ ทั้งชุมพร สุราษฎร์ นครศรีธรรมราช และปัตตานี เราบอกว่าจากนี้ไปเราจะคิดอ่านสร้างทีมจัดการภัยพิบัติขึ้น โดยที่ตอนนั้นทุกคนไม่มีความรู้อะไรเลยเรื่องภัยพิบัติ แต่ก็ใช้ประสบการณ์จากการที่เราไปช่วยสึนามิหนึ่งปี

เมื่อรวมตัวกัน ต่างคนก็ต่างมีเพื่อน มีพวก เราจึงถักทอเครือข่ายคนจิตอาสาปลายปี 2548 เป็นเครือข่ายที่จับมือกันหลวมๆ นั่งคุยกัน ปรึกษาหารือกัน ไม่ได้ทำอะไร เราก็เริ่มคิดว่าเครือข่ายต้องมีทุน เราก็ไปบุกเบิกนาร้างที่อยู่ในลุ่มน้ำควนเคร็ง เขตลุ่มน้ำปากพนัง โดยประสานกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยว่าเราขอพื้นที่ทำนา เพื่อเก็บผลผลิตไว้ช่วยเหลือพี่น้อง ปีนั้นเราประสบความสำเร็จได้ข้าวประมาณร้อยกว่าตัน เป็นการก่อตั้งที่มีทุนของเครือข่าย พอปลายปี 2548 เราเจอมหาอุทกภัยตั้งแต่นครศรีธรรมราชถึงปัตตานี เราก็ได้เอาข้าวเหล่านั้นช่วยกัน

จากนั้นมาเราก็เจอภัยธรรมชาติมาตลอด ปี 2548 น้ำท่วมใหญ่ฝั่งอ่าวไทย ปี 2550 ดินถล่มพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พวกเราก็ขึ้นมาอยู่เกือบเดือน ปี 2551 กลับไปที่หาดใหญ่ ปี 2553 โคราชน้ำท่วมหนัก เราก็ส่งทีมไปอยู่ประมาณ 20 วัน ปี 2554 น้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศ จากบทเรียนเหล่านี้เราก็คิดว่ากระบวนการที่ผ่านมา เราสร้างคนไปช่วยเขาอย่างเดียว จนในที่สุดทาง สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) เข้ามาสนับสนุนโครงการการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่นก็คือโครงการพัฒนาระบบและโครงข่ายการจัดการภัยพิบัติพื้นที่ภาคใต้ ให้มีระบบการเรียนรู้ มีหลักสูตรการฝึกอาสาสมัคร ระยะของโครงการ 3 ปี

TCIJ: ที่ว่าฝึกอาสาสมัครต้องฝึกอะไรกันบ้าง

โกเมศร์: อาสาสมัครเราฝึกหนักนะครับ ว่ายน้ำ 500 เมตร นอนในทะเล 1 คืน ต้องลอยคออยู่ให้ได้ เราเริ่มจากปี 2554 เริ่มพัฒนาอาสาสมัครในระดับพื้นที่ แล้วให้อาสาสมัครไปสำรวจว่าในตำบลของเขาพื้นที่เสี่ยงภัยอยู่ตรงไหน และมีภัยอะไรบ้าง แล้วก็ทำแผนที่ทำมือว่าบ้านที่เสี่ยงภัยอยู่ตรงไหน บ้านเลขที่เท่าไหร่ สมาชิกกี่คน เพราะฉะนั้นเราก็จะบอกได้ว่าถ้าน้ำท่วมจะมาทางไหน ถูกบ้านใครบ้าง สะพานจะขาดตรงไหน เมื่อเราได้ข้อมูลแบบนี้ เราก็มาทำแผนจัดการภัยพิบัติ ถ้าน้ำท่วมเรารู้เลยว่าศูนย์อพยพจะวางไว้ตรงไหน จุดเฝ้าระวังภัยจะอยู่ตรงไหน ลานจอดเฮลิคอปเตอร์จะสร้างตรงไหนถ้าเกิดดินถล่ม เราก็ทำเป็นแผนในระดับพื้นที่ พัฒนาอาสาสมัครได้ 1,400 กว่าคนที่ภาคใต้ ในจำนวนนี้เรามีชุดที่เรียกว่า ชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว 100 คน ชุดนี้มีศักยภาพสูงที่จะสามารถไปช่วยภัยได้ทุกชนิดและสามารถเดินทางได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุ สามารถใช้เครื่องมือเป็น

เรายังแบ่งพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคใต้เป็น 6 ภูมินิเวศ ได้แก่ ภูมินิเวศลุ่มน้ำหลังสวนซึ่งน้ำท่วมบ่อย จังหวัดชุมพร ภูมินิเวศเทือกเขาสก สุราษฎร์ธานี พื้นที่นี้เสี่ยงกับภาวะดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก ภูมินิเวศเทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง ภูมินิเวศลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ภูมินิเวศป่าพรุควนเคร็ง และภูมินิเวศลุ่มน้ำปากพนัง นครศรีธรรมราช

TCIJ: ทำไมจึงต้องแบ่งพื้นที่ภาคใต้ออกเป็น 6 ภูมินิเวศ

โกเมศร์: เมื่อก่อนคนที่ทำตรงนี้มีกันอยู่หกเจ็ดคนหลัก แล้วบ้านเขาอยู่ในบริเวณนั้น ภัยมันไม่เหมือนกัน พวกที่อยู่ทะเลสาบไม่ต้องกลัวดินถล่ม แต่ต้องเจอพายุ น้ำท่วม ส่วนพวกที่อยู่บนเขาเจอแผ่นดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก พวกเราก็รู้ว่าทุกพื้นที่มันเสี่ยงทั้งนั้น จึงรวมตัวกัน แต่ต้องฝึกรับมือทุกภัยพิบัติ เหตุผลที่เรามีแต่ละภูมินิเวศ เพราะเวลาเกิดภัยใหญ่ๆ มันเกิดเต็มพื้นที่ เราไม่สามารถใช้คนในพื้นที่ช่วยเหลือกันเองได้ เพราะฉะนั้นเราต้องไปสร้างพวก สร้างเพื่อนไว้ช่วยเหลือกันและกัน

TCIJ: หมายความว่าคนในแต่ละพื้นที่ต้องมีความรู้ด้านการจัดการภัยพิบัติของภูมินิเวศอื่นๆ ด้วย

โกเมศร์: ใช่ครับ เราต้องฝึกร่วมกัน อาสาสมัครทั้ง 6 พื้นที่ต้องฝึกเหมือนกัน คุณอยู่บนเขาก็ต้องขับเรือเป็น เพราะเวลาไปช่วยเพื่อนคุณต้องขับเรือไปช่วยเขา คนที่อยู่กับทะเลก็ต้องโรยตัวเป็นสำหรับเวลาไปช่วยเพื่อนบนเขา เรามีระบบสื่อสาร เรามี ว.แดง ขึ้นเสาทาวเวอร์คุยกันได้หมด นั่นคือภาพที่เราทำ

TCIJ: แล้วพื้นที่แถบลุ่มน้ำแถวปัตตานีหรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำไมจึงไม่เป็นหนึ่งในภูมินิเวศภาคใต้

โกเมศร์: ลุ่มน้ำปัตตานีเราก็มีเครือข่ายของเราอยู่ เราเรียกว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรามีพื้นที่ทำงานอยู่ 18 ตำบล มีศูนย์ประสานงานอยู่ แต่ตอนหลังเกิดระเบิดห่างไปร้อยเมตร เราก็หยุด แต่สร้างอาสาสมัครไว้ประมาณ 300 กว่าคนที่ปัตตานี แต่เราไม่เรียกลุ่มน้ำปัตตานี เพราะเราทำงานทั้งนราธิวาสและยะลาด้วย ทางนั้นจะบริหารกันเอง เราเป็นเครือข่าย เริ่มต้นผมไปช่วย แต่การไปช่วยพื้นที่นั้นก็คงเข้าใจอยู่ ตอนหลังเราจึงออกมาและให้เขารวมตัวกัน เวลาเกิดเหตุเราก็ระดมไปช่วยกัน อย่างตอนเกิดเหตุดินถล่ม ทหารไม่กล้าขึ้นไปเอาศพ 6 ศพ ชุดผมขึ้นไปเอา เอารถทหารนี่แหละ แต่เปิดประตูให้เขาเห็นว่า เราไม่ใช่ทหาร นี่คือภาพของขบวนการขับเคลื่อนที่เรามีอยู่

TCIJ: เวลาพวกคุณต้องปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นหรือเปล่า

โกเมศร์: 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมไปทำงานอยู่ปีกว่า ไปกันสามครั้ง ทุกครั้งเราก็กลัวนะ กลัวมากๆ ด้วย ผมไปเจอมาทั้งนั้นแหละ ผมไปตาเนาะปูเต๊ บันนังสะตา ไปถึงโต๊ะอิหม่ามพารถเราไปติดหล่ม ท่านพาคนมาช่วยก็ไม่ขึ้น พระมาก็ไม่ขึ้น อีกพวกสะพายอาก้ามาช่วยถึงจะขึ้น สำคัญที่สุด หนึ่ง-เราต้องไม่ยุ่งการเมือง ไม่ว่าที่ไหน ผมไม่สนใจการเมือง สอง-ทำงานสามจังหวัด ผมรู้จักกับนายทหารระดับสูง ท่านเหล่านั้นจะไปหาเพราะเป็นห่วง ผมบอกว่าเราค่อยไปเจอกันที่สนามบินเถอะ พี่ไม่ต้องมาหาผม บางครั้งเราต้องรู้จักกับคนในขบวนการ ผมมีน้องคนหนึ่งเป็นผู้หญิงจบหลักสูตรการก่อวินาศกรรมชั้นสูงจากซีเรีย เมื่อก่อนเขาก็ไม่บอก รู้จักกัน ไปช่วยกัน จนตอนหลังเขาบอก เขาพาเราไปได้หมด ไม่มีใครยุ่งกับเราเลย

เวลาเกิดภัยพิบัติคงแยกเขา แยกเราไม่ได้ เหมือนที่ปะการะฮังห่างจากปัตตานีไปสิบกว่ากิโลเอง น้ำท่วมทหารไม่เคยเข้า พวกผมต้องเข้า ผมคิดว่าภาพเหล่านี้ ไม่ว่าชาวบ้านหรือขบวนการเขาเห็นว่า เราไม่มีเจตนาอะไร เราไปช่วย ทุกคนได้รับผลกระทบหมด การช่วยเราไม่ได้หวังอะไร เราไม่มีการเมือง ไม่มีศาสนามาเกี่ยวข้อง เราช่วยอย่างเดียว ช่วยเสร็จ ภาระกิจจบคือความภาคภูมิใจของเรา

TCIJ: ที่เชียงราย พวกคุณมากันกี่คน

โกเมศร์: ผมมารอบละ 5 คน สลับกัน เที่ยวนี้ผมต้องการเก็บข้อมูลเยอะ น้องที่ทำหน้าที่ในเชิงวิชาการก็มาด้วย ประกอบกับบทเรียนครั้งที่แล้ว เราพบว่าชาวบ้านมีความรู้งานช่าง เราไม่จำเป็นต้องพาช่างมา แล้วเราให้อิสระชาวบ้านว่ากันไปเลย

TCIJ: งานวิชาการแบบไหน?

โกเมศร์: คือเก็บข้อมูลที่เราจะนำกลับไปใช้ได้ เช่น ลงดูว่าบ้านหลังนี้โครงสร้างอะไรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด น้องเขาจะดูหมด บ้านสองหลังติดกัน ทำไมกระเบื้องหลังนี้แตก แต่อีกหลังไม่แตก เราจะเปรียบเทียบดู เราต้องดูว่าเสาคอนกรีตที่พังข้างในเป็นเหล็กขนาดกี่หุน เราต้องรู้ก่อน จริงๆ แล้วเราคิดว่าจะสร้างบ้านตัวอย่างสำหรับผู้ประสบภัยสักหนึ่งหลังเป็นบ้านถาวร ซึ่งเราร่วมออกแบบแล้ว แต่เรายังต้องดูอีกเยอะ นี่มันเป็นบ้านชั่วคราวซึ่งเราออกแบบร่วมกัน ใช้วัสดุที่สามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้ ต้นทุนต่ำ หลังจากนี้จะไปออกแบบบ้านสักหลังหนึ่ง

TCIJ: เวลาพูดถึงการออกแบบบ้านเพื่อรับมือแผ่นดินไหว จำเป็นต้องอาศัยความรู้เชิงวิศวะกรรมหรือเปล่า

โกเมศร์: เราสร้างบ้านในชุมชน เราไม่ได้สร้างอาคารใหญ่ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ว่า แผ่นดินไหวไม่ใช่พายุที่จะซัดอาคารพัง อย่างดีแผ่นดินมันก็ทรุดลง แล้วโครงสร้างที่เป็นคอนกรีตมันมีความยืดหยุ่นน้อย มันจะไปก่อน โครงสร้างไม้จะอยู่ได้ ผมจบเกษตร ไม่มีความรู้ แต่เราชวนน้องๆ ที่จบวิศวะมาคุย มีคนเสนอให้ใช้บ้านที่ออกแบบกับน้ำท่วมมาใช้ที่มีเสาคอนกรีตสูงๆ แบบนั้นผมก็ไม่เชื่อว่าให้วิศวะรับรองแล้วจะอยู่ได้

แต่เวลาเราออกแบบ เราออกแบบภายใต้ภูมิปัญญา ผมไปบาหลี ที่นั่นเขาสร้างบ้านจากไม้ไผ่ แล้วไปดูญี่ปุ่นสิ บ้านเขาใช้กระดาษชานอ้อยผสมกับยางมะตอยเป็นตัวอัดไม้อัด เบื้องต้นเราคุยกันว่าจะใช้ตอม่อขนาดหนึ่งเมตรเป็นคอนกรีต ต่อขึ้นมาจะเป็นเสาไม้ แต่ระหว่างเสาไม้เราจะใส่ยางประกับคล้ายตอม่อสะพาน เราผลักได้เอียงสัก 20 องศา ไม่หัก เราทดลองมาแล้ว แต่ที่รองตอม่อเราต้องอัดทรายลงไปก่อน แล้วเราเอากระดาษชานอ้อยผสมยางมะตอยรองสัก 3 นิ้ว ตอม่อก็ยังไม่ไป อันนี้เราคิดแบบไม่มีหลักวิชาการเลย เพราะว่าไม่ได้เอาหลักวิชาการมาคิด แต่คิดจากหลักที่เป็นไปได้ เราก็เริ่มแน่ใจ

กระเบื้องทั่วไปใช้ไม่ได้เลยเพราะมันรับน้ำหนักเยอะ แล้วเราต้องใช้กระเบื้องแต่มีรองยาง โครงสร้างเราใช้ไม้ มันยืดหยุ่นได้ เพราะเราดูบ้านทุกหลังเลยนะครับ บ้านไม้ไม่มีปัญหาเลย แต่ตอนนี้แบบบ้านยังไม่เสร็จ เพราะตอนนี้เราได้รับคำเตือนจาก ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ว่า อย่าเพิ่งสร้าง เพราะมันยังมีอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายรอบ อาฟเตอร์ช็อกแต่ละครั้งมีสองด้าน คือสะสมพลังงานกับคลายพลังงาน เพราะฉะนั้นต้องรอประมาณสี่ถึงหกเดือน ถ้ามันสะสมพลังงานแล้วขยับอีก มันจะใหญ่กว่านี้

TCIJ: ความรู้ในด้านการจัดการภัยพิบัติแผ่นดินไหว พวกคุณค้นพบอะไรบ้าง

โกเมศร์: ผมคิดว่า สิ่งแรกเลย แผ่นดินไหวจะส่งผลกระทบต่อสิ่งก่อสร้างบ้านเรือนเยอะที่สุด ส่วนที่ 2 เรื่องจิตใจนี่แน่นอนเพราะเขาไม่เคยเจอ แต่ไม่ว่าจะภัยพิบัติอะไรก็กระทบจิตใจเหมือนกันหมด การที่เราจะแก้หรือรื้อฟื้นจิตใจคงใช้กระบวนการชุดเดียวกันได้ แตกต่างกันก็คงไม่มาก แต่งานก่อสร้างเราได้แล้ว เราพบแล้วว่าทำไมพี่น้องที่นี่บ้านถึงพังเยอะ เพราะเขาซื้อเสาคอนกรีตหล่อสำเร็จจากร้าน ซึ่งร้านพวกนี้จะใส่เหล็กน้อยมาก

ส่วนที่ 2 คนที่นี่ต้องเก็บเงินไว้สร้างบ้าน หล่อเสาไว้สามสี่ปี พอได้ไม้มาก็ค่อยๆ ขึ้น แต่พอใส่เหล็กไว้นาน เหล็กมันขึ้นสนิม แล้วค่อยเอาคอนกรีตมาใส่ เมื่อเหล็กเป็นสนิม มันก็ขยายตัว เพราะฉะนั้นเหล็กกับคอนกรีตมันแยกกัน เสามันก็แตก ส่วนต่อมา โครงสร้างบ้านที่นี้ไม่แข็งแรงเหมือนกับทางปักษ์ใต้ สิ่งที่จำเป็นที่สุดจากนี้ไปผมคิดว่าต้องเปลี่ยนพฤติกรรมคน ผมพยายามบอกชาวบ้านว่า มีบ้านราคาล้านกว่าอยู่ แต่เสี่ยงตาย กับอยู่กระต๊อบคุณจะเอาอะไร ถ้าคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของฐานะ ผมก็พูดตลกๆ ว่าอยู่กระต๊อบ แต่ขี่แคมรี่ก็ได้ เขาก็หัวเราะกันใหญ่

งานใหญ่หลังจากนี้คือรื้อบ้าน ต้องใช้หลักวิศวกร ต้องใช้เครื่องมือขนาดเล็ก เครื่องมือที่หน่วยงานต่างๆ ส่งมาใช้ไม่ได้ รถแบ็คโฮตัวใหญ่เข้าไม่ได้ ถ้ารื้อวัสดุเหล่านี้พังหมด เพราะบ้านมันเก่าแล้ว มีทางเดียวต้องลดแล้วสร้างตอม่อใหม่ ต้องใช้เทคนิค นับร้อยนับพันหลัง ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ นี่เป็นเรื่องยาก

TCIJ: กลวิธีป้องกันตนหรือเอาตัวรอดเองจากแผ่นดินไหว?

โกเมศร์: เราก็ได้คุยกันนะ ผมถาม เพราะเราก็ไม่ได้เจอ ทุกคนก้าวขาไม่ออก วิ่งไม่ได้ ซุกอย่างเดียว ลูกหลานต้องไปลากกันออกมา โดยเฉพาะผู้หญิงและผู้สูงอายุ ทุกวัน เวลาเรากินข้าว สร้างบ้านเสร็จ เราก็นั่งคุยกันเรื่องการหลบหนี บางคนพอแผ่นดินไหวก็วิ่งซุกเข้าไปในบ้านเลย อันตราย ต้องวิ่งออกจากบ้านไปหาที่โล่ง เราก็บอกเลยว่าถ้าบ้านลักษณะแบบนี้ต้องวิ่งไปทางไหน เพราะสภาพบ้านถ้าเกิดแผ่นดินไหวมันยุบตัว เพราะฉะนั้นเราต้องหนีออกจากโครงสร้างที่เป็นคอนกรีตและออกไปที่โล่ง มันก็รอดแล้ว เพราะแผ่นดินไหวไม่ได้ทำให้แผ่นดินแยกออกใหญ่โตแล้วก็ตกลงไป ดังนั้น เขาต้องตั้งสติ และสำคัญที่สุดมันไม่มีสัญญาณเตือน มันมาเลย ดังนั้น คนต้องตื่นตัวตลอดเวลา ต้องใส่ความรู้เขา เขาก็สามารถอยู่ได้

วันนี้สิ่งที่ผมอยากเห็นและอยากให้เกิดที่นี่คือต้องหยุดแนวคิดเรื่องความโศกเศร้า แล้วกลับมาทำกิจกรรม สร้างบ้าน สร้างอาชีพเสริม สร้างเครือข่ายอาสามาช่วยกัน ถ้ามันจะมาอีก เราปฏิเสธมันไม่ได้ แต่เราสามารถทำให้เราเสียหายน้อยที่สุดและสามารถฟื้นฟูด้วยตัวของพวกเราเองให้ได้มากที่สุด เราก็ใส่ความคิดแบบนี้ วันนี้จึงเกิดการชักชวนให้มาช่วยกันสร้างบ้าน เราเห็นงานจิตอาสาเกิดขึ้น แม่บ้านก็มาทำกับข้าว

ผมคุยกับทีมโรงพยาบาลเชียงรายว่า ตลาดปลอดสารยังมีอยู่มั้ย ว่ากันด้วยเรื่องสุขภาพ แม่บ้านจะได้ปลูกผักปลอดสาร ปลูกเพื่อกิน เพื่อขาย กิน แจก แลก ขาย แทนที่เราจะนั่งเศร้าสร้อยดูหลังคาบ้าน เอาเวลามาทำตรงนี้ ร่วมทำกิจกรรมกัน ได้พูดคุยกัน นี่เป็นงานใหญ่ที่เราคิดไว้แล้ว คุยไว้แล้ว แต่ก็กำลังติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เรื่องเมล็ดพันธุ์ เรื่องเทคนิคการปลูกจะเอาอย่างไร

ส่วนคนหนุ่มสาว ผมก็บอกว่าตอนนี้เราต้องเรียนรู้เรื่องการสร้างเครือข่าย ลงแรงกัน แล้วสุดท้ายเพื่อนก็จะมาช่วยเรา ให้เกิดพลังตรงนี้ขึ้นให้ได้ ชุมชนก็จะเริ่มกลับมา รอยยิ้มจะกลับมา เสียงหัวเราะจะได้ยินอีกครั้ง พวกที่มาสร้างบ้านนี่ก็เป็นผู้ประสบภัย แต่ก่อนไม่ทำอะไร คุยก็ไม่ยอมคุยด้วย พูดอย่างเดียวว่าบ้านผมสร้างมายี่สิบปี สะสมเงินจากขายข้าวปีละเท่านั้นๆ ทุกบ้านจะมีเสียงแบบนี้หมด แต่พอเขามาสร้างบ้าน เขาลืม พูดคุยตลกกันบ้าง อะไรกันบ้าง

ผมต้องการให้งานสร้างบ้านนี่สร้างคน เราไม่ต้องการสร้างบ้านให้ แต่เราต้องการใช้บ้านเป็นเครื่องมือสร้างคน สร้างจิตใจให้เขากลับมาเข้มแข็งมากกว่าเดิม หลังจากนี้เราจะร่วมกันปลูกป่า ผมบอกว่าต่อนี้ไปถ้าแผ่นดินไหวอีกเราไม่กลัว ไม้ไผ่เราไม่ต้องซื้อแล้ว จะปลูกไว้หัวไร่ปลายนา คนก็เห็นชอบหมด ที่ดินสาธารณะมีก็ปลูก ทุกคนอยากทำ ผมคิดว่าบนวิกฤต มันต้องมีโอกาส

TCIJ: สรุปคืองานต่อจากนี้คือการสร้างเครือข่าย

โกเมศร์: ครับ แต่ผมไม่เร่งให้เขาสร้าง ให้เขาสร้างกันเอง ถ้าเขาพร้อม เราก็ช่วยหนุนเสริม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: