วอนยืดอายุแรงงานตปท. หลังหมดสัญญา4ปีทั่วปท.

1 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1675 ครั้ง

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ น.ส.ปรีดา ทองชุมนุม ผู้ประสานงานด้านสิทธิแรงงาน เครือข่ายประชากรข้ามชาติ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง นายกรัฐมนตรี รมว.แรงงาน อธิบดีกรมจัดหางาน เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุถึงแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติซึ่งครบกำหนดวาระการจ้างงาน 4 ปี ว่า อ้างถึง หนังสือ กรมการจัดหางาน เลขที่ รง 0307/4936  ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 ตามที่กรมการจัดหางาน ออกหนังสือด่วน เลขที่ รง 0307/4936  ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 เรื่อง การดำเนินการกับแรงงานเมียนมาที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติซึ่งจะครบกำหนดวาระการจ้างงาน 4 ปี ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และผู้อำนวยการสำนักจัดหางานกรุงเทพ เขตพื้นที่ 1-10 เพื่อดำเนินการตามแนวทางที่กรมฯ กำหนดไว้ นั้น

เครือข่ายประชากรข้ามชาติ มีความยินดีต่อความมุ่งมั่นของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ โดยเฉพาะความสำเร็จในเรื่องการปรับสถานะแรงงานข้ามชาติให้กลายเป็นแรงงานที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย แต่อย่างไรก็ดี สถานการณ์ด้านการเมืองที่ไม่ปกติ นับตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2556 เป็นต้นมา ส่งผลต่อการชะงักงันในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานและครบกำหนดวาระ 4 ปี

จากการประเมินสถานการณ์ดังกล่าว เครือข่ายฯ ขอเรียนว่า การจัดทำมาตรการการแก้ไขปัญหากรณีแรงงานข้ามชาติที่ครบกำหนดวาระ 4 ปีอย่างรอบด้านถือเป็นกรณีเร่งด่วนและสำคัญ เนื่องจาก

1.มาตรการดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉียบพลันโดยเฉพาะในภาคการผลิตที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ ภาคอุตสาหกรรมประมงทะเลต่อเนื่อง ภาคการก่อสร้าง ที่มีการจ้างงานแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมาก และแรงงานเหล่านั้นส่วนใหญ่ ได้ทำงานในประเทศไทยครบกำหนดวาระ 4 ปี ซึ่งการขาดแคลนแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ในขณะที่ไม่สามารถจ้างแรงงานคนชาติมาแทนที่ได้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2.มาตรการดังกล่าวจะเป็นหลักประกันที่สำคัญ ในความต่อเนื่องและชัดเจนในนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์พื้นฐาน และความพยายามของรัฐบาล ที่ผ่านมาในการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมือง และส่งเสริมการมีสถานภาพทางกฎหมายของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน

เพื่อให้แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีแรงงานครบกำหนดวาระ 4 ปี สอดคล้องต่อสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เครือข่ายฯ ขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่เพิ่มเติม เพื่อขอให้ท่านร่วมกับกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจักได้พิจารณาทบทวนแก้ไขแนวทางดำเนินการฯ ให้เหมาะสม ดังต่อไปนี้

1.เสนอให้คณะรัฐมนตรีชุดรักษาการ พิจารณาออกมติคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต สามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ถูกจับกุมดำเนินคดีระหว่างการเดินทาง เพื่อให้การนำเข้าแรงงานข้ามชาติที่มีสถานภาพถูกต้องตามกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ระยะเวลาการผ่อนผันให้เป็นไปตามระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีชุดรักษาการสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ อาทิ ให้มีการผ่อนผันโดยมีกำหนดระยะเวลา 3-6เดือนนับจากวันที่มีมติที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี เป็นต้น

2.เสนอให้รัฐบาลพิจารณานำมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เพื่อเป็นช่องทางอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต สามารถอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราว ในกรณีมีข้อจำกัดตามข้อ 1

3.เสนอให้ รัฐบาลหารือกับรัฐบาลประเทศต้นทาง เพื่อร่วมทบทวนหลักการการนำเข้าแรงงานข้ามชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (MOU) โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของทั้งสองประเทศ ได้แก่

3.1 การร่วมหารือให้มีการผ่อนผันให้ใช้หนังสือเดินทางแบบชั่วคราว เพื่อการนำเข้าแรงงานข้ามชาติฯ เพือบรรเทาผลกระทบในเบื้องต้น โดยให้หนังสือเดินทางดังกล่าวมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ซึ่งระหว่างการจ้างงานในประเทศไทย ให้แรงงานมีหน้าที่ดำเนินการ เพื่อให้ได้มาซึ่งหนังสือเดินทางแบบปกติ โดยควรเปิดให้ดำเนินการเรื่องการนำเข้าแรงงานตาม MOU ได้ที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จในพื้นที่ชายแดน เพื่อลดระยะเวลาการดำเนินการให้สั้นลง และ/หรือ

3.2 การขอความร่วมมือกับสถานทูตของประเทศต้นทางเพื่อพิจารณาออกเอกสารรับรองตัวบุคคล (Certificate of Identification –CI) แก่แรงงานที่ทำงานครบตามกำหนดวาระ 4 ปี แล้ว และต้องเดินทางไปยังชายแดน เพื่อมิให้ต้องถูกจับกุมดำเนินคดี เครือข่ายฯ ขอสนับสนุนให้รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุก และชี้ให้ประเทศเพื่อนบ้านเห็นถึงผลดีผลเสียของการดำเนินการดังกล่าว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของนายจ้าง แรงงาน และรัฐบาลของทั้งสองประเทศ เป็นหลัก

เครือข่ายฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านและหน่วยงาน จะพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวถึงผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบจากกรณีดังกล่าวอย่างรอบด้าน และพิจารณาข้อเสนอของเครือข่ายฯ ประกอบการทบทวนแก้ไขปัญหาเพื่อให้การดำเนินนโยบายการนำเข้าแรงงานข้ามชาติเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: