กสิกรชี้การเมืองยืดเยื้อ กดดันใช้จ่ายในประเทศ

1 เม.ย. 2557 | อ่านแล้ว 1480 ครั้ง

สืบเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่อเค้าว่าจะยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาด ทำให้สมมติฐานที่ประเทศไทยจะมีรัฐบาลเข้ามาทำหน้าที่ได้ภายในกลางปีนั้น เริ่มมีความเป็นไปได้น้อยลง ซึ่งภายใต้ภาวะสุญญากาศที่ไม่มีรัฐบาลที่แท้จริงดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบให้การดำเนินนโยบายของรัฐในหลายด้าน ต้องประสบกับอุปสรรคไม่สามารถเดินหน้าได้ อีกทั้งโครงการลงทุนของภาคเอกชน ก็ติดปัญหาในขั้นตอนการอนุมัติโครงการจากหน่วยงานภาครัฐเช่นกัน และ ณ ขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถระบุตารางเวลาที่แน่ชัดว่า กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่สามารถผลักดันนโยบายเศรษฐกิจได้นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด (ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ)

ความไม่แน่นอนทางการเมืองดังกล่าวข้างต้นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ รวมถึงย่อมมีผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปยังภาวะการจ้างงาน และการใช้จ่ายของผู้บริโภคตามมา ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศอาจซบเซายาวนานข้ามเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ดังนั้น คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนในปี 2557 อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 (กรอบคาดการณ์หดตัวร้อยละ 0.2 ถึงขยายตัวร้อยละ 0.6) จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 1.4 ขณะที่ การลงทุนโดยรวมในปี 2557 อาจหดตัวลงร้อยละ 2.2 (กรอบคาดการณ์หดตัวร้อยละ 2.7 ถึงหดตัวร้อยละ 1.5)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2557 ลงมาที่ร้อยละ 1.8

ท่ามกลางทิศทางการใช้จ่ายภายในประเทศที่มีโอกาสอ่อนแอกว่าที่คาด ส่งผลให้การส่งออกที่คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 5.0 ในปีนี้ กลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักเพียงด้านเดียวของเศรษฐกิจไทย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ลงมาที่ร้อยละ 1.8 ในกรณีพื้นฐาน (จากประมาณการเดิม ณ เดือนมกราคม คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.0 บนสมมติฐานว่าสามารถมีรัฐบาลภายในกลางปี) โดยคาดว่า สถานการณ์ทางการเมืองอาจยังคงยืดเยื้อ ขณะที่งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2558 คงมีผลบังคับใช้ไม่ทันภายในปีนี้ เป็นผลให้เม็ดเงินงบประมาณของรัฐหายไปในช่วงไตรมาสที่ 4/2557 โดยภาครัฐอาจสามารถใช้จ่ายได้เฉพาะงบประมาณรายจ่ายประจำ และไม่เกินวงเงินของปีงบประมาณก่อนหน้า เท่านั้น

สำหรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจในปี 2557 นั้น ในกรณีดี ที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วภายในเดือนกรกฎาคม 2557 แม้มองว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย แต่ถ้าทำได้ ก็อาจสนับสนุนให้การดำเนินนโยบายของภาครัฐและกิจกรรมการลงทุนเดินหน้าได้คล่องตัวและรวดเร็วขึ้น โดยหากการใช้จ่ายของภาคเอกชนกลับมาฟื้นตัวชดเชยกับผลจากความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ได้ ก็อาจช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 2.4 แต่สำหรับกรณีเลวร้าย หากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อจนมีผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนในระดับที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งหากการส่งออกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดมาขยายตัวเพียงร้อยละ 3.0 เศรษฐกิจไทยในปี 2557 ก็อาจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.3 เท่านั้น  ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับลดกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2557 ลงมาที่ร้อยละ 1.3-2.4 จากกรอบคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 2.2-3.7

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: