ท่ามกลางกระแสปฏิรูปใต้ท็อปบู๊ธ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงความห่วงใยต่อการแพร่หลายของบารากู่ และต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการดูแล ซึ่งความห่วงใยดังกล่าวจะมีผลเป็นรูปธรรมอย่างไรยังต้องติดตาม แต่การแพร่ระบาดของบารากู่ที่ถูกละเลยมานานกำลังสร้างมายาคติในหมู่วัยรุ่น
ต้นเดือนพฤษภาคม มีข่าวรายงานไปทั่วโลกว่า สภานครลอสแองเจลิสมีมติ 14-0 เสียงไม่อนุญาตให้มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานสาธารณะ ประกอบด้วยที่ทำงานในร่ม พื้นที่รับประทานอาหารกลางแจ้ง สวนสาธารณะ พื้นที่สันทนาการ ชายหาด บาร์และไนต์คลับ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้สำหรับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าและร้านค้าที่อนุญาตเท่านั้น มติดังกล่าวเกิดขึ้นแบบเดียวกันในสภานครนิวยอร์ก ที่ออกกฎระเบียบเคร่งครัดเกี่ยวกับการห้ามสูบบุหรี่ รวมถึงการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามาแล้ว โดยอนุญาตให้สูบบุหรี่และบารากู่ในพื้นที่สูบบุหรี่เท่านั้น โดยให้เหตุผลถึงเรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งก่อนหน้านี้หลายประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาก็ได้สั่งห้ามการสูบบุหรี่ไฟฟ้า และหลายประเทศในยุโรป ซึ่งรวมถึงเบลเยียม ลักเซมเบิร์ก มอลตา สโลวีเนีย และลิทัวเนีย ได้สั่งห้ามการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ รวมถึงบางรัฐในอิตาลีและฝรั่งเศสสั่งห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่เยาวชนด้วย
บุหรี่ไฟฟ้าหรืออี ซิกาแร็ต (E cigarette) เป็นสินค้าที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบบุหรี่ ถูกผลิตขึ้นโดยบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศจีน ตั้งแต่ปี 2547 ก่อนจะแพร่หลายและผลิตขึ้นอีกในหลายประเทศ โดยบุหรี่ไฟฟ้า หรือยาสูบอิเล็คทรอนิคส์ มีลักษณะเป็นแท่งกลมคล้ายบุหรี่ ตัวมวนบุหรี่ไฟฟ้าแบ่งเป็นส่วนของแบตเตอรี่และส่วนที่บรรจุขวดขนาดเล็กใส่ของเหลวที่มีนิโคตินผสมอยู่ เวลาสูบสวิตซ์ไฟจะถูกเปิดเกิดไฟแดงที่ปลายแท่ง พร้อมกับการทำางานของแบตเตอรี่ เกิดความร้อนทำให้ของเหลวในขวดที่บรรจุไว้ระเหยขึ้นมาเป็นควัน ถูกสูดเข้าไปในปอดทำให้ได้รับนิโคตินก่อนที่จะถูกพ่นออกมา
แม้ผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะยังเป็นข้อถกเถียงว่า แท้จริงแล้ว มันเป็นผลดีต่อการช่วยให้คนสามารถลดการสูบบุหรี่แบบดั้งเดิมลงได้จริงตามที่บริษัทผู้ผลิตนำมาโฆษณาหรือไม่ และเป็นอันตรายมากน้อยแค่ไหนต่อผู้สูบเองและคนรอบข้าง แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ระบุว่า แม้มันจะอันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่ปกติ แต่บุหรี่ไฟฟ้าบางชนิดก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างแน่นอน โดยจากเอกสารของกระทรวงอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ระบุว่า ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะสูดเอาไอน้ำและสาร Propylene glycol เป็นสารตั้งต้นซึ่งมีคุณสมบัติทำให้อ่อนตัวในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์ ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และจะได้รับนิโคตินซึ่งส่งผลให้เป็นโรคหัวใจล้มเหลว นอกจากนี้ ยังมีสารก่อมะเร็งและสารพิษอื่นๆ ที่ส่งผลต่อคนใกล้ชิดได้ด้วย
วัยรุ่นไทยฮิตบารากู่ไฟฟ้า ขายเกลื่อนโซเชียลฯ
สำหรับในประเทศไทย การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเริ่มแพร่หลายมากขึ้น โดยมีการใช้แพร่หลายใน 3 รูปแบบ ได้แก่ ชนิดแท่งแบบบุหรี่ไฟฟ้าทั่วไป แบบบารากู่ไฟฟ้า และซิการ์ไฟฟ้า โดยล่าสุด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดย ผศ.ดร.ศรีรัช ลอยสมุทร เปิดเผยข้อมูลรายงานการสำรวจสถานการณ์การบริโภคยาสูบไฟฟ้าชนิดต่างๆ ที่มีใช้ในกลุ่มนักสูบวัยรุ่นไทย โดยทำการสำรวจจากกลุ่มเยาวชนอายุ 13-18 ปี พบว่า ปัจจุบันมีการใช้ยาสูบไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่ 3 ประเภท คือ บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ไฟฟ้า และซิการ์ไฟฟ้า โดยบารากู่ไฟฟ้าเป็นที่นิยมของวัยรุ่นไทยมากที่สุด เนื่องจากมีช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย ทั้งการจำหน่ายที่แพร่หลาย ทั้งในห้างสรรพสินค้า การจำหน่ายผ่านอินเตอร์เน็ต และโซเชียล เน็ตเวิร์คที่วัยรุ่นนิยม เช่น เฟซบุ็ค ไลน์ อินสตาแกรม ซึ่งเฉพาะโปรแกรมสนทนาไลน์ มีผู้ขายกว่า 1,300 ไอดี ที่ผู้ขายยังสร้างช่องทางการตลาดด้วยการสร้างคลิปวีดีโอ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าไม่ใช่สินค้าอันตรายเพื่อโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้
ในรายงานชิ้นเดียวกันระบุถึงความนิยมของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในลักษณะของบารากู่ไฟฟ้าด้วยว่า จากการศึกษาสถานการณ์ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 13-18 ปี 2,426 ราย พบว่า เยาวชนร้อยละ 78 รู้จักบารากู่ไฟฟ้าเป็นอย่างดี ร้อยละ 44 สูบบารากู่ไฟฟ้า และร้อยละ 12 สูบบุหรี่ไฟฟ้า ขณะเดียวกันร้อยละ 42 ก็สูบบุหรี่ธรรมดาด้วย โดยร้อยละ 32 รู้จักบารากู่ไฟฟ้าจากโซเชียล เน็คเวิร์คร้อยละ 67 ซื้อบารากู่ไฟฟ้าด้วยตัวเอง และร้อยละ 18 ซื้อผ่านช่องทางโซเชียล เน็ตเวิร์ค เหตุผลของนักสูบเยาวชนส่วนใหญ่ร้อยละ 83 มาจากความเชื่อผิดๆ และรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ที่หลอกลวง คือเห็นว่าเป็นสิ่งน่าสนใจ แปลกใหม่ เชื่อว่าสูบง่ายกว่าบุหรี่ ปลอดภัย ลองได้ไม่เสพติด
ชี้ผู้ขายบิดเบือนให้เข้าใจผิดว่าเป็นบารากู่ธรรมชาติ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า บารากู่ไฟฟ้าถือเป็นสินค้าที่ผู้ขายพยายามสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ๆ ให้กับบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้เข้าใจว่าเป็นบารากู่ต้นตำรับเดิม ที่ใช้การหมักยาเส้นกับกากผลไม้ต่างๆ แต่บารากู่ไฟฟ้าที่นิยมใช้ในวัยรุ่นไทยมีลักษณะเป็นแท่ง มีแบตเตอรี่ในตัว ภายในแท่งบรรจุแผ่นใยสังเคราะห์ชุบน้ำยาที่มีลักษณะคล้ายน้ำมัน ใส่กลิ่นผลไม้ชนิดต่างๆ มีกลิ่นฉุน เมื่อสูบจะพ่นเป็นไอ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ใช้มักจะได้รับข้อมูลว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือบารากู่ไฟฟ้าไม่มีสารนิโคตินเช่นเดียวกับบุหรี่ แต่หากพิจารณาดูก็จะเห็นว่าในบารากู่ไฟฟ้ามีสารเคมีชนิดต่างๆ ที่ทำให้เกิดกลิ่นผลไม้ ซึ่งเมื่อนำสารเคมีที่มีกลิ่นฉุนเหล่านี้เข้าสู่ปอด ในฐานะแพทย์โรคปอดมั่นใจว่าเป็นอันตรายต่อปอดและร่างกายแน่ๆ เพราะสารเคมีปรุงแต่งล้วนเป็นสิ่งแปลกปลอม แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีข้อมูลหรืองานวิจัยสรุปอย่างเป็นทางการชัดเจนว่า สารเคมีเหล่านี้มีอันตรายมากน้อยแค่ไหนก็ตาม
“ความแตกต่างระหว่างบุหรี่ไฟฟ้ากับบารากู่ไฟฟ้า อยู่ที่บารากู่ไฟฟ้ามีการเติมสารเคมีที่มีกลิ่นผลไม้ เข้าไปในนิโคตินเหลวที่ใช้กับบุหรี่ไฟฟ้า แม้ที่โฆษณาขายจะอ้างว่าไม่มีสารนิโคตินก็ตามส่วนอันตรายของบารากู่ไฟฟ้าต่อร่างกายน่าจะมากกว่าบุหรี่ไฟฟ้าธรรมดา เนื่องจากมีการเติมสารเคมีชนิดต่างๆ มากกว่าบุหรี่ไฟฟ้าธรรมดา ซึ่งสารเคมีทุกชนิดล้วนเป็นสารแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” ศ.นพ.ประกิตกล่าว
นิโคตินสูง-สารเคมีแปลกปลอมเพียบ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะมีการดัดแปลงใช้ในรูปแบบใด ศ.นพ.ประกิต ก็ยืนยันว่า ยังคงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากเป็นการเสพติดนิโคติน ซึ่งมีอำนาจเสพติดสูงเทียบเท่าเฮโรอีน นิโคตินกระตุ้นสมอง กระตุ้นหัวใจ ทำให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้ความดันสูงขึ้นได้ เนื่องจากเพิ่งมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่เกินสิบปี แพทย์จึงยังไม่รู้อันตรายต่อร่างกายในการใช้ระยะยาว ซึ่งแม้ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา เนื่องจากไม่มีสารเคมีที่เกิดจากการเผาไหม้เข้าสู่ร่างกาย แต่การสูบบุหรี่ไฟฟ้าอาจจะมีอันตรายมากได้ หากอุปกรณ์ที่ใช้ไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้ผู้สูบได้รับนิโคตินเกินขนาด อันตรายอีกอย่างหนึ่งของบุหรี่ไฟฟ้าคืออาจจะมีการผสมยาเสพติดชนิดอื่นเข้ากับนิโคตินเหลว ทำให้ผู้สูบได้รับทั้งนิโคตินและยาเสพติดชนิดอื่นได้
“อันตรายที่อาจเป็นไปได้อีกข้อหนึ่งคือ นิโคตินเหลวที่บรรจุในขวดหากเก็บรักษาไม่ดีหรือเก็บไว้นาน อาจจะมีเชื้อราหรือเชื้อโรคอื่นเกิดขึ้นได้ ทำให้ผู้สูบได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเวลาสูบ”
แพทย์ชี้บุหรี่ไฟฟ้ามีสารก่อมะเร็ง
ขณะที่ ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า งานวิจัยต่างๆ ชี้ให้เห็นชัดว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพเช่นเดียวกับบุหรี่ธรรมดา ซึ่งพบสารก่อมะเร็งหลายๆ ชนิด เช่น ไดเอธิลีนไกลคอล ตะกั่ว แมงกานีส สังกะสี ปรอท สารหนู แคดเมียม ในปริมาณที่สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้หากใช้อย่างต่อเนื่อง งานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกายังชี้ชัดว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำให้ลดสมรรถภาพปอดและการหายใจได้เหมือนบุหรี่ทั่วไป และทำให้เซลล์ของมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมและกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ แม้ได้สัมผัสควันบุหรี่ไฟฟ้าเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น
นอกจากนี้ ควันของบุหรี่ไฟฟ้ายังสามารถเกาะที่พื้นผิววัสดุต่างๆ รวมทั้งผิวหนังของมนุษย์ แล้วเกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องกับสารพิษหรือมลพิษชนิดอื่นๆ ในอากาศ จนเกิดเป็นสารก่อมะเร็งได้ในที่สุด หมายถึงบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ปลอดภัย แต่งานวิจัยยังมีไม่มาก
ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการห้ามนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศ โดยใช้กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่
ฉบับที่ 1 พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 มาตรา 10 เรื่องห้ามผลิต นำเข้า เพื่อขายหรือเพื่อจ่ายแจกเป็นการทั่วไป หรือโฆษณาสินค้าอื่นใด ที่มีรูปลักษณะที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ประเภทบุหรี่ซิการ์แรตหรือบุหรี่ซิการ์ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ฉบับที่ 2 พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือนำ หรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งยาแผนปัจจุบัน เว้นแต่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาท และมาตรา 72 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือนำเข้า หรือสั่งนำเข้ายาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มาในราชอาณาจักร ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ฉบับที่ 3 ได้แก่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีหรือของต้องจำกัดหรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรสยาม ความผิดครั้งหนึ่งจะมีโทษปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของ ซึ่งได้รวมค่าอากรขาเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
ดันมาตรการภาษี ลดสถานการณ์บุหรี่ดั้งเดิมหลังทำสูญเงิน 0.5% ของจีดีพีประเทศ
ด้านสถานการณ์การสูบบุหรี่ดั้งเดิมในประเทศไทยขณะนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยปีละ 50,710 คน และเป็นสาเหตุของภาระโรคอันดับที่ 2 ของคนไทย โดยทำให้คนเสียเวลาแห่งชีวิตจากการตายก่อนเวลา 628,061 ปี และสูญเสียสุขภาวะจากการเจ็บป่วยหนัก 127,184 ปีในแต่ละปี ทำให้เกิดการสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วย 52,200 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของจีดีพี
ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะนำมาตการทางภาษีมาใช้เพื่อลดจำนวนการสูบบุหรี่ให้ลดลง โดยในปี 2555 มีการปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่จากอัตรา 1 บาทต่อกิโลกรัมเป็น 10 บาทต่อกิโลกรัม มีข้อมูลพบว่าให้ผลดีในการลดจำนวนผู้บริโภคบุหรี่มวนเองในประเทศไทยกว่า 1 ล้านคน คือจากผู้บริโภคบุหรี่มวนเอง 5.3 ล้านคนในปี พ.ศ.2554 ลดเป็น 3.6 ล้านคนในปี พ.ศ.2556 แต่ปัญหาที่เกิดตามมาคือผู้สูบหันไปบริโภคบุหรี่ซองราคาถูกแทน จึงมีข้อเสนอว่าควรมีการปรับปรุงภาษีกับผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท รวมถึงยาเส้น โดยปรับขึ้นทั้งอัตราตามสภาพและอัตราตามปริมาณ เพื่อลดการเปลี่ยนประเภทไปบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ราคาถูกกว่า นอกจากนี้ รัฐบาลควรนำยาสูบพันธุ์พื้นเมืองเข้าสู่ระบบภาษีอย่างเร่งด่วน โดยให้ผู้ประกอบการยาเส้นเป็นผู้เสียภาษี ไม่ให้เป็นภาระกับเกษตรกร
“ความพยายามของบริษัทบุหรี่ในการยับยั้งการขึ้นภาษียาสูบนับวันยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ขณะนี้บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส กำลังรณรงค์เพื่อไม่ให้รัฐบาลขึ้นภาษีบุหรี่ โดยสนับสนุนให้มีการทำวิจัยถึงปริมาณบุหรี่หนีภาษีในเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งประเทศไทย ว่ามีอัตราบุหรี่หนีภาษีสูง โดยโทษว่ามีการเก็บภาษีสูงเกินไป รวมทั้งแสดงรายละเอียดโครงสร้างภาษีบุหรี่ไทยผ่านเฟซบุ๊ค ชมรมผู้สูบบุหรี่ไทยหรือชมรมคนสูบบุหรี่ (Thai Smokers Community, www.facebook.com/thaismokers) ได้เชิญชวนให้ผู้สูบบุหรี่ไทยแสดงความคิดเห็นคัดค้านการขึ้นภาษี จึงอยากให้กระทรวงการคลังรู้ทันกลยุทธ์ของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส และควรขึ้นภาษีบุหรี่ เนื่องจากการขึ้นภาษีครั้งสุดท้ายผ่านไป 2 ปีและผลการขึ้นภาษีได้จบไปแล้ว” ศ.นพ.ประกิต กล่าวในตอนท้าย
อ่านข้อมูล 'จับตา: บุหรี่ไฟฟ้ากับคำถามที่ทุกคนอยากรู้'
http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4672
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊ค TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ