เป็นปัญหาเรื้อรังที่กำลังรอการแก้ไขอย่างเร่งด่วน หลังจากอุทยานแห่งชาติสิรินาถ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ถูกบุกรุกจากโรงแรมรีสอร์ทหรู จากการออกเอกสารสิทธิที่ดินไม่ถูกต้อง โดยการนำใบแจ้งการครอบครองที่ดิน(สค.1) มาสวมสิทธิ์ ก่อนที่จะให้กรมที่ดินออกโฉนดที่ดินซ้อนทับในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขารวก และป่าเขาเมือง รวมไปถึงพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ รวม 379 แปลง เนื้อที่ 2,743.34 ไร่ กลายเป็นการซื้อขายที่ถูกต้องตามกฎหมาย จนถือเป็นที่ดินทำเลทองของนักธุรกิจในความพยายามซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ดินติดชายหาดกันอย่างคึกคัก โดยพบว่าราคาขายสำหรับที่ดินผืนสวยมีทำเลติดชายหาด ตกอยู่ราวไร่ละ 20-30 ล้านบาทเลยทีเดียว
คสช.ลุยยึดคืนที่ดินป่าสงวนฯเขารวก-ป่าเขาเมือง -อช.สิรินาถ
ก่อนหน้านี้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดยนายดำรงค์ พิเดช อธิบดีขณะนั้น เคยลงพื้นที่สำรวจตรวจสอบที่ดิน เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีและรื้อถอนเช่นเดียวกับปฏิบัติการในพื้นที่วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา มาแล้ว โดยสั่งให้หาหลักฐานต่างๆ เพื่อยืนยันพื้นที่ทับซ้อนให้เห็นชัดเจนว่า เอกสารสิทธิ์ของกรมที่ดินเหล่านั้นออกมาได้อย่างไร เป็นผลให้ทั้งนักธุรกิจที่ดิน เจ้าของรีสอร์ท รวมไปถึงเจ้าของทุนให้กู้อย่างธนาคารยักษ์ใหญ่หลายแห่งต้องหาทางแก้ปัญหากันจ้าล่ะหวั่น แต่ยังไม่ทันได้ผลการดำเนินการใดชัดเจนนัก นายดำรงค์ก็เกษียณอายุราชการก่อน การบุกรุกป่าภูเก็ตเพื่อสร้างโรงแรม-รีสอร์ทหรู จึงเงียบลงไประยะหนึ่ง กระทั่งล่าสุดหลังการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คสช.มีคำสั่งให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ทหาร ตำรวจ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง รื้อปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า เพื่อจัดการกับปัญหาทรัพยากรของประเทศ การตรวจสอบที่ดินในอุทยานฯ จึงกลับมาเข้มข้นอีกครั้ง
นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ
ดำรงค์หาหลักฐานยันเวนคืนที่ดินหมดแล้วแต่โฉนดโผล่
นายดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรคทวงคืนผืนป่าแห่งประเทศไทย อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ TCIJ ว่า ปัญหาการรุกป่าที่จ.ภูเก็ต เป็นปัญหาเรื้อรังมานานมาก เป็นเรื่องที่แก้ไขลำบาก เพราะที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ เป็นที่ดินที่มีความสวยงามเป็นที่ต้องการของนายทุนทั่วไป ทำให้มีความพยายามมานานในการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งกรมอุทยานฯ จะต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ให้ได้ว่า ที่ดินต่างๆ เหล่านั้นเป็นของรัฐ ซึ่งมีการเวนคืนจากประชาชนที่เคยอาศัยมาก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งตอนนั้นตนเป็นอธิบดีได้พยายามหาหลักฐานต่าง ๆ แต่ก็หาไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เอกสารราชการเหล่านี้กรมอุทยานฯ มีอยู่แล้วทั้งหมด แต่พยายามค้นหาอยู่นานก็ไม่เจอ ทั้ง ๆ ที่เป็นอธิบดีสั่งลงไป จนกระทั่งเกษียณแล้วจึงได้เอกสารเหล่านี้ ซึ่งเป็นเอกสารที่ระบุว่า มีการออกประกาศเวนคืนและจ่ายเงินอะไรให้กับประชาชนไปเท่าไหร่ และพื้นที่ทั้งหมดของอุทยานฯ มีเท่าไหร่ เพื่อจะนำมายืนยันทางกฎหมายว่า ในเมื่อเอกสารเก่าระบุแล้วว่า ที่ดินของอุทยานฯ และป่าสงวนมีตรงไหนบ้าง ดังนั้นการออกเอกสารสิทธิ์หลังจากนั้นจึงล้วนแต่ผิดกฎหมายทั้งหมด
“เอกสารที่เราพยายามหาแต่ไม่ได้ ไม่ทันช่วงที่ผมเป็นอธิบดี ก็เพิ่งมาหาเจอและได้มาทั้งหมดเป็นเอกสารสำคัญเก่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 ระบุถึงความเป็นมาต่าง ๆ ทั้งการจ่ายชดเชยให้กับประชาชนไปทั้งหมดแล้ว จนกระทั่งพื้นที่ป่าได้ถูกประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2510 แต่ต่อมาในปี 2538 ก็มีการออกเอกสารหลักฐานขึ้นมาได้อย่างไร” นายดำรงค์กล่าว
ระบุขรก.ทั้งป่าไม้-อุทยานฯ-ที่ดิน-จังหวัด รู้เห็น
อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ตนได้มอบเอกสารเก่าทั้งหมดนี้ให้คสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหมดแล้ว เพื่อตรวจสอบดำเนินคดีกับผู้บุกรุกทั้งหมด เพราะแน่ชัดว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและ ป่าอุทยานสิรินาถอย่างแน่นอน และจะต้องสืบค้นไล่ขึ้นไปว่า ใครคือคนที่ออกเอกสารสิทธิ์ที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ ซึ่งต้องมีคนของรัฐรู้เห็นเป็นใจและดำเนินการให้ด้วย ก็ต้องไปดูว่าอยู่ที่ไหนตั้งแต่กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ กรมที่ดิน หรือทางจังหวัดภูเก็ตเอง เพื่อสืบหาตัวคนผิดต่อไป แต่คนผิดจะยังอยู่หรือไม่ตอนนี้ก็ต้องไปตรวจสอบก่อน
“ตอนนี้คนกระทำผิดจะอยู่หรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ก็ต้องหาให้ได้ลูกหลานก็ต้องรับไป เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ทำให้เสียหายต่อทรัพยากรของประเทศ ตอนที่ผมลงไปตรวจเห็นว่ามีสิ่งก่อสร้างเกิดขึ้นกลางป่าเลย อย่างนี้ทำได้อย่างไร ดังนั้นจึงหวังว่าเอกสารทั้งหมดนี้จะช่วยไม่ให้มีใครกล้าที่จะทำผิดอีก เพราะถ้าทำผิดก็ต้องรื้อทิ้งแล้วฟื้นฟูใหม่ ในขณะที่คนของรัฐเอง ที่ทุจริตคอร์รัปชั่นก็ต้องถูกดำเนินคดีด้วย” นายดำรงค์ กล่าว
นายดำรงค์กล่าวต่อว่า สิ่งที่ตนอยากให้มีการปฏิรูปอีกอย่างหนึ่งในส่วนของกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ ก็คือ ความรู้ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ หัวหน้าอุทยานฯ ต่างๆ ที่จะต้องมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ ความเป็นมาเป็นไปของพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ และควรจะต้องมีการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรณีเอกสารสิทธิ์ที่ผิดกฎหมายนี้ ตนเคยพยายามที่จะขอเอกสารจากกรมที่ดินมาตลอด แต่ก็ไม่ได้เคยได้รับความร่วมมือ
“ถ้าจะปฏิรูปก็ต้องปฏิรูปทั้งหมดเลย เพราะคนของรัฐเองนี่แหละสำคัญ การทุจริตคอร์รัปชั่นเรียกเงินเรียกทองมันมีจริง ๆ ทำให้การทำงานยาก ตรวจสอบก็ยาก ตอนนี้ก็หวังว่ากรณีของการบุกรุกที่ดินอุทยานแห่งชาติสิรินาถจะเป็นตัวอย่าง เพื่อไม่ให้ใครกล้าทำผิดอีก ทั้งนายทุนเจ้าของโครงการต่าง ๆ ธนาคารที่ปล่อยให้กู้เงิน ถ้าจะทำก็ต้องตรวสอบให้ชัดเจนว่า ที่ดินมันถูกต้องหรือไม่ พอเป็นปัญหาแล้วจะมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมไม่ได้ เพราะทำผิด ผมว่าคงไม่มีคนกล้าเอาเงิน 2-3 พันล้านมาเสี่ยงหรอก ทรัพยากรของเราก็จะได้ไม่ไปอยู่กับพวกนายทุน หรือนักการเมืองบางกลุ่ม” นายดำรงค์กล่าว
ขอบคุณภาพจาก http://www.bangkokbiznews.com/
อธิบดีอุทยานฯลงพื้นที่สอบกราวรูด 379 แปลงผิดหมด
ด้านนายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวระหว่างร่วมกับ นายธรรมศักดิ์ ชนะ รองอธิบดีกรมที่ดิน นายไมตรี อินทุสุต ผวจ.ภูเก็ต พล.ต.พีรพล วิริยากุล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41 ค่ายวชิราวุธ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่18 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่หาดทรายแก้ว อุทยานแห่งชาติสิรินาถ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ระบุว่า หลังจากเมื่อวันที่ 8 – 10 ก.ค.ที่ผ่านมา เปิดยุทธการทวงคืนพื้นที่ป่าไปแล้ว และแจ้งความจับกุมผู้บุกรุก รวมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่หาดในยาง หาดในทอนและหาดทรายแก้ว ถือเป็นการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อทวงคืนทรัพยากรของประเทศกลับคืนมารวมทั้งเป็นการคืนธรรมชาติให้ประชาชน โดยความคืบหน้า กรมอุทยานฯคัดค้านเอกสารสิทธิที่ดิน จำนวน 3 แปลงที่ออกโดยมิชอบและได้แจ้งความดำเนินคดีกับ น.ส.อโนมา ฝางเสน เนื้อที่ 96 ไร่เศษ นายจันทร์ พงษ์พา เนื้อที่ 80 ไร่เศษ และนายนคร วงษ์สีทอง เนื้อที่ 80 ไร่เศษ รวมพื้นที่ 256 ไร่เศษ
ที่สำคัญจากการทำงานร่วมกับกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ปรากฎว่า กรมที่ดินจะคืนที่ดินจำนวนกว่า 400 ไร่ ที่มีการขอออกโฉนดจากทั้งหมด 379 แปลงให้กรมอุทยานฯ หลังตรวจสอบพบว่า มีการดำเนินการไม่ถูกต้อง มูลค่าที่ดินรวมกันกว่า 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้กำลังตรวจสอบการออกโฉนดเพิ่มอีก 3 แปลง ของ น.ส.ธารา ศรีชาย เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งานเศษ นายจรินทร์ ปรีดาศักดิ์ เนื้อที่ 1 ไร่เศษ และนายขจร จันทรึก เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งานเศษ ซึ่งถ้าไม่ถูกต้องกรมอุทยานฯจะยึดคืนทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีผู้แจ้งความประสงค์ขอคืนพื้นที่ที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งขอสละการใช้ประโยชน์และไม่ขอพิสูจน์สิทธิการครอบครองตามมติครม. วันที่ 30 มิ.ย.2541 ใน ต.สาคู และ ต.เชิงทะเล อ.ถลาง ขณะนี้กรมอุทยานฯ ได้มีการพิสูจน์สิทธิที่ดินที่มีการคืนมาแล้ว กว่า 100 ไร่ จากเจ้าของเดิมจำนวน 10 ราย คือ นายเกิน เรืองเดช นายบุญเลิศ ทักษ์พิทง นายประนิม สืบประสิทธิ์ นายทรงพล พันธ์ช่วย นายประมวล ลีลาสนนท์ นายวัชระ ภักดีใหม่ นายวินิจ กุลวรรัตน์ นายจุฑา พรหมชัน นางศิรินทร์ มณีนุตร์และนายเชิดชัย สืบประสิทธิ์ โดยกรมอุทยานฯ ได้มอบโล่เกียรติคุณแก่ประชาชนที่คืนพื้นที่ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์แก่ผืนแผ่นดิน ต่อจากนี้ไปจะออกไปทำความเข้าใจกับประชาชนให้คืนพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องให้กับอุทยานฯ ซึ่งตนเข้าใจว่า การทำงานของกรมอุทยานฯ ไม่ง่าย เพราะราคาที่ดินในอุทยานฯ สิรินาถมีมูลค่ามหาศาล
นายนิพนธ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้กรมอุทยานฯ ยังดำเนินการฟื้นฟูชายหาด หลังจากที่ได้เข้ารื้อถอนที่หาดทรายแก้ว หาดในยางและหาดในทอน ตามนโยบายของคสช. ที่ระบุว่า เมื่อมีการรื้อถอนแล้วต้องมีการฟื้นฟู โดยจะมีการฟื้นฟูชายหาดตลอดแนวอุทยานฯ สิรินาถ เพิ่มเติมให้ได้ 300 ไร่และฟื้นฟูในพื้นที่ป่าตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 อีก 300 ไร่ รวมทั้งจะดำเนินการปูลกต้นไม้ป่าชายหาด จำนวน 3,000 ต้น ประกอบด้วย สนทะเล 2,000 ต้น เคยทะเล 500 ต้น ต้นจิกทะเล 500 ต้น ส่วนการดำเนินคดีพื้นที่บุกรุกนั้น ขณะนี้กรมอุทยานฯ รอกรมที่ดินตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ เชื่อว่าพื้นที่ป่าสงวนเขารวก-เขาเมือง และประกาศเป็นอุทยานฯ สิรินาถ ไม่น่าจะออกเอกสารสิทธิ์ได้ ขั้นตอนจะช้าหรือเร็วต้องรอการตรวจสอบจากกรมที่ดิน
ขอบคุณภาพจาก http://f.ptcdn.info/
กรมที่ดินเตรียมเพิกถอนโฉนด ส.ค.1 บิน
ขณะที่นายธรรมศักดิ์ ชนะ รองอธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมที่ดินให้รับผิดชอบเรื่องการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่อุทยานฯ สิรินาถ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกกรมที่ดินและอุทยานฯ เห็นตรงกันที่จะยกเลิกคำขอออกโฉนดในที่ดิน 5 คำขอ ที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบก่อนหน้านี้ ส่วนที่สอง กรมที่ดินกำลังตรวจสอบโฉนดโดยไม่ชอบหลายแปลง ซึ่งน่าจะออกโดยไม่ชอบเป็น ส.ค.1 บินจากฝั่งตะวันออกมาออกโฉนดด้านตะวันตกของ ต.สาคู อ.ถลาง หากตรวจสอบแล้วเป็นการออกโดยไม่ชอบ กรมที่ดินจะตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 ประมวลกฏหมายที่ดิน มาเพิกถอนโฉนดต่อไป โดยกระบวนการตรวจสอบของกรมที่ดินยึดในเรื่องหลักฐาน การอยู่มาก่อนประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติครั้งแรก และมองสิทธิ์ของประชาชนเป็นสำคัญ โดยหากเอา สค.1 บิน หรือบวม มากออกเอกสารสิทธิ์จะต้องเพิกถอนต่อไป
นายธรรมศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับระยะเวลาในการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่บุกรุกอุทยานฯ สิรินาถนั้น ใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ 60 วัน จะครบกำหนดในวันที่ 16 ก.ย.นี้ ซึ่งแปลงที่มีการชี้เป้าและดำเนินคดีก่อนหน้านี้ที่เป็นโรงแรมและรีสอร์ทขนาดใหญ่จำนวน 10 กว่าแปลง ต้องตรวจสอบแล้วเสร็จและทราบว่าจะต้องเพิกถอนหรือไม่แน่นอน และจากนั้นจึงจะดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 379 แปลง ที่กรมอุทยานฯ ส่งเรื่องมาต่อไป ทั้งนี้สำหรับขั้นตอนการเพิกถอนโฉนดจะตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 ขึ้นมาตรวจสอบเพิกถอนภายใน 60 วัน สามารถซักค้านได้ โดยรวมระยะเวลาทั้งหมดไม่เกิน 120 วัน เมื่อมีคำสั่งเพิกถอนแล้วสามารถอุทธรณ์ได้โดยเป็นดุลยพินิจของปลัดกระทรวงมหาดไทย อย่างไรก็ตามปัญหาขณะนี้คือ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขารวก-เขาเมือง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ไม่ตรงกัน ตามระวางแผ่นที่ 1:4000 ทำให้มีปัญหาในการตรวจสอบอย่างมาก
ขอบคุณภาพจาก http://www.dailynews.co.th/
กรมที่ดินเผยผลสอบพบ 5 รีสอร์ทหรูมีโฉนดผิดกฎหมาย
ล่าสุดนายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อธิบดีกรมที่ดิน ระบุว่า จากการตรวจสอบการรังวัดออกโฉนดที่ดินบริเวณอุทยานแห่งชาติสิรินาถ พบว่า ผลการตรวจสอบจาก ส.ค.1 ทะเบียนการครอบครองและสารบบที่ดินที่เกี่ยวข้องจำนวน 23 ราย รวม 110 ไร่ มีทั้งที่ออกอย่างถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย คือ การตรวจสอบจากคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 7 แปลง เนื้อที่ตาม ส.ค.1 คือ 578-2-37 ไร่ ได้แก่รายของ 1.น.ส.อโนมา ฝางเสน ส.ค.1 เลขที่ 23 2.นายนคร วงษ์สีทอง ส.ค.1 เลขที่ 32 3.นายจันทร์ พงษ์พา ส.ค.1 เลขที่ 110 4.นายประภาส แซ่อ๋อง ส.ค.1 เลขที่ 44 5.นายประภาส แซ่อ๋อง ส.ค.1 เลขที่ 45 6.นายณรงศักดิ์ กรุณา ส.ค.1 เลขที่ 76 และ 7.นายนิคม บำรุงสิน ส.ค.1 เลขที่ 45 พบว่าหลักฐาน ส.ค. 1 ที่นำมาออกโฉนดที่ดินเชื่อว่าตำแหน่ง ส.ค.1 ที่แท้จริง อยู่ในตำแหน่งคนละฝั่งเขา แต่อยู่ในหมู่ 2 บ้านสาคูเหมือนกัน และมีการจัดทำแบบแจ้งการครอบครองที่ดินขึ้นใหม่ โดยแก้ไขเนื้อที่ ระยะ และการจดแจ้งข้างเคียงให้ตรงกับสภาพที่ดินที่นำมาขอออกโฉนดที่ดิน โดยจัดทำให้ปรากฏข้างเคียงติดต่อกันเป็นที่ดินผืนใหญ่ และนำไปเป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดที่ดินบริเวณหาดสาคู ซึ่งอยู่คนละฝั่งเขากับตำแหน่ง ส.ค.1 ซึ่งสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต สาขาถลาง มีคำสั่งทางปกครอง ยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินตามหลักฐาน ส.ค.1 ดังกล่าวแล้ว ในกรณีนี้ผู้ยื่นคำขอสามารถอุทธรณ์คำสั่งได้ ตามพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
เป็นในส่วนการตรวจสอบการออกโฉนดบริเวณอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จำนวน 16 ราย จำนวน 103 แปลง เนื้อที่รวม 590-1-90.9 ไร่ พบว่ามี 8 ราย จำนวน 52 แปลง เนื้อที่รวม 268-1-10 ไร่ ได้แก่ 1.บริษัทภูเก็ต เพนนินซูล่า สปา แอนด์ รีสอร์ท จำกัด 2.บริษัทเซ็นทรัล แอนด์ ซิตี้ ดีเวลล็อปเม้น จำกัด 3.บริษัท แลนสเตท จำกัด 4.นางสุชาดา สังข์สุวรรณ 5.บริษัท พาวิลเลี่ยน บีช รีสอร์ท จำกัด 6.โครงการลาคลอรีนฯ 7.บริษัท ลายัน ภูเก็ต และ 8.โครงการบ้านฝรั่ง เป็นการออกโฉนดจากหลักฐานเดิม คือ ส.ค.1 นส.3 หรือ นส.3.ก. มีกระบวนการถูกต้องมีการตรวจสอบจากหน่วยงานด้านป่าไม้และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าเป็นการออกโฉนดโดยชอบ ในชั้นนี้จึงยังไม่มีเหตุแห่งการเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎมายที่ดิน
และการตรวจสอบที่ดินอีกจำนวน 5 ราย จำนวน 30 แปลง เนื้อที่รวม 463-3-06.8 ไร่ ได้แก่ 1.บริษัท ทรีดอลฟินซ์ จำกัด บางส่วน 2.โรงแรมพูลแมน ภูเก็ต อคาเดีย บางส่วน 3.บริษัท ในทอน บีช จำกัด บางส่วน 4.นายสุรชัย เหล่าสายเชื้อ นางชมชนก สุธัมมา และ 5.บริษัท พินนาเคิล เคป จำกัด เห็นว่าเป็นการออกโฉนดโดยไม่ชอบด้วยระเบียบกฎหมาย ไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกโฉนด บางแปลงนำ ส.ค.1 ของที่ดินแปลงอื่นมาเป็นหลักฐานในการออกโฉนด ซึ่งต้องส่งให้กรมที่ดินดำเนินการแต่งตั้งณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีนี้ผู้มีส่วนได้เสีย สามารถอุทธรณ์คำสั่ง ได้ตามพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเช่นกัน
ขอบคุณภาพจาก http://www.thairath.co.th/
นอกจากนี้ยังพบว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวอีกจำนวน 3 ราย จำนวน 21 แปลง เนื้อที่รวม 185-1-84.1 ไร่ ในรายของบริษัท อันดามัน ไพรเวทบีช จำกัด บริษัท สุรีสัมฤทธิ์ จำกัด และโครงการอิสทาน่า ได้ตรวจสอบพบว่า หลักฐานที่นำมาออกโฉนดยังไม่ชัดเจน คณะกรรมการมีความเห็นว่า ให้ส่งกรมที่ดินเพื่ออ่านแปลภาพถ่ายก่อน ทั้งนี้หากที่ดินบางแปลงมีการตรวจสอบพบในภายหลังหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหลักฐานเพิ่มเติมว่าเป็นการออกโฉนดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรมที่ดินก็จะดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 ประมวลกฎหมายที่ดินเพิ่มเติมต่อไป
ผลสอบถูกต้องหากกรมอุทยานฯ ไม่เชื่อให้พิสูจน์ในศาล
อย่างไรก็ตามภายหลังการออกมาเปิดเผยของกรมที่ดิน ซึ่งข้อมูลไม่ตรงกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ระบุว่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าแล้ว ตามที่นายดำรงค์ พิเดช นำเอกสารมายืนยัน จึงไม่สามารถที่จะออกโฉนดได้อีก เรื่องนี้กรมที่ดินระบุว่า หากกรมอุทยานฯ ยังข้องใจ และมีหลักฐานใหม่เพิ่มเติมก็ให้นำมาเสนอ เพื่อร่วมกันพิจารณาใหม่ แต่หากกรมอุทยานฯ ยังเห็นว่าผลที่กรมอุทยานฯพิสูจน์นั้นยังไม่ถูกต้อง ก็จำเป็นที่จะต้องนำเรื่องไปพิจารณากันในศาล พร้อมทั้งยืนยันด้วยว่า โฉนดในพื้นที่ดังกล่าวสามารถออกได้มากกว่า 2 ราย ไม่ใช่เพียง 2 รายตามที่กรมอุทยานฯมีข้อมูลอย่างแน่นอน ขณะที่อธิบดีกรมอุทยานฯ ยังยืนยันเช่นเดียวกันว่า มั่นใจว่าโฉนดหลายแปลงที่ออกมา ออกมาโดยมิชอบ ซึ่งจะนำเอกสารหลักฐานส่งให้กับกรมที่ดินพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่า ในการดำเนินการออกเอกสารสิทธิ์นั้นมีขั้นตอนและวิธีการอย่างไร ส่วนกรณีของกลุ่มที่ผิดก็จะต้องเพิกถอนโฉนดที่ดินโดยเร็ว เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต่อไป
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
http://www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ